กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

ปากแห้ง สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อปากแห้ง

ปากแห้งไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำน้อย หรืออากาศที่หนาวเย็นเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ มาเรียนรู้สาเหตุที่ทำให้ปากแห้ง และวิธีการดูแลรักษาอย่างครบถ้วน!
เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 18 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ปากแห้ง สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อปากแห้ง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ปากแห้ง เกิดจากต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยกว่าปกติ นอกจากจะทำให้ปากแห้งแล้วยังทำให้ริมฝีปากแตกและดำคล้ำได้ง่ายด้วย
  • สาเหตุที่ทำให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยกว่าปกติ เช่น ดื่มน้ำน้อย ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรค สารเสพติด เส้นประสาทเสียหาย หรือเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของวัย
  • วิธีรักษาปากแห้ง เช่น ปรับปริมาณยาที่ใช้อยู่ ใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น หรืออาจใช้ยาพิโลคาร์พีน เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำลาย
  • วิธีป้องกันปากแห้ง เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทาลิปสติกที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์และสารกันแดด
  • ปากแห้ง อาจทำให้ริมฝีปากคล้ำจนหมดความมั่นใจ นอกจากการทาลิปสติกแล้ว สามารถทำเลเซอร์ปากชมพูเพื่อลดรอยคล้ำของริมฝีปากได้ 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจเลเซอร์ปากชมพูและสักสีปาก 

ปากแห้ง” เป็นหนึ่งในปัญหากวนใจของใครหลายคน ซึ่งไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศหนาวเย็น หรือการดื่มน้ำไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังเกิดได้จากปัจจัยอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากโรคประจำตัว หรือการใช้สารเสพติด 

จะดีกว่าไหม หากเราสามารถดูแลอาการปากแห้งได้อย่างถูกวิธี และรับมือป้องกันเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ทำความรู้จักปากแห้ง

ปากแห้งเกิดจากการมีปริมาณน้ำลายน้อยกว่าปกติ หรือเรียกว่า "ภาวะน้ำลายแห้ง (Xerostomia)" ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมน้ำลายไม่สามารถผลิตน้ำลายเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในปากได้เป็นปกติ จึงทำให้มีอาการปากแห้งตามมา 

ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกไม่สบายในปาก เกิดอาการคอแห้ง กระหายน้ำ และตามมาด้วยภาวะขาดน้ำด้วย 

ภาวะน้ำลายแห้งนั้นอาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปากแห้งมักไม่ค่อยรุนแรงและสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่หากผู้ป่วยมีอาการของโรคปากแห้งที่ผิดปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม 

สาเหตุที่ทำให้ปากแห้ง

สาเหตุที่ทำให้ปากแห้งเกิดจากต่อมน้ำลายในปากไม่ผลิตน้ำลายออกมา หรือผลิตน้ำลายน้อยเกินไป ทำให้ไม่มีความชุ่มชื้นเพียงพอ สาเหตุที่ทำให้การทำงานของต่อมน้ำลายผิดปกติจนทำให้ปากแห้ง มีดังนี้ 

  • เกิดจากภาวะขาดน้ำ สาเหตุนี้อาจเกิดจากการป่วย เป็นไข้ หรือจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เสียเหงื่อปริมาณมาก อาเจียน ท้องเสีย มีบาดแผลไฟไหม้

  • เกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้ปวด

  • เกิดจากผลข้างเคียงของโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) โรคอัลไซเมอร์ โรคความดันโลหิตสูง โรคเลือดจาง โรคไขข้ออักเสบ หรือการติดเชื้อในช่องปาก

    นอกจากนี้ยังรวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กลุ่มอาการโจเกรน หรือการติดเชื้อเอชไอวี

  • เกิดจากเส้นประสาทเสียหาย อาจเกิดจากการผ่าตัด หรือการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ หรือบริเวณคอ ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะปากแห้งได้

  • เกิดจากผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือฉายแสงที่บริเวณศีรษะและลำคอ สามารถสร้างความเสียหายต่อต่อมน้ำลายได้

  • เกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น ยาเสพติด สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนแต่ทำให้เกิดอาการปากแห้งได้ อีกทั้งยังทำให้อาการปากแห้งรุนแรงขึ้น และสร้างความเสียหายต่อฟันอีกด้วย

  • เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของวัย ผู้สูงอายุจะมีภาวะของการเกิดโรคปากแห้งสูง เนื่องจากการใช้ยาต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของสมรรถภาพร่างกาย มีโรคประจำตัว และการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

อาการของโรคปากแห้ง

อาการโรคปากแห้งที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เกิดจากภาวะขาดน้ำ และความเครียดวิตกกังวล

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สักปาก ทำสีปากวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 484 บาท ลดสูงสุด 82%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

แต่สำหรับอาการปากแห้งที่เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยจากการเป็นโรคบางชนิด โดยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น 

  • เจ็บคอ คอแห้ง เสียงแหบ 
  • มีความรู้สึกแห้งและเหนียวภายในปาก 
  • มีแผลในปาก มีรอยแตกที่มุมปาก หรือริมฝีปาก 
  • รู้สึกกระหายน้ำบ่อย ลิ้นแห้ง แดง และหยาบ 
  • มีกลิ่นปาก 
  • มีอาการแสบในปากโดยเฉพาะที่บริเวณลิ้น 
  • เกิดปัญหาในการพูด การรับรู้รสชาติ การเคี้ยวและกลืนอาหาร รวมทั้งการใส่ฟันปลอม 

วิธีรักษาโรคปากแห้ง

สำหรับการรักษาโรคปากแห้งในทางการแพทย์นั้น จะขึ้นอยู่กับสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ดังนี้ 

  • กรณีเกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา แพทย์จะปรับเปลี่ยนปริมาณยาที่ใช้ หรืออาจเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น

  • แพทย์อาจสั่งยาพิโลคาร์พีน (Pilocarpine) ซึ่งเป็นยาที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย ยาชนิดนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปากแห้งจากการรับการรักษาด้วยการฉายรังสี และผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการโจเกรน

    ยาพิโลคาร์พีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ หรือมีเหงื่อออกจำนวนมากได้ จึงควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

  • รักษาด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในปาก ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้มีทั้งชนิดที่สั่งโดยแพทย์ และชนิดที่ผู้ป่วยสามารถหาซื้อมาใช้ได้เอง เช่น น้ำยาบ้วนปาก น้ำลายเทียม หรือสารให้ความชุ่มชื้น และหล่อเลี้ยงภายในปาก ซึ่งมีทั้งรูปแบบสเปรย์ เจล และยาอม

14 วิธีป้องกันปากแห้ง

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อยควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้ว
  2. หมั่นจิบน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มต่างๆ ที่ปราศจากน้ำตาล เพื่อให้ปากชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  3. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีรสชาติเผ็ดและเค็มจัด เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในปาก
  4. เคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมที่ปราศจากน้ำตาล สามารถช่วยป้องกันปากแห้งได้ เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายออกมาได้มากขึ้น
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และงดการสูบบุหรี่
  6. ในกรณีที่ปากแห้งมากสามารถซื้อน้ำลายเทียมมาใช้ได้ แต่ควรทำตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  7. ไม่ควรซื้อยาแก้แพ้ หรือยาลดน้ำมูกมารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชก่อนใช้ยาทุกครั้ง
  8. ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ร่วมด้วย
  9. ผู้ที่มักหายใจทางปากควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฝึกหายใจทางจมูกบ่อยๆ แทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปากแห้งได้ง่าย
  10. ใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศขณะที่นอนหลับ
  11. หมั่นไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพในช่องปากและฟันทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง
  12. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเลียปากบ่อยๆ เพราะน้ำลายจะดูดเอาความชุ่มชื้นออกจากปาก ทำให้ปากแห้ง แตก และดำคล้ำง่าย 
  13. ควรเลือกใช้ลิปสติกที่มีมอยส์เจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น หรือบำรุงผิวริมฝีปากไปพร้อมๆ กัน และควรเลือกใช้ลิปสติกที่มีส่วนผสมของสารกันแดด เพราะแสงแดดจะทำลายผิวริมฝีปากให้หมองคล้ำและทำให้ปากแห้งได้
  14. หลีกเลี่ยงการสครับผิวริมฝีปากบ่อยๆ เพราะการสครับจะยิ่งทำให้อาการปากแห้งรุนแรงขึ้น

วิธีดูแลตนเองเมื่อปากแห้ง

หากประสบกับปัญหาปากแห้ง ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ 

  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่างน้อยควรดื่มให้มากกว่า 8-10 แก้ว จิบน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาลบ่อยๆ
  • อมลูกอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล เพื่อช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำลายสามารถผลิตน้ำลายออกมาได้มากขึ้น
  • หากมีอาการริมฝีปากแห้ง และแตก ควรบำรุงริมฝีปากด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปาก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ รวมทั้งควรงดสูบบุหรี่ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้จะยิ่งทำให้อาการปากแห้งแย่ลงกว่าเดิม

ปากแห้งนำมาซึ่งปัญหาปากแตก ลอก เป็นขุย และยังง่ายต่อการดำคล้ำอีกด้วย ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่โรค หรือความผิดปกติร้ายแรงอย่างไร แต่การดูแลให้สุขภาพปากดีอยู่เสมอ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพื่อที่คุณจะยิ้มกว้างอย่างมั่นใจ

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจเลเซอร์ปากชมพูและสักสีปาก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชันเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Healthline.com, Dry mouth (https://www.healthline.com/health/dry-mouth), 20 June 2020.
Tim Newman, Everything you need to know about dry mouth (https://www.medicalnewstoday.com/articles/187640), 20 June 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป