กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

Lorazepam (Ativan)

เผยแพร่ครั้งแรก 29 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที

ยาลอราเซแพม (Lorazepam) หรือยาเอติแวน (Ativan) ใช้รักษาอาการวิตกกังวล (Anxiety) อยู่ในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ออกฤทธิ์ที่สมองและระบบประสาทส่วนกลาง มีผลทำให้เกิดการสงบระงับ (Calming effect) โดยยาจะไปปรับสารเคมีตามธรรมชาติของร่างกายให้ดีขึ้น ซึ่งเรียกสารนั้นว่า GABA (Gamma-aminobutyric acid) เป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยผ่อนคลายและบรรเทาความเครียด วิตกกังวล และความกลัว

ยาลอราเซแพม ออกฤทธิ์นาน 4-8 ชั่วโมงในเด็กและผู้ใหญ่ หากเป็นผู้สูงอายุจะออกฤทธิ์นาน 8-12 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่แพทย์สั่งให้รับประทานในแต่ละคน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

วิธีใช้ยาลอราเซแพม

  • ขนาดการใช้ยาลอราเซแพม ขึ้นอยู่กับสภาวะโรค อายุ และการตอบสนองต่อการรักษา สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ยาลอราเซแพมอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการถอนยา (Withdrawal reactions) ได้ โดยเฉพาะผู้ใช้ยานี้เป็นประจำและเป็นระยะเวลานาน หรือใช้ยาในปริมาณสูง (มากกว่า 1-4 สัปดาห์) หรือผู้มีประวัติเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ใช้สารเสพติด หรือมีโรคเกี่ยวกับปัญหาทางบุคลิกภาพ 
  • อาการถอนยาอาจเกิดขึ้นได้หากหยุดยากะทันหัน เช่น อาการชัก หายใจลำบาก อารมณ์และสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ประสาทหลอน ชาที่แขนและขา ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว สูญเสียความทรงจำระยะสั้น มีไข้สูง และมีความไวต่อเสียงรบกวน การสัมผัส และแสง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาการถอนยา แพทย์อาจค่อยๆ ลดขนาดยาลงช้าๆ ก่อนหยุดยา หากมีอาการถอนยาใดๆ เกิดขึ้น ให้แจ้งแพทย์ทันที
  • ยาลอราเซแพมอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ โดยความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นถ้าใช้เป็นยาเสพติด หรือติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรรับประทานยาลอราเซแพมตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อลดโอกาสที่จะติดยา ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
  • ห้ามหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาการบางอย่างอาจแย่ลงได้ถ้าหยุดยากะทันหัน ในการหยุดยาอย่างปลอดภัยอาจจำเป็นต้องค่อยๆ ปรับลดขนาดยาลงก่อนหยุดยา
  • เมื่อใช้ยาลอราเซแพมติดต่อกันเป็นเวลานาน ยานี้อาจออกฤทธิ์ได้ไม่ดีดังเดิม ให้ปรึกษาแพทย์
  • แจ้งแพทย์หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง
  • ในกรณีที่ลืมรับประทานยา หากนึกขั้นได้เมื่อใกล้เวลาของมื้อถัดไป ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรับประทานมื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ถ้าแพทย์สั่งให้รับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้งก่อนนอน และคุณลืมรับประทานยา ไม่ต้องรับประทานยาในตอนเช้าที่นึกได้ แต่ให้ปรึกษาแพทย์ว่าจะต้องทำอย่างไร 

ผลข้างเคียงของยาลอราเซแพม

อาการข้างเคียงขณะใช้ยาลอราเซแพม ได้แก่ ง่วงนอน เวียนศีรษะ สูญเสียความสามารถในการประสานงานกันของร่างกาย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ตาพร่า อารมณ์และความสามารถทางเพศเปลี่ยนแปลงไป ท้องผูก แสบร้อนกลางอก หรือความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง ถ้าอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลงให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที

อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ สภาพจิตใจ อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป (เช่น ประสาทหลอน ซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย) พูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก การมองเห็นผิดปกติ อ่อนเพลียผิดปกติ เดินลำบาก ปัญหาด้านความจำ มีอาการของการติดเชื้อ (เช่น มีไข้ เจ็บคอเรื้อรัง) ต้องแจ้งแพทย์ทันที

อาการข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรงมาก ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง อาการชัก หายใจช้า และหายใจตื้น ต้องไปพบแพทย์ทันที 

ปฏิกิริยาการแพ้ยา ได้แก่ เป็นผื่น มีอาการคัน บวม โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ เวียนศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้พบได้น้อย ถ้าเกิดอาการแพ้ยาให้รีบไปพบแพทย์

อาการข้างเคียงอื่น อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

การติดตามอาการและผลข้างเคียง ควรมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ/หรือ การตรวจทางการแพทย์เป็นระยะเพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงจากยา เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการตรวจการทำงานของตับ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ข้อควรรู้ก่อนกินยาลอราเซแพม

  • ก่อนกินยา หากเคยมีประวัติแพ้ยาลอราเซแพม ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกร รวมไปถึงการแพ้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam) โคลนาซีแพม (Clonazepam) และ ไดอะซีแพม (Diazepam) รวมทั้งหากมีประวัติแพ้ยาอื่นหรือสารก่อภูมิแพ้อื่นใดให้แจ้งแพทย์และเภสัชกรด้วยก่อนใช้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยา การขับรถหรือบังคับเครื่องจักร รวมถึงกิจกรรมอื่นใดที่ต้องใช้สติและสายตา เพราะยาอาจทำให้วิงเวียนและง่วงซึมมากขึ้น
  • ผู้สูงอายุอาจมีความไวต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากกว่า โดยเฉพาะการสูญเสียการทำงานประสานกันของร่างกาย และอาการง่วงซึม นอกจากนี้บางรายอาจไม่สามารถบรรเทาอาการวิตกกังวลได้ด้วยยาลอราเซแพม ซึ่งอาจเกิดผลตรงกันข้าม คือ อารมณ์และสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง มีปัญหาการนอนหลับ เพิ่มความสนใจทางเพศ หรือมีอาการประสาทหลอน ในกรณีสูญเสียการทำงานประสานกันของร่างกาย ง่วงซึม และปัญหาการนอนหลับอื่นๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุ
  • เด็กอาจไม่สามารถบรรเทาอาการวิตกกังวลด้วยยาลอราเซแพม ทั้งนี้อาจเกิดผลตรงกันข้าม เช่น มีอาการกระสับกระส่าย สั่น หรือประสาทหลอน
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากยาลอราเซแพมอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ 
  • หญิงที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาลอราเซแพม เพราะยาจะถูกขับออกทางน้ำนม
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ หากคุณมีภาวะเหล่านี้ ได้แก่ โรคไต โรคตับ โรคต้อหิน มีปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ภาวะอารมณ์ หรือสภาพจิตใจผิดปกติไป เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ตนเองหรือบุคคลในครอบครัวติดสารเสพติด หรือแอลกอฮอล์

ข้อควรระวังในการใช้ยาลอราเซแพม

ยาลอราเซแพมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3 หรือประเภท 4 ต้องซื้อจากร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 เท่านั้น ซึ่งจะมีป้าย "สถานที่ขายวัตถุออกฤทธิ์" ติดแสดงอย่างชัดเจน พร้อมทั้งต้องมีใบสั่งจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ฯ จากแพทย์ โดยมีเภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวตามคำสั่งของแพทย์ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้วัตถุออกฤทธิ์ที่ปลอดภัยตามหลักวิชาการตามสมควร

การรับประทานยาลอราเซแพมร่วมกับยาในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) หรือกลุ่มยาแก้ปวดที่ไปยับยั้งสัญญาณความเจ็บปวดที่เข้าสู่สมอง เช่น Codeine, Hydrocodone อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงมาก รวมถึงการเสียชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว แพทย์จะให้คุณรับประทานยาลอราเซแพมด้วยขนาดยาที่ต่ำที่สุด ซึ่งยังมีผลต่อการรักษาและให้รับประทานเป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

พบแพทย์ทันที หากมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น หายใจช้า หายใจตื้น เวียนศีรษะผิดปกติ ง่วงนอนอย่างรุนแรง เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ตื่นนอนยาก

ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ยาลอราเซแพม

ผู้ป่วยที่มีสภาวะดังต่อไปนี้ ห้ามใช้ยาลอราเซแพม ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนได้รับยา

  • มีความคิดฆ่าตัวตาย
  • เป็นโรคพิษจากสุรา (alcohol intoxication)
  • ติดสารเสพติด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับปอด หรือการหายใจ เช่น เป็นโรคปอดเรื้อรัง ภาวะหยุดหายใจชั่วคราวขณะนอนหลับ
  • เป็นโรคตับ หรือโรคตับรุนแรง
  • ตั้งครรภ์
  • การทำงานของสมองบกพร่องเนื่องจากโรคตับ
  • เป็นโรคต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน
  • เป็นโรคไตที่มีการทำงานของไตลดลง 
  • แพ้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน

การใช้ยาลอราเซแพมร่วมกับยาอื่น

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interactions) กับยาอื่นเมื่อมีการใช้ยาลอราเซแพม อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาหรือเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ข้อมูลที่ระบุนี้ไม่ได้ครอบคลุมการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบทุกครั้งหากคุณกำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่นใดเมื่อต้องใช้ยาลอราเซแพม อย่าเริ่มยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงขนาดยาต่างๆ เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรง เช่น การหายใจช้าหรือหายใจตื้น เวียนศีรษะรุนแรง ง่วงนอนมาก มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการใช้ยาลอราเซแพมร่วมกับยาที่มีผลทำให้ง่วงซึมหรือหายใจลำบาก ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง หากคุณกำลังรับประทานยาเหล่านี้อยู่ เช่น

การได้รับยาลอราเซแพมเกินขนาด

หากได้รับยาลอราเซแพมเกินขนาดจนทำให้เกิดอาการร้ายแรง เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน โดยเรียกรถพยาบาลทันที โทร. 1669 อาการของการได้รับยาเกินขนาดอาจรวมถึงอาการสับสน การตอบสนองของร่างกายช้าลง ความซุ่มซ่าม หลับลึก และหมดสติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ได้รับยาเกินขนาด ควรตระหนักถึงคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • คำแนะนำในการใช้ยาลอราเซแพมจากแพทย์หรือเภสัชกร
  • ไม่ควรแบ่งยาลอราเซแพมให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยลดความเครียด อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาลอราเซแพม โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การเก็บรักษายาลอราเซแพม

เก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากแสงแดดและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องอาบน้ำ เก็บยาทุกชนิดให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)