แมงกานีส โมลิบดีนัม และฟอสฟอรัส

อ่านข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับแมงกานีส โมลิบดีนัม และฟอสฟอรัส แร่ธาตุเหล่านี้ดีต่อร่างกายคุณอย่างไรและโรคที่เกิดขึ้นหากคุณขาดแร่ธาตุนี้
เผยแพร่ครั้งแรก 10 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
แมงกานีส โมลิบดีนัม และฟอสฟอรัส

รวมถึงแหล่งจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ศัตรู ข้อมูลเกี่ยวกับอาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานแร่ธาตุเหล่านี้มากไป ตลอดจนคำแนะนำที่น่าสนใจต่างๆมากมายสามารถอ่านต่อได้ที่นี่

1. แมงกานีส

ข้อเท็จจริง

  • ช่วยกระตุ้นเอนไซม์ที่จำเป็นต่อกระบวนการนำไบโอติน บี 1 และวิตามินซีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
  • มีความจำเป็นต่อโครงสร้างของกระดูก
  • มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม (มก.)
  • มีความสำคัญต่อการสร้างไทรอกซิน ฮอร์โมนหลักของต่อมไทรอยด์
  • มีความสำคัญต่อกระบวนการย่อยและนำอาหารมาใช้ให้เป็นประโยชน์
  • ไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันอย่างเป็นทางการ แต่สถาบันวิจัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา แนะนำให้รับประทาน 2-5 มก. สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป
  • มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์และระบบประสาท

แมงกานีสดีต่อร่างกายคุณอย่างไร

  • ช่วยลดอาการอ่อนล้า
  • มีส่วนช่วยในกระบวนการตอบสนองของกล้ามเนื้อ
  • ป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • ช่วยให้ความจำดีขึ้น
  • ลดอาการหงุดหงิดง่าย

โรคจากการขาดแมงกานีส

ภาวะเดินเซ

แหล่งแมงกานีสจากธรรมชาติที่ดีที่สุด

ซีเรียลแบบโฮลเกรน ถั่ว ผักใบเขียว ถั่วลันเตา หัวบีต

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

พบมากในผลิตภัณฑ์วิตามินรวมและแร่ธาตุ ในขนาด 1-9 มก.

อาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานมากไป

พบได้น้อยมาก นอกจากได้รับแมงกานีสปริมาณมากจากแหล่งอุตสาหกรรม

ศัตรูของแมงกานีส

การรับประทานแคลเซียมและฟอสฟอรัสปริมาณมาก จะยับยั้งการดูดซึมได้ เช่นเดียวกับเส้นใยอาหารและกรดไฟติกในรำข้าวและถั่ว

คำแนะนำส่วนตัว

  • หากคุณมีอาการมึนศีรษะบ่อยๆ อาจลองพยามรับประทานแมงกานีสจากอาหารต่างๆ ให้มากขึ้น
  • ผมขอแนะนำให้ผู้ที่มักมีอาการใจลอย หรือมีปัญหาด้านความจำ รับประทานแร่ธาตุนี้ให้เพียงพอ
  • ผู้ที่ดื่มนมหรือบริโภคเนื้อสัตว์เป็นปริมาณมาก ควรรับประทานแมงกานีสให้มากขึ้น

2. โมลิบดีนัม

ข้อเท็จจริง

  • ช่วยในกระบวนการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมัน เป็นส่วนสำคัญของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่นำธาตุเหล็กมาใช้
  • ไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน แต่ประมาณการว่าการรับประทาน 75-250 มคก. น่าจะเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์

โมลิบดีนัมดีต่อร่างกายคุณอย่างไร

  • ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
  • ส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นโดยรวม

โรคจากการขาดโมลิบดีนัม

ยังไม่พบ

แหล่งจากธรรมชาติที่ดีที่สุด

ผักใบเขียวเข้ม ธัญพืชไม่ขัดสี พืชฝักตระกูลถั่ว

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป

อาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานมากไป

พบได้น้อยมาก แต่ขนาด 5-10 มก. ต่อวันอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

คำแนะนำเกี่ยวกับโมลิบดีนัม

แม้โมลิบดีนัมจะสำคัญต่อร่างกายของคุณก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานเสริมอีก นอกเสียจากว่าอาหารทุกประเภทที่คุณรับประทานปลูกมาจากดินที่ขาดแร่ธาตุ

3. ฟอสฟอรัส

ข้อเท็จจริง

  • พบได้ในทุกเซลล์ของร่างกายเรา วิตามินดีและแคลเซียมมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของฟอสฟอรัส
  • อัตราส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสควรเท่ากับ 2:1 เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (ควรรับประทานแคลเซียมเป็นสองเท่าของฟอสฟอรัส)
  • เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีของร่างกายเราในเกือบทุกส่วน
  • มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อโครงสร้างของกระดูกและฟัน
  • ไนอะซินจะไม่สามารถถูกดูดซึมได้หากขาดฟอสฟอรัส
  • มีความสำคัญต่อการทำงานที่เป็นปกติสม่ำเสมอของหัวใจ
  • สำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของไต
  • ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการส่งต่อสัญญาณประสาท
  • ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือ 800-1,200 มก. หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะต้องการมากกว่านี้
  • แร่ธาตุนี้ดีต่อร่างกายคุณอย่างไร
  • ช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
  • ช่วยให้ร่างกายมีพลังงานและกระปรี้กระเปร่า เนื่องจากมันมีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญไขมันและแป้ง
  • บรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ
  • ส่งเสริมสุขภาพเหงือกและฟัน

โรคจากการขาดฟอสฟอรัส

โรคกระดูกอ่อนในเด็ก เหงือกอักเสบ

แหล่งจากธรรมชาติที่ดีที่สุด

ปลา สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ ธัญพืชไม่ขัดสี ไข่ ถั่ว เมล็ดพืช

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

โบนมีล (Bonemeal) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากธรรมชาติที่มีฟอสฟอรัสสูง (ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการเติมวิตามินดีลงไป เพื่อให้ดูดซึมได้ดีขึ้นหรือไม่ และที่สำคัญคือ ต้องไม่มีสารตะกั่วเจือปน!)

อาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานมากไป

ยังไม่พบว่ามีอันตรายต่อร่างกาย

ศัตรูของฟอสฟอรัส

การรับประทานธาตุเหล็ก อะลูมิเนียม และแมกนีเซียมมากเกินไป อาจทำให้ฟอสฟอรัสด้อยประสิทธิภาพลงได้

คำแนะนำ

  • หากคุณรับประทานฟอสฟอรัสมากเกิน จะทำให้แร่ธาตุในร่างกายเสียสมดุล และยังส่งผลให้ระดับแคลเซียมลดลงด้วย โดยทั่วไปอาหารที่เรารับประทาน มีฟอสฟอรัสสูงอยู่แล้ว เนื่องจากฟอสฟอรัสมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติเกือบทุกชนิด ดังนั้น แนวโน้มที่เราจะขาดแคลเซียมจึงพบได้บ่อย คุณควรระวังในประเด็นนี้ และพยายามปรับการรับประทานอาหารให้เหมาะสม
  • หากคุณอายุมากกว่าสี่สิบปี คุณควรรับประทานเนื้อสัตว์ในแต่ละวันให้น้อยลง และพยายามรับประทานผักใบเขียวหรือดื่มนมแทน เนื่องจากว่า เมื่อคนเราอายุเกินสี่สิบปี ไตจะไม่สามารถขับฟอสฟอรัสออกได้ดีเท่าที่ควร จึงส่งผลให้แคลเซียมต่ำได้ ระมัดระวังในการรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่มีการเติมฟอสเฟตเพื่อกันเสีย และอย่าลืมนับเป็นส่วนหนึ่งของฟอสฟอรัสที่คุณรับประทานด้วย

หากคุณเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์และอยากอ่านเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติม สามารถสนับสนุน ดร.เอิร์ล มินเดลล์ (ผู้แต่ง) พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (แปล) ได้โดยการซื้อหนังสือวิตามินไบเบิล


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Elevated Phosphorus Impedes Manganese Acquisition by Barley Plants. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3355622/)
Manganese Deficiency: Symptoms, Causes, Diagnosis, and Treatment. Healthline. (https://www.healthline.com/health/manganese-deficiency)
Precious metals and other important minerals for health. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/precious-metals-and-other-important-minerals-for-health)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)