ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

เผยแพร่ครั้งแรก 3 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine (เบนโซไดอะซีปีน) เป็นยาที่แพทย์นิยมนำมาใช้เป็นยาคลายกังวลหรือใช้เป็นยานอนหลับมากที่สุด ซึ่งนอกจากฤทธิ์ในการคลายกังวลแล้ว ยานี้ยังช่วยคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ง่วงซึม และระงับการชักได้ ทำให้ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine เป็นกลุ่มยาคลายกังวลที่ใช้บ่อยที่สุด แม้ในระยะหลังจะมีการสังเคราะห์ยาคลายกังวลกลุ่มอื่นมาใช้เพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่ากับยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine

ยานอนหลับ Benzodiazepine ออกฤทธิ์ต่อร่างกายอย่างไร

เมื่อยา Benzodiazepine เข้าไปในร่างกาย ตัวยาจะกระจายไปจับตัวรับภายในสมองซึ่งอยู่รวมตัวกันเป็นโครงสร้างเชิงซ้อนในส่วนต่างๆ ของสมอง ทำให้เกิดฤทธิ์ยับยั้งการนำสัญญาณประสาทในสมอง ช่วยให้รู้สึกง่วงซึม กล้ามเนื้อคลายตัว และคลายความวิตกกังวลลงไป แต่การที่ยาออกฤทธิ์กับตัวรับก็มีข้อเสีย นั่นคือยาจะส่งผลให้เกิดอาการถอนยาหากหยุดใช้อย่างกะทันหัน โดยทำให้เกิดเป็นภาวะกระตุ้นสมอง ได้แก่ วิตกกังวลรุนแรง กระวนกระวาย มีอาการของโรคจิต หรือเกิดอาการชักได้ เช่นเดียวกับผู้ที่หยุดดื่มสุราทันที เนื่องจากแอลกอฮอล์นั้นออกฤทธิ์ต่อตัวรับชนิดนี้เช่นเดียวกับยา Benzodiazepine ฉะนั้นการเรียนรู้วิธีหยุดยาอย่างช้าๆ จึงสำคัญพอๆ กับการรู้ถึงวิธีใช้ยา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine รักษาโรคใดได้บ้าง

  • อาการวิตกกังวลทั่วไป เช่น กังวลจากการคาดการณ์ล่วงหน้า หรือกังวลถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ในคืนก่อนผ่าตัด
  • รักษาโรควิตกกังวลและโรคตื่นตระหนกบางประเภท
  • ภาวะวิตกกังวลเฉียบพลัน เช่น ในผู้ที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือได้รับข่าวร้าย
  • อาการนอนไม่หลับ ซึ่งควรใช้ยานี้เป็นครั้งคราวเท่านั้น การหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับและแก้ที่ปัญหาต้นเหตุจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า
  • ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ ทั้งปัญหากล้ามเนื้อที่มีสาเหตุจากทางร่างกายและจิตใจ
  • ใช้ก่อนการผ่าตัด เนื่องจากยามีฤทธิ์ช่วยให้ลืมเหตุการณ์ รู้สึกง่วงซึม และคลายความกังวล
  • ระงับอาการชัก แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันการชัก ยกเว้นยานอนหลับ Benzodiazepine บางชนิด เช่น Clonazepam (โคลนาซีแพม) ที่สามารถช่วยป้องกันอาการชักบางประเภทได้
  • รักษากลุ่มอาการขาดสุรา (Alcohol withdrawal syndrome)

ประเภทของยานอนหลับ Benzodiazepine 

ยานอนหลับในกลุ่ม Benzodiazepine มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด ซึ่งตัวยานอนหลับในรูปแบบยาฉีด ได้แก่ Diazepam (ไดอะซีแพม) และ Midazolam (มิดาโซแลม) ส่วนยานอนหลับรูปแบบรับประทาน สามารถแบ่งชนิดของยาได้เป็น 2 แบบ

1.  แบ่งตามค่าครึ่งชีวิตของยานอนหลับ

  1.1 กลุ่มที่มีค่าครึ่งชีวิตยาว (มากกว่า 20 ชั่วโมง)

ตัวยาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยทําให้เกิดสารที่มีฤทธิ์ส่งผลให้ยาสะสมอยู่ในร่างกายได้นาน หากหยุดยากะทันหันจึงมักไม่เกิดภาวะถอนยา ยานอนหลับในกลุ่มนี้ได้แก่ Diazepam และ Clonazepam

