กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ภกญ. สุภาดา ฟองอาภา เภสัชกรหญิง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ภกญ. สุภาดา ฟองอาภา เภสัชกรหญิง

Zolpidem (โซลพิเดม)

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 6 ธ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

ยา Zolpidem (โซลพิเดม) หรือ ชื่อการค้าว่า Ambien® ผลิตโดยบริษัท Sanofi เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ใช้สำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับ ผู้ที่มีภาวะนอนหลับยาก หรือมีภาวะสะดุ้งตื่นกลางคืนบ่อยครั้ง เมื่อไปพบแพทย์อาจทำการรักษาด้วยยาชนิดนี้ แต่ยา Zolpidem มีข้อควรระวัง และผลข้างเคียงหลายอย่างที่ผู้ใช้จำเป็นต้องรู้ เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัยมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับยา Zolpidem ในทุกๆ แง่มุม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สรรพคุณของยา Zolpidem

  • ยา Zolpidem เป็นยาสำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ในผู้ใหญ่ ถ้าคุณมีปัญหานอนไม่หลับ ยานี้จะช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้น ทำให้พักผ่อนได้ดีมากขึ้น
  • ยา Zolpidem เป็นยาในกลุ่มยาระงับประสาท-ยานอนหลับ (Sedative-hypnotics) โดยยาจะออกฤทธิ์ที่สมอง ทำให้รู้สึกง่วงนอน
  • ยา Zolpidem มักจำกัดการใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (Short-term treatment) 1-2 สัปดาห์ หรือน้อยกว่านั้น โดยจะต้องมีการประเมินโรคที่อาจเกิดร่วมหลังจากได้รับยา 7-10 วัน

วิธีใช้ยา Zolpidem

  • อ่านคำแนะนำในการใช้ยา และข้อมูลยาที่ได้รับจากเภสัชกรก่อนใช้ยา และในทุกครั้งที่มารับยาซ้ำ หากมีคำถามใดๆ ให้สอบถามจากแพทย์ หรือเภสัชกร
  • รับประทานยาในเวลาท้องว่าง หรือตามที่แพทย์สั่ง ปกติจะรับประทาน 1 เม็ดก่อนนอน เนื่องจากยา Zolpidem เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว อย่ารับประทานยาพร้อม หรือหลังอาหาร เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • อย่ารับประทานยาหากมีเวลานอนหลับน้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง เพราะถ้าจำเป็นต้องตื่นนอนก่อนเวลาดังกล่าว อาจทำให้สูญเสียความทรงจำบางส่วนได้ และอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัว เช่น การขับรถ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร

ขนาดยาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

  • ขนาดยาที่จะได้รับขึ้นอยู่กับเพศ อายุ สภาวะโรคที่กำลังเป็น ยาอื่นที่อาจใช้อยู่ในขณะนี้ และการตอบสนองต่อการรักษา
  • ห้ามเพิ่มขนาดยา หรือรับประทานยาบ่อยกว่าที่แพทย์สั่ง หรือใช้ยาเป็นเวลานานกว่าที่แพทย์สั่ง
  • ห้ามรับประทานยาเกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้หญิงมักจะได้รับยาในขนาดที่ต่ำกว่าผู้ช้าย เพราะกำจัดยาออกจากร่างกายได้ช้ากว่า
  • ผู้สูงอายุมักจะได้รับยาในขนาดต่ำ เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา

ปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อรับประทานยา Zolpidem

ยา Zolpidem อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาถอนยา (Withdrawal reactions) โดยเฉพาะถ้าใช้เป็นประจำต่อเนื่องในระยะเวลานาน หรือใช้ยาในขนาดสูง ในกรณีนี้อาการถอนยา (Withdrawal symptoms) อาจเกิดขึ้นถ้าคุณหยุดใช้ยาอย่างกระทันหัน 

มีลักษณะอาการถอนยาคือ คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง ปวดเกร็งท้อง ตื่นกลัว ตัวสั่น เหงื่อแตก กล้ามเนื้อหดเกร็ง หากมีอาการดังกล่าว ให้แจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรทันที

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาถอนยา แพทย์อาจค่อยๆ ลดขนาดยาลงก่อนหยุดยา

ภาวะการติดยา Zolpidem

แม้ว่ายา Zolpidem จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับจำนวนมาก แต่ก็อาจทำให้เกิดการติดยาได้ โดยความเสี่ยงของการติดยาอาจเพิ่มมากขึ้นถ้าคุณใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการใช้ยา แนะนำให้รับประทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดยา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อไรที่ควรเข้าพบแพทย์

  • เมื่อมีการใช้ยาเป็นเวลานาน จนทำให้ยาอาจออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเหมือนเดิม
  • อาการนอนไม่หลับยังคงมีอยู่หลังจากใช้ยาไปแล้ว 7-10 วัน หรืออาการแย่ลง
  • มีอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ สูญเสียความทรงจำ สภาพจิตใจ อารมณ์ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีอาการซึมเศร้า หรืออาการซึมเศร้าที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลง มีความคิดที่ผิดปกติ มีความคิดฆ่าตัวตาย ประสาทหลอน สับสน กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว วิตกกังวล
  • หลังจากรับประทานยา มีอาการตื่นนอนแล้วออกไปขับรถทั้งๆ ที่ยังไม่ตื่นตัวเต็มที่  (พบได้น้อย) ละเมอขึ้นมาเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร หรือมีเพศสัมพันธ์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งผู้ป่วยมักจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายทั้งต่อตัวผู้ที่ใช้ยาและผู้อื่น ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที โดยความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นถ้าดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาตัวอื่นที่ทำให้ง่วงนอนร่วมกับยา Zolpidem
  • หลับระหว่างวัน สมองเบลอ คิดไม่ออก มึนงง สับสน หรือวิตกกังวล

ผลกระทบหลังจากหยุดใช้ยา

เมื่อหยุดใช้ยาอาจมีอาการนอนไม่หลับในช่วงไม่กี่คืนแรก หรือเรียกว่า รีบาวด์ อินซอมเนีย (Rebound insomnia) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และอาการมักจะดีขึ้นหลังผ่านไป 1-2 คืน แต่ถ้ายังคงมีอาการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องให้ไปพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงของยา Zolpidem

  • อาจเกิดอาการเวียนศีรษะจากยา Zolpidem ได้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที
  • ยาอาจทำให้มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน หากมีอาการให้แจ้งแพทย์ประจำตัวเพื่อปรับขนาดยา
  • อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

ผลข้างเคียงของยา Zolpidem ในผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุ

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากผู้ป่วยเด็กอาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น โดยเฉพาะอาการวิงเวียนศีรษะ และอาการประสาทหลอน
  • ผู้สูงอายุอาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น โดยเฉพาะอาการวิงเวียนศีรษะ สับสน การทรงตัวผิดปกติ และง่วงนอนมากผิดปกติ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้มมากขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้ยา Zolpidem

การแพ้ยา Zolpidem

ปฏิกิริยาการแพ้ยา (พบได้น้อย) ได้แก่ ผื่น คัน บวม (โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ) กลืนยาก เวียนศีรษะรุนแรง หายใจลำบาก อย่างไรก็ตามถ้าเกิดอาการใดๆ ของการแพ้ยาให้รีบไปพบแพทย์ทันที

โรคที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Zolpidem

ก่อนการใช้ยา Zolpidem ให้แจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับโรค และประวัติทางการแพทย์ดังต่อไปนี้

  • ป่วยเป็นโรคไต โรคตับ
  • มีอารมณ์ หรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย
  • มีประวัติส่วนตัว หรือประวัติครอบครัวที่ใช้สารเสพติด หรือติดแอลกอฮอล์
  • มีประวัติส่วนตัว หรือประวัติครอบครัวมีอาการละเมอทำกิจกรรมต่างๆ
  • มีปัญหาการหายใจ หรือปัญหาที่ปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้าย (Myasthenia gravis)

ผลของยา Zolpidem คงอยู่ได้หลายวัน

ผลของยาอาจยังคงอยู่แม้ว่าคุณจะตื่นนอนในวันถัดไปแล้วก็ตาม ถ้าคุณมีเวลานอนไม่ถึง 7-8 ชั่วโมง หรือกำลังใช้ยาอื่นที่ทำให้ง่วงนอน คุณจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยามากกว่าปกติ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • คุณอาจรู้สึกตื่นตัว แต่ไม่สามารถคิด หรือตัดสินใจได้ดีพอในขณะขับรถ
  • คุณอาจมีอาการเวียนศีรษะ หรือตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อนได้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้คุณมีอาการวิงเวียนมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้

ควรรออย่างน้อย 8 ชั่วโมงหลังจากการรับประทานยาก่อนการขับรถอีกครั้ง และห้ามขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัว จนกว่าคุณจะทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย

ยา Zolpidem กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรหรือวางแผนจะให้นมบุตร

ผู้ป่วยที่วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์ ต้องแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาก่อนการใช้ยา โดยจะต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยง และประโยชน์ที่จะได้รับจากยาขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากพบว่าการใช้ยาในผู้ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาส 3 ส่งผลให้ทารกแรกเกิด มีภาวะหายใจผิดปกติ นอนหลับมากผิดปกติ อ่อนเพลีย และมีภาวะอ่อนล้า

หากกำลังใช้ยาควรสังเกตุอาการลูกน้อยอย่างใกล้ชิดว่า มีอาการภาวะหายใจผิดปกติ นอนหลับมากผิดปกติ อ่อนเพลีย และอ่อนล้าหรือไม่ หากลูกมีอาการดังกล่าว ให้รีบแจ้งแพทย์ผู้รักษาทันที

การใช้ยา Zolpidem กับยาอื่น

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interactions) อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ข้อมูลที่ระบุนี้ไม่ได้ครอบคลุมการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นคุณต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่า กำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใดอยู่ในขณะนี้

ผลิตภัณฑ์ที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยา Zolpidem

  • โซเดียมออกซิเบท (Sodium oxybate)
  • อิมมิพราไมน์ (Imipramine)
  • คลอโพรมาซิน (Chlorpromazine)
  • ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol)

ยาที่ส่งต่อการกำจัดยา Zolpidem ออกจากร่างกาย หรืออาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา Zolpidem

  • ยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Azole antifungals (Ketoconazole)
  • ไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
  • สมุนไพรรักษาอาการซึมเศร้า St.John's Wort (SJW)

ยาที่อาจส่งผลข้างเคียงร้ายแรงเมื่อใช้ร่วมกับยา Zolpidem

ความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง (เช่น หายใจช้า หายใจตื้น เวียนศีรษะรุนแรง ง่วงนอนอย่างมาก) อาจเพิ่มขึ้นถ้าใช้ยาร่วมกับผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้

อย่าลืมอ่านฉลากยาทุกชนิดก่อนใช้ (เช่น ยาแก้แพ้ หรือยาแก้หวัด แก้ไข) เพราะอาจประกอบด้วยตัวยาที่ทำให้ง่วงนอน ดังนั้นให้สอบถามเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

การได้รับยา Zolpidem เกินขนาด

หากมีใครก็ตามที่ได้รับยา Zolpidem เกินขนาดจนทำให้เกิดอาการร้ายแรง เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที โทร 1669

อาการของการได้รับยาเกินขนาดอาจได้แก่ หายใจช้า ความดันต่ำ หรือหลับลึกจนไม่สามารถปลุกให้ตื่นได้

หากลืมรับประทานยา Zolpidem

ถ้าคุณลืมรับประทานยา อย่ารับประทานยาจนกว่าจะมีเวลาในการนอนนาน 7-8 ชั่วโมงอีกครั้ง

การเก็บรักษายา Zolpidem

  • เก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากแสงแดง และความชื้น 
  • ไม่เก็บยาในห้องอาบน้ำ 
  • เก็บยาทุกชนิดให้ห่างจากมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เทยาทิ้งในห้องน้ำ หรือในท่อระบายน้ำ ให้ทิ้งผลิตภัณฑ์ยาอย่างเหมาะสมเมื่อยาหมดอายุ หรือเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีก

เมื่อคุณอายุมากขึ้น รูปแบบการนอนหลับ (Sleep pattern) อาจเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และการนอนหลับอาจถูกขัดจังหวะหลายครั้งตลอดการนอนหลับ สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเภสัชกร เกี่ยวกับวิธีในการเพิ่มคุณภาพการนอนหลับโดยไม่ใช้ยา เช่น การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ในช่วงใกล้เวลาเข้านอน หลีกเลี่ยงการนอนหลับกลางวัน และเข้านอนในเวลาเดียวกันของทุกวัน


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Zolpidem tartrate tablet (https://www.ambien.com/), August 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)