กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

Melatonin (เมลาโทนิน)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 6 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่อยู่ในร่างกาย สร้างจากต่อมไพเนียลในสมองซึ่งจะส่งผลต่อสภาพทางชีวภาพและการทำงานของอวัยวะต่างๆ มีหน้าที่ควบคุมวงจรการหลับ-ตื่น (Sleep wake cycle) โดยหลั่งออกมามากในตอนกลางคืน และลดลงในตอนกลางวัน

ปริมาณเมลาโทนินในร่างกายขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น เมลาโทนินจะมีปริมาณลดลงเมื่อมีแสงสว่าง หรือหากคุณมีอายุที่มากขึ้น เมลาโทนินในร่างกายก็ลดลง เราจึงพบว่าผู้สูงอายุมักนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือในผู้ที่ใช้ยาลดความดันประเภทเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมลาโทนินในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (หรือเรียกติดปากว่า อาหารเสริม) ในท้องตลาด มักมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้น ดูดซึมได้เร็ว ทำให้เมื่อรับประทานจะมีระดับยาสูงสุดในเลือดช่วงเวลา 20 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดยา จึงมีการพัฒนาเมลาโทนินในรูปแบบยาเม็ดให้ออกฤทธิ์นานขึ้น

การศึกษาพบว่า ยาเมลาโทนินที่มีการออกฤทธิ์นาน (Prolonged-release melatonin) มีความปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดการดื้อยา (Tolerance) พึ่งพายา (Dependence) หลังหยุดใช้ไม่เกิดอาการนอนไม่หลับซ้ำ (Rebound effect) หรืออาการถอนยา (Withdrawal effect) และมีประสิทธิภาพจากในการปรับวงจรการนอนหลับของร่างกาย โดยต้องรับประทานก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง และอาจใช้เวลาหลายวันถึง 3 เดือนจึงเกิดประสิทธิผล

ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาเมลาโทนินในสถานพยาบาลภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ยาเมลาโทนินมีชื่อทางการค้าว่าเซอคาดีน (Circadin®) มีปริมาณยาขนาด 2 มิลลิกรัม โดยได้รับอนุมัติจากสหภาพพยุโรปให้มีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับเบื้องต้นในระยะสั้นสำหรับผู้ป่วยอายุ 55 ปีขึ้นไป และสามารถใช้ได้นาน 3 เดือน

นอกจากนี้ เมลาโทนินยังนำมาใช้รักษาภาวะต่างๆ เช่น ทาผิวหนังเพื่อป้องกันการไหม้แดด หรือใช้ทาในปากเพื่อป้องกันแผลในปากจากการบำบัดรังสีหรือเคมี มีการฉีดเมลาโทนินเข้าเส้นเลือดดำหลังคนไข้ประสบกับภาวะหัวใจวาย และเมลาโทนินยังสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อรักษามะเร็งได้

ประโยชน์ของเมลาโทนิน

หน้าที่หลักของเมลาโทนินในร่างกายคือการควบคุมวัฏจักรกลางวันและกลางคืนหรือการตื่นและหลับของมนุษย์ ความมืดจะทำให้ร่างกายผลิตเมลาโทนินมากขึ้นเพื่อส่งสัญญาณให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะหลับ แสงสว่างจะทำให้ร่างกายผลิตเมลาโทนินน้อยลงและส่งสัญญาณให้ร่างกายตื่นตัว ผู้ที่มีปัญหาการนอนบางรายจะมีระดับเมลาโทนินต่ำ คาดว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินอาจช่วยให้ผู้มีปัญหาการนอนสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น

การใช้เมลาโทนินเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ

  • เจ็ตแล็ก (Jet lag) งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าเมลาโทนินสามารถจัดการกับอาการบางอย่างจากเจ็ตแล็กได้ เช่น ความตื่นตัว การประสานการทำงานของอวัยวะที่ใช้เคลื่อนไหว เป็นต้น เมลาโทนินยังช่วยลดอาการอื่นๆ อย่างอาการง่วงนอนตอนกลางวันและเหนื่อยล้า อย่างไรก็ตาม เมลาโทนินไม่อาจใช้ร่นระยะเวลาก่อนถึงเวลานอนหลับจริงของผู้ที่ประสบกับปัญหาเจ็ตแล็กได้
  • ภาวะนอนไม่หลับจากการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์ อย่าง Atenolol และ Propranolol เป็นกลุ่มยาที่อาจลดระดับของเมลาโทนินได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการนอนหลับ งานวิจัยพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินอาจลดปัญหานี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์
  • ภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia) โรคนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary insomnia) เป็นโรคนอนไม่หลับที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาเหตุทางการแพทย์หรือสภาพแวดล้อม เมลาโทนินจะร่นระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อนอนหลับ แต่ลดลงเพียงประมาณ 12 นาทีเท่านั้น โดยเมลาโทนินไม่อาจเพิ่มประสิทธิภาพการนอน (Sleep efficiency) หรืออัตราส่วนด้านเวลาที่คนคนหนึ่งใช้นอนหลับจริงๆ บางคนอ้างว่าเมลาโทนินช่วยให้พวกเขานอนหลับได้ดีขึ้น แต่ผลการทดสอบจริงมักจะไม่เป็นไปดังที่กล่าว อีกทั้งมีหลักฐานว่าเมลาโทนินจะออกฤทธิ์ช่วยผู้สูงอายุได้ดีกว่าผู้ที่มีอายุน้อยหรือเด็ก เนื่องจากว่าผู้สูงวัยมักจะมีเมลาโทนินในร่างกายต่ำอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของโรคนอนไม่หลับทุติยภูมิ (Secondary insomnia) เป็นโรคนอนไม่หลับที่เกิดจากภาวะอื่น อย่างโรคอัลไซเมอร์ ภาวะซึมเศร้า จิตเภท การพักฟื้นในโรงพยาบาล การบาดเจ็บทางสมอง และ ภาวะเฉียบพลันของผู้ป่วยไอซียู โดยมีการค้นพบที่น่าสนใจอย่างมากว่า เมลาโทนินไม่อาจช่วยลดระยะเวลาช่วงก่อนที่จะหลับสำหรับผู้มีภาวะนอนไม่หลับทุติยภูมิ แต่ช่วยปรับให้คุณภาพในการนอนหลับดีขึ้น
  • ภาวะนอนหลับยาก (Delayed sleep phase syndrome) การรับประทานเมลาโทนินจะช่วยลดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการนอนหลับสำหรับคนหนุ่มสาวและเด็กที่มีปัญหาหลับยากได้ โดยมักใช้ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการนอน อย่างไรก็ตาม หากหยุดการรักษาไปภายใน 1 ปี ปัญหาการนอนจะกลับมาอีกครั้ง
  • ปัญหาการนอนหลับในผู้ที่วงจรการนอนถูกรบกวน การรับประทานเมลาโทนินช่วยควบคุมช่วงเวลาการนอนหลับและตื่นของผู้มีภาวะผิดปกติในระบบประสาทส่วนกลาง ออทิสซึ่ม และปัญญาอ่อนได้ โดยเมลาโทนินจะร่นระยะเวลาลงที่กลุ่มเด็กปัญญาอ่อนใช้เพื่อหลับ นอกจากนี้ เมลาโทนินยังช่วยปรับคุณภาพในการนอนในระยะหลับลึก (Rapid-eye movement (REM) sleep) ส่วนผู้สูงอายุที่มีปัญหาวงจรการนอนถูกรบกวนและภาวะสมองเสื่อม เมลาโทนินจะช่วยลดจำนวนครั้งที่ตื่นขึ้นกลางดึกได้ด้วย
  • ภาวะการนอนหลับผิดปกติในผู้ที่ตาบอด การรับประทานเมลาโทนินจะช่วยลดภาวะผิดปกติด้านการนอนของเด็กและผู้ใหญ่ที่ตาบอดได้

การใช้เมลาโทนินในภาวะอื่นๆ

  • เนื้องอก การใช้เมลาโทนินในปริมาณมากเป็นการเสริมการรักษามะเร็ง ช่วยลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดและการฉายแสง รวมถึงป้องกันและรักษามะเร็งหลายชนิดได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • แดดเผา การทาเมลาโทนินก่อนออกแดดอาจช่วยป้องกันการถูกแดดเผาได้
  • อาการปวดกราม (Temporomandibular disorder) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานเมลาโทนินก่อนเข้านอนนาน 4 สัปดาห์จะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ 44 % และเพิ่มความสามารถในการอดทนต่อความเจ็บปวดนี้ขึ้นประมาณ 39 % ในผู้หญิงที่มีปัญหาปวดกราม
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) การรับประทานเมลาโทนินสามารถเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดที่ต่ำจากโรคมะเร็ง การรักษามะเร็ง และภาวะผิดปกติอื่นๆ ได้
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานเมลาโทนินทุกวันนาน 8 สัปดาห์จะลดความเจ็บปวดลง 39.3 % และลดการใช้ยาแก้ปวดลง 46 % อีกทั้งยังช่วยลดอาการปวดประจำเดือน เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ และระหว่างการอาบน้ำได้อีกด้วย
  • ความดันโลหิตสูง การรับประทานเมลาโทนินที่มีการปลดปล่อยยาคงที่ (Controlled-release) ก่อนเข้านอนอาจลดระดับความดันโลหิตในผู้มีความดันโลหิตสูงได้ แต่หากเป็นการใช้เมลาโทนินชนิดที่ออกฤทธิ์ทีเดียว (Immediate-release) มักจะไม่ค่อยได้ผล
  • ลดภาวะวิตกกังวลก่อนผ่าตัด การใช้เมลาโทนินวางไว้ใต้ลิ้นอาจลดอาการวิตกกังวลก่อนเข้าผ่าตัดได้เหมือนกับการใช้ยา Midazolam ซึ่งออกฤทธิ์เช่นนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งเมลาโทนินยังก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้บางรายน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน และการรับประทานเมลาโทนินนี้อาจลดความกังวลก่อนผ่าตัดได้จริงแม้ว่าข้อมูลที่มีส่วนใหญ่จะยังคงมีหลักฐานที่ขัดแย้งซึ่งกันและกันอยู่ 

ภาวะที่เมลาโทนินอาจไม่สามารถรักษาได้

  • น้ำหนักลดจากมะเร็ง (Cachexia) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานเมลาโทนินทุกคืนนาน 28 วันไม่อาจเพิ่มความอยากอาหาร น้ำหนักร่างกาย หรือมวลกายในผู้ที่มีปัญหาผอมติดกระดูกจากมะเร็งได้
  • สมองเสื่อม/สูญเสียความทรงจำ (Dementia) งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าเมลาโทนินไม่อาจช่วยปรับพฤติกรรมหรือส่งผลต่ออาการต่างๆ จากโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสูญเสียความทรงจำ แต่การรับประทานเมลาโทนินอาจช่วยลดอาการสับสนและอยู่ไม่สุขยามกลางคืนในผู้ที่มีภาวะเหล่านี้ได้
  • ปากแห้ง การรับประทานเมลาโทนินและใช้เมลาโทนินเป็นยาบ้วนปากไม่ได้ช่วยป้องกันปากแห้งในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งศีรษะและลำคอที่กำลังเข้ารับการรักษารังสีและยาได้
  • ประสิทธิภาพการออกกำลังกาย การรับประทานเมลาโทนิน 1 ชั่วโมงก่อนออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance exercise) ไม่อาจเพิ่มประสิทธิภาพของการออกแรงได้
  • ภาวะมีบุตรยาก การรับประทานเมลานินไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์หรือติดลูกในผู้หญิงที่กำลังเข้ารับการรักษาเพิ่มโอกาสการมีลูก แต่งานวิจัยบางชิ้นแย้งว่าการรับประทานเมลาโทนินทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาจเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ของผู้หญิงกลุ่มนี้ได้จริง
  • ปรับตารางเวลานอนของผู้ที่ทำงานเป็นกะ การรับประทานเมลาโทนินไม่อาจช่วยแก้ไขปัญหาการนอนหลับของผู้ที่ต้องทำงานเป็นกะเวลาได้

ภาวะที่เมลาโทนินไม่สามารถรักษาได้

  • การถอนยาเบนโซไดอะซีปีน (ฺBenzodiazepines) บางคนใช้เมลาโทนินในการถอนยาเบนโซไดอะซีปีนที่มีไว้สำหรับแก้ปัญหาการนอนหลับที่หากใช้ในระยะยาวจะทำให้ติดยา ทั้งนี้ การรับประทานเมลาโทนินก่อนนอนก็ไม่ได้ช่วยในการเลิกยาดังกล่าวได้
  • ภาวะซึมเศร้า (Depression) แม้ว่าเมลาโทนินอาจช่วยแก้ไขปัญหาการนอนหลับของผู้ป่วยซึมเศร้าได้ แต่เมลาโทนินก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขภาวะซึมเศร้าแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีข้อกังวลว่าการใช้เมลาโทนินอาจทำให้ภาวะนี้ทรุดหนักขึ้นอีก จึงม่เป็นที่แน่ชัดว่าเมลาโทนินจะช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้หรือไม่

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของการใช้เมลาโทนิน

เมลาโทนินจัดว่ามีความปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ส่วนมากเมื่อนำเข้าร่างกายหรือทาบนผิวหนังในระยะเวลาอันสั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับการใช้ในระยะยาว ผู้ใช้บางคนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม เมลาโทนินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ อย่างปวดศีรษะ ซึมเศร้าในระยะสั้น ง่วงนอนกลางวัน วิงเวียน ปวดกระเพาะ และฉุนเฉียว ดังนั้นห้ามขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหนักเป็นเวลา 4-5 ชั่วโมงหลังใช้ยาเมลาโทนิน

สำหรับการฉีดเข้าร่างกายโดยตรงนั้น เมลาโทนินค่อนข้างปลอดภัยหากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ

สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร เมลาโทนินอาจไม่ปลอดภัยเมื่อบริโภคหรือฉีดเข้าร่างกายขณะตั้งครรภ์ เพราะเมลาโทนินจะเข้ารบกวนการตกไข่และทำให้ตั้งครรภ์ยากขึ้นได้

ณ ขณะนี้ยังคงขาดแคลนข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการใช้เมลาโทนินในกลุ่มผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร ดังนั้นควรเลี่ยงใช้เมลาโทนินเพื่อความปลอดภัย

เด็ก เมลาโทนินอาจจะปลอดภัยเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจจะไม่ปลอดภัยเมื่อรับประทานหรือฉีดเข้าร่างกายในปริมาณมากในช่วงเวลาอันสั้นเพราะผลของเมลาโทนินจะส่งผลกับฮอร์โมนตัวอื่นซึ่งจะรบกวนการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้

ภาวะเลือดออกผิดปกติ เมลาโทนินอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ภาวะซึมเศร้า เมลาโทนินอาจทำให้อาการของโรคซึมเศร้าทรุดลงได้

เบาหวาน เมลาโทนินอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานขึ้นได้ ดังนั้นควรเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดหากคุณเป็นเบาหวานและต้องใช้เมลาโทนิน

ความดันโลหิตสูง เมลาโทนินสามารถเพิ่มความดันโลหิตของผู้ที่กำลังใช้ยาควบคุมความดัน ดังนั้นคนในกลุ่มนี้ควรเลี่ยงการใช้เมลาโทนิน

ภาวะชักเกร็งผิดปกติ การใช้เมลาโทนินอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักขึ้นได้

ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เมลาโทนินสามารถเพิ่มการทำงานของภูมิคุ้มกันและอาจส่งผลเสียต่อการบำบัดในการกดภูมิคุ้มกันที่ต้องให้ผู้ป่วยกำลังปลูกถ่ายอวัยวะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้

การใช้เมลาโทนินร่วมกับยาชนิดอื่น

ห้ามใช้เมลาโทนินร่วมกับยาเหล่านี้

  • ยากล่อมประสาท (CNS depressants) กับเมลาโทนิน
    เมลาโทนินจะทำให้เกิดอาการง่วงนอน ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงเช่นนี้ก็คือยากล่อมประสาท (Sedatives) โดยการรับประทานยาทั้งสองร่วมกันจะทำให้เกิดอาการง่วงมากเกินไป โดยตัวอย่างยากล่อมประสาทมีทั้ง Clonazepam (Klonopin), Lorazepam (Ativan), Phenobarbital (Donnatal), Zolpidem (Ambien) และอื่นๆ

ใช้เมลาโทนินร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

  • ยาคุมกำเนิด (Contraceptive drugs) กับเมลาโทนิน
    ร่างกายผลิตเมลาโทนินออกมา และยาคุมกำเนิดเองก็อาจเพิ่มปริมาณการผลิตเมลาโทนินของร่างกายขึ้นด้วย ดังนั้นการรับประทานยาทั้งสองตัวร่วมกันอาจทำให้เมลาโทนินมีมากเกินไป ตัวอย่างยาคุมกำเนิดมีทั้ง Ethinylestradiol and Levonorgestrel (Triphasil), Ethinylestradiol กับ Norethindrone (Ortho-Novum 1/35, Ortho-Novum 7/7/7) และอื่นๆ
  • คาเฟอีนกับเมลาโทนิน
    คาเฟอีนอาจลดระดับเมลาโทนินในร่างกายลง ดังนั้นการรับประทานเมลาโทนินร่วมกับคาเฟอีนอาจลดประสิทธิภาพของอาหารเสริมเมลาโทนินลงได้
  • ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine (Luvox)) กับเมลาโทนิน
    การรับประทานยาฟลูวอกซามีนจะเพิ่มปริมาณการดูดซึมเมลาโทนินของร่างกายขึ้น ดังนั้นการรับประทานยาทั้งสองกลุ่มร่วมกันอาจเพิ่มผลลัพธ์และผลข้างเคียงของเมลาโทนินที่มีต่อร่างกายให้มากขึ้น
  • ยาสำหรับเบาหวาน (Antidiabetes drugs) กับเมลาโทนิน
    เมลาโทนินอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดขึ้น ส่วนยาเบาหวานมีไว้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดลง ดังนั้นเมลาโทนินอาจทำให้ยาเบาหวานมีประสิทธิภาพน้อยลงได้ จึงควรเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองในขณะที่ใช้ยาทั้งสองร่วมกัน ตัวอย่างยาสำหรับเบาหวานมีทั้ง Glimepiride (Amaryl), Glyburide (DiaBeta, Glynase PresTab, Micronase), Insulin, Pioglitazone (Actos), Rosiglitazone (Avandia), Chlorpropamide (Diabinese), Glipizide (Glucotrol), Tolbutamide (Orinase) และอื่นๆ
  • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) กับเมลาโทนิน
    เมลาโทนินอาจเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันขึ้น ดังนั้นการรับประทานยากดภูมิร่วมกับเมลาโทนินอาจลดประสิทธิผลของยากดภูมิลง ตัวอย่างยากดภูมิคุ้มกันมีทั้ง Azathioprine (Imuran), Basiliximab (Simulect), Cyclosporine (Neoral, Sandimmune), daclizumab (Zenapax), Muromonab-CD3 (OKT3, Orthoclone OKT3), Mycophenolate (CellCept), Tacrolimus (FK506, Prograf), Sirolimus (Rapamune), Prednisone (Deltasone, Orasone), Corticosteroids (glucocorticoids) และอื่นๆ
  • ยาชะลอการเกิดลิ่มเลือด (Anticoagulant / Antiplatelet drugs) กับเมลาโทนิน
    เมลาโทนินอาจชะลอการเกิดลิ่มเลือดในร่างกายลง ดังนั้นการรับประทานยาชะลอลิ่มเลือดร่วมกับเมลาโทนินอาจเพิ่มโอกาสต่อการเลือดออกและฟกช้ำขึ้น ตัวอย่างยาชะลอลิ่มเลือดมีทั้ง Aspirin, clopidogrel (Plavix), Diclofenac (Voltaren, Cataflam, และอื่น ๆ), Ibuprofen (Advil, Motrin, และอื่นๆ), Naproxen (Anaprox, Naprosyn, และอื่นๆ), Dalteparin (Fragmin), Enoxaparin (Lovenox), Heparin, Warfarin (Coumadin) และอื่นๆ
  • ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine GITS (Procardia XL)) กับเมลาโทนิน
    ยาไนเฟดิปีนเป็นยาสำหรับลดความดันโลหิต ซึ่งการใช้ยาตัวนี้ร่วมกับเมลาโทนินอาจลดประสิทธิผลของยา
  • ยากล่อมประสาท (Benzodiazepines) กับเมลาโทนิน
    เมลาโทนินจะทำให้เกิดอาการง่วงนอน ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงเช่นนี้ก็คือยากล่อมประสาท (Sedatives) โดยการรับประทานยาทั้งสองร่วมกันจะทำให้เกิดอาการง่วงมากเกินไป โดยตัวอย่างยากล่อมประสาทกลุ่มนี้มี Clonazepam (Klonopin), Diazepam (Valium), Lorazepam (Ativan) และอื่นๆ
  • เวอราปามิล (Verapamil (Calan, Covera, Isoptin, Verelan)) กับเมลาโทนิน
    ร่างกายจะทำลายเมลาโทนินเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย โดยเวอราปามิลจะเร่งกระบวนการกำจัดนี้จนทำให้การใช้เมลาโทนินร่วมกับยา เวอราปามิลอาจทำให้ประสิทธิภาพของเมลาโทนินลดลง

คอยสังเกตอาการเมื่อต้องใช้เมลาโทนินร่วมกับยาเหล่านี้

  • ยาฟลูมาซีนิล (Flumazenil (Romazicon)) กับเมลาโทนิน
    ยาฟลูมาซีนิลอาจลดผลของเมลาโทนินลง แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าทำไมยาทั้งสองจึงมีผลต่อกัน แต่ที่คาดกันคือการรับประทานยาฟลูมาซีนิลร่วมกับเมลาโทนินอาจทำให้ประสิทธิภาพของเมลาโทนินน้อยลง

ปริมาณการใช้เมลาโทนินที่เหมาะสม

ผู้ใหญ่

  • สำหรับภาวะการนอนหลับผิดปกติในผู้ที่ตาบอด ใช้เมลาโทนิน 0.5-5 มิลลิกรัม ทุกวันก่อนเข้านอนนานถึง 6 ปี และมีข้อมูลการใช้เมลาโทนินปริมาณสูงที่ 10 มิลลิกรัม ก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมงนาน 9 สัปดาห์
  • สำหรับนอนหลับยาก ใช้เมลาโทนิน 0.3-5 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 9 เดือน
  • สำหรับปัญหาการนอนหลับในผู้ที่วงจรการนอนถูกรบกวน ใช้เมลาโทนิน 2-12 มิลลิกรัม ก่อนเข้านอนนานถึง 4 สัปดาห์
  • สำหรับภาวะนอนไม่หลับจากการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์ ใช้เมลาโทนิน 2.5 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 4 สัปดาห์ หรือครั้งละ 5 มิลลิกรัม 
  • สำหรับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ใช้เมลาโทนิน 10 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 8 สัปดาห์
  • สำหรับความดันโลหิตสูง ใช้เมลาโทนินที่มีการปลดปล่อยยาคงที่ 2-3 มิลลิกรัม นาน 4 สัปดาห์
  • สำหรับภาวะนอนไม่หลับ 
    • โรคนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary insomnia) ใช้เมลาโทนินก่อนเข้านอน 2-3 มิลลิกรัม นาน 29 สัปดาห์จากการวิจัยส่วนมาก สำหรับการใช้ปริมาณสูงที่ 12 มิลลิกรัม ต่อวัน ควรใช้ในช่วงเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์
    • โรคนอนไม่หลับทุติยภูมิ (Secondary insomnia) ใช้เมลาโทนิน 2-12 มิลลิกรัม นาน 4 สัปดาห์ ปริมาณที่น้อยกว่านั้นควรถูกใช้ในระยะเวลาที่นานถึง 24 สัปดาห์
  • สำหรับเจ็ตแล็ก เมลาโทนิน 0.5-8 มิลลิกรัม ก่อนเข้านอนในวันที่ถึงที่หมาย และใช้ต่อเนื่องต่อไป  2-5 วัน ส่วนปริมาณยาที่ 0.5-3 มิลลิกรัม มักจะใช้เพื่อเลี่ยงผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาในปริมาณที่สูง
  • สำหรับลดภาวะวิตกกังวลก่อนผ่าตัดในผู้ใหญ่ ใช้เมลาโทนิน 3-10 มิลลิกรัม ก่อนเข้าผ่าตัด 60-90 นาที
  • สำหรับรักษาเนื้องอกแข็งร่วมกับการบำบัดตามแบบแผน ใช้เมลาโทนิน 10-40 มิลลิกรัม ทุกวันร่วมกับการบำบัดรังสี บำบัดเคมี หรือยาอินเตอร์ลิวคิน 2 (Interleukin 2 (IL-2)) โดยการใช้เมลาโทนินมักจะเริ่ม 7 วันก่อนการบำบัดเคมี และใช้ต่อเนื่องไปตลอดคอร์สการรักษา เมลาโทนินทางเส้นเลือดทุกวันนาน 2 เดือนตามด้วยแบบรับประทาน 10 มิลลิกรัม ทุกวัน
  • สำหรับอาการปวดกราม เมลาโทนิน 5 มิลลิกรัม ก่อนเข้านอนนาน 4 สัปดาห์
  • สำหรับป้องกันและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ที่เกี่ยวกับการบำบัดเคมีรักษามะเร็ง เมลาโทนิน 40 มิลลิกรัม ทุกวันเริ่มจาก 7 วันก่อนเข้ารับการบำบัดเคมีและต่อเนื่องไปตลอดการรักษา
  • สำหรับรักษาเนื้องอกแข็งร่วมกับการบำบัดตามแบบแผน การฉีดเมลาโทนินทางเส้นเลือด 20 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 2 เดือนตามด้วยเมลาโทนินแบบรับประทาน 10 มิลลิกรัม ทุกวัน
  • สำหรับกรณีแดดเผา การทาเจลที่ประกอบด้วยเมลาโทนิน 0.05-2.5 % บนผิวหนังระหว่าง 15 นาทีกับ 4 ชั่วโมงหลังสัมผัสกับแสงอาทิตย์
  • สำหรับลดภาวะวิตกกังวลก่อนผ่าตัด ใช้เมลาโทนิน 5 มิลลิกรัม หรือ 0.05-0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักร่างกาย (กิโลกรัม) วางใต้ลิ้น เป็นเวลา 90-100 นาทีก่อนรับยาระงับประสาท สำหรับผู้ผ่าตัด

เด็ก

  • สำหรับภาวะการนอนหลับผิดปกติในผู้ที่ตาบอด ใช้เมลาโทนิน 0.5-4 มิลลิกรัม ทุกวันก่อนเข้านอนนานถึง 6 ปี และมีข้อมูลการใช้เมลาโทนินปริมาณสูงที่ 10 มิลลิกรัม ก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง นาน 9 สัปดาห์
  • สำหรับนอนหลับยาก ใช้เมลาโทนิน 1-6 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 1 เดือน
  • สำหรับปัญหาการนอนหลับในผู้ที่วงจรการนอนถูกรบกวน ใช้เมลาโทนิน 0.5-12 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 12 สัปดาห์ในเด็กและวัยรุ่นที่อายุตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 18 ปี
  • สำหรับภาวะนอนไม่หลับ 
    • โรคนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary insomnia) ใช้เมลาโทนิน 5 มิลลิกรัม หรือ 0.05-0.15 มิลลิกรัม/น้ำหนักร่างกาย (กิโลกรัม) ก่อนเข้านอนนาน 4 สัปดาห์สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี
    • โรคนอนไม่หลับทุติยภูมิ (Secondary insomnia) ใช้เมลาโทนิน 6-9 มิลลิกรัม ก่อนเข้านอนนาน 4 สัปดาห์สำหรับเด็กอายุ 3-12 ปี
  • สำหรับลดภาวะวิตกกังวลก่อนผ่าตัด 0.05-0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักร่างกาย (กิโลกรัม) นาทีก่อนรับยาระงับประสาทสำหรับเด็กอายุ 1-8 ปี


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ดร.สุวิมล ยี่ภู่ และ ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์, รูปแบบเมลาโทนินและทางเลือกที่ใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับ. (https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=482), 23 มิถุนายน 2561.
Ya Li et al., Melatonin for the prevention and treatment of cancer. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5503661/), 18 March 2017.
S. Malhotra et al., The therapeutic potential of melatonin: a review of the Science. (https://www.medscape.com/viewarticle/472385)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)