ภาวะเพ้อคลั่ง อาการทางจิตที่คนใกล้ชิดควรรู้

เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ภาวะเพ้อคลั่ง อาการทางจิตที่คนใกล้ชิดควรรู้

อาการสับสน เพ้อ คลุ้มคลั่ง สูญเสียการรับรู้ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึง ภาวะเพ้อ (Delirium) ซึ่งเป็นอาการทางจิตที่มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางร่างกาย แม้จะไม่ถึงกับเป็นภาวะที่พบบ่อย แต่ก็สร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดอย่างมาก เราจึงควรรู้ข้อมูลไว้ หากมีคนใกล้ตัวเกิดอาการขึ้นจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที

อาการของภาวะเพ้อคลั่ง

ที่พบบ่อยๆ คือผู้ป่วยมักมีอาการสับสน คลุ้มคลั่ง อารมณ์แปรปรวน โดยอาการอาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมง จนถึงหลายวัน หรือเป็นๆ หายๆ และอาการมักกำเริบเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือในเวลากลางคืน ลักษณะอาการที่โดดเด่นของภาวะนี้ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • อารมณ์แปรปรวน เช่น
  1. รู้สึกหวาดระแวง หรือวิตกกังวลกว่าปกติ
  2. หงุดหงิดง่าย อารมณ์ร้อน
  3. ซึมเศร้า หม่นหมอง ขาดชีวิตชีวา
  4. อารมณ์เปลี่ยนแปลงกะทันหัน โดยบางครั้งไม่ทราบสาเหตุ
  • พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น
  1. กระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง
  2. มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
  3. เอะอะโวยวาย
  4. เห็นภาพหลอน ภาพลวงตา
  5. นอนไม่หลับ ง่วงซึม บางครั้งฝันร้ายบ่อยๆ
  6. ซึม เก็บตัว ไม่อยากสุงสิงกับใคร
  7. บางครั้งอาจจำคนใกล้ชิดไม่ได้
  • สูญเสียการรับรู้
  1. ขาดสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ
  2. หากอาการรุนแรง จะไม่รับรู้และไม่ตอบสนองต่อบทสนทนา
  3. ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • สูญเสียทักษะการคิด
  1. ความคิดสับสนเลอะเลือน จำเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ รวมถึงคนรู้จักด้วย
  2. สื่อสารลำบาก เนื่องจากมักมีปัญหาในการคิดคำพูด
  3. ทักษะการอ่าน เขียน และการทำความเข้าใจแย่ลงด้วย

สาเหตุของภาวะเพ้อคลั่ง

ภาวะเพ้อคลั่งมักเกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย ซึ่งทำให้การรับส่งกระแสประสาทของสมองผิดปกติไป ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีภาวะสมองขาดออกซิเจน
  • มีไข้สูงเฉียบพลัน หรือติดเชื้อในกระแสเลือด
  • มีระดับแร่ธาตุในร่างกายผิดปกติ เช่น โซเดียมและแคลเซียมในเลือดต่ำ
  • มีภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • ฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • เป็นผลจากการใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องกัน เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยารักษาโรคหืด ยาแก้ปวด
  • เมามายจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ติดสารเสพติดให้โทษ
  • ได้รับสารพิษบางชนิด
  • มีอายุมาก ซึ่งภาวะนี้พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด หรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิต

การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะเพ้อคลั่ง

หากพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ให้เราหมั่นดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น โดยมีแนวทางดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือทะเลาะกับผู้ป่วย ควรพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและเป็นมิตร
  • หมั่นเน้นย้ำชื่อของผู้ป่วยและบุคคลรอบข้างเพื่อให้ผู้ป่วยจำได้
  • ใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายพูดคุยกับผู้ป่วย และคอยย้ำให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันที่จำเป็นต่างๆ ตามเวลาที่เหมาะสม เช่น ให้นอนตอนกลางคืน ตื่นตอนกลางวัน ทานอาหารครบทุกมื้อ
  • นำสิ่งของที่ผู้ป่วยคุ้นเคยมาวางไว้ใกล้ๆ เช่น รูปถ่าย หรือของที่ชอบ เพื่อให้ผู้ป่วยมีจิตใจสงบ
  • จัดที่พักอาศัย โดยเฉพาะห้องนอนผู้ป่วยให้เป็นระเบียบ โล่ง อากาศถ่ายเท เงียบสงบ และมีแสงสว่างเพียงพอ
  • กระตุ้นให้ผู้ป่วยขยับร่างกายอยู่เสมอ เช่น ออกกำลังกายเบาๆ หรือเดินยืดเส้นยืดสาย

การรักษาภาวะเพ้อคลั่ง

  • การประคับประคองอาการ โดยส่วนมากภาวะเพ้อคลั่งมักเป็นผลมาจากความผิดปกติทางกาย จึงต้องเน้นรักษาโรคทางกายเป็นหลัก และประคับประคองสภาพจิตใจไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน รุนแรง เช่น พยายามฟื้นฟูทักษะการคิดและความจำของผู้ป่วย ให้แพทย์และพยาบาลคอยดูแลอาการอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ผูกยึดที่จำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย
  • การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ ได้แก่ ยารักษาอาการเพ้อ สับสน ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ที่ช่วยบรรเทาอาการเพ้อคลั่งจากพิษสุรา เช่น Diazepam ซึ่งการใช้ยาต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์เสมอ
  • การส่งเสริมด้านสุขภาพอื่นๆ ได้แก่ การจัดอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ การจัดที่พักอาศัยให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดโปร่ง สบายใจ จะช่วยยับยั้งการกำเริบของอาการได้

การป้องกันภาวะเพ้อคลั่ง

อาการสับสนคลุ้มคลั่งอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้ใช้ยาและสารเสพติด รวมถึงคนที่มีอายุมาก ดังนั้น ในฐานะคนใกล้ชิด เราอาจช่วยป้องกันภาวะเพ้อคลั่งได้ โดย...

  • หมั่นสังเกตอาการของคนใกล้ตัว หากมีความผิดปกติ เช่น เก็บตัว ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ควรพาไปพบแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเสพติดให้โทษต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักด้วย
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความเครียด โรคภัยไข้เจ็บ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและพักผ่อนให้เพียงพอ


17 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What is delirium? Symptoms, causes, diagnosis, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/326684)
What Is Delirium? Types, Causes, and Treatments. Healthline. (https://www.healthline.com/health/delirium)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป