ปัจจุบันพบว่า หลายๆ คนกำลังประสบกับปัญหานอนไม่หลับเนื่องจากความเครียด เมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดความผิดปกติของสารเคมีภายในสมองและฮอร์โมนตามมา หลายคนจึงต้องหันมาพึ่ง "ยานอนหลับ"
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณนอนไม่หลับ
เมื่อนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจะเกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล ทำให้ไม่สดชื่น ทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคซึมเศร้าได้ การนอนไม่หลับจึงเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพสำคัญของผู้คนในปัจจุบัน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หากมีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์จะถือว่า "เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง" หากมีอาการเช่นนี้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับแต่ละคน
แนวทางการรักษาปัญหานอนไม่หลับ
การรักษาปัญหาการนอนไม่หลับมีทั้งการไม่ใช้ยาและใช้ยา
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
แพทย์จะเริ่มต้นด้วยวิธีไม่ใช้ยาก่อน เบื้องต้นแพทย์จะค้นหาสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับก่อน และให้หลีกเลี่ยง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลัง 13.00 น.
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการดูรายการโทรทัศน์ที่ตื่นเต้น หรือสยองขวัญ
การรักษาโดยใช้ยา
หากพยายามแก้ไขสาเหตุรวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จึงจะพิจารณาให้ใช้ยานอนหลับร่วมด้วยในการรักษา ยานอนหลับแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้
ตรวจการนอน Sleep Test วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,455 บาท ลดสูงสุด 50%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- กลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว ช่วยเหนี่ยวนำให้หลับ ทำให้หลับภายหลังรับประทานยาประมาณ 15-30 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเริ่มหลับยาก
- กลุ่มที่ออกฤทธิ์ช้า ยาจะออกฤทธิ์ภายหลังรับประทานยาประมาณ 30 นาทีขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเริ่มหลับยาก แต่ตื่นกลางดึกบ่อยแล้วนอนต่อไม่หลับ
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยานอนหลับมีผลข้างเคียงเช่นกันและอาจทำให้ติดได้ จนต่อไปหากไม่รับประทานยาก็จะนอนไม่หลับ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานอนหลับทุกครั้ง
ยานอนหลับ หรือยาที่ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ
1. ยากลุ่มต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 (First generation antihistamine)
ยากลุ่มต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 1 นิยมใช้บรรเทาอาการแพ้ผื่นคัน หรือแพ้อากาศ ยากลุ่มนี้สามารถจับกับตัวรับฮิสตามีนในสมองได้ จึงมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม สามารถนำมาใช้ช่วยให้นอนหลับได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ยากลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงน้อยแต่จัดเป็นยาอันตราย หาซื้อได้ในร้านขายยา แต่ต้องจ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่ทำให้ง่วง เช่น
- ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)
- ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)
- คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
- ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine)
- บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)
- ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine)
สำหรับยาต้านฮิสตามีนรุ่นที่ 2 และ 3 ไม่ค่อยมีผลทำให้ง่วงนอน เนื่องจากยาไม่ผ่านเข้าสมอง หรือผ่านได้น้อยมาก จึงไม่มีผลกดระบบประสาทส่วนกลาง
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
2. เมลาโทนิน (Melatonin)
เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนในร่างกายที่สร้างจากต่อมไพเนียล (Pineal gland) ทำหน้าที่ควบคุมวงจรการหลับการตื่นของร่างกายและช่วยให้นอนหลับสนิท หากกลไกการผลิตเมลาโทนินถูกรบกวน เช่น เดินทางไปต่างประเทศโดยข้ามช่วงเวลา ทำงานกะดึก หรือนอนหลับไม่เป็นเวลา
สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับได้
ปัจจุบันมีการผลิตยาเมลาโทนินออกจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน (Prolonged-released Tablet) ขนาด 2 มิลลิกรัม/เม็ด เพื่อใช้ในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ และช่วยลดอาการนอนไม่หลับจากการเดินทางไปต่างประเทศโดยข้ามช่วงเวลาและเกิดอาการอ่อนเพลีย หรือ “เจ็ตแล็ก (jet lag)” ได้
เมลาโทนินสามารถหาซื้อได้ในร้านขายยา โดยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้
วิธีรับประทาน: ให้รับประทานทั้งเม็ด วันละ 1 ครั้งก่อนนอน โดยห้ามหัก แบ่ง บด เคี้ยว เริ่มกินยาตั้งแต่ก่อนเข้านอนวันแรกที่เดินทางไปต่างประเทศที่เปลี่ยนช่วงเวลาจากประเทศเดิม รับประทานประมาณ 3 คืนติดต่อกันต่อเนื่อง จนสามารถนอนหลับได้เองตามปกติ
3. ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีน (Benzodiazepine)
ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีนเป็นยานอนหลับชนิดออกฤทธิ์เร็ว ทำให้หลับหลังจากรับประทานยาประมาณ 15 นาที
ยากลุ่มนี้จัดเป็นยาควบคุม ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีการนำไปใช้เพื่อล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นขณะนอนหลับ หรือที่เรียกว่า “ยาเสียสาว” และหากใช้ไปนานๆ ยังอาจทำให้เสพติดได้
อย่างไรก็ตาม แพทย์นิยมใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีนเพื่อลดความกังวลและช่วยให้นอนหลับแก่ผู้ป่วยมากที่สุด ตัวยามีทั้งในรูปแบบรับประทานและยาฉีด
- ตัวอย่างตัวยารูปแบบยาฉีด ได้แก่ Diazepam, Midazolam
- ตัวอย่างตัวยาชนิดรับประทาน ได้แก่ Diazepam, Clorazepat, Chlordiazepoxide, Lorazepam, Alprazolam และ Clonazepam
ข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยานอนหลับ
- ควรใช้ยานอนหลับเป็นระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากการใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้การตอบสนองกับยาลดลงจนต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้นอนหลับได้ และอาจทำให้เกิดการติดยาในภายหลัง
- ควรใช้ยานอนหลับในความดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาเกินขนาดจะกดการทำงานของสมองที่ควบคุมการหายใจ อาจทำให้เกิดการหายใจล้มเหลว และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
- ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งถึงประวัติโรคเดิมที่เป็นอยู่ รวมถึงประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน
- ไม่ควรหยุดใช้ยาทันที หากใช้ยานอนหลับในปริมาณมาก หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานๆ เพราะอาจมีอาการถอนยาตามมา เช่น นอนไม่หลับมากขึ้น กระสับกระส่าย มือสั่น ใจสั่น หรือวิตกกังวลได้
- ห้ามขับขี่รถ หรือควบคุมเครื่องจักรหลังรับประทานยานอนหลับ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ และอันตรายถึงชีวิตได้ ควรรับประทานยานอนหลับเฉพาะเมื่อจะเข้านอนแล้วเท่านั้น
- การใช้ยานอนหลับควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคตับ ไต และผู้สูงอายุ
- หลีกเลี่ยงใช้ยานอนหลับในเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคปอด และผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ที่ใช้ยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทอื่นๆ เนื่องจากยามีผลกดการหายใจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- การใช้ยาในเด็กควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงใช้ยานอนหลับในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากยานอนหลับมีผลต่อทารกในครรภ์ และยาอาจถูกขับออกมาทางน้ำนมทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้
- ควรงดบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงที่ใช้ยานอนหลับ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปเสริมฤทธิ์ยานอนหลับ อาจกดการหายใจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นอกจากนี้ระหว่างใช้ยานอนหลับยังควรปฏิบัติตัวตามสุขอนามัยในการนอนที่ดีร่วมด้วย ดังนี้
- พยายามเข้านอน และตื่นนอนให้เป็นเวลา
- หาวิธีผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- งดสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติดอื่นๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- รับประทานอาหารมื้อเย็นที่ย่อยง่าย
- จัดห้องนอนให้เหมาะแก่การพักผ่อน สะอาด ปราศจากเสียงรบกวนทั้งแสง และเสียง
คำแนะนำเหล่านี้ เป็นคำแนะนำเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คุณควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้นอนไม่หลับ รวมถึงความเครียด และวิตกกังวลในใจให้น้อยลง เพื่อให้นอนหลับด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งยา
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android