โรคซึมเศร้า เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ อาการของโรคอาจดูคล้ายกับอาการเศร้าหรือเสียใจทั่วๆ ไป แต่ผลกระทบนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นยาวนานกว่ามาก ซึ่งทั้งตัวผู้ป่วยเองหรือคนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตเห็นด้วยซ้ำ
ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นซึมเศร้ามักจะไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยเป็นซึมเศร้า หรืออาจรู้ตัวอีกทีตอนที่อาการของโรคเข้าสู่ขั้นรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว ทำให้โรคนี้กลายเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่พรากชีวิตของใครหลายต่อหลายคนไปอย่างคาดไม่ถึง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรค อาการ และวิธีรักษา จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ เพื่อช่วยเหลือตัวคุณเองและคนรอบข้างที่ป่วยเป็นโรคนี้
ทำความรู้จักโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และความคิด โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก
เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ สิ้นหวัง หดหู่ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิต วิตกกังวลตลอดเวลา และที่สำคัญคือผู้ป่วยจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญได้ดีพอ
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 350 ล้านคน ซึ่งวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็มีผลต่ออัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าได้
โดยตามรายงานประจำปี 2553 ของวารสารประจำปีด้านสาธารณสุข (The Journal Annual Review of Public Health) กล่าวว่าอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าของทุกเพศทุกวัยในญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 2.2% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ ในขณะที่บราซิลนั้นมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าสูงถีง 10.4%
ส่วนในประเทศไทยนั้น โรคซึมเศร้าถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพที่มีความสำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยสังเกตได้จากสังคมในปัจจุบันนี้ที่มักมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตาย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
รวมทั้งปัญหาการทำร้ายร่างกายตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้นับเป็นเรื่องที่น่าสลดใจไม่น้อยทีเดียว ตามรายงานจิตวิทยาคลินิก ปี 2007 พบว่า
- 50% ของผู้ที่ฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้าในครั้งแรก มักมีภาวะซึมเศร้าซ้ำอีกหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น
- 80% ของคนที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นถึงสองครั้ง
อ่านเพิ่มเติม: ผลสำรวจเรื่องโรคซึมเศร้าปี พ.ศ. 2562 โดย HonestDocs "คนกว่าครึ่งรู้สึกตัวว่าอาจเป็นซึมเศร้าแต่ไม่ทำอะไร!?"
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุและปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งด้านจิตใจ สภาพสังคม และความผิดปกติด้านชีววิทยาที่เกิดขึ้นกับร่างกายของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการประสบปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว การงาน การเงิน หรือการเผชิญความล้มเหลวหรือสูญเสียในชีวิตอย่างรุนแรง ทุกปัญหานั้นล้วนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเป็นผลมาจากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
- ความผิดปกติของสารเคมีภายในสมอง สารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสารเคมีที่มีชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดน้อยลงจากเดิม ทำให้สมดุลของสารเหล่านี้เปลี่ยนไปและเกิดความบกพร่องในการทำงานร่วมกัน
- กรรมพันธ์ุ หากคนในครอบครัวของคุณ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาก่อน คุณก็อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
- การเผชิญเรื่องเครียด เช่น เจอมรสุมชีวิตโดยไม่ทันได้ตั้งตัว หมดกำลังใจในการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรังหรือรุนแรงถึงชีวิต ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงินที่หาทางออกไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก
รวมทั้งการพบเจอกับความสูญเสียในชีวิตที่ทำให้เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพ่อแม่ในขณะที่ยังอยู่ในช่วงวัยเด็ก สูญเสียคนรัก หรือสูญเสียครอบครัว
- ลักษณะนิสัย คนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำหรือสูงมากเกินไป มองโลกในแง่ร้าย หรือชอบตำหนิกล่าวโทษตนเอง มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่มองโลกในแง่บวกและเห็นคุณค่าในตนเอง
- การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด การพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเพื่อให้ลืมความเสียใจและความเครียดจากเรื่องต่างๆ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่กลับทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้ด้วย
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนจากภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบว่าคนที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี มีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 60 และผู้หญิงจะมีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ชนิดของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปดังนี้
1. Major Depression (โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง)
โรคซึมเศร้าชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อภาวะซึมเศร้ารบกวนความสุขในชีวิต การทำงาน การเรียน การนอนหลับ นิสัยการกิน และอารมณ์สุนทรีย์ ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
บางคนอาจแสดงอาการของภาวะซึมเศร้าเพียงแค่หนึ่งอย่างก็ได้ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นเป็นครั้งๆ แล้วหายไป แต่ก็สามารถเกิดได้บ่อยครั้งเช่นกัน
2. Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (โรคซึมเศร้าเรื้อรัง)
เป็นโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรังที่มีอาการทางอารมณ์ไม่รุนแรงนัก แต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี และมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 อาการร่วมด้วย
- รับประทานอาหารได้น้อยลงหรือมากขึ้น
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองต่ำ
- ไม่มีสมาธิ หรือตัดสินใจอะไรได้ลำบาก
- รู้สึกสิ้นหวัง ตามเกณฑ์การวินิจฉัยจากคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (DSM-V)
ในบางช่วงเวลาของภาวะซึมเศร้าประเภทนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะ Major depression ร่วมด้วย ซึ่งจะรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ป่วยและทำให้เกิดความรู้สึกแย่ได้
3. Bipolar หรือ Manic-depressive Illness (โรคซึมเศร้าอารมณ์สองขั้ว)
ผู้มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจมีอาการผิดปกติแบบอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ร่วมด้วย โรคซึมเศร้าชนิดนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์
โดยมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ที่เป็นช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ พูดมากกว่าที่เคยเป็น กระฉับกระเฉงกว่าปกติ มีพลังงานในร่างกายเหลือเฟือ
กับช่วงภาวะซึมเศร้า (Depression) ซึ่งโดยมากจะมีอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในบางคนก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงอารมณ์ดีผิดปกตินั้น อาการที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย รวมทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหลงผิด
หากผู้ป่วยในภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้กลายเป็นโรคจิตเภทได้
ประเภทของภาวะซึมเศร้าอื่นๆ ที่ได้การยอมรับทางการแพทย์ 4 ประเภทมีดังนี้
1. Postpartum Depression (โรคซึมเศร้าหลังคลอดบุตร)
หลังคลอดบุตร คุณแม่บางคนอาจมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรงและใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ภาวะซึมเศร้าที่คุณแม่มือใหม่มักเผชิญหลังคลอดนี้จะเรียกว่า "Baby blues"
2. Seasonal Affective Disorder หรือ SAD (โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล)
เป็นภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาว หรือบางครั้งก็เกิดในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เป็นโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศที่มีแสงแดดน้อยและหนาวเย็น พบได้มากในประเทศแถบหนาว จึงไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยในไทยนัก
3. Premenstrual Dysphoric Disorder (โรคซึมเศร้าก่อนมีรอบเดือน)
เป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนและหลังช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง
4. Psychotic Depression (โรคซึมเศร้าโรคจิต)
เป็นภาวะซึมเศร้ารุนแรงที่เกิดกับผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ โดยมักเกิดพร้อมอาการทางจิต เช่น เห็นภาพลวงตาและภาพหลอน ได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง เป็นต้น
อาการของโรคซึมเศร้า
1. อาการทั่วไปของโรคซึมเศร้า
หากคุณกังวลว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ เบื้องต้นคุณสามารถสังเกตได้จากอาการเศร้า เสียใจ และท้อแท้จนไม่อยากทำอะไร บางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ หรือถึงแม้มีเรื่องน่ายินดี แต่ก็กลับไม่รู้สึกมีความสุขเลย
นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ามักแสดงอาการต่อไปนี้ตามเกณฑ์การวินิจฉัยจากคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (DSM-V) อย่างน้อย 5 อาการออกมาพร้อมๆ กันภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์
โดยที่มีอย่างน้อยหนึ่งอาการเป็นอาการหมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยชื่นชอบ หรืออาการเศร้า
- รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีค่า ว่างเปล่า ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปหรือทำไปเพื่ออะไร
- รู้สึกเศร้า หรือ ในเด็กและวัยรุ่นอาจรู้สึกหงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย หรือกระวนกระวายใจอยู่บ่อยๆ
- หมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เคยชื่นชอบ เช่น รู้สึกเบื่อหน่ายอาหารโปรด
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นเร็วมาก เนื่องมาจากนิสัยการกินที่เปลี่ยนไป
- นอนไม่หลับติดต่อเป็นเวลานาน หรือนอนนานผิดปกติ
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้เลย บางครั้งก็แสดงอาการหลงๆ ลืมๆ และใช้เวลานานในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ
- คิด พูด และทำงานเร็วขึ้นหรือช้าลง
- รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง
อาการเหล่านี้มีผลกระทบต่อการเข้าสังคม การทำงาน หรือการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ หากปล่อยไว้นานจะทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่านี้มาก ทางที่ดีจึงควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการบำบัดทางร่างกายและจิตใจอย่างถูกต้อง ก่อนที่จะสายเกินไป
บางครั้งผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าก็แสดงออกในลักษณะที่แปลกออกไป จนในบางอาจทำให้ผู้พบเห็นหรือเจ้าตัวไม่คิดว่าตนเองนั้นเป็น “โรคซึมเศร้า” เรามาดูกันว่าสัญญาณแปลกๆ เหล่านั้นมีอะไรบ้าง
- ช้อปปิ้งอย่างบ้าคลั่ง: ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนจะมีพฤติกรรมซื้อของอย่างควบคุมไม่ได้ เพื่อหวังเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดหรือเพื่อปลุกความมั่นใจในตนเอง พฤติกรรมนี้อาจพบได้ในผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือโรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน
- ดื่มอย่างหนัก: หากคุณรู้สึกว่าคุณต้องการดื่มเพื่อจัดการกับความเครียดหรือความเศร้า คุณอาจกำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งแม้ว่าการดื่มจะช่วยให้คุณรู้สึกดีและลืมเรื่องแย่ๆ ในชั่วขณะได้ แต่การดื่มแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นให้คุณยิ่งรู้สึกแย่กว่าเดิม หรือนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
- หลงลืม: โรคซึมเศร้าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการหลงๆ ลืมๆ ที่เกิดขึ้น โดยจากผลการศึกษาพบว่า โรคซึมเศร้าหรือภาวะเครียดที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานจะไปทำให้ระดับคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดในร่างกายเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจะส่งผลต่อสมองบางส่วนที่เชื่อมโยงกับความทรงจำและการเรียนรู้ โรคซึมเศร้าจึงมีความเกี่ยวเนื่องกับการสูญเสียความทรงจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคซึมเศร้าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความจำได้ - ใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป: การเสพติดโลกออนไลน์มากกว่าโลกความเป็นจริงอาจเป็นอาการหนึ่งที่บ่งบอกถึงโรคซึมเศร้าได้ ในทางกลับกัน การใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากเกินไปก็อาจทำให้มีอาการซึมเศร้าได้
- กระหน่ำกินอย่างบ้าคลั่ง: ผลการศึกษาเมื่อปี 2010 จากมหาวิทยาลัยอัลบามาเผยว่า วัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย
- ขโมยของ: พฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อยอาจมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้าได้ เพราะสำหรับผู้ป่วยบางคนที่รู้สึกไร้เรี่ยวแรงในการทำสิ่งต่างๆ และรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า การขโมยของเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้รู้สึกกระฉับกระเฉงและรู้สึกว่าตนเองสำคัญขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่ขโมยมานั้นอาจไม่ได้มีมูลค่าหรือสำคัญเท่ากับความรู้สึกดีที่ได้รับหลังจากขโมยสำเร็จเลย
- ปวดหลัง: 42% ของผู้คนที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี หลายคนมักเพิกเฉยต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะคิดว่าอาการเจ็บปวดต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคซึมเศร้าแต่อย่างใด
- พฤติกรรมทางเพศ: ผู้ป่วยบางรายอาจรับมือกับปัญหาโรคซึมเศร้าด้วยการทำพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย นอกใจ เสพติดการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
บางรายก็มีอาการหมดความต้องการทางเพศ ทั้งนี้อาการดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับการเป็นโรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน - แสดงอารมณ์อย่างสุดเหวี่ยง: หลายๆ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะเผลอแสดงอารมณ์มากเกินปกติ บางครั้งก็ขี้โมโหหรือระเบิดอารมณ์ออกมา บางครั้งก็เศร้าเสียใจ หมดหวัง วิตกกังวล และหวาดกลัว ซึ่งความผิดปกตินี้มักสังเกตได้ชัดเจนในผู้ที่เคยนิ่งขรึมและไม่ค่อยพูด
- เสพติดการพนัน: การพนันอาจทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นและกระชุ่มกระชวย แต่หากคุณเสพติดการเล่นพนันจนเป็นนิสัย คุณอาจต้องทุกข์ทรมานใจภายหลังก็เป็นได้ โดยหลายคนที่เล่นการพนันบอกว่า ตนเองจะรู้สึกวิตกกังวลและซึมเศร้าก่อนเริ่มเล่นการพนัน และเมื่อเจอความผิดหวังก็อาจทำให้ยิ่งรู้สึกแย่ลงไปอีก
- สูบบุหรี่: การเป็นโรคซึมเศร้าจะยิ่งทำให้คุณต้องการสูบบุหรี่มากขึ้น เรียกได้ว่า ยิ่งซึมเศร้ายิ่งสูบหนัก โดยอาจสูบประมาณ 1 ซองต่อวัน หรือสูบบุหรี่ทุก ๆ 5 นาทีเลยทีเดียว
- ไม่ใส่ใจตนเอง: การละเลยหรือไม่ใส่ใจตนเอง เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าและการขาดความมั่นใจในตนเอง พฤติกรรมอาจเริ่มตั้งแต่การไม่แปรงฟัน ไปถึงขั้นโดดสอบ หรือไม่ใส่ใจโรคร้ายต่างๆ ที่ตนเป็น
2. อาการของโรคซึมเศร้าตามเพศและอายุ
อาการซึมเศร้าในผู้ชาย ผู้หญิง และวัยรุ่น อาจแตกต่างจากอาการซึมเศร้าทั่วไปที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนี้
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้ชาย
แม้ว่าผู้ชายและผู้หญิงนั้นต่างมีอาการของโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน แต่ก็มีอาการบางอย่างที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จากรายงานในนิตยสารจิตเวช JAMA ปี 2013 กล่าวว่าอาการดังต่อไปนี้มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงที่เป็นโรคซึมเศร้า
- โกรธ
- ก้าวร้าว
- เสพยาหรือใช้แอลกอฮอล์
- พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ขับรถโดยประมาท มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ เป็นต้น
อาการของโรคซึมเศร้าในผู้หญิง
สถาบันสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า อาการที่มักพบในหญิงที่เป็นโรคซึมเศร้ามีดังต่อไปนี้
- เครียด
- แยกตัวสันโดษ
- หงุดหงิด กระสับกระส่าย
- ร้องไห้อย่างหนัก
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ
- หมดความสนใจในเรื่องที่เคยชื่นชอบ
อาการของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น
วัยรุ่นก็สามารถมีอาการของโรคซึมเศร้าได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะปกติของการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาการที่อาจบอกถึงโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ได้แก่
- หมกมุ่นเรื่องความตาย เช่น เขียนกลอนหรือภาพวาดที่บ่งบอกถึงความตาย
- มีพฤติกรรมอาชญากรรม เช่น ขโมยของในร้านขายของ หรือขโมยเครื่องเขียนของเพื่อน
- แยกตัวออกจากครอบครัวและเพื่อน
- อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์
- ผลการเรียนแย่ลงหรือขาดเรียนบ่อยๆ
- มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และการขับรถโดยประมาท
- มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด
- มีพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหรือแปลกประหลาดไปจากเดิม
- นิสัยหรือการแต่งตัวเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
- ทิ้งข้าวของของตัวเอง
3. อาการตามชนิดของโรคซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Major Depression
- มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ซึมเศร้าหรือวิตกกังวลบ่อยๆ มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข และมักกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา
- มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด รู้สึกสิ้นหวังในการใช้ชีวิต มักมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิดหวังบ่อยๆ คิดว่าตัวเองไม่มีค่า มีความคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่ความตาย และพยายามทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
- มีการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้และการทำงาน ไม่สนใจสังคมหรือสภาพสิ่งแวดล้อม หมดความสนใจในเรื่องที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน
ไม่สนใจงานอดิเรก เพิกเฉยต่อกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ การตัดสินใจแย่ลง และมีอาการหลงๆ ลืมๆ - มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นนอนเร็ว บางรายหลับนานเกินไป รู้สึกเบื่ออาหารจึงส่งผลให้น้ำหนักลดลง แต่บางคนก็รับประทานอาหารมากเกินไปจนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
เมื่อเจ็บป่วยมักรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง แน่นท้อง และปวดเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัวแย่ลงด้วย
อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Dysthymia
ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าต่อเนื่องเรื้อรังเป็นเวลาติดต่อกันยาวนาน อาจถึงขั้นส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและการใช้ชีวิต รู้สึกไม่ชอบตนเอง ไม่มีความสุขตลอดเวลา มองโลกในแง่ร้าย แต่ผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ
แต่มักไม่ค่อยพอใจเมื่อมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ทำให้ดูเป็นคนไม่มีชีวิตชีวา ซึ่งโรคซึมเศร้าแบบ Dysthymia นี้มีสิทธิ์เปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง (Major depression) ได้
อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Bipolar หรือ Manic-depressive illness
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะมีอาการซึมเศร้าสลับกับร่าเริงเกินกว่าเหตุ มีอาการหงุดหงิดง่าย นอนน้อยลงกว่าเดิม มักหลงผิดคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองใหญ่ พูดมาก คิดแต่จะแข่งขัน มีความต้องการทางเพศสูง มีพลังเยอะ แต่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ บกพร่อง และมีพฤติกรรมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน
ความแตกต่างของโรคซึมเศร้า กับโรคเครียด
โรคซึมเศร้ากับโรคเครียดมีลักษณะอาการที่ใกล้เคียงกันได้ จนทำให้บางครั้งผู้ป่วยแยกไม่ออกว่าอาการที่เกิดขึ้นมาจากความเครียดหรือโรคซึมเศร้ากันแน่ ซึ่งมีวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 โรคจากอาการขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้
อาการจากความเครียด (Stress)
ความเครียดหรือโรคเครียด โดยทั่วไปจะเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น ภาวะความเครียดธรรมดาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย
โดยความเครียดที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระตุ้นร่างกายทั้งในแง่ดีและแง่ลบ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถรับมือกับความเครียดได้มากน้อยแค่ไหน อาการโดยทั่วไปของความเครียดคือ
- นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับ
- กระสับกระส่าย กังวล หงุดหงิด อารมณ์เสีย
- รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง ไร้พลัง
- รู้สึกว่าปัญหาที่เข้ามาในชีวิตนั้นยุ่งยากเกินกว่าจะรับมือได้
- ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ความจำสั้น
เมื่อเกิดความเครียดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตาม คุณจะสามารถแก้ปัญหาหรือผ่านพ้นความรู้สึกดังกล่าวไปได้ และไม่นานก็จะกลับมาเป็นปกติ
อาการจากโรคซึมเศร้า (Depression)
โรคซึมเศร้า แม้จะพยายามดึงใจตัวเองกลับมาอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้รู้สึกดีขึ้น โดยมีอาการต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจนเข้านอน ติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งการปล่อยผ่านและละเลยโดยคิดว่าอาการที่พบเจอเป็นแค่ความเครียดนั้น นอกจากจะไม่ช่วยทำให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ คุณจึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองให้ดี หากคาดว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าควรไปรับการตรวจรักษากับแพทย์ทันที
ภาวะแทรกซ้อนของโรคซึมเศร้า
หากคุณเคยเป็นโรคซึมเศร้า คุณจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้อีกครั้งในอนาคต โดยจากสถิติพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่หายจากการเป็นโรคซึมเศร้าในครั้งแรกนั้นกลับมาเป็นโรคนี้ได้อีก
กว่า 80% ของผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้ว 2 ครั้ง ยังกลับมาเป็นต่อได้ รวมทั้งรายงานจิตวิทยาคลินิกในปี 2007 กล่าวว่า 2 ใน 3 ของคนที่ฆ่าตัวตายมีอาการของโรคซึมเศร้า
นอกจากนี้ จากแหล่งข้อมูลทางสุขภาพ A.D.A.M โรคซึมเศร้ายังสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและคนรอบข้าง ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน หัวใจวาย หรือส่งผลให้สภาพจิตใจย่ำแย่ลงอย่างมากในผู้สูงอายุ
วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า
หากสังเกตเห็นว่าตัวคุณเองหรือคนใกล้ตัวกำลังตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า หรือทราบผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริง คุณสามารถดูแลตัวเองหรือผู้ป่วยควบคู่ไปกับการบำบัดรักษา ตามคำแนะนำไปนี้
- หางานอดิเรกทำ เช่น ทำอาหาร หรือต่อจิกซอว์ ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกสนุกนัก แต่กิจกรรมยามว่างเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิและทำให้สามารถจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น
- ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและไม่มีความสามารถ การตั้งเป้าหมายเล็กๆ จะช่วยสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้สารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ที่ช่วยให้รู้สึกมีความสุขหลั่งออกมา ทั้งยังช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวมากขึ้นในระยะยาว โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ แค่เดินออกกำลังสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะรู้สึกเบื่ออาหาร แต่ผู้ป่วยก็ควรพยายามรับประทานอาหารที่สด สะอาด และรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและมีพลังงาน
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ แม้การนอนจะเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากมากในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่การพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 ชั่วโมง จะช่วยให้ลืมความกังวลไปได้ชั่วขณะ และเมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายและสมองก็จะมีความพร้อมต่อการทำกิจกรรมในแต่ละวันมากขึ้น
การประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเอง
ผู้ป่วยส่วนมากไม่แน่ใจว่าอาการผิดปกติที่ตัวเองกำลังเผชิญนั้นเกิดจากอะไร และมักเข้าใจผิดไปว่าอาการเหล่านั้นจะหายไปได้เอง
การทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเองจะช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าถึงบริการตรวจรักษาได้เร็ว ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือโรคซึมเศร้ารุนแรงชนิดที่มีอาการทางจิตร่วมลงได้ ช่วยลดภาระในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษา และสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติสุขได้โดยเร็ว
วิธีการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเองโดยใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ประเมินว่าคุณมีอาการเหล่านี้มากน้อยเพียงใดในช่วง 15 วันที่ผ่านมา
แบบประเมินภาวะซึมเศร้าของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
อ่านแบบสอบถามต่อไปนี้ และตอบคำถามโดยการให้คะแนนในแต่ละข้อ ตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ ดังนี้
- ไม่มีเลย 0 คะแนน
- เป็นบางวัน 1-7 วัน 1 คะแนน
- เป็นบ่อยมากกว่า 7 วัน 2 คะแนน
- เป็นทุกวัน 3 คะแนน
คำถามในแบบประเมิน มีดังต่อไปนี้
- เบื่อ ไม่สนใจ ไม่อยากทำอะไรเลย
- ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้
- หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากไป
- เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง
- เบื่ออาหาร หรือกินมากผิดปกติ
- รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว หรือทำให้ตนเองหรือครอบครัวผิดหวัง
- ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ
- พูดช้า ทำอะไรช้าลงจนคนอื่นสังเกตเห็นได้ หรือกระสับกระส่าย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้เหมือนที่เคยเป็น
- คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าถ้าตายไปคงจะดี
เมื่อประเมินอาการครบทั้ง 9 ด้านแล้ว ให้รวมคะแนนทั้งหมด หากผลรวมของคะแนนมากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป ควรไปพบหรือขอคำปรึกษาจากบุคลากรด้านจิตเวชหรือรับการตรวจรักษาจากจิตแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยให้มีอาการเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปี
การทดสอบและวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
แม้คุณจะสามารถประเมินอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง แต่ว่าก็มีเพียงแพทย์เท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้
โดยแพทย์จะตรวจและทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากภาวะอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการลักษณะนี้ได้เช่นกัน เช่น ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือภาวะวิตามินพร่อง
ซึ่งจำเป็นต้องตรวจร่างกายและตรวจเลือด รวมถึงการพูดคุยเรื่องยา วิตามิน และอาหารเสริมทั้งหมดที่คุณใช้อยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการคล้ายโรคซึมเศร้าได้
นอกจากนี้ แพทย์อาจถามคำถามเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของคุณเพื่อประเมินอาการ โดยใช้แบบสอบถามโรคซึมเศร้า
อ้างอิงจาก สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) คุณต้องมีอาการสอดคล้องกับเกณฑ์การวินิจฉัยจึงจะระบุได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า โดยมีอาการเข้าข่ายอย่างน้อย 5 ข้อ จาก 9 ข้อดังต่อไปนี้ เป็นเวลานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และอาการต่อไปนี้ต้องส่งผลต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวันของคุณ
- รู้สึกเศร้าหรือมีอารมณ์เศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน
- หมดความสนใจหรือไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่เคยรู้สึกสนใจ
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากเกินไป
- อ่อนเพลียหรือรู้สึกหมดพลังงาน
- กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้า ทั้งการเคลื่อนไหว คำพูด และความคิด
- รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกผิด
- มีปัญหาด้านการคิด การใช้สมาธิ และการตัดสินใจ
- มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องความตายหรือการฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ ภาวะซึมเศร้าในรูปแบบอื่นๆ อาจมีเกณฑ์การวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากอาการที่ต่างกัน
แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาและการทำจิตบำบัด ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ซึ่งระยะเวลาในการรักษาอาจใช้เวลานานตั้งแต่ 3-6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการให้ความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วยและญาติ
1. การรักษาโดยการใช้ยา
มียาหลากหลายชนิดด้วยกันที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้ โดยยาแก้โรคซึมเศร้าจะช่วยลดความกังวลและช่วยให้คุณหายจากอาการเศร้า แต่ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ กว่าจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือมีอารมณ์ที่แจ่มใสขึ้น และมักจะต้องใช้ยาเป็นเวลานานถึง 4-6 สัปดาห์ ยาจึงจะออกฤทธิ์และแสดงผลลัพธ์ได้อย่างเต็มที่ ยาแก้ซึมเศร้ามีทั้งยาชนิดที่ทำให้ง่วงและไม่ทำให้ง่วง การใช้ยาจะไม่ทำให้เกิดการเสพติดแต่อย่างใด ผู้ป่วยจึงสามารถหยุดรับประทานยาได้เมื่ออาการเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยาทุกครั้ง
ยารักษาภาวะซึมเศร้า (Depression Medications)
ข้อมูลจากองค์กรพันธมิตรผู้ป่วยโรคทางจิตแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The National Alliance on Mental Illness: NAMI) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ดังนี้
1. Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)
เป็นกลุ่มยาลดอาการซึมเศร้าที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุด ยาเหล่านี้จะช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้าโดยทำให้มีปริมาณสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมองมากขึ้น
SSRIs ที่ใช้กันมากที่สุด คือ
- ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine)
- เซอร์ทราลีน (Sertraline)
- เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram)
- พาร็อกซีทีน (Paroxetine)
- ไซตาโลแพรม (Citalopram)
ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปของ SSRIs ได้แก่
- เกิดความผิดปกติทางเพศ
- มีปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ ท้องผูก และท้องร่วง
- ปากแห้ง
- นอนไม่หลับ
- ปวดหัว
- วิตกกังวลหรือกระวนกระวายใจ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- เหงื่อออก
2. Serotonin and Norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs)
เป็นกลุ่มยาลดอาการซึมเศร้าที่นิยมใช้รองลงมา ยานี้จะช่วยยับยั้งการดูดซึมกลับของเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ทำให้มีปริมาณสารสองตัวนี้ในสมองเพิ่มมากขึ้น
ตัวอย่างยากลุ่ม SNRIs
- เวนลาฟาซีน (Venlafaxine)
- เดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine)
- ดูล็อกซีทีน (Duloxetine)
- ลีโวมิลนาซิแพรน (Levomilnacipran)
- มิลนาซิแพรน (Milnacipran) ยานี้เป็นยาในกลุ่ม SNRI แต่ใช้เพื่อรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) แทนภาวะซึมเศร้า
ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับยา SSRIs รวมทั้งอาจทำให้รู้สึกเมื่อยล้าและมีอาการปัสสาวะขัด
3. Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI)
ยานี้จะยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) 2 ตัว คือ โดปามีน (Dopamine) และนอร์อิพิเนฟริน ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ คือยา Bupropion มีผลข้างเคียงคล้ายกับยากลุ่ม SSRIs และ SNRIs ยานี้เสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติทางเพศน้อยกว่ายากลุ่มอื่นๆ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการชักได้
4. Tricyclics
Tricyclic antidepressants (Tricyclics: TCAs) เป็นกลุ่มยาที่ใช้กันมานาน มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของสารเซโรโทนินและสารนอร์อิพิเนฟริน ปัจจุบันมีการนำยากลุ่มนี้มาใช้น้อยลง เพราะก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากและร้ายแรง โดยจะใช้ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ยาตัวอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น
ตัวอย่างของยากลุ่ม TCAs ได้แก่
- อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
- เดซิพรามีน (Desipramine)
- ด็อกเซปิน (Doxepin)
- อิมิพรามีน (Imipramine)
- นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline)
- โพรทริปไทลีน (Protriptyline)
ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงบางอย่างที่อาจเกิดจากการใช้ TCAs ได้แก่
- มองเห็นภาพซ้อน
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- มีอาการสั่น
- มีอาการชัก
- ผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้อาจมีอาการหรือความคิดสับสน
5. Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs)
Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) สามารถยับยั้งเอนไซม์ Monoamine oxidase ที่หยุดการทำงานของสารสื่อประสาทต่างๆ รวมถึงสารเซโรโทนินและสารนอร์อิพิเนฟรินในสมอง
ตัวอย่างยากลุ่ม MAOIs ได้แก่
- ฟีเนลซีน (Phenelzine)
- ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid)
- ทรานิลไซโปรมีน (Tranylcypromine sulfate)
- เซเลกิลีน (Selegiline) เป็นยาที่พัฒนาล่าสุด อยู่ในรูปแบบแผ่นแปะ มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายา MAOI ชนิดอื่น ๆ
ยากลุ่ม MAOIs ก็ถูกนำมาใช้น้อยลงเนื่องจากมีผลข้างเคียงและทำปฏิกิริยากับสารอื่นค่อนข้างมาก เช่น หากคุณกินอาหารที่มีสารประกอบไทรามีน (Tyramine) จำนวนมาก ซึ่งมักพบในชีส ผักดอง และไวน์แดง พร้อมกับยากลุ่ม MAOIs อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูงรุนแรงที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
หากคุณใช้ยากลุ่ม MAOI ร่วมกับยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวดบางชนิด ยารักษาภูมิแพ้ ยาแก้หวัด และสมุนไพรบางชนิด ก็อาจทำให้มีความดันโลหิตสูงรุนแรงได้เช่นกัน นอกจากนี้ การใช้ยา MAOI ร่วมกับยา SSRI ยังอาจทำให้เกิดภาวะเซโรโทนินซินโดรม (Serotonin syndrome) ซึ่งในกรณีที่รุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
***เพิ่มเติม : Serotonin syndrome เกิดจากการทำงานของระบบเซโรโทนิน (Serotonin) ในระบบประสาทส่วนกลางทำงานมากผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติทั้ง mental status, ระบบ neuromuscular, ระบบ autonomic ที่ทำงานผิดปกติไป***
6. ยาอื่น ๆ
ยาที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าตัวอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มข้างต้น ได้แก่
- ทราโซโดน (Trazadone)
- เนฟาโซโดน (Nefazodone)
- เมอร์ทาซาปีน (Mirtazapine)
- อาริพิพราโซล (Aripiprazole)
- คิวไทอาปีน (Quetiapine)
- วิลาโซโดน (Vilazodone)
- วอร์ทิออกซีทีน (Vortioxetine)
2. การรักษาโดยการทำจิตบำบัด
การรักษาวิธีนี้เป็นการเปลี่ยนความคิดเพื่อพิชิตความเศร้า รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผู้ป่วยที่มีอารมณ์เศร้ามักมองโลกในแง่ร้าย
ซึ่งจะเป็นวัฏจักรที่จะทำให้ภาวะซึมเศร้านั้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเป็นเวลานาน แพทย์จะค่อยๆ พูดคุยและบอกผู้ป่วยให้หยุดเศร้าสักประเดี๋ยว แล้วให้ย้อนกลับไปคิดว่าเมื่อสักครู่เกิดอะไรขึ้น มีความคิดอะไรแวบเข้ามาในหัวบ้าง
จากนั้นให้ลองพิจารณาดูว่าความคิดนั้นถูกต้องแค่ไหน หากคิดว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดีจนกว่าจะเผลอไปคิดในแง่ร้ายอีกครั้ง
โรคซึมเศร้านั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน การใช้จิตบำบัดหรือการบำบัดด้วยการพูดคุยถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้และรับมือกับปัจจัยด้านจิตใจ พฤติกรรม ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
และปัจจัยภาวะแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า โดยโรคซึมเศร้าต่างรูปแบบกันก็มีเป้าหมายการรักษาและวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยต่างกันไปด้วย เช่น
- หาว่ามีปัญหาอะไรในชีวิตที่ส่งผลต่อโรคซึมเศร้าหรือทำให้โรคซึมเศร้าแย่ลง
- หาว่าความคิดหรือความเชื่อในทางลบหรือผิดจากความเป็นจริงที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่ซึมเศร้าหรือไม่ เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง และความรู้สึกที่หมดหนทาง
- ฝึกการรับมือกับความเครียดและช่วยให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้น
- พิจารณาปัญหาในความสัมพันธ์ และแนะนำวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- ตั้งเป้าหมายชีวิตที่เป็นไปได้และวางแผนการดูแลตนเอง
- เปลี่ยนมุมมองเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้ชีวิต
- เรียนรู้และทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เจ็บปวดในอดีต
การทำจิตบำบัดมี 2 รูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด ดังนี้
พฤติกรรมและความคิดบำบัด (Cognitive behavioral therapy: CBT)
ซึ่งเป็นการบำบัดโดยพยายามช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้าเห็นถึงความคิดและความเชื่อในทางลบของตัวเอง และเปลี่ยนความคิดและความเชื่อเหล่านั้นไปในทางบวก การบำบัดรูปแบบนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคความเจ็บป่วยทางจิตใจได้หลายประเภท
โดยผู้ที่เข้าร่วมจิตบำบัดมักจะได้รับการบ้านให้กลับไปทำ เช่น ให้บันทึกความคิดด้านลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆ เป็นต้น
ปฏิสัมพันธ์บำบัด (Interpersonal therapy)
เป็นการบำบัดที่มุ่งไปที่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การหาสาเหตุปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น และพัฒนาทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยค้นพบรูปแบบวิถีชีวิตและพฤติกรรมทางสังคมในเชิงลบของตนเอง เช่น การแยกตัวจากสังคมและความก้าวร้าว และช่วยฝึกให้โต้ตอบกับคนอื่นได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพจิตแห่งสหรัฐอเมริกา (National Institute of Mental Health) ระบุว่าการทำจิตบำบัดเพียงอย่างเดียวอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่อาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรง
3. การรักษาด้วยการกระตุ้นสมอง
หากการจิตบำบัดและการใช้ยาไม่ได้ผล จิตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมองด้วยวิธีต่างๆ ต่อไปนี้
3.1 การบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy: ECT)
วิธีนี้มีใช้มานานมากแล้ว โดยใช้ครั้งแรกในปี 1940 เป็นการบำบัดโดยใช้กระแสไฟฟ้าปล่อยผ่านสมองขณะที่ดมยาสลบอยู่ การรักษานี้จะส่งผลต่อเซลล์ประสาทและสารเคมีในสมอง
ตามข้อมูลจากองค์กรพันธมิตรผู้ป่วยโรคทางจิตแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องรักษา 4-6 ครั้ง กว่าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
การช็อตไฟฟ้านี้จะมีผลข้างเคียงชั่วคราว ได้แก่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ สับสน ความจำเสื่อม และอาจทำให้มีอาการชักช่วงสั้นๆ ในระหว่างการทำ ซึ่งสามารถควบคุมอาการได้
3.2 การกระตุ้มสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า
แพทย์อาจกระตุ้นสมองและเซลล์ประสาทด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation: TMS) แทนการใช้กระแสไฟฟ้า
การรักษานี้ไม่ต้องดมยาสลบ และจะเน้นกระตุ้นที่บริเวณของสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ ผลข้างเคียงจากการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กนั้น ได้แก่ กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก ปวดหัวหรือเวียนหัว และอาจมีอาการชัก หากผู้ป่วยมีประวัติชักมาก่อน
3.3 การกระตุ้นเส้นประสาทวากัส (vagus nerve)
สำหรับโรคซึมเศร้าเรื้อรังหรือโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้าหรือการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กนั้น
การกระตุ้นเส้นประสาทวากัส (Vagus nerve stimulation: VNS) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทำโดยใช้อุปกรณ์ฝังเข้าไปเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทวากัสด้วยสัญญาณไฟฟ้า
ซึ่งเส้นประสาทนี้จะทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทไปส่วนของสมองที่ควบคุมอารมณ์และการนอนหลับตลอดทั้งวัน และถือเป็นเครื่องมือที่คอยสร้างจังหวะให้กับสมอง
การรักษาวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น ปวดคอ ปัญหาการหายใจระหว่างออกกำลังกาย และปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก เช่น กลืนลำบาก ไอ และรู้สึกปวด
4. การใช้ธรรมชาติบำบัด
มีการใช้ธรรมชาติบำบัดหลายๆ วิธี ที่อาจช่วยรักษาโรคซึมเศร้าเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น
- การออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นอารมณ์ให้แจ่มใส
- การเล่นโยคะ การทำสมาธิ และการฝึกจิตอื่นๆ เพื่อช่วยลดความเครียดและบรรเทาอารมณ์เชิงลบ
- การนวดเพื่อช่วยลดฮอร์โมนความเครียด และเพิ่มสารสื่อประสาทที่ช่วยให้อารมณ์คงที่
- การฝังเข็ม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อสารสื่อประสาท
อาหารเสริมบางชนิด เช่น โฟเลต (folate) เอสเอเอ็มอี (SAMe) หรือเอส-อะดีโนซิล-แอล-เมทไธโอนีน (S-Adenosyl-L-Methionine) และหญ้าเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort) อาจช่วยรักษาโรคซึมเศร้า
แต่ก็ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ผลในการรักษา ดังนั้น ก่อนเริ่มลองใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ข้อควรปฏิบัติเมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- ไม่ควรตั้งเป้าหมายในการทำงานมากเกินไป และไม่ควรรับผิดชอบทุกอย่างจนเกินความสามารถของตัวเอง
- ควรแยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อย แล้วค่อยๆ เรียบเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังเพื่อลงมือแก้ไขไปทีละอย่าง
- ห้ามบังคับตัวเองหรือตั้งเป้าหมายกับตัวเองสูงเกินไป เพราะนั่นจะยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันและเสี่ยงต่อความล้มเหลวในภายหลัง
- หมั่นหากิจกรรมที่ชอบและทำให้ตัวเองรู้สึกดีมาทำบ่อยๆ เพื่อให้รู้สึกเพลิดเพลินและมีชีวิตชีวามากขึ้น
- ไม่ควรตำหนิตัวเอง เมื่อไม่สามารถทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จได้ตามที่วางแผนไว้ ควรรู้จักให้อภัยตัวเองและให้โอกาสตัวเองได้เริ่มต้นใหม่
การปล่อยปละละเลยและไม่ได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด นอกจากจะทำให้อาการของโรคซึมเศร้ายิ่งรุนแรงขึ้นแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และคนรอบข้างได้
เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ามักไม่มีสติอยู่กับตัว มักทำอะไรลงไปโดยไม่ค่อยมีสติ ไม่รู้ตัว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียใดๆ จึงควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีที่สุด
เป็นโรคซึมเศร้า ควรรับประทานวิตามินเสริมหรือไม่?
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนจำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริมด้วย เนื่องจากมีการขาดวิตามินหลายชนิดที่อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมีอาการของโรคซึมเศร้า ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือนักจิตบำบัดก่อนเริ่มรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆ ด้วยตนเอง
มาดูกันว่ามีวิตามินอะไรบ้างที่เมื่อร่างกายได้รับไม่เพียงพอจะมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า
วิตามินบีรวม
วิตามินบีรวมเป็นวิตามินที่จำเป็นต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ วิตามินชนิดนี้สามารถละลายในน้ำและไม่สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้
ดังนั้น ร่างกายจึงต้องการวิตามินบีเพิ่มในแต่ละวัน โดยปริมาณวิตามินบีในร่างกายอาจลดลงจากการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำตาล นิโคติน หรือคาเฟอีน หากคุณกำลังรับประทานอาหารพวกนี้ในปริมาณมากอาจทำให้คุณอาจขาดวิตามินบีได้
วิตามินบีหลายชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า ดังนี้
วิตามินบี 1 (Thiamine)
สมองใช้วิตามินตัวนี้ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดมาเป็นพลังงาน ดังนั้น หากมีปริมาณวิตามินตัวนี้ไม่เพียงพอ จะทำให้สมองไม่มีพลังงาน การขาดชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย แต่อาจเกิดร่วมกับการติดแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตหรือระบบประสาทได้
วิตามินบี 3 (Niacin)
การขาดวิตามินนี้จะทำให้เกิดโรคหนังกระ (Pellagra) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการทางจิตและความจำเสื่อม โดยอาการกระวนกระวายและวิตกกังวล
รวมถึงมีการทำงานของสมองและร่างกายที่ช้าลงได้ อย่างไรก็ตาม อาหารที่มีขายอยู่ในปัจจุบันมักมีส่วนประกอบของ Niacin ทำให้โรคขาดวิตามินชนิดนี้พบได้น้อยมากในปัจจุบัน
วิตามินบี 5 (Pantothenic acid)
การขาดวิตามินตัวนี้อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและซึมเศร้าได้ แต่ก็พบได้น้อย
วิตามินบี 6 (Pyridoxine)
วิตามินตัวนี้ช่วยในการสร้างกรดอะมิโนซึ่งจำเป็นต่อการสร้างโปรตีนและฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะเซโรโทนิน เมลานิน และโดปามีน
การขาดวิตามินนี้อาจทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีแผลที่ผิวหนัง และมีอาการสับสนได้ คนที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินชนิดนี้คือกลุ่มคนที่ติดแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยโรคไตวาย และผู้หญิงที่กำลังรับประทานยาคุมกำเนิด
นอกจากนี้ การใช้ยาในกลุ่ม MAOIs ก็ทำให้ร่างกายมีวิตามินชนิดนี้น้อยลงเช่นกัน แต่การขาดวิตามินนี้ก็พบได้น้อยมาก
วิตามินบี 12
เนื่องจากวิตามินตัวนี้สำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง หากขาดไปจึงทำให้เกิดภาวะซีดร่วมกับอาการทางระบบประสาทและอาการทางจิต การขาดวิตามินตัวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการขาดอย่างเรื้อรัง
เนื่องจากร่างกายสามารถเก็บสะสมวิตามินตัวนี้ไว้ที่ตับได้นานถึง 3-5 ปี และมักเกิดจากการขาด Intrinsic factor ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ดูดซึมวิตามินบี 12 จากทางเดินอาหาร ภาวะนี้เรียกว่า Pernicious anemia
และเนื่องจาก Intrinsic factor นี้จะค่อยๆ ลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้น
กรดโฟลิค (Folic acid)
วิตามินชนิดนี้จำเป็นต่อการสร้างสาย DNA และจำเป็นต่อการสร้างสาร SAM (S-Adenosyl Methionine) การขาดวิตามินตัวนี้เกิดจากการรับประทานอาหารได้น้อย อาการเจ็บป่วย การติดแอลกอฮล์ และการใช้ยาหลายชนิด แพทย์มักแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์รับประทานวิตามินชนิดนี้เสริม เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทของทารก
วิตามิน D
การขาดวิตามินดีสามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม และโรคออทิสติกได้ โดยคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวและมีแสงแดดน้อยจะเสี่ยงต่อการขาดวิตามินชนิดนี้ เนื่องจากแสงแดดเป็นแหล่งวิตามินดีที่สำคัญของร่างกาย
วิตามิน C
การขาดวิตามินแบบไม่แสดงอาการอาจทำให้มีอาการซึมเศร้า ซึ่งต้องรับประทานวิตามินเสริมเพื่อช่วยลดอาการ การเสริมรับประทานวิตามินซีเสริมนั้นจำเป็นหากคุณกำลังเข้ารับการผ่าตัด หรือเป็นโรคที่มีการอักเสบในร่างกาย
นอกจากนั้น ความเครียด การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร ก็เป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายต้องการวิตามิน C เพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงผู้ที่กำลังใช้ยาแอสไพริน ยา Tetracycline และยาคุมกำเนิด ซึ่งยาเหล่านี้จะทำให้ระดับวิตามินซีในร่างกายลดลง
แร่ธาตุ
การขาดแร่ธาตุบางชนิดอาจเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าและโรคทางกายอื่นๆ ได้ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ซิงค์ เหล็ก แมงกานีส และโพแทสเซียม
อย่างไรก็ตาม คุณควรระลึกไว้เสมอว่าอาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวันคือแหล่งวิตามินที่ดีที่สุดแล้ว ซึ่งรวมถึงวิตามินเหล่านี้ด้วย ดังนั้น การรับประทานอาหารที่เหมาะสมและครบถ้วนจะช่วยให้คุณได้รับวิตามินที่จำเป็นเหล่านี้ในปริมาณที่เพียงพอ
คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายสนิทได้ไหมคะ แล้วจะกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม
คำตอบ 1: ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถหายเป็นปกติได้ค่ะ แต่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและบำบัดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดยา เฝ้าระวังเมื่อมีอาการกำเริบ และต้องไปพบจิตแพทย์ตามนัดทุกครั้ง - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
คำตอบ 2: โรคซึมเศร้ารักษาได้ค่ะ แต่หากจะให้หายขาดคงลำบากหน่อยนะคะ เพราะสาเหตุหลักของโรคโรคซึมเศร้าคือสารเคมีในสมอง การรักษาด้วยการรับประทานยาเป็นการช่วยปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลค่ะ ฉะนั้น หากคุณหยุดรับประทานยา โอกาสที่โรคจะกำเริบซ้ำก็มีค่ะ
ยังไงแนะนำให้พบจิตแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และทานยาสม่ำเสมอนะคะ หากอาการของคุณดีขึ้น 100% จิตแพทย์จะค่อยๆ ปรับลดยาให้ และมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองให้คุณค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
ดิฉันจะช่วยคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร เมื่อท่านคอยแต่ปฏิเสธความช่วยเหลือ
คำตอบ: คุณแม่ได้ทานยาต่อเนื่องมั้ยคะ เพราะการขาดยาหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้โรคซึมเศร้ากำเริบ ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองได้นะคะ
อันดับแรกคุณควรพาคุณแม่ไปพบจิตแพทย์ ให้ท่านรับประทานยาให้ครบตามหมอสั่ง หลังจากทานยาไปแล้วประมาณ 2 อาทิตย์อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ควรเฝ้าระวังความเสี่ยงที่คุณแม่อาจจะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายด้วยนะคะ
เช่น ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว จัดเก็บของใช้ในบ้านที่เสี่ยงให้อยู่ในที่มิดชิด เช่น เชือก ผ้า ยาล้างห้องน้ำ ของมีคม อาวุธต่างๆ และพาคุณแม่ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
เป็นภาวะซึมเศร้านะคะ รักษามาได้ประมาณ 3 เดือนแล้วค่ะ ได้รับยา Sertraline และ Clonazepam มารับประทานค่ะ แต่ยังนอนได้ประมาณวันละ 4-5 ชั่วโมงเองค่ะ ปรึกษาหมอแล้ว คุณหมอก็ไม่ได้เปลี่ยนตัวยาให้ค่ะ ควรทำอย่างไรคะ
คำตอบ: อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเรื่องการบำบัดผ่อนคลาย (Relaxation therapy) หรือการบำบัดโดยการประมวลความคิด (Cognitive therapy) ร่วมกับการใช้ยาค่ะ
นอกจากนี้แล้ว ควรนอนให้เป็นเวลา ไม่รับประทานคาเฟอีน ออกกำลังกายเป็นประจำ และอยู่ในห้องนอนที่มืด ไม่มีเสียงรบกวนค่ะ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
อาการของโรคซึมเศร้าข้างต้นเริ่มแบบไหน
คำตอบที่ 1: สำหรับวิธีสังเกตอาการของโรคซึมเศร้าเบื้องต้นด้วยตนเองนะคะ คุณจะมีอาการต่อไปนี้ 5 อย่างขึ้นไป ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
1. มีอารมณ์เศร้าตลอดทั้งวัน หากเป็นเด็กหรือวัยรุ่นอาจมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย
2. หมดความสนใจ หรือไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนเคย
3. เบื่ออาหารและน้ำหนักลด
4. นอนไม่หลับหรือนอนมากเกือบทั้งวัน
5. ความคิดและการเคลื่อนไหวเชื่องช้า หรืออยู่ไม่สุข กระวนกระวาย
6. เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง
7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากผิดปกติ
8. ไม่มีสมาธิหรือรู้สึกลังเลใจอย่างมากในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ
9. มีความคิดอยากตาย คิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
นอกจากแบบประเมินข้างต้น คุณอาจใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้าแบบ 2 คำถาม คือ
1.ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมถึงวันนี้ ท่านรู้สึก หดหู่ เศร้า หรือท้อแท้สิ้นหวังหรือไม่
2.ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมถึงวันนี้ ท่านรู้สึกเบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่ ถ้าคำตอบ “ไม่มี” ทั้ง 2 คำถาม ถือว่าปกติ ไม่เป็นโรคซึมเศร้า ถ้าคำตอบ “มี” ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้อ หมายถึง เป็นผู้มีความเสี่ยง หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า แนะนำให้ไปพบบุคลากรทางด้านสาธารณสุขหรือแพทย์และแจ้งผลให้ทราบ - ตอบโดย Danuchar Chaichuen (พว.)
รู้สึกซึมเศร้าและปวดหัวหลังจากกินยาคุมไปได้ 2 อาทิตย์ค่ะ เกี่ยวกันมั้ยคะ เป็นผลข้างเคียงหรือเปล่า
คำตอบ: เกี่ยวกันได้คะ เพราะ 2 อาการนี้เป็นผลข้างเคียงของการรับประทานยาคุม โดยผลข้างเคียงของเม็ดยาคุมกำเนิดที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดหัว เป็นฝ้า มีเลือดออกกระปริบกระปรอย ประจำเดือนผิดปกติ ความดันสูง ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีอาการอื่นๆ ที่พบได้น้อย เช่น ปวดประจำเดือน ปวดขา เส้นเลือดขอด อ่อนเพลีย ความรู้สึกทางเพศลดลงค่ะ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
โรคซึมเศร้ารักษาโดยไม่ใช้ยาได้หรือไม่
คำตอบ: หากไม่ใช้ยา สามารถใช้การทำจิตบำบัดได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจิตแพทย์จะต้องประเมินอาการก่อนว่ารุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงมากและมีอาการเป็นระยะเวลานานก็จำเป็นต้องใช้ยาควบคู่กันไปค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
บทความที่เกี่ยวข้อง
ตรวจสุขภาพจิตคืออะไร เมื่อไหร่ควรตรวจ ค่าใช้จ่ายแพงไหม?
เมื่อไหร่ควรไปปรึกษาจิตแพทย์