กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เซโรโทนิน สารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก

ทำความเข้าใจสารที่มีผลต่ออารมณ์ของเรา รวมทั้งป้องกันการขาดเซโรโทนิน เพื่อป้องสภาวะผิดปกติทางจิต
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 28 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
เซโรโทนิน สารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารชีวเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารสื่อประสาทและเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยาก หรือเบื่ออาหาร รวมถึงการนอนหลับ
  • หากร่างกายหลั่งเซโรโทนินออกมาน้อยลง ทำให้มีระดับเซโรโทนินลดต่ำ หรือมีความผิดปกติที่ตัวรับเซโรโทนิน จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆ เช่น มีความผิดปกติด้านอารมณ์และพฤติกรรม มีอาการซึมเศร้า ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ
  • นอกจากการใช้ยาเพื่อเพิ่มระดับเซโรโทนินแล้ว คุณยังสามารถใช้วิธีธรรมชาติได้ด้วย เช่น อาหารที่มีทริปโตเฟนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง ออกกำลังกาย ออกไปรับแสงแดดเป็นประจำ หมั่นผ่อนคลายความเครียด 
  • กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) เป็นภาวะอันตรายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีระดับเซโรโทนินในร่างกายสูงเกินไป อาการได้แก่ กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข มีอาการสั่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจระดับฮอร์โมน

เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารชีวเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารสื่อประสาทและเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย 

ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยาก หรือเบื่ออาหาร รวมไปถึง การนอนหลับ  และยังมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหลายโรค สารเซโรโทนินยังช่วยในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและช่วยให้เรากินอิ่มนอนหลับสบาย 

มาลองทำความรู้จักกับสารเซโรโทนินว่า มีความสำคัญแค่ไหน และเราจะเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกายได้อย่างไรบ้าง

เซโรโทนิน คืออะไร?

เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารที่ร่างกายสร้างจากทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่ง โดยประมาณ 80-90% จะถูกสร้างและอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ที่เหลือจะสร้างที่สมองและอาจพบสร้างได้ที่ตับและไตบ้าง 

เซโรโทนินทำหน้าที่คอยส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมอง รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ปริมาณของสารเซโรโทนินจึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการทำงานของสมองได้ 

โดยพิสูจน์แล้วว่า ระดับสารเซโรโทนิน และสารนอร์อิพิเนฟรินที่ต่ำกว่าปกตินั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าจริง

หน้าที่ของเซโรโทนินต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย

  • Serotonin ในสมองและระบบประสาท มีหน้าที่ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ความหิว ความอิ่ม ความอยากอาหาร การนอนหลับ อารมณ์ทางเพศ และความรู้สึกสุขสงบ ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าว
  • Serotonin ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ทำให้เกิดความอยากอาหาร หรือบางครั้งก็ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้เช่นกัน
  • Serotonin ในระบบไหลเวียนเลือด ช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว หลอดเลือดหดตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

นอกจากนี้ Serotonin จะกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตผ่านการรับรู้ปริมาณสารอาหาร เมื่อร่างกายหลั่งเซโรโทนินออกมา เราจะรู้สึกอยากอาหาร หลังรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ สารชนิดนี้ก็จะส่งสัญญาณความอิ่ม ทำให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวเพื่อย่อยอาหาร เกิดการดูดซึมและเผาผลาญสารอาหารอย่างรวดเร็ว 

ทั้งยังกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อตับและเซลล์ที่มีหน้าที่สร้าง หรือสลายมวลกระดูกด้วย หากร่างกายมีปริมาณเซโรโทนินไม่เพียงพอ ระบบการทำงานเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบและแปรปรวนไป

จะเกิดอะไรขึ้น หากร่างกายขาดเซโรโทนิน?

หากร่างกายหลั่งเซโรโทนินออกมาน้อยลง ทำให้มีระดับเซโรโทนินลดต่ำ หรือมีความผิดปกติที่ตัวรับเซโรโทนิน จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. มีความผิดปกติด้านอารมณ์และพฤติกรรม มีอาการซึมเศร้า การขาดเซโรโทนินมักทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล อยู่ไม่สุข โกรธง่าย หงุดหงิด และบางครั้งก็แสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงได้ นอกจากนี้ความบกพร่องในการรับเซโรโทนินยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตอื่นๆ โดยมีสภาวะแวดล้อมและสิ่งกระตุ้นภายนอกเป็นปัจจัยร่วม การให้เซโรโทนินจึงเป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า
  2. กระตุ้นอาการก่อนมีประจำเดือน กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS เช่น รู้สึกซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล อยากอาหารมากกว่าปกติ ไปจนถึงคลื่นไส้อาเจียน เป็นผลมาจากระดับเซโรโทนินในร่างกายที่ลดต่ำลงนั่นเอง
  3. ขาดสมาธิ เซโรโทนินเป็นสารที่ช่วยทำให้จิตใจสงบ เกิดสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ หากร่างกายขาดเซโรโทนิน จะรู้สึกกระวนกระวายจนไม่สามารถตั้งสมาธิจดจ่อกับอะไรได้ มักส่งผลต่อการเรียนและการทำงานด้วย
  4. นอนไม่หลับ หน้าที่อีกอย่างของเซโรโทนินคือ ควบคุมการนอนหลับ เมื่อร่างกายมีระดับเซโรโทนินลดลงจึงส่งผลให้รู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มีอาการอ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สดชื่น หากนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันมีบริการตรวจการนอนหลับ Sleep Test แล้ว ผลที่ได้จะทำให้รู้ว่า คุณภาพการนอนหลับของคุณเป็นอย่างไร  
  5. รู้สึกเจ็บปวด เซโรโทนินมีส่วนช่วยบรรเทาความเจ็บปวดต่างๆ ที่เกิดขึ้น และกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อให้เลือดหยุดไหลเมื่อเกิดแผล ดังนั้น หากร่างกายได้รับความเจ็บปวด เช่น ถูกมีดบาด หรือบาดเจ็บ การขาดเซโรโทนินก็จะทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงขึ้น และทำให้เลือดหยุดไหลช้าลงด้วย
  6. พฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ เซโรโทนินเป็นสารที่ควบคุมความหิวและความอิ่ม การขาดสารนี้จึงอาจทำให้รู้สึกหิวตลอดเวลาและกินอาหารอย่างบ้าคลั่ง หรืออาจรู้สึกเบื่ออาหารก็ได้ และมักทำให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติ คุณจึงมีอาการปวดท้อง จุกเสียด หรือแน่นท้องได้
  7. เกิดโรคลำไส้แปรปรวน เซโรโทนินเกือบ 95% ถูกผลิตและเก็บไว้ที่ลำไส้เล็ก หากขาดสารสื่อประสาทชนิดนี้ การทำงานของลำไส้เล็กก็จะเปลี่ยนไป โดยสามารถทำให้เกิดปัญหาท้องผูก ท้องเสีย หรือทำให้เกิดอาการท้องผูกท้องเสียสลับกัน ที่เรียกว่า "โรคลำไส้แปรปรวน" หากคุณสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกับระดับเซโรโทนินที่ลดต่ำลง คุณควรไปพบแพทย์
  8. ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หากสังเกตว่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกเหนื่อยมาก อารมณ์ไม่ดี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือเป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ เพราะการมีระดับเซโรโทนินต่ำสามารถส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าที่เคย
  9. นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนไป การมีระดับเซโรโทนินต่ำสามารถทำให้เกิดความแปรปรวนของนาฬิกาชีวิตของร่างกาย (Circadian rhythm) ซึ่งอาการทั่วไปที่พบได้คือ รู้สึกง่วงนอนในระหว่างวันมากกว่าตอนกลางคืน อาการดังกล่าวยังเป็นอาการพื้นฐานของโรคซึมเศร้าอีกด้วย เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ได้แก่ นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น 
  10. วิตกกังวลมากขึ้น ร่างกายของคนเรามีตัวรับเซโรโทนินที่แตกต่างกันอย่างน้อย 14 ชนิด และ 5-HT1A คือตัวที่สำคัญที่สุดในทั้งหมด ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต หากตัวรับชนิดนี้บกพร่อง คุณก็จะกลายเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย ประหม่า และขี้กังวลมากขึ้น
  11. มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ การขาดความสนใจต่อสิ่งต่างๆ อ่อนเพลีย และไม่สามารถจดจ่อต่อบางสิ่งบางอย่าง ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับการขาดเซโรโทนินได้ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า อาการเหล่านี้พบได้ทั่วไปในคนที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วย

จะเห็นได้ว่า เซโรโทนินส่งผลต่อทุกๆ ส่วนในร่างกายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายใจ หรือสภาวะอารมณ์ก็ตาม ดังนั้นหากสังเกตพบอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะการมีระดับเซโรโทนินไม่สมดุลนั้น บางครั้งก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงได้

การเพิ่มระดับเซโรโทนินด้วยยากลุ่ม SSRIs

ระดับ Serotonin ที่ลดต่ำลงมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ยากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่แพทย์นิยมใช้กับผู้ป่วยมากที่สุด 

ตัวยาจะทำหน้าที่ยับยั้งการดูดซึมสารเซโรโทนินกลับสู่เซลล์ประสาท ทำให้มีสารนี้เหลืออยู่ภายในสมองสำหรับใช้งานมากขึ้น มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายากลุ่มอื่นๆ 

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยากลุ่มนี้ ได้แก่ ปากแห้ง คลื่นไส้ นอนไม่หลับ ปวดหัว กระสับกระส่าย น้ำหนักเพิ่ม น้ำหนักลด ท้องเสีย ท้องผูก เหงื่อออกมาก ความต้องการทางเพศลดลง ผลข้างเคียงเหล่านี้จะพบได้บ่อยในช่วงแรกที่เริ่มใช้ยา แต่มีแนวโน้มที่ลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป

วิธีเพิ่มระดับเซโรโทนินในร่างกาย

นอกจากการใช้ยา คุณสามารถใช้วิธีทางธรรมชาติในการช่วยเพิ่มระดับสาร Serotonin ในร่างกาย ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ อาหารที่มีทริปโตเฟนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น ปลาแซลมอนและปลาทูน่า อาหารที่ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนิน เช่น ดาร์กช็อกโกแลต และควรหันมารับประทานทานแป้งไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้องและขนมปังโฮลวีทแทนแป้งขัดสี นอกจากนี้อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบเป็น 5-hydroxytryptophan หรือ 5-HTP ก็ช่วยเพิ่มเซโรโทนินได้เช่นกัน แต่เพื่อความปลอดภัย ก่อนเลือกรับประทานอาหารเสริมใดๆ ควรปรึกษาแพทย์เสมอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายในระดับคงที่เป็นประจำ วันละ 30-40 นาที จะช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินและทริปโตเฟน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเซโรโทนินได้ ทั้งยังช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ
  • ออกไปรับแสงแดดเป็นประจำ มีงานวิจัยที่เผยว่า แสงแดดช่วยในการสังเคราะห์เซโรโทนิน และยังช่วยให้มีอารมณ์สดใสเบิกบานยิ่งขึ้น การเปิดบ้านรับแสงธรรมชาติ หรือออกไปเผชิญแสงแดดอ่อนๆ บ้าง จึงเป็นการช่วยบำบัดทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน
  • หมั่นบำบัดความเครียด ความเครียดเป็นตัวขัดขวางการหลั่งเซโรโทนิน การทำกิจกรรรมเพื่อผ่อนคลายจากความเครียด เช่น การฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินได้

อาหารและอาหารเสริมช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินได้หรือไม่?

กรดอะมิโนจำเป็นทริปโตเฟน (Tryptophan) เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างสาร Serotonin ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า เราสามารถเพิ่มระดับสาร Serotonin ในร่างกายได้ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยทริปโตเฟน เช่น ถั่ว อาหารจากถั่วเหลือง ไข่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก หน่อไม้ฝรั่ง ช็อกโกแลต 

ต่อมาจึงเกิดงานวิจัยบางงานที่พยายามหาคำตอบว่าการรับประทานอาหาร หรืออาหารเสริมที่มีทริปโตเฟนสูง ช่วยเพิ่มระดับของ Serotonin ในสมองและช่วยรักษาอาการของโรคซึมเศร้าได้จริงหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข้อความเหล่านี้น้อยมาก แต่ยังมีงานวิจัยขนาดเล็กที่พบว่า การรับประทานอาหารเสริมที่มี 5-HTP (5-hydroxytryptophan) อาจช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โดย 5-HTP เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางเคมีของทริปโตเฟน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการสร้าง Serotonin ในสมอง แต่ยังต้องมีการศึกษาที่ใหญ่ขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่า 5-HTP นั้นปลอดภัยและได้ผลจริง หากต้องการทดลองใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

กลุ่มอาการเซโรโทนิน คืออะไร?

กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) เป็นภาวะอันตรายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีระดับเซโรโทนินในร่างกายสูงเกินไป สาเหตุมักมาจากการได้รับเซโรโทนินจากยามากเกินไป หรือการใช้ยาช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนินในร่างกายพร้อมกัน 2 ชนิด ทำให้เกิดการสะสมของเซโรโทนินในสมองมากเกินไป

รวมถึงในกรณีที่คุณรับประทานยารักษาไมเกรนอย่างทริปแทน (Triptans) ร่วมกับยาต้านโรคซึมเศร้า เช่น ยากลุ่ม SSRIs หรือยากลุ่ม SNRIs

อาการของกลุ่มอาการเซโรโทนินมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีถึงชั่วโมง โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
  • มีอาการสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • ท้องเสีย
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กระตุก จนเกิดอาการชัก
  • ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน
  • สับสน
  • เห็นภาพหลอน
  • เพ้อ
  • มีไข้สูงมากกว่า 40 องศา

ดังนั้นควรไปพบแพทย์ทันทีหากคุณสังเกตว่า ตนเองกำลังมีอาการเหล่านี้ เพราะหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา อาการอาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลต่อชีวิตได้ นอกจากนี้เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพอย่างรอบด้าน หากเป็นไปได้ คุณควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะระบบพื้นฐานของสุขภาพ เช่น

ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด การทำงานของปอดแะลหัวใจ   

เซโรโทนินก็เช่นเดียวกับสารอื่นๆ ในร่างกายที่ควรมีอยู่ในปริมาณที่สมดุลเพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ แต่หากมีมากเกินไปก็สามารถนำไปสู่ความผิดปกติได้เช่นกัน 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจระดับฮอร์โมน จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs), (https://www.nhs.uk/conditions/...), 2 October 2018
Serotonin syndrome (https://med.mahidol.ac.th/pois...), July - September 2000 Vol.8 No.3
พญ. อรกานต์ หลานวงษ์, Serotonin Syndrome (https://neurosci.kku.ac.th/wp-...), 9 September 2014

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป