กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เมลาโทนิน (Melatonin) คืออะไร?

สาเหตุของการนอนไม่หลับ ที่มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ อ่านข้อควรระวังเพื่อให้คุณสบายยิ่งขึ้นในเวลากลางคืน
เผยแพร่ครั้งแรก 24 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
เมลาโทนิน (Melatonin) คืออะไร?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เมลาโทนิน คือ ฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถผลิตเองตามธรรมชาติจากต่อมไพเนียล ซึ่งต่อมนี้จะเริ่มผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินตอนกลางคืน
  • บางคนใช้เมลาโทนินเพื่อทำให้ตัวเองนอนหลับ แต่ว่าสารนี้ทำได้แค่ให้คุณหลับง่าย ไม่ได้ช่วยให้หลับยาวแต่อย่างใด
  • การใช้เมลาโทนินให้ผลข้างเคียงดังนี้ ปวดหัว ฝันร้าย มึนงง บางรายหนักถึงขั้น ตัวเย็น ปวดตามข้อ ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ
  • กล้วย เป็นผลไม้ที่ให้สารเมลาโทนิน หากทานหลังมื้อเย็น คุณอาจจะหลับง่ายขึ้น
  • อยากใช้เมลาโทนินให้ปลอดภัย ปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอคอลได้ที่นี่

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมไพเนียลที่อยู่ในบริเวณส่วนกลางของสมอง ต่อมไพเนียลนี้จะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลาโทนินในเวลาที่ไม่มีแสงหรือแสงสว่างน้อย ในช่วงเวลากลางวันต่อมไพเนียลไม่ได้ทำงานเนื่องจากมีแสงสว่าง แต่เมื่อถึงเวลากลางคืนต่อมไพเนียลจะทำการหลั่งเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือดทำให้ร่างกายรู้สึกง่วง ตามที่ National sleep foundation กล่าว ระดับของเมลาโทนินจะคงอยู่ในกระแสเลือดของเราเป็นเวลา 12 ชั่วโมงแล้วจะค่อยๆ ลดลงพร้อมกับการกลับมาของแสงอาทิตย์

หากคุณได้รับแสงสว่างในเวลากลางคืนหรือได้รับแสงไม่เพียงพอในเวลากลางวัน จะมีผลให้วัฎจักรของเมลาโทนินไม่สมดุลและอาจจะทำให้การหลั่งผิดปกติ ซึ่งระหว่างการทำวิจัยเพิ่มเติม มีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ระดับเมลาโทนินจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นของเรา ในกรณีนี้ สามารถอธิบายได้ว่าทำไมคนสูงอายุถึงนอนไวและตื่นเช้ากว่าในตอนที่เป็นเด็ก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หน้าที่ของเมลาโทนิน

เมลาโทนินมีหน้าที่ช่วยในการรักษาจังหวะเวลาชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ หน้าที่หลักของเมลาโทนิน คือ การควบคุมวงจรการนอนหลับและการตื่น ใช้ในการรักษาอาการเจ็ตแล็ก (อาการนอนไม่หลับเมื่อต้องเดินทางเปลี่ยนสถานที่ซึ่งอยู่ต่างเขตเวลากัน) และอาการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น ระดับของเมลาโทนินก็จะลดลง

หน้าที่อื่นๆ ของเมลาโทนิน

  • ช่วยในการควบคุมวงจรการสืบพันธุ์ของเพศหญิง เช่น ช่วงเวลาที่มีประจำเดือนและช่วงเริ่มต้นเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งบางข้อมูล กล่าวว่า เมลาโทนินช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นแข็งแรงมากขึ้น
  • เนื่องจากเมลาโทนินมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การรับประทานเสริมอาจช่วยชะลอกระบวนการชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการป้องกันเซลล์สมองจากการทำลายโดยปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ 
  • ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยการกระตุ้นเซลล์ที่ทำหน้าที่ต้านเซลล์มะเร็ง จึงอาจมีส่วนช่วยควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็งได้

อาหารเสริมเมลาโทนิน

ในประเทศสหรัฐอเมริกา อาหารเสริมเมลาโทนินจากการสังเคราะห์ขึ้นเป็นฮอร์โมนเสริมชนิดเดียวที่สามารถจำหน่ายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ อย่างไรก็ตามเมลาโทนินยังไม่ได้รับการยืนยันด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพการทำงานจากองค์กรอาหารและยา ซึ่งในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

หากคุณต้องการจะใช้เมลาโทนินเสริม ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อน ปัจจุบันยังคงมีการทำงานวิจัยถึงผลลัพธ์จากการใช้อาหารเสริมเมลาโทนิน ซึ่งบางงานวิจัยกล่าวถึงโรคดังต่อไปนี้ที่เมลาโทนินสามารถช่วยในการรักษาได้ ดังนี้

ข้อควรรู้ก่อนรับประทานเมลาโทนิน

หากคุณกำลังคิดอยากจะลองรับประทานฮอร์โมนเมลาโทนินเพื่อช่วยให้หลับง่ายขึ้น ลองดูข้อมูลดังต่อไปนี้ก่อนว่าฮอร์โมนที่ว่านั้นช่วยให้หลับได้จริงหรือไม่ มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

เมลาโทนิน: ฮอร์โมนธรรมชาติ

การที่เราสามารถนอนหลับได้เป็นปกติในตอนกลางคืนนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากคุณต้องต่อสู้กับอาการนอนไม่หลับอยู่ทุกๆ คืน คุณอาจจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเมลาโทนินช่วย เพื่อให้คุณหลับง่ายขึ้น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คุณรู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วร่างกายของเราผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินออกมากอยู่แล้ว ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวถือเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายของมนุษย์ผลิตขึ้นมาโดยต่อมไพเนียลที่มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าวและมีตำแหน่งอยู่บริเวณกลางสมอง ซึ่งในช่วงระหว่างวันต่อมไพเนียลจะไม่ทำงานและจะตรวจพบฮอร์โมนดังกล่าวได้น้อยมาก แต่เมื่อถึงเวลากลางคืนต่อมไพเนียลจะเปิดสวิตช์ทำงานและเริ่มผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน 

โดยพบว่าฮอร์โมนเมลาโทนนินจะเริ่มทำงานประมาณสามทุ่ม ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เรารู้สึกง่วงนอนนั่นเอง ฮอร์โมนดังกล่าวจะทำงานประมาณ 12 ชั่วโมงในแต่ละวัน และจะหยุดทำงานก่อนที่เช้าวันใหม่จะเริ่มขึ้นและระดับฮอร์โมนจะลดต่ำลง

การรับฮอร์โมนเมลาโทนินไม่ได้เป็นการรักษาอาการนอนไม่หลับ

ในขณะที่ฮอร์โมนเมลาโทนินอาจถูกนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ แต่ทว่าฮอร์โมนดังกล่าวไม่สามารถนำมารักษาโรคนอนไม่หลับได้ มันเป็นเพียงตัวช่วยกระตุ้นให้คุณสามารถหลับง่ายขึ้นเท่านั้น แต่จะไม่ได้ช่วยให้คุณหลับยาวขึ้นแต่อย่างใด 

ดังนั้น ฮอร์โมนนี้จึงถูกนำมาใช้กับผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน (Jet Lag), ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเฉพาะฤดูกาล (SAD), เพื่อควบคุมเวลาการนอนหลับของผู้ที่ทำงานกะกลางคืน, เพื่อป้องกันหรือลดปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับของผู้ป่วยหลังผ่าตัด และเพื่อช่วยลดอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง 

หากร่างกายของคุณตอบสนองอย่างดีต่อฮอร์โมนเมลาโทนิน คุณก็ไม่จำเป็นต้องรับฮอร์โมนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแต่อย่างใด  เพราะหากคุณใช้ฮอร์โมนนี้มากหรือนานเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะทำให้ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนและต้องรับในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนมากๆ เข้า จะทำให้คุณนอนหลับยากขึ้นกว่าเดิม

สิ่งที่คุณเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณจะได้เสมอไป

หลายคนที่มีปัญหาในการนอนหลับ มักมีการใช้ฮอร์โมนเมลาโทนินที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาโดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง คุณสามารถหาซื้อในปริมาณที่มากได้ แต่ฮอร์โมนที่ซื้อมาคุณไม่มีทางทราบได้เลยว่ามีส่วนประกอบของสารอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสารที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ การใช้ฮอร์โมนในปริมาณ 0.3 หรือ 0.5 มก. ในเวลากลางคืนจะช่วยกระตุ้นการนอนหลับ แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่สูงขึ้นจะทำให้คุณรู้สึกง่วงนอนในเวลากลางวัน มีอาการมึนงง  สมรรถภาพทางด้านร่างกายลดลง และเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง เนื่องจากฮอร์โมนเมลาโทนินไม่ได้ถูกวางข้อกำหนดของการใช้ไว้อย่างชัดเจน ปริมาณที่วางขายในท้องตลาดจึงมีอยู่หลากหลาย 

จากผลการศึกษาพบว่า ฮอร์โมนเมลาโทนินที่มาในรูปแบบของอาหารเสริมมักมีปริมาณที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเสริมเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนประกอบในตัวอาหารเสริมนั้นๆ ด้วย

ปริมาณการใช้ฮอร์โมนเมลาโทนินที่ถูกละเลย

เนื่องจากฮอร์โมนเมลาโทนินเป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ การจำหน่ายจึงมีหลากหลายปริมาณ ทำให้คุณจึงไม่สามารถทราบได้ว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะกับการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนอนไม่หลับหรือมีปัญหาการนอนหลับ 

ดังนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณฮอร์โมนที่เหมาะสม แล้วจึงหามาใช้เองได้ โดยควรเลือกยาที่ผลิตจากแลปที่น่าเชื่อถือและผลิตจากฮอร์โมนมนุษย์ ไม่ใช่ฮอร์โมนจากสัตว์ เพราะอาจมีสิ่งเจือปนและเป็นอันตรายได้ และหากคุณรับประทานยาดังกล่าวแล้วเกิดอาการแพ้ ควรหยุดยานั้นทันทีและรีบพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง

ยังไม่มีใครทราบถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น

หากเราใช้ฮอร์โมนเมลาโทนินในระยะสั้นๆ อาจไม่มีผลข้างเคียงใดๆ และถือว่าปลอดภัย แต่บางคนเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ คือ ปวดหัว มีภาวะฝันร้าย มีอาการมึนงงจากการใช้ยาเมื่อตื่นนอน อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการศึกษาที่ชัดเจนว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ฮอร์โมนในระยะยาวเป็นอย่างไร เนื่องจากการศึกษาวิจัยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และผลข้างเคียงที่ศึกษาพบ คือ อาการตัวเย็น ปวดตามข้อ ท้องร่วง การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และปวดศีรษะ เป็นต้น

การใช้ฮอร์โมนเมลาโทนินอาจเป็นอันตรายกับวัยแรกรุ่น

เนื่องจากฮอร์โมนเมลาโทนินจะทำงานในหลายส่วนของร่างกายและสมอง รวมไปถึงกับต่อมใต้สมองซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับพัฒนาการในวัยแรกรุ่น ผู้เชี่ยวชาญเตือนผู้ปกครองให้ปรึกษากุมารแพทย์เกี่ยวกับปัญหาการนอนก่อนให้บุตรหลานรับฮอร์โมนดังกล่าว 

เนื่องจาก โดยปกติแล้วฮอร์โมนเมลาโทนินจะมีปริมาณลดลงตามธรรมชาติในช่วงวัยแรกรุ่นและการใช้ฮอร์โมนกับเด็กวัยนี้โดยไม่ได้มีการควบคุมดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น ผู้ปกครองควรหันมาให้ความสำคัญกับสาเหตุของอาการนอนไม่หลับของเด็กและพยายามขจัดปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุนั้นๆ มากกว่า โดยฮอร์โมนเมลาโทนินถือว่าปลอดภัยและมักถูกใช้กับเด็กที่มีความผิดปกติทางด้านการสื่อสารและอารมณ์ (Autism) มากกว่า 

อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้กครองต้องปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะให้บุตรหลานรับฮอร์โมนใดๆ เข้าสู่ร่างกาย

การใช้ฮอร์โมนไม่ใช่ทางออกเพียงทางเดียวในการแก้ปัญหาการนอนหลับ

ก่อนที่จะเริ่มใช้ฮอร์โมนหรืออาหารเสริมใดๆ เพื่อแก้ปัญหาการนอนหลับ คุณควรพิจารณาก่อนว่ามีวิธีการแก้ปัญหาอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีการรักษาต่างๆ ที่ช่วยให้คุณนอนหลับได้อย่างปกติได้ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เข้านอนในเวลาเดียวกันทุกคืน งดใช้อุปกรณ์ที่ให้กำเนิดแสงสีฟ้าก่อนเข้านอน เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็ปเลต โทรทัศน์ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการนอนงีบช่วงบ่ายหรือตอนเย็น นอกจากนี้ คุณอาจลองรักษาด้วยวิธีการธรรมชาติ ด้วยการจิบชาคาโมมายล์ หรือรับประทานสมุนไพรจากรากของต้นวาเลอเรียน เป็นต้น

คำแนะนำสำหรับการรับประทานเมลาโทนินจากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

เมลาโทนินพบในอาหาร เช่น มะเขือเทศ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงได้รับการวางจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยา แม้ว่าแท้จริงแล้วเมลาโทนินจะเป็นฮอร์โมนก็ตาม 

คำแนะนำสำหรับการรับประทานเพื่อป้องกันอาการเจ็ตแล็ก คือ 1-3 มก. (ในรูปที่ใช้อมใต้ลิ้น) ปล่อยให้ละลายใต้ลิ้นครึ่งชั่วโมง ก่อนเวลาที่ต้องการจะนอนในสถานที่ที่คุณเดินทางไป หากรับประทานในรูปอัดเม็ดหรือแคปซูล ซึ่งทำงานได้ไม่เร็วนัก แนะนำให้รับประทาน 1-3 มก. หนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนเวลาที่คุณต้องการจะนอน 

สำหรับอาการนอนไม่หลับ แนะนำขนาด 1-5 มก. ก่อนเข้านอน (เริ่มที่ 1 มก. และค่อยๆ เพิ่มหากจำเป็น ไม่ควรเกินกว่า 5 มก.) และในการรับประทานเพื่อชะลอความชรา แนะนำ 0.5-1 มก. (ในรูปที่ใช้อมใต้ลิ้น) ก่อนเข้านอน

เคล็ดลับที่ช่วยให้นอนหลับ

  • หากคุณติดนิสัยชอบหาอะไรรองท้องก่อนนอน กล้วยก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะช่วยเพิ่มการสร้างเมลาโทนินในร่างกายได้
  • ยาบางตัว รวมถึงยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDS ซึ่งมีขายทั่วไป มีผลลดการสร้างเมลาโทนินของสมอง 
  • แอสไพรินขนาดมาตรฐานเพียงหนึ่งเม็ด สามารถลดการสร้างเมลาโทนินลงได้มากถึงร้อยละ 75 หากคุณรับประทานยาเหล่านี้ พยายามรับประทานยามื้อสุดท้ายหลังอาหารมื้อเย็น 
  • ยาอื่นที่มีผลยับยั้งการสร้างเมลาโทนินของสมอง เช่น ยานอนหลับพวกแวเลียมและซาแนกซ์ กาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาแก้หวัด ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน กลุ่มบีตาบล็อกเกอร์ หรือแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ยาลดความอ้วนและสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน

ข้อควรระวังในการใช้เมลาโทนิน

  • เมลาโทนินอาจทำให้คุณรู้สึกง่วงมาก และควรรับประทานก่อนจะเข้านอน ไม่ควรขับรถหรือทำงานร่วมกับเครื่องจักรหลังจากรับประทานเข้าไป 
  • หากคุณรับประทานยาอื่นเป็นประจำ และกำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน มีปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุลจากโรคอื่น หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือนและกำลังรับฮอร์โมนทดแทน คุณไม่ควรรับประทานเมลาโทนิน เนื่องจากอาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันของคุณมากเกินไปได้ 
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านร่างกายตัวเอง หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ไม่ควรรับประทานเมลาโทนินเด็ดขาด

15 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Atli Arnarson, PhD, Side Effects of Melatonin: What Are the Risks? (https://www.healthline.com/nutrition/melatonin-side-effects), 8 February 2018.
Ryan Raman, MS, RD, How Melatonin Can Help You Sleep and Feel Better (https://www.healthline.com/nutrition/melatonin-and-sleep), 3 September 2017.
Zawn Villines, Melatonin for sleep: What to know (https://www.medicalnewstoday.com/articles/325181.php), 15 May 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป