escitalopram scaled

Escitalopram (เอสซิตาโลแพรม)

Escitalopram (เอสซิตาโลแพรม) อยู่ในกลุ่มยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs: Selective serotonin reuptake inhibitors) ใช้รักษาโรคซึมเศร้า (Depression) และโรควิตกกังวล (Anxiety)

Escitalopram จะออกฤทธิ์ปรับสมดุลของสารเคมีตามธรรมชาติในสมอง หรือก็คือเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยให้มีเรี่ยวแรง รู้สึกดีขึ้น และลดอาการกังวลใจ 

Escitalopram ใช้รักษาโรคอะไร

  • รักษาภาวะซึมเศร้า (MDD: Major Depressive Disorder): เช่น ความรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง และความเฉยชาในกิจกรรมที่เคยชอบ
  • รักษาภาวะวิตกกังวลทั่วไป (GAD: Generalized Anxiety Disorder): ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวลเกินปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
  • รักษาภาวะวิตกกังวลทางสังคม (Social Anxiety Disorder): ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวล และความกลัวในสถานการณ์ทางสังคม
  • รักษาภาวะตื่นตระหนก (Panic Disorder): ใช้ลดความรุนแรงของการเกิดภาวะตื่นตระหนก
  • รักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive-Compulsive Disorder): ใช้ลดอาการย้ำคิดย้ำทำที่ควบคุมไม่ได้

รูปแบบยา Escitalopram

  • Escitalopram รูปแบบยาเม็ด 1 เม็ด ประกอบด้วย Escitalopram 520 มิลลิกรัม ในไทยนิยมใช้ Escitaloprám 10 mg
  • Escitalopram รูปแบบยาน้ำ 1 หยด ประกอบด้วย Escitalopram 1 มิลลิกรัม 

ปริมาณการใช้ยา Escitalopram

ปริมาณยาทั่วไป ให้รับประทานยา 10 มิลลิกรัมต่อวัน วันละครั้ง อาจปรับลดหรือเพิ่มขนาดยา ระยะเวลาใช้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ขนาดยาสูงสุดไม่ควรเกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน 

ผลข้างเคียงจากยา Escitalopram

หากแพทย์สั่งยานี้ให้ แปลว่า มีการประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยานี้มากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง 

ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจพบได้จากการใช้ยา Escitalopram เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง มีปัญหาในการนอน ท้องผูก อ่อนเพลีย ง่วงนอน เวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก ถ้าอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ให้แจ้งแพทย์ทันที 

ผลข้างเคียงร้ายแรงจากการใช้ยา Escitalopram ที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องพบแพทย์ทันที เช่น 

  • เลือดออกง่าย เกิดรอยช้ำง่าย
  • มีเลือดออกในอุจจาระ อุจจาระมีสีดำ
  • หน้ามืด เป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาเจียนออกมาคล้ายกากกาแฟ
  • มีอาการชัก
  • ปวดตา ตาบวม ตาแดง ม่านตาขยาย
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นรุ้งรอบแสงไฟตอนกลางคืน ตาพร่ามัว
  • ความสนใจทางเพศลดลง มีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์ 
  • ในเพศชาย อาจปวดอวัยวะเพศขณะแข็งตัวหรืออวัยวะเพศแข็งตัวนาน 4 ชั่วโมงขึ้นไป 
  • แพ้ยา เป็นกรณีที่พบได้น้อย มักจะเกิดผื่น คัน หรือบวม โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ เวียนศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก

อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมด ถ้ามีอาการผิดปกติใด ๆ นอกจากนี้ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเช่นกัน

ระวังการทานยา Escitalopram เกินขนาด

การได้รับยา Escitalopram เกินขนาด อาจก่อให้เกิดโทษและอาการร้ายแรงได้ เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก หากพบผู้ใดมีอาการเหล่านี้ ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที โทร 1669

ถ้าลืมกินยา Escitalopram ต้องทำอย่างไร

ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด)

กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยา

การใช้ยา Escitalopram

การใช้ยา Escitalopram ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น หากแพทย์เริ่มต้นด้วยขนาดยาที่ต่ำ และค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาในภายหลัง ก็ต้องรับประทานตามนั้น และที่สำคัญ คือห้ามหยุดยา เพิ่มขนาดยา หรือลดขนาดยาเองโดยเด็ดขาด

หากหยุดยากะทันหัน ผู้ป่วยอาจเกิดอาการอื่น ๆ ได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนหลับผิดปกติ หรือมีความรู้สึกเหมือนโดนไฟช็อตสั้น ๆ ส่วนใหญ่ แพทย์จึงมักปรับขนาดยาลงก่อนจะให้หยุดยา

การใช้ยาสามารถใช้เวลาใดก็ได้ แต่ควรเป็นเวลาเดิมทุกวัน เช่น ตอนเช้า 1 ครั้ง หรือตอนเย็น 1 ครั้ง ถ้ามีปัญหาในการนอน ควรรับประทานยาในช่วงเช้า

ยารูปแบบยาน้ำ ควรใช้ช้อนตวงยาหรืออุปกรณ์ตวงยาที่ให้มา อย่าใช้ช้อนรับประทานอาหารตวงยา เพราะอาจทำให้ได้รับขนาดยาไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ อาจใช้เวลานาน 1–2 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผลจากการใช้ยา และใช้เวลาถึง 4 สัปดาห์ จึงจะได้ประโยชน์จากยาเต็มที่ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง และหากมีอาการผิดปกติใด ๆ ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

คำเตือนในการใช้ยา Escitalopram

  • ยาต้านเศร้า (Antidepressant medications) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวช ความผิดปกติทางจิตใจหรือทางอารมณ์อื่น ๆ เช่น วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ตื่นตระหนก โดยจะช่วยป้องกันไม่ให้มีความคิดฆ่าตัวตาย/พยายามฆ่าตัวตาย และยังมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อตัวผู้ป่วย
  • อย่างไรก็ตาม พบผู้ป่วยจำนวนน้อย โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 25 ปี มีอาการซึมเศร้าแย่ลง มีอาการทางสภาวะจิตใจ/อารมณ์ มีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย
  • ก่อนใช้ยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของยาก่อนเสมอ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ยานี้รักษาโรคทางจิตใจหรืออารมณ์ก็ตาม และห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงขนาดยาต่าง ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ให้แจ้งแพทย์ทันที หากอาการทางจิตแย่ลง มีความเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ อารมณ์ เช่น วิตกกังวลมากกว่าเดิม ตื่นตระหนก มีความคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย หงุดหงิด ฉุนเฉียว รู้สึกเกลียด โกรธ
  • รวมถึงมีปัญหาในการนอนหลับ พฤติกรรมผิดปกติไป มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น กระวนกระวายใจอย่างรุนแรง พูดเร็วมาก โดยให้สังเกตอาการเหล่านี้เป็นพิเศษในช่วงเริ่มใช้ยาต้านเศร้า หรือเมื่อมีการปรับขนาดยา

หมายเหตุ: ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้ และให้ไปพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำเพื่อติดตามอาการ

ปฏิกิริยาระหว่าง Escitalopram และยาต่าง ๆ 

ปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interactions) อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้

รายการยาที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยา Escitalopram

  • ยา Citalopram หรือยาที่มีส่วนประกอบของ Citalopram เพราะมีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน
  • ยาที่ทำให้เลือดออก มีรอยช้ำ ได้แก่ ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Clopidogrel
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin
  • ยาต้านฮีสตามีน เช่น Cetirizine, Diphenhydramine
  • ยาช่วยนอนหลับ หรือยารักษาอาการวิตกกังวล เช่น Alprazolam, Diazepam, Zolpidem
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด เช่น Codeine
  • ยา Aspirin อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้ แต่หากแพทย์สั่งยา Aspirin ขนาดต่ำ 81–325 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง ควรใช้ยา Aspirin ต่อ ยกเว้นแพทย์สั่งเป็นอย่างอื่น
  • ยากลุ่ม MAO inhibitors เช่น Isocarboxazid, Linezolid หรือ Methylene  อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ไม่ควรใช้ยากลุ่ม MAO inhibitors อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งก่อนและหลังใช้ยา Escitalopram โดยให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ยาที่เพิ่มสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) อาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน หรือเซโรโทนินเป็นพิษ (Serotonin syndrome/toxicity) เช่น สมุนไพรเซนต์จอห์น เวิร์ต (St. John’s wort), ยาต้านเศร้าบางชนิด (ยากลุ่ม SSRIs เช่น Fluoxetine/Paroxetine, ยาในกลุ่ม SNRIs เช่น Duloxetine/Venlafaxine) หรือ Tryptophan
  • แอลกอฮอล์

ข้อมูลที่ระบุนี้ไม่ได้ครอบคลุมการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด หากกำลังใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ณ ขณะนี้ ต้องแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้ง

ข้อควรระวังและอันตรายในการใช้ยา Escitalopram  

การใช้ยา Escitalopram มีข้อควรระวังต่าง ๆ ดังนี้

  • ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ และยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะยาหลายชนิดอาจมีปฏิกิริยากับยานี้
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบหากมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ แพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ เพราะยา Escitalopram อาจประกอบด้วยสารไม่ออกฤทธิ์อื่น ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่นได้
  • แจ้งแพทย์ให้ทราบถึงประวัติการแพทย์ เช่น ตนเองหรือคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไบโพลาร์หรือเคยพยายามฆ่าตัวตาย เป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิด โรคตับ มีอาการชัก มีแผลหรือเลือดออกที่ลำไส้ มีโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)
  • ยา Escitalopram อาจเป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาว (QT Prolongation) และโรคหัวใจบางชนิด หากตนเองหรือคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ คนในครอบครัวเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ยา Escitalopram อาจทำให้วิงเวียนศีรษะ หรือง่วงนอน ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัว หรือการมองเห็นที่ชัดเจนในระหว่างการใช้ยา เพราะอาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ยา Escitalopram รูปแบบยาน้ำ อาจมีส่วนประกอบของน้ำตาล และ/หรือสารแอสปาร์แตม (Aspartame) จึงต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (PKU: enylketonuria) หรือผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องจำกัดหรือห้ามรับประทานสารดังกล่าว
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้มีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร
  • การใช้ยาในผู้สูงอายุอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้มากกว่าปกติ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวกว่าปกติ สูญเสียการทรงตัวจนเสี่ยงหกล้ม หรือสูญเสียเกลือโซเดียมมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย
  • การใช้ยาในเด็กอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาการเบื่ออาหาร และน้ำหนักลด จึงต้องติดตามน้ำหนักตัวและความสูงของเด็กระหว่างใช้ยานี้
  • ยา Escitalopram อาจส่งผลต่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจทางการแพทย์บางชนิด อย่างการตรวจสแกนสมองสำหรับโรคพาร์กินสัน  จึงต้องแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ว่ากำลังใช้ยานี้อยู่

ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ยา Escitalopram

สภาวะต่อไปนี้ ถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยา Escitalopram หากมีสภาวะต่อไปนี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที

  • แพ้ยา Escitalopram
  • แพ้ยา Citalopram
  • แพ้ยาในกลุ่ม SSRIs
  • มีระดับแมกนีเซียม โซเดียม หรือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • เป็นกลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (Syndrome of Inappropriate Antidiuretic Hormone Secretion)
  • เป็นกลุ่มอาการ Neuroleptic Malignant Syndrome
  • เป็นกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
  • เป็นโรคต้อหินมุมปิด หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมุมปิด
  • เป็นโรคหัวใจ หัวใจเต้นเร็วชนิด Torsades de Pointes มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดใน 30 วันที่ผ่านมา พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวจากการตรวจ EKG หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ผิดปกติแต่กำเนิด
  • เป็นโรคตับ หรือเป็นโรคไตบกพร่องอย่างรุนแรง
  • มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หลอดอาหาร หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกมากกว่าปกติ
  • มีอาการชัก
  • มีการทำงานของเอนไซม์ CYP2C19 น้อยกว่าปกติ (CYP2C19 poor metabolizer)
  • มีพฤติกรรมร่าเริงและทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไป
  • มีอาการคลุ้มคลั่งที่ไม่รุนแรง อาการคลุ้มคลั่งสลับกับซึมเศร้า หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

การใช้ยา Escitalopram ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

หากกำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือคิดว่าตนเองอาจจะตั้งครรภ์ ให้ปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้ยา

ยา Escitalopram ควรใช้เฉพาะกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจริง ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตรเสมอ เพราะยาอาจส่งผ่านทางน้ำนมไปยังทารกที่ดูดนมแม่จนก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์

ระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดจากมารดาที่ใช้ยานี้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจเกิดอาการถอนยา แต่พบได้น้อย เช่น ดูดนมลำบาก หายใจลำบาก ชัก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือร้องไห้ไม่หยุด หากพบอาการใด ๆ เหล่านี้ในเด็กแรกเกิด ให้แจ้งแพทย์ทันที

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