ความหมายของโรคไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) คือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้า (Major depressive episode) อยู่ในช่วงหนึ่ง และจะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania หรือ Hypomania) ในอีกช่วงหนึ่งสลับกันไป โรคนี้ถือเป็นความผิดปกทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
ชนิดของโรคไบโพลาร์
ชนิดของโรคไบโพลาร์จะแบ่งแยกตามอาการและความรุนแรงของโรค โดยจะแบ่งออกได้ 3 ชนิด ต่อไปนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- โรคไบโพลาร์ชนิดที่ 1 (Bipolar I) เป็นโรคไบโพลาร์ชนิดที่รุนแรงที่สุด โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติและซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ครั้งทุกวัน และจะเป็นยาวนานติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ อาการอารมณ์ดีผิดปกติของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ชนิดนี้ยังรุนแรงกว่าผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ชนิดที่ 2 มาก
- โรคไบโพลาร์ชนิดที่ 2 (Bipolar II) เป็นชนิดของโรคไบโพลาร์ที่มักตรวจพบในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ร่วมกับมีอาการอารมณ์ดีผิดปกติอย่างอ่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง และผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ชนิดนี้ยังมีช่วงอารมณ์ที่ผิดปกติคั่นกลางระหว่างช่วงอารมณ์ดี กับช่วงอารมณ์ซึมเศร้าด้วย
- โรคไบโพลาร์ชนิดอ่อน (Cyclothymia) สามารถเรียกได้อีกชื่อว่า "โรคไซโคลไทมิก (Cyclothymic disorder)" เป็นโรคไบโพลาร์ที่ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงแบบอ่อนๆ ไม่รุนแรงมาก
สาเหตุของโรคไบโพลาร์
สาเหตุของโรคไบโพลาร์สามารถแบ่งออกได้หลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
- ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น
- ความผิดปกติของสื่อประสาทในสมอง
- ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนในร่างกาย
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ
- การทำงานของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ผิดปกติ
- ปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อม ซึ่งปัจจัยนี้อาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคไบโพลาร์ได้ เช่น
- การบริโภคแอลกอฮอล์และเสพยาเสพติด
- ผู้ป่วยไม่สามรถปรับตัวเพื่อรับมือกับความเครียดหรือปัญหาในชีวิตได้
- การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตหรือเหตุการณ์ร้ายแรง
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า โรคไบโพลาร์สามารถถ่ายทอดถึงกันทางพันธุกรรมได้ แต่ก็มีผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวนมากที่คนในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเคยเป็นโรคไบโพลาร์มาก่อน
- ปัจจัยจากโรคทางกาย สำหรับโรคที่ทำให้ลุกลามเกิดเป็นโรคไบโพลาร์ได้ จะได้แก่
- โรคลมชัก
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคไมเกรน
- โรคเนื้องอกในสมอง
- อาการเจ็บที่ศีรษะ
- โรคที่ติดเชื้อ
- การรับประทานยาบางชนิด
อาการของโรคไบโพลาร์
อาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์โดยหลักๆ คือ จะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างคาดเดาไม่ได้ และลักษณะอารมณ์ของผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ
1. อาการในช่วงอารมณ์ซึมเศร้า (Depressive Episode)
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีอาการในช่วงอารมณ์ซึมเศร้าอย่างน้อย 5 ขึ้นไป และจะเป็นอยู่เกือบตลอดเวลา ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- มีอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้กับชีวิต
- ความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันลดลง รวมไปถึงแรงจูงใจในการทำงานอดิเรกที่ชอบ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน
- นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หลับไม่สนิท หรือนอนแล้วตื่นเร็วกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนอนมากเกินไป ต้องการนอนทั้งวัน หรือนอนกลางวันมากเกินไปด้วย
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือทำอะไรเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง
- รู้สึกว่าตนไร้ค่า สิ้นหวังกับชีวิต มองสิ่งรอบตัวในแง่ลบไปหมด
- สมาธิและความจำแย่ลง
- อยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง
2. อาการในช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania หรือ Hypomania)
สำหรับผู้ป่วยที่อารมณ์ดีผิดปกติจะมีอาการร่าเริง มีความสุข เบิกบานใจมากเกินกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอารมณ์หงุดหงิดง่ายด้วย โดยระยะของอาการจะต้องเป็นติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และต้องมีอาการมากกว่า 4 อาการขึ้นไป
คุณสามารถสังเกตอาการในช่วงอารมณ์ดีผิดปกติได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังนี้
- มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น เชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถมากเกินไป หรือคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ มีอำนาจและยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น
- นอนน้อยผิดปกติ รวมถึงมีความต้องการในการนอนลดลงด้วย เช่น นอนหลับแค่ 3 ชั่วโมงเพียงพอแล้ว
- ความคิดแล่นเร็ว หรือคิดหลายๆ เรื่องพร้อมกัน หรือชอบเสนอแผนการหลายอย่างมากมายออกมา
- พูดเร็วขึ้นและขัดจังหวะได้ยากด้วย ยิ่งหากอาการรุนแรง ก็จะพูดเสียงดังและเร็วขึ้นจนยากที่จะเข้าใจ
- ไม่ค่อยมีสมาธิ วอกแวกง่าย ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้
- เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องการทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
- ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตนเองได้ เช่น ดื่มสุรามาก โทรศัพท์ทางไกลนานๆ ติดการเล่นพนันหรือชอบเสี่ยงโชคเกินตัว
สำหรับอาการที่กล่าวมาในข้างต้น หากมองผ่านๆ ก็อาจดูเหมือนเป็นพฤติกรรมคึกคะนองธรรมดาทั่วไป หรือเป็นพฤติกรรมของผู้ที่กระตือรือร้นและมีความมั่นใจสูงเท่านั้น ดังนั้นคุณจะสามารถนับอาการเหล่านี้ว่าเป็นความผิดปกติของโรคไบพลาร์ได้ก็ต่อเมื่อ...
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนและกะทันหัน
- อารมณ์ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงสูงจนกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
- อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ ยาเสพติด ยารักษาโรคที่ใช้ประจำ และภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ
ส่วนอาการไฮโปมาเนีย (Hypomania) ซึ่งจัดอยู่ในอาการของช่วงอารมณ์ดีผิดปกติเช่นกันนั้น เป็นอาการที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมาก และระยะของอาการก็จะสั้นกว่า
อาการของโรคไบโพลาร์ในเด็ก
อาการของโรคไบโพลาร์ในเด็กและวัยรุ่นจะเหมือนกับผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน แต่จะยากตรงที่การวินิจฉัยอาการ เพราะเด็กและวัยรุ่นส่วนมากยังไม่สามารถแยกอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากความเครียด หรือเหตุการณ์ร้ายแรงได้อย่างแน่ชัดเหมือนผู้ใหญ่ ทำให้หลายๆ ครั้ง เด็กที่เป็นโรคไบโพลาร์จะได้รับการวินิจฉัยที่ผิดอยู่บ่อย
ทางที่ดี หากคุณมีเด็กๆ ในครอบครัวที่แสดงอารมณ์แปรปรวนอยู่บ่อยๆ หรือผิดปกติได้จากเดิม ให้ลองปรึกษาแพทย์ จิตแพทย์เด็ก หรือกุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
ผลกระทบของโรคไบโพลาร์ต่อชีวิตประจำวัน
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา โรคไบโพลาร์ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้ เช่น
- การติดสุราและยาเสพติด
- เกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าจนอยากฆ่าตัวตาย
- ก่ออาชญากรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ
- เกิดปัญหาด้านการเงิน
- เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคู่หรือกับคนรอบข้าง
- ส่งผลกระทบต่อการเรียนและการทำงาน
- ไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศได้ หรือมีพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป
การวินิจฉัยโรคไบโพลาร์
เนื่องจากสาเหตุของโรคไบโพลาร์ยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างแน่ชัด ดังนั้นการวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่ หากคุณสงสัยว่าตนเองอาจมีอาการของโรคไบโพลาร์ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยหรือรับการทดสอบดังต่อไปนี้
- ตรวจร่างกายเบื้องต้น
- ตรวจเลือด แอลกอฮอล์ สารเสพติดอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุที่อาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการคล้ายโรคไบโพลาร์
- การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging) เป็นการสแกนเพื่อหาความผิดปกติในโครงสร้างสมอง หรือสารสื่อประสาทภายในสมองที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคไบโพลาร์ หรือเพื่อหาโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการ
- ตรวจคลื่นหัวใจ ซึ่งนอกจากจะเพื่อการวินิจฉัยแล้ว ยังไว้สำหรับการจัดยาเพื่อรักษาโรคไบโพลาร์ด้วย เนื่องจากมียาหลายชนิดที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ
- การตรวจคลื่นสมอง
- การตรวจทางจิตวิทยา โดยแพทย์จะถามเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้ป่วย รวมถึงอาจพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนสนิทของผู้ป่วยด้วย แต่ทุกกระบวนการจะอยู่ภายใต้การยินยอมจากตัวผู้ป่วยเอง
- บันทึกและติดตามอาการของผู้ป่วยเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย
และนอกเหนือจากการวินิจฉัยข้างต้น แพทย์อาจให้คุณทำแบบสอบถามเพิ่มเติม เพื่อตรวจหาอาการของคุณให้แน่ชัดด้วย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การรักษาโรคไบโพลาร์
วิธีการรักษาโรคไบโพลาร์จะแบ่งออกได้ 2 แบบด้วยกัน คือ การรักษาโดยรับประทานยา กับ การรักษาโดยทำจิตบำบัด
1. การรักษาโรคไบโพลาร์โดยการใช้ยา
ปริมาณและชนิดของยาที่ผู้ป่วยจะได้รับ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคไบโพลาร์และอาการที่เกิดขึ้น โดยจะแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดคือ
- ยาปรับอารมณ์ (Mood Stabilizers) เป็นยาที่ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ต้องรับประทานเพื่อควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะในช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ เช่น คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) ลิเทียม (Lithium)
- ยาต้านโรคจิต (Antipsychotics) มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด (Delusions) หรือประสาทหลอน (Hallucinations) ร่วมด้วย เช่น อะเซนาปีน (Asenapine) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ควิไทอะปีน (Quetiapine) ริสเพอริโดน (Risperidone)
- ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) เป็นที่ยาที่ใช้เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองซึ่งทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ แรงจูงใจและความอยากอาหาร เช่น เซอโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine)
- ยาคลายกังวล (Anxiety Medications) เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ซึ่งเป็นยาคลายกังวลที่จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
2. การรักษาโรคไบโพลาร์โดยการทำจิตบำบัด
นอกเหนือจากการใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้าร่วมการทำจิตบำบัด หรือรับคำปรึกษาในรูปแบบอื่นๆ เพื่อการใช้ชีวิตร่วมกับโรคอย่างเหมาะสม และวิธีจิตบำบัดนี้ยังครอบคลุมการรักษาภาวะติดยา หรือภาวะติดแอลกอฮอล์ด้วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องยาเสพติด
สำหรับวิธีทำจิตบำบัดที่ได้รับความนิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ "การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)" ซึ่งในการทำ CBT จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะช่วยหาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคไบโพลาร์ จากนั้นจะช่วยหาแนวทางแก้ไข และหาวิธีรับมือกับความเครียด พร้อมส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีกับผู้ป่วยเพื่อให้ควบคุมกับอาการของโรคได้
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำให้ครอบครัวของคุณเข้ารู้โปรแกรมการเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ด้วย ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจโรคและอาการที่เป็นอยู่มากขึ้น
ส่วนผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ที่เป็นเด็กนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ปกครองกำชับครูและบุคลากรที่โรงเรียนหรือที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าใจและมีส่วนร่วมในการรักษาด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กรู้สึกว่าตนเองได้รับความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น และทำให้อาการของโรคหายดีเร็วยิ่งขึ้น
การดูแลตนเองและคำแนะนำสำหรับผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยเมื่อเป็นโรคไบโพลาร์
การหมั่นสังเกตอาการ และดูแลสุขภาพกายและใจของผู้ป่วยให้แข็งแรง คือหัวใจหลักในการรักษาโรคไบโพลาร์ คุณหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้
วิธีดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์
- หมั่นสังเกตอารมณ์ของตนเอง เมื่อรู้ตัวว่าอาการเริ่มรุนแรงขึ้นถึงแม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา และอาจบอกคนใกล้ชิดให้ช่วยสังเกตอาการด้วย
- ดูแลสุขภาพโดยรวมให้ดี เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมคลายเครียดและหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และใช้สารเสพติด
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และอย่าหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน
- หมั่นไปพบจิตแพทย์ตามนัดเพื่อดูความคืบหน้าของอาการ
- รับการบำบัดโดยการพูด หรือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม เพื่อช่วยให้จัดการอารมณ์ของตนเองได้
- หาผู้ที่เข้าใจ พร้อมจะให้กำลังใจ และพร้อมจะสนับสนุนให้คุณก้าวผ่านโรคนี้ไปได้ เพราะบางทีคนใกล้ตัวของคุณก้อาจไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์แบบนี้ นอกจากนี้ การได้พูดคุยกับกลุ่มคนที่เป็นโรคไบโพลาร์เหมือนกันก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะพวกเขาจะเข้าใจว่าคุณต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง
วิธีดูแลผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ สำหรับญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย
กำลังใจและการสนับสนุนจากคนใกล้ชิดมีความสำคัญต่ออาการของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์อย่างมาก หากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวของคุณป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ คุณสามารถดูแลผู้ป่วยตามแนวทางต่อไปนี้
- เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกตินั้นมาจากการเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วยจริงๆ
- ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วยเพื่อให้เห็นความคืบหน้าของอาการและการรักษา
- ช่วยผู้ป่วยควบคุมค่าใช้จ่าย และพฤติกรรมกรรมที่เสี่ยงอันตรายหรือการก่ออาชญากรรม
- หมั่นพูดคุย ให้กำลังใจผู้ป่วย และเตือนสติเมื่อผู้ป่วยลืมตัวมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งรอบข้างและคนรอบตัว
- เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการไบโพลาร์แล้ว ควรให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในการกลับไปเรียน หรือทำงานอีกครั้ง
โรคไบโพลาร์จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบร้ายแรง หากผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหมั่นสังเกตอาการของโรคที่เกิดขึ้น และรีบรักษาให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว
นอกจากนี้ โรคไบโพลาร์ยังไม่ใช่โรคที่ควรนำมาใช้เป็นคำล้อเล่น หรือล้อเลียนผู้ที่มีพฤติกรรมอารมณ์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เพราะโรคนี้ถือเป็นการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง เป็นอีกความยากของผู้ป่วยที่จะต้องต่อสู้กับภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติตนเองเพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ดังนั้นทุกคนจึงควรทำความเข้าใจ และไม่มองว่าโรคไบโพลาร์เป็นเพียงคำติดตลกหรือเป็นโรคที่น่ารังเกียจหรือน่ากลัวอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจผิดกัน
ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android