ไขข้อข้องใจ น้ำตาลแต่ละชนิดดีต่อร่างกายหรือไม่?

เผยแพร่ครั้งแรก 6 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ไขข้อข้องใจ น้ำตาลแต่ละชนิดดีต่อร่างกายหรือไม่?

หากจะพูดถึงสารที่สามารถให้ความหวานได้ หลายคนย่อมต้องนึกถึงน้ำตาลเป็นอย่างแรกอย่างแน่นอน เพราะน้ำตาลเป็นส่วนผสมของอาหาร เครื่องดื่ม หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้หลากหลายชนิดในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันน้ำตาลมีด้วยกันหลากหลายชนิด เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทรายแดง น้ำเชื่อม น้ำตาลแร่ธรรมชาติ หรือกากน้ำตาล เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ว่าน้ำตาลที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ มีส่วนประกอบทางโมเลกุลที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นกี่ชนิดและประกอบไปด้วยน้ำตาลแบบใดบ้าง

น้ำตาล คืออะไร?

น้ำตาล (Sugar) คือ สารประกอบคาร์โบไฮเดรตประเภทโมโนแซ็กคาไรด์ (monosaccharide) และไดแซ็กคาไรด์ (disaccharide) ซึ่งมีรสหวานเป็นสำคัญ โดยหลักๆ นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1. น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide)

คือส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ สามารถละลายน้ำได้และร่างกายสามารถดูดซึมความหวานเข้าไปใช้ได้ในทันที โดยที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องนำน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวไปผ่านกระบวนการย่อยใดๆ อีก ซึ่งน้ำตาลที่พบในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย

น้ำตาลกลูโคส (glucose)

ถือเป็นน้ำตาลอีกชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีความหวานสัมพัทธ์เท่ากับ 100 น้ำตาลกลูโคสให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัมน้ำตาล โดยน้ำตาลชนิดนี้ถือเป็นแหล่งพลังงานสำคัญให้กับเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์สมองและเซลล์เม็ดเลือด นอกจากนี้ ยังถูกเก็บไว้ในรูปแบบของสารไกลโคเจน (Glycogen) สะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ รวมถึงกรดไขมันสะสมในเซลล์ไขมันทั่วร่างกาย โดยแหล่งอาหารธรรมชาติที่สามารถพบกลูโคสได้คือ ข้าว แป้ง น้ำตาล น้ำผึ้ง ผัก และผลไม้ ซึ่งพบกลูโคสได้มากที่สุดในองุ่น ในส่วนประโยชน์ของน้ำตาลกลูโคสคือ เมื่อร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเป็นเวลานาน ร่างกายจะทำการดึงเอาไกลโคเจนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานก่อน แต่หากร่างกายได้รับกลูโคสมากจนเกินไปจะทำให้เกิดไขมันไปสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ได้

น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose)

อีกหนึ่งน้ำตาลที่พบเจอได้มากที่สุดในผลไม้ทั่วไป เช่น มะม่วง กล้วย แตงโม สตรอว์เบอร์รี เบอร์รี่ และพบมากที่สุดในน้ำผึ้ง นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้จากน้ำเชื่อมหรือน้ำหวานต่างๆ โดยหลังจากร่างกายได้รับฟรุคโตสโดยเฉพาะที่ได้จากการสกัดจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงมาก เนื่องจากน้ำตาลฟรุคโตส มีดัชนีน้ำตาลต่ำ และยังถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการร่วมกับอินซูลิน ทำให้น้ำตาลชนิดนี้ถูกเผาผลาญออกได้ง่าย แต่ก็มีข้อเสียคือ มักจะกระตุ้นความอยากอาหารและทำร่างกายอิ่มได้ยาก

น้ำตาลกาแลคโตส (Galactose)

หนึ่งในน้ำตาลที่สามารถพบเจอได้ในนมที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์จากเต้านม ถือเป็นน้ำตาลที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกับน้ำตาลกลูโคสพอสมควร แต่จะแตกต่างกันตรงที่แลคโตสสามารถแปรเป็นเปลี่ยนเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ได้ ประโยชน์ของแลกโตสนั้นคือ ช่วยในกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อให้กับเด็กอ่อน ใช้ในการทำขนมปัง และสร้างผลิตภัณฑ์นมต่างๆ ได้หลายชนิด

2. น้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharide)

เป็นน้ำตาลที่เกิดจากกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 โมเลกุลมารวมกัน โดยให้คุณสมบัติละลายน้ำได้และให้ความหวานได้ดี แต่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที เพราะจำเป็นต้องผ่านกระบวนการย่อย โดยจะต้องใช้เอนไซม์จำเพาะช่วยให้สามารถย่อยจนกลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อน เพื่อช่วยให้สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ตามปกติ สำหรับน้ำตาลกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยน้ำตาลหลายชนิด ได้แก่

น้ำตาลซูโครส (Sucrose)

หากจะเรียกว่าน้ำตาลซูโครสอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่หากพูดถึงน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลอ้อยที่ใช้ประกอบอาหารกันอยู่ทุกวันนี้ เชื่อว่าหลายคนจะต้องรู้จักกันอย่างแน่นอน น้ำตาลชนิดนี้เกิดจากการรวมตัวกันของน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลฟรุคโตส ซึ่งต้องอาศัยเอนไซม์ซูเครสเพื่อช่วยให้สามารถย่อยจนกลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ปัจจุบันสามารถพบน้ำตาลซูโครสได้จากอ้อย หัวบีต และผลไม้ที่มีรสหวานทั่วไป

น้ำตาลมอลโตส (Maltose

น้ำตาลชนิดนี้ไม่สามารถพบได้ตามธรรมชาติทั่วไป เพราะเกิดจากการรวมตัวกันของน้ำตาลกลูโคส 2 โมเลกุลด้วยพันธะไกลโคไซด์ ซึ่งจะพบน้ำตาลชนิดนี้จากการย่อยเอนไซม์ในข้ามอลต์ ข้าวบาเลย์ หรือธัญพืชต่างๆ โดยต้องอาศัยเอนไซม์มอลเตสในการย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว

น้ำตาลแลคโตส (Lactose)

อย่างที่เราทราบกันดีว่าน้ำตาลชนิดนี้สามารถพบเจอในน้ำนมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลกาแลคโตสรวมตัวกัน โดยสามารถย่อยและดูซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยเอนไซม์แลคเตส เพื่อทำให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว แต่สำหรับบางท่านที่เกิดอาการแพ้แลคโตสอาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ท้องเสีย หรือปวดศีรษะได้

ประโยชน์ของน้ำตาลที่มีผลดีต่อสุขภาพ

นอกจากน้ำตาลจะมีประโยชน์ในการให้ความหวานและให้พลังงานแก่ร่างกายแล้ว น้ำตาลยังช่วยให้ระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายและเนื้อเยื่อต่างๆ สามารถทำงานได้เป็นปกติยิ่งขึ้น เนื่องจากอวัยวะในการหายใจ การขับปัสสาวะ ระบบการไหลเวียนของเลือด และการย่อยอาหาร ล้วนแล้วแต่ต้องการความร้อนและพลังงานจากน้ำตาลแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ น้ำตาลยังมีผลต่อระบบฮอร์โมน โดยจะช่วยให้สามารถผลิตฮอร์โมนได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น แต่แน่นอนว่าหากคุณรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมากจนเกินไป อาจจะทำให้เกิดไขมันสะสม อันเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน โรคอ้วนจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมาได้

ฉะนั้น ควรเลือกรับประทานน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวันจะดีที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้คนเราทานน้ำตาลในปริมาณวันละ 6 ช้อนชา (2 ช้อนโต๊ะ) หรือสูงสุดไม่เกิน 10 ช้อนชา หากทานในปริมาณเท่านี้ โอกาสเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหรือโรคต่างๆ ก็ย่อมลดน้อยลงแน่นอน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Is sugar in fruit bad for you?. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/325550)
Are certain types of sugars healthier than others?. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/blog/are-certain-types-of-sugars-healthier-than-others-2019052916699)
8 ‘Healthy’ Sugars and Sweeteners That May Be Harmful. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/harmful-sweeteners)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป