กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

รู้จักกับโรคมะเร็งเต้านม สาเหตุ อาการ การตรวจคัดกรอง แนวทางการรักษา และป้องกัน

โรคมะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง การรู้จักสังเกตอาการเบื้องต้น และเข้ารับการตรวจคัดกรองทุกปี จะช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดจากมะเร็งเต้านมได้
เผยแพร่ครั้งแรก 1 ม.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รู้จักกับโรคมะเร็งเต้านม สาเหตุ อาการ การตรวจคัดกรอง แนวทางการรักษา และป้องกัน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่อาจตรวจพบอาการ เช่น คลำเจอก้อนที่เต้านม มีอาการปวด บวม กดเจ็บบริเวณก้อน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาด รูปร่าง และลักษณะของเต้านม หรือหัวนม
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม เช่น ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม รับประทานฮอร์โมนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้า
  • ผู้หญิงควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง หลังหมดประจำเดือน 7-10 วัน โดยสังเกตลักษณะรูปร่างของเต้านม หรือคลำเต้านมอย่างเบามือเพื่อดูว่า มีก้อนเนื้อหรือไม่
  • ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละ 1 ครั้ง โดยสามารถตรวจได้ด้วยแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์ ซึ่งสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ไม่แสดงอาการใดๆ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาหายได้โดยไม่ต้องตัดเต้านม
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นหนึ่งในชนิดของโรคมะเร็งที่พบมากในผู้หญิง แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ชายเช่นกัน 

แม้ว่า โรคมะเร็งเต้านมจะไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนโรคมะเร็งปากมดลูก แต่การรู้จักสังเกตอาการ และรีบไปพบแพทย์เมื่อมีความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายเป็นปกติในบางราย หรือชะลอการดำเนินโรคไม่ให้ก้าวสู่ระยะรุนแรงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โรคมะเร็งเต้านม สาเหตุเกิดจากอะไร?

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่มีส่วนเกี่ยวของกับโรคมะเร็งเต้านม ดังนี้

  • ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม
  • ผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปี และผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งบริเวณอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปากมดลูก
  • ผู้ที่มีเต้านมเต่งตึงกว่าอายุ
  • ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
  • ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีความเครียดสูง ออกกำลังกายน้อย
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว 1 ข้าง มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างสูงถึง 5 เท่า

อาการของโรคมะเร็งเต้านม

ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ มักไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่สามารถตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ แต่ก็อาจมีอาการแสดงได้ ดังนี้

  • คลำพบก้อนที่เต้านม
  • มีอาการปวด บวม ที่เต้านม
  • กดเจ็บบริเวณก้อน
  • มีการเปลี่ยนแปลงขนาด และรูปร่างของหัวนม เช่น มีรอยบุ๋ม
  • มีการเปลี่ยนขนาด หรือรูปร่างในเต้านมโตที่เจริญเต็มที่
  • มีการเปลี่ยนสี หรือพื้นผิวของหัวนม และลานนม เช่น มีผื่น มีรอยย่น
  • มีเลือด หรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำนม เช่น น้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม

นอกจากอาการของโรคมะเร็งเต้านมที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าแล้ว ในทางการแพทย์มะเร็งเต้านมยังแบ่งอาการเป็น 4 ระยะดังนี้

  • ระยะ 0 เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม
  • ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือไม่ก็ได้ หรือมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
  • ระยะ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
  • ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ แล้ว

วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

ผู้หญิงในวัยสาวถึงวัยสูงอายุควรตรวจเต้านมของตัวเองทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ หลังจากหมดประจำเดือน 7-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึง ทำให้ตรวจได้ง่าย

วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเองมีดังนี้

  • ยืนหน้ากระจก ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย แล้วสังเกตลักษณะเต้านมทั้งสองข้างโดยละเอียด โดยเต้านมควรมีรูปร่างกลมรี รูปไข่ ขนาดเท่ากันทั้งสองข้าง หัวนมอยู่ในระดับเดียวกัน และผิวหนังมีลักษณะปกติ
  • นั่งตัวตรงยกแขนเหยียดเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง หากมีก้อน หรือเนื้องอก จะเกิดการรั้งจนเห็นรอยบุ๋ม
  • นั่งตัวเอนมาทางข้างหน้า ให้เต้านมห้อยลง สังเกตว่า มีการเหนี่ยวรั้งเป็นรอยบุ๋มหรือไม่
  • คลำด้วยฝ่ามือตนเอง โดยอาจยืน หรือนอนราบก็ได้ หากนอนราบ ให้ยกแขนข้างที่ต้องการตรวจเหนือศีรษะ ใช้มือคลำทั่วเต้านมและรักแร้อย่างเบามือ ไม่บีบเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อได้
  • ตรวจลักษณะพื้นผิว โดยใช้นิ้วคลำแล้วบีบเข้าหากัน เพื่อดูลักษณะผิวหนังว่า หนา ด้าน หรือแข็งผิดปกติไหม

หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้านมแต่ไม่แน่ใจว่า เข้าข่ายมะเร็งเต้านมหรือไม่ หรือยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล อาจปรึกษาแพทย์ออนไลน์เกี่ยวกับปัญหามะเร็งนรีเวชเบื้องต้นก่อน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แพทย์จะสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นและแนะแนวทางได้ว่า ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างไร เพราะบางคนอาจไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร ไปตรวจที่ไหน 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

แม้จะหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน แต่ก็เป็นเพียงการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น อาจตรวจไม่พบมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ ได้ ซึ่งสามารถตรวจพบได้โดยเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละ 1 ครั้ง ซึ่งข้อดีของการตรวจพบก้อนมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกๆ คือ มีโอกาสรักษาหายได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดเต้านมออก

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มีดั้งนี้

  • ตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือรังสีชนิดพิเศษคล้ายการเอกซเรย์ แต่ใช้รังสีน้อยกว่า และตรวจละเอียดกว่ามาก โดยสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ไม่มีอาการ
  • ตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การตรวจเต้านมด้วยคลื่นความถี่สูง เหมาะสำหรับใช้ตรวจก้อนเต้านมว่า เป็นถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อ หรือตรวจลักษณะของก้อนเนื้อว่า เป็นก้อนเนื้องอกธรรมดา หรือก้อนมะเร็ง

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

วิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ผู้ทำการรักษา อาการ และระยะของมะเร็งเต้านม โดยแนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านมทั่วไปมีดังนี้

  • การผ่าตัด มีทั้งการผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งข้าง และผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้
  • การฉายรังสี เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง หรือป้องกันเซลล์มะเร็งเติบโต
  • การใช้ยาเคมีบำบัด มีหลายรูปแบบ เช่น ชนิดรับประทาน หรือฉีดเข้าเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเนื้องอก โดยการกำจัด หรือหยุดการแบ่งตัว
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน คือการหยุดการทำงานของฮอร์โมนที่ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโต เช่น การผ่าตัดรังไข่ออก เพื่อหยุดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน

วิธีป้องกันมะเร็งเต้านม

ถึงแม้จะไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านมแน่ชัด แต่การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม อาจช่วยลดความเสี่ยงที่ก่อโรคมะเร็งเต้านมได้ เช่น

  • รับประทานผักสดและผลไม้สดให้มากๆ โดยสารอาหาร วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในผัก ผลไม้จะช่วยต่อสู้กับสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง อาหารแปรรูป หรือรับประทานในปริมาณน้อย
  • ดื่มชาเขียวเป็นประจำ เพราะชาเขียวอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมัน
  • ดูแลสุขภาพร่างกายพื้นฐาน เช่น ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่เครียดจนเกินไป
  • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

โรคมะเร็งเต้านม แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถลดความรุนแรงที่อาจเกิดจากโรคมะเร็งเต้านมได้ เพียงแค่ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชันเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Toledo E, et al. Mediterranean diet and invasive breast cancer risk among women at high cardiovascular risk in the PREDIMED trial. JAMA Internal Medicine. 2015;175:1752.
Schneider, A. P., et al., The breast cancer epidemic: 10 facts (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4135458/), 30 October 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
โรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
โรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย

รวมข้อมูลโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย ความเสี่ยงมีมากขนาดไหน รักษาหายได้หรือไม่

อ่านเพิ่ม
โรคมะเร็งที่หัวนม (Paget's disease of the nipple)
โรคมะเร็งที่หัวนม (Paget's disease of the nipple)

รู้เท่าทันโรคมะเร็งหายากที่เกิดขึ้นได้กับเต้านม

อ่านเพิ่ม