ปัญหานอนไม่หลับเป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยกับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันในช่วงกลางวัน และปัญหานอนไม่หลับในที่นี้ ยังรวมไปถึงปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับอื่นๆ ด้วย เช่น
- นอนหลับยาก
- นอนหลับไม่สนิท
- สะดุ้งตื่นกลางดึกหรือเช้าเกินไปแล้วไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้
- รู้สึกอ่อนเพลียทั้งๆ ที่นอนหลับเพียงพอแล้ว
ความหมายของโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) หรือสามารถเรียกได้ว่า "อาการนอนไม่หลับ" เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับซึ่งแสดงออกมาในรูปของการนอนไม่พอ หรือนอนไม่หลับในตอนกลางคืน จนส่งผลให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียหรือง่วงนอนในช่วงกลางวัน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันของคุณด้วย เช่น การเรียน สมาธิในการทำงาน ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
โรคนอนไม่หลับไม่สามารถประเมินได้ด้วยระยะเวลา หรือจำนวนชั่วโมงของการนอนหลับ เนื่องจากในแต่ละบุคคลต้องการช่วงเวลาการนอนหลับที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขชีวิต โดยช่วงระยะเวลาเมื่อเกิดโรคนอนไม่หลับอาจเกิดในระยะเวลาสั้นๆ หรือเกิดต่อเนื่องเป็นระยะยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ชนิดของโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว (Adjustment Insomnia)
เป็นโรคนอนไม่หลับที่มักจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ มักมีสาเหตุมาจากความเครียดและความตื่นเต้น เช่น ต้องไปโรงเรียนวันแรก มีสอบสำคัญ มีประชุมหรือตกลงกันทางธุรกิจในวันต่อมา มีเรื่องกังวลใจหรือทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรืออาจเกิดจากการเดินทางข้ามโซนเวลา ต้องอยู่ห่างจากบ้าน การออกกำลังกายก่อนเวลาเข้านอนประมาณ 4 ชั่วโมง
โรคนอนไม่หลับประเภทนี้จะดีขึ้นเมื่อคุณรู้สึกผ่อนคลาย หมดความกังวลใจ หรือมีการปรับพฤติกรรมและเวลาการเข้านอนแล้ว หลังจากนั้นการนอนหลับก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
2. โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia)
เป็นโรคนอนไม่หลับที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว โดยอาจมากกว่า 1 เดือน และเป็นโรคนอนไม่หลับที่พบได้มากที่สุดในผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับทั้งหมด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
- โรคนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary Insomnia) เป็นโรคนอนไม่หลับที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งของสารเคมีในสมอง ไม่ได้เกิดจากโรคทางร่างกายหรือจิตใจของผู้ป่วยแต่อย่างใด แต่อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยในระยะเวลาสั้นๆ เช่น การเดินทางด้วยเครื่องบินนานๆ หรืออาการวิตกกังวลบางอย่าง
- โรคนอนไม่หลับทุติยภูมิ (Scondary Insomnia) เป็นโรคนอนไม่หลับที่เกิดจากอาการ หรือผู้ป่วยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น ความเครียด ความรู้สึกสะเทือนใจจากเหตุการณ์บางอย่าง รวมถึงเกิดได้จากปัจจัยเกี่ยวกับยา หรือการรักษาบางประเภทด้วย
สำหรับยาและสารกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับทุตยภูมิ ได้แก่- ยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressant)
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blckers)
- เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy drugs)
- ยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics drugs)
- ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxatives)
อาการของโรคนอนไม่หลับ
ส่วนใหญ่อาการของโรคนอนไม่หลับที่พบได้ มีดังนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- นอนหลับยาก
- นอนหลับไม่สนิท นอนหลับๆ ตื่นๆ
- คุณภาพในการนอนไม่สม่ำเสมอ (บางคืนนอนหลับยาก สลับกับบางคืนนอนหลับได้ดี)
- ง่วงนอนระหว่างวัน
- อ่อนเพลีย รู้สึกไม่ค่อยมีแรง
- หลงลืมง่าย
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้
- หงุดหงิดฉุนเฉียว
- วิตกกังวลบ่อย
- ซึมเศร้า เบื่อหน่าย
- ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานลดลง
- มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการนอน
สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อยมีดังนี้
- สภาพแวดล้อมของห้องนอน ได้แก่ อุณหภูมิ แสงสว่าง เสียงรบกวน การพักอยู่ต่างที่ หรือข้ามโซนเวลา
- ความเครียดและความวิตกกังวลจากปัญหาชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การหย่าร้าง การตกงาน ปัญหาด้านการเงิน
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมถึงสูบบุหรี่ด้ว
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยาลดความดัน ยาแก้แพ้ ยาเสตียรอยด์ (Steroid)
- นอนหลับไม่เป็นเวลา และเวลาตื่นนอนแต่ละวันช้าเร็วไม่เท่ากัน
- ทำงานกะดึกบ่อย
- วิตกกังวลว่าตนเองจะนอนไม่หลับ
- ความอ่อนเพลียจากการเดินทางโดยเครื่องบิน
- ภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง ได้แก่
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น
- โรคซึมเศร้า (Depression)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)
- ความเจ็บปวดที่เกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น ข้ออักเสบ (Arthritis) ภาวะช่องโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis)
- ปัญหาทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)
- โรคความผิดปกติในการนอนหลับอื่นๆ เช่น
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome: RLS)
- ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic Limb Movement Disorder: PLMD)
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น
ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนจากโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต เช่น ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย สับสน ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้ประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหว และการทรงตัวลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์จะพบได้มากกว่าในผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างตามมาได้ เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- พฤติกรรมการใช้ยาในทางที่ผิดหรือใช้สารเสพติด
- พฤติกรรมนอนหลับหรืองีบในเวลากลางวันมากเกินไป
- เหนื่อยและอ่อนเพลียง่าย
- หลงลืมบ่อย
- ไม่มีสมาธิ
การวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ
หากคุณสงสัยว่าตนเองเป็นโรคนอนไม่หลับ คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการประเมินอาการ ซึ่งจะมีการซักประวัติสุขภาพ ประวัติการนอน และตรวจร่างกายเบื้องต้น นอกจากนี้ คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมโดยผู้เชี่ยวชาญในศูนย์การนอนด้วย
การรักษาโรคนอนไม่หลับ
การรักษาหลักๆ ของโรคนอนไม่หลับมักจะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาระยะยาวและทำให้ผู้ป่วยชินกับพฤติกรรมการนอนที่ดีด้วย แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาโรคนอนไม่หลับจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค
- ผู้ป่วยที่อาการนอนไม่หลับไม่รุนแรงมาก: แพทย์มักจะให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และปรับสภาพแวดล้อมการนอนให้คุณภาพการนอนของผู้ป่วยดีขึ้น เช่น
- จำกัดการนอน (Sleep Restriction) โดยผู้ป่วยจะต้องจำกัดเวลาที่อยู่บนเตียง หรือในพื้นที่ที่ทำให้นอนหลับได้ง่าย เพื่อให้ผู้ป่วยมีการหลับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะความจริงแล้ว การนอนอยู่บนเตียงนานๆ เพื่อให้ตนเองหลับได้ง่ายขึ้นนั้นเป็นความคิดที่ผิด อีกทั้งยังเพิ่มความวิตกกังวลว่าตนเองจะนอนหลับได้หรือไม่กับผู้ป่วยด้วย
- ควบคุมสิ่งเร้ารอบตัว (Stimulus Control) ซึ่งอาจอยู่ในรูปของความเครียด อาการวิตกกังวลจากการทำงาน การทำงานกะดึกเป็นประจำ หรือสภาพห้องนอนไม่น่านอน หากผู้ป่วยรู้จักควบคุม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสิ่งเร้าทำให้นอนไม่หลับได้ โอกาสที่จะนอนหลับได้ง่ายขึ้นก็จะมีสูงขึ้นเช่นกัน
- บำบัดด้วยการผ่อนคลาย (Relaxing Therapy) เป็นการทำกิจกรรมหรือเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้มีสภาพจิตใจอ่อนคลาย ไม่เครียดหรือกดดันจากสภาพแวดล้อมรอบตัวจนทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น
- บำบัดด้วยการประมวลความคิด (Cognitive Therapy) วิธีรักษาแบบนี้มีหัวใจหลักคือ ปรับทัศนคติหรือความเชื่อบางอย่างของผู้ป่วยที่มีต่อการนอนหลับที่ผิดไป เช่น หากนอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงจะอันตราย วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยลดความกังวลเรื่องการนอนหลับให้น้อยลง
- ผู้ป่วยที่อาการนอนไม่หลับรุนแรงมาก: แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยอาจมีการปรึกษาเพิ่มเติมว่าอะไรทำให้อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น หรือแพทย์อาจมีการจ่ายยานอนหลับให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น โดยยาที่มักได้รับนิยมในการจ่ายให้ผู้ป่วยคือ กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคนอนไม่หลับ
พฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม คือ สิ่งที่สามารถป้องกันโรคนอนไม่หลับได้เป็นอย่างดี โดยคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองเกิดอาการนอนไม่หลับและลุกลามกลายเป็นโรคนอนไม่หลับในภายหลัง
- กำหนดเวลาตื่นนอนและเข้านอนให้เป็นเวลาทุกวัน เพื่อให้ร่างกายของคุณชินถึงเวลาที่ต้องหลับและตื่น
- อย่าไม่ทำกิจกรรมอื่นๆ เมื่ออยู่บนเตียงนอน เช่น เล่นโทรศัพท์ และใช้เตียงนอนเพื่อนอนหลับเท่านั้น หรือสำหรับมีเพศสัมพันธ์
- เมื่อเข้านอนไปได้ประมาณ 10-15 นาทีแล้วไม่สามารถนอนหลับได้ ให้ลองลุกจากเตียงไปทำกิจกรรมเบาๆ อย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือ จนเมื่อรู้สึกง่วงอีกครั้งจึงค่อยลองกลับมาเข้านอนใหม่
- อย่าทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ใช้ความคิดเยอะหรือทำให้เกิดความเครียดก่อนนอน
- งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ก่อนนอน หรือทางที่ดีควรเลิกพฤติกรรมทั้ง 2 อย่างนี้เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
- อย่าบริโภคแอลกอฮอล์ทุกชนิดภายใน 6 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ทำห้องนอนให้ดูเงียบสงบ มืด มีบรรยากาศที่น่านอน
- อย่านอนกลางวันมากเกินไป หรือหากจะนอน อย่าใช้เวลานอนเกินกว่า 1 ชั่วโมง
- ระมัดระวังเรื่องการใช้ยานอนหลับให้เหมาะสม หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยา
มีอาการนอนไม่หลับ ช่อยบอกสาเหตุและการรักษาด้วยค่ะ