  1.2 กลุ่มที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น (น้อยกว่า 20 ชั่วโมง)

ตัวยาจะอยู่ในร่างกายเป็นช่วงเวลาสั้นกว่ายาแบบแรก โดยจะไปจับกับสารชนิดหนึ่งและถูกขับถ่ายออกมา ยานอนหลับในกลุ่มนี้ ได้แก่ Lorazepam (ลอราซีแพม) Temazepam (เทมาซีแพม) รวมถึงยา Alprazolam (อัลปราโซแลม) และ Triazolam (ไตรอาโซแลม) ที่แม้จะให้สารที่ออกฤทธิ์ แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จึงถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้ด้วย

2. แบ่งตามความแรงของยานอนหลับ

2.1 กลุ่มที่มีความแรงสูง 

การใช้ยากลุ่มนี้ในปริมาณมิลลิกรัมน้อยๆ สามารถออกฤทธิ์ได้พอๆ กับการใช้ยากลุ่มที่มีความแรงต่ำในปริมาณสูง ยานอนหลับ Benzodiazepine ที่มีความแรงสูง ได้แก่ Alprazolam, Lorazepam, Triazolam และ Clonazepam 

2.2 กลุ่มที่มีความแรงต่ำ 

ยา Benzodiazepine กลุ่มนี้มีฤทธิ์อ่อนกว่า จึงต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่ายานอนหลับกลุ่มแรก ได้แก่ Diazepam, Prazepam (พราซีแพม) Clorazepate, และ Temazepam

หลักการเลือกใช้ยานอนหลับ Benzodiazepine

ยาในกลุ่ม Benzodiazepine ทุกตัวมีกลไกการออกฤทธิ์และอาการข้างเคียงจากการใช้ยาไม่แตกต่างกัน การเลือกว่าจะใช้ยาตัวไหน ปริมาณเท่าไร และความถี่ในการใช้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การวินิจฉัยโรค

ในการใช้เพื่อเป็นยานอนหลับหรือยาคลายกังวล แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ชัดเจนก่อนว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร เพื่อจะได้พิจารณาเลือกชนิดยาให้เหมาะสมกับโรคหรือภาวะนั้นๆ

  • การใช้เป็นยาเพื่อคลายกังวลทั่วไป แพทย์จะเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์ระยะยาว เช่น Diazepam โดยมักให้ใช้ยาก่อนนอนวันละ 1 ครั้ง หรือใช้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน นอกจากจะช่วยรักษาอาการวิตกกังวลแล้ว Benzodiazepine ยังช่วยลดภาวะวิตกกังวลทั่วๆ ไป เช่น ความกังวลก่อนการผ่าตัด ก่อนเข้าสอบ การย้ายบ้าน เป็นต้น ซึ่งยาที่ใช้มักเป็นยาความแรงต่ำและใช้ในปริมาณต่ำ
  • การใช้เป็นยานอนหลับ แพทย์จะถามถึงอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วย หากเป็นอาการนอนไม่หลับในช่วงต้น จะเลือกใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็วและตัวยาอยู่ในร่างกายไม่นาน แต่หากเป็นอาการนอนไม่หลับแบบตื่นกลางดึก หรือตื่นนอนแต่เช้ามืด ก็อาจเลือกยาที่ออกฤทธิ์นานขึ้น แต่บางครั้งฤทธิ์ของยาอาจคงอยู่นานจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงซึมในตอนเช้า

ปัจจัยของตัวผู้ป่วย

ลักษณะอาการ เช่น เป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ หรือเป็นความวิตกกังวลต่อเฉพาะบางเหตุการณ์ รวมถึงปัจจัยด้านอายุของผู้ป่วย และโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคตับทำงานบกพร่อง

ปัจจัยของตัวยา

ความแรงของยานอนหลับชนิดต่างๆ ในกลุ่ม Benzodiazepine คุณลักษณะเฉพาะของยา การดูดซึม ระยะเวลาที่เริ่มออกฤทธิ์ และระยะเวลาที่ยาถูกขจัดออกจากร่างกาย

หลักการปรับขนาดยานอนหลับ Benzodiazepine

ในการปรับปริมาณการใช้ยานอนหลับ Benzodiazepine ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างผลของการรักษากับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนขนาดยา โดยเมื่อเลือกใช้ยาชนิดใดแล้วควรใช้ให้ถึงขนาดสูงสุดในการรักษาของยาตัวนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนยาใหม่ นอกเสียจากผู้ป่วยจะทนต่ออาการข้างเคียงของยาไม่ได้ และไม่แนะนำให้ใช้ยานอนหลับ Benzodiazepine หลายตัวพร้อมกัน เนื่องจากไม่ได้ให้ผลไปดีกว่าการใช้ยาตัวเดียว นอกจากนั้นยังมีข้อควรคำนึงอื่นๆ ในการปรับขนาดยานอนหลับ Benzodiazepine ได้แก่

  • หากยาตัวใดให้ผลการรักษาที่ดี มักให้ใช้ยาโดยคงปริมาณยาต่ำสุดที่ควบคุมอาการได้ไประยะหนึ่งตามแต่แพทย์พิจารณา ไม่ควรปรับลดปริมาณการใช้ยาเร็วเกินไปโดยที่ยังไม่หายดี
  • เมื่อใช้ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยอาจเกิดอาการดื้อยา คือใช้ยาขนาดเท่าเดิม แต่ฤทธิ์ของยาลดน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งมักเกิดขึ้นโดยทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกง่วงซึมเหมือนก่อน แต่พบว่าไม่เกิดภาวะดื้อยาต่อฤทธิ์คลายกังวล การใช้ยานี้รักษาอาการวิตกกังวลจึงใช้ได้ผลนานกว่าใช้เพื่อช่วยในการนอนหลับ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ แต่หากใช้เพื่อช่วยให้นอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจต้องปรับใช้ยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
  • การลดขนาดยาเพื่อหยุดยาเมื่อครบกำหนดระยะรักษา ควรค่อยๆ ปรับให้ลดลงทีละน้อย โดยแพทย์มักลดขนาดยาลงร้อยละ 25 ของขนาดยาสูงสุดที่เคยใช้ในทุกๆ 1-2 สัปดาห์ จนกระทั่งหยุดยาได้ภายใน 4-8 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่อาจพบในขณะปรับลดยา คือ ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากโรคเดิมที่ยังไม่หายขาด หรือมีอาการเหมือนโรคเดิมแต่รุนแรงกว่า และจะเกิดเป็นช่วงสั้นๆ อาการดังกล่าวอาจคล้ายกับอาการขาดยา ซึ่งอาการจะค่อยๆ ลดลงไปเองเมื่อหยุดยาไประยะหนึ่ง
  • ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางกายหรือมีอายุมาก แพทย์มักเลือกใช้ยา Benzodiazepine ที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น เช่น Lorazepam เป็นต้น
  • ยา Benzodiazepine ที่ขจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว หากใช้ติดต่อกันไประยะหนึ่งจะทำให้เกิดอาการติดยาได้ง่ายกว่ายาที่ขจัดออกจากร่างกายช้า

การใช้ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine จำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ของผู้ป่วย ตัวยา รวมทั้งจุดประสงค์ในการนำยามาใช้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่ใช้ยานอนหลับกลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เสมอ เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดีจากการใช้ยา


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mihic, S. John, and R. Adron Harris. "Chapter 17. Hypnotics and Sedatives." Goodman & Gilman's The Pharmacological Basis of Therapeutics, 12e. Eds. Laurence L. Brunton, et al. New York, NY: McGraw-Hill, 2011
Jay W. Marks, MD, Oral Benzodiazepines Names, Side Effects, and Addiction (https://www.medicinenet.com/sc...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ยานอนหลับ แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร?
ยานอนหลับ แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร?

รู้จักยานอนหลับประเภทต่างๆ และผลข้างเคียงก่อนเลือกใช้ตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่ม
ทำหัวนมชมพู สักหัวนมชมพู ทางเลือกสำหรับสาวๆ อยากหน้าอกสวย
ทำหัวนมชมพู สักหัวนมชมพู ทางเลือกสำหรับสาวๆ อยากหน้าอกสวย

ทำหัวนมชมพู สักหัวนมชมพู คืออะไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร ราคาเท่าไร อันตรายหรือเปล่า?

อ่านเพิ่ม