กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

Schizophrenia (โรคจิตเภท)

เผยแพร่ครั้งแรก 10 ม.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที

โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นการป่วยทางจิตที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติทางความคิดอย่างรุนแรง เช่น มีความคิดที่หลงผิดไปจากความจริง เห็นภาพหลอน หรือได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง อาการที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมและความคิด จนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต หรือการทำงาน 

การรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์สามารถช่วยลดอาการของโรคนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องมีการควบคุมโรคนี้ตลอดชีวิตและยังคงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อัตราการเกิดโรคจิตเภทในประเทศไทย

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2558-2559 พบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านจิตเวชมากถึง 14.3% หรือคิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 7 ล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ป่วยโรคจิตเภทอยู่ประมาณ 0.8% หรือประมาณ 400,000 คน

โรคจิตเภทในเด็ก

โรคจิตเภทในเด็ก (Pediatric schizophrenia) คือ โรคจิตเภทที่เกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งพบได้น้อยมาก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 40,000 คน 

นอกจากนี้โรคจิตเภทในเด็กยังเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เพราะอาการที่เด็กแสดงออกมาส่วนมากจะมีความคล้ายคลึงกับความผิดปกติอื่นๆ ที่มักพบได้ในเด็ก เช่น ภาวะออทิสติก หรือโรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD)

สาเหตุของโรคจิตเภท

มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภทได้ ดังนี้

  1. พันธุกรรม: สารพันธุกรรมบางตัวในร่างกายสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภทได้ ดังนั้น หากใครมีญาติที่เป็นโรคจิตเภทหรือมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยโรคจิตเภท ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทได้มากกว่าเดิม ซึ่งระดับความเสี่ยงก็จะมีความแตกต่างกันไปตามลำดับความใกล้ชิด ได้แก่ 
    1. เป็นพี่น้องกับผู้ป่วย ความเสี่ยงจะอยู่ที่ 8%
    2. เป็นคู่แฝดของผู้ป่วย (ไข่คนละใบ) ความเสี่ยงจะอยู่ที่ 12%
    3. มีพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคจิตเภท ความเสี่ยงจะอยู่ที่ 12%
    4. ทั้งพ่อและแม่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท ความเสี่ยงจะอยู่ที่ 40%
    5. เป็นคู่แฝดของผู้ป่วย (ไข่ใบเดียวกัน) ความเสี่ยงจะอยู่ที่ 47% 
  2. สารเคมีในสมอง: โรคจิตเภทนั้นมีความสัมพันธ์กับสารในระบบประสาทของสมอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้ เช่น 
    1. เกิดจากความผิดปกติของสารโดพามีน (Dopamine hypothesis) ซึ่งเป็นสารควบคุมอารมณ์ความรู้สึก และทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาทช่วยให้เซลล์ในสมองส่วนต่างๆ สื่อสารระหว่างกันได้ 
    2. เกิดจากความสมดุลที่ผิดปกติไประหว่างสารโดพามีนกับสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสื่อประสาทที่ช่วยลดความเครียด เหงาหรือเศร้า 
  3. ความผิดปกติของกายวิภาคในสมอง: ความผิดปกติบางอย่างในส่วนประกอบของสมองเรา สามารถมีส่วนทำให้เกิดโรคจิตเภทได้ด้วย เช่น 
    1. ส่วนประกอบของสมองทั้ง 3 อย่างได้แก่ นิวเคลียสอะมิกดาลา (Amygdala) ส่วนประกอบฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) และรอยนูนฮิปโปแคมปัส มีขนาดเล็กลงอย่างผิดปกติ โดยส่วนประกอบทั้ง 3 อย่างนี้จะอยู่ในสมองส่วนระบบลิมบิก ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมความจำ สมาธิ และการแสดงออกทางอารมณ์กับผู้อื่น
    2. ผู้ป่วยมีปริมาณเนื้อสมองน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะส่วนเปลือกเนื้อสมองสีเทา (Cortical gray matter) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึก ประสาทสัมผัส ความจำ การได้ยิน การมองเห็น และการพูดของคนเรา
  4. การทำงานผิดปกติของต่อมไร้ท่อ: ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) ที่มีอาการหงุดหงิด เครียด ซึมเศร้า ความจำเสื่อมอาจกลายเป็นโรคจิตเภทในภายหลังได้ด้วย
  5. ความกระทบกระเทือนของสมอง: การได้รับอุบัติเหตุ หรือสมองได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงอาจทำให้เซลล์ของสมองเกิดความผิดปกติ หรือหากผู้ป่วยมีเลือดออกในเนื้อสมองเป็นจำนวนมาก เนื้อเยื่อสมองก็จะถูกกดดันจนทำให้เซลล์ของสมองเสื่อม จากนั้นก็จะเกิดเป็นความผิดปกติทางจิตและทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคจิตเภทในเวลาต่อมา
  6. ผลกระทบด้านจิตใจ: นอกเหนือจากความผิดปกติภายในร่างกายแล้ว ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ สภาพจิตใจ ประสบการณ์ในอดีตก็เป็นหนึ่งในต้นเหตุของการเกิดโรคจิตเภทได้ เช่น
    1. ผู้ป่วยถูกทารุณกรรมทางร่างกายตั้งแต่วัยเด็ก จนส่งผลให้เกิดบาดแผลในจิตใจและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับปัญหาได้ จนเกิดเป็นโรคจิตเภทขึ้นมา
    2. ผู้ป่วยมีความไวในการตอบสนองต่อความเครียดมากกว่าปกติ เมื่อพบกับสถานการณ์กดดันบางอย่างที่รับมือไม่ไหว ก็ส่งผลให้ป่วยเป็นโรคจิตเภทได้
    3. ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุม หรือมีความขัดแย้งในสัญชาตญาณธรรมชาติและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเอง จนเกิดเป็นอาการของโรคจิตเภทในที่สุด
    4. ผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่เหินห่างกับคนในครอบครัว มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง หรือสูญเสียคนสำคัญในครอบครัวไป
    5. ครอบครัวของผู้ป่วยมีการสื่อสารที่คลุมเครือ มักหยิบยื่นทางเลือกให้ผู้ป่วยตัดสินใจจนก่อให้เกิดความขัดแย้งในตนเอง และหวาดกลัวว่าเลือกทางไหนก็ผิดหมดจนรู้สึกเจ็บปวด อีกทั้งผู้ป่วยจะรู้สึกลังเลใจ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองและกลายเป็นโรคจิตเภทในเวลาต่อมา
    6. เกิดจากการถูกบีบคั้นจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ ปัญหาด้านการเงินที่ทำให้เกิดความเครียด

อาการของโรคจิตเภท

ผู้ป่วยโรคจิตเภทสามารถแสดงอาการได้แตกต่างหลากหลาย แต่อาการส่วนมากก็มักเป็นในลักษณะหลงผิด ประสาทหลอน เห็นภาพ หรือได้ยินเสียงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และมีปัญหาในการสื่อสารหรือเรียบเรียงคำพูด เช่น

  • มีความคิด หรือความเชื่อที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง: เช่น คิดไปว่า ตัวเองตกอยู่ในอันตราย หรือจะถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง คิดว่า ผู้อื่นมาหลงรัก หรือเชื่อว่า หายนะ หรือภัยพิบัติครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น
  • อาการหลอน: เช่น การเห็นภาพ หรือได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งส่วนมากจะพบอาการหูแว่ว หรือได้ยินเสียงในหัวได้บ่อยที่สุด
  • ความคิดไม่เป็นระบบ: จนทำให้ผู้ป่วยพูดจาและสื่อสารไม่รู้เรื่องไปด้วย รวมถึงไม่สามารถตอบคำถามให้ตรงประเด็น หรือสมเหตุสมผลได้ 
  • พฤติกรรมผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด: มีท่าทางผิดแปลกไป เคลื่อนไหวมากผิดปกติ หรือไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานและการทำกิจวัตรประจำวัน
  • บุคลิกภาพหรือการแสดงออกเปลี่ยนไป: เช่น ไม่ดูแลสุขอนามัยของตนเอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสีหน้าท่าทาง พูดด้วยน้ำเสียงเรียบเป็นโทนเดียวกันตลอด หมดความสนใจในการทำกิจวัตรประจำวัน หมดความพอใจในการใช้ชีวิต และแยกตัวออกจากสังคม 

ระยะของโรคจิตเภท

ในปัจจุบันการดำเนินของโรคจิตเภทจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. ระยะก่อนป่วย (Premorbid phase) : ผู้ป่วยยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจมีความบกพร้องด้านความคิด การเข้าสังคมในระดับเล็กน้อย ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะยังไม่รู้สึกว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติเกิดขึ้น
  2. ระยะก่อนเริ่มอาการ (Prodromal phase) : ผู้ป่วยเริ่มแสดงการเปลี่ยนแปลงจนสังเกตเห็นได้ โดยจะเริ่มมีทางปัญหาสัมพันธภาพกับผู้อื่น สมาธิสั้นลง เหม่อลอย การทำงาน หรือการเรียนแย่ลง เริ่มเก็บเนื้อเก็บตัว เกียจคร้านกว่าเดิม หงุดหงิดง่าย หวาดระแวงแต่ยังไม่ถึงขั้นผิดปกติ และอาจมีคำพูด หรือสำนวนการพูดที่แปลกไปจากเดิม
  3. ระยะอาการกำเริบ (Active phase) : ผู้ป่วยเริ่มมีอาการทางจิตชัดเจน เช่น หูแว่ว มองเห็นภาพหลอน พูดไม่รู้เรื่อง อยู่ไม่นิ่ง และเป็นระยะที่จะต้องนำตัวผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
  4. ระยะอาการหลงเหลือ (Residual phase) : ระยะนี้อาการของผู้ป่วยจะใกล้เคียงกับระยะเริ่มมีอาการ แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า หรือขาดความกระตือรือร้นร่วมด้วย ซึ่งจะไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นส่งผลกระทบมากมาย แต่ผู้ดูแลยังต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยเจอกับภาวะกดดัน เพราะอาการจิตเภทอาจกลับมากำเริบอีกครั้งได้

การวินิจฉัยโรคจิตเภท

ในการวินิจฉัยโรคจิตเภท แพทย์ต้องอาศัยข้อมูลจากการซักถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว เช่น ความเจ็บป่วยทางจิตใจในอดีต ความเจ็บป่วยทางจิตใจของญาติ รวมไปถึงประวัติส่วนตัว การเลี้ยงดู ลักษณะอุปนิสัย ทักษะการปรับตัว และพิจารณาอาการของผู้ป่วยประกอบ

นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือตรวจสารเสพติดในร่างกาย เพราะอาการจากฤทธิ์ของยาเสพติดบางชนิดก็คล้ายคลึงกับอาการป่วยโรคจิตเภทได้

ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะเข้าข่ายเป็นโรคจิตเภท ก็ต่อเมื่อมีอาการตามที่กล่าวมาตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไปเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน และต่อเนื่องกันนาน 6 เดือนขึ้นไป

การรักษาโรคจิตเภท 

ในการรักษาโรคจิตเภทสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

1. การรักษาด้วยยา

เป็นการรักษาที่มีเป้าหมายคือ ควบคุมอาการของผู้ป่วยให้สงบลงโดยเร็ว ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่ายขึ้น ลดอาการหงุดหงิดและกระสับกระส่ายให้น้อยลง 

ผู้ป่วยบางรายหลังจากรับประทานยาไปแล้วเพียง 3-4 วันก็จะเห็นผลดีขึ้น แต่อาการหลอนประสาทและหลงผิดอาจจะยังคงอยู่ไปอีกหลายสัปดาห์ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หากรู้จักควบคุมตนเองได้และมีอาการสงบลงแล้ว แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ซึ่งจะส่งผลดีกว่า เพราะผู้ป่วยหากอยู่โรงพยาบาลนานเกินไป ผู้ป่วยอาจไม่สามารถกลับไปปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่บ้านได้อีก 

ถึงแม้ว่าอาการของผู้ป่วยจะลดลงแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมากำเริบอีกครั้ง และแพทย์จะเป็นผู้ปรับปริมาณการรับประทานยาให้กับผู้ป่วยเองว่าจะมีการลด หรือเพิ่มตัวยาอย่างไร

สำหรับระยะเวลาการรับประทานยานั้น ส่วนมากผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อไปอีกประมาณ 1 ปี แต่หากในระหว่างนั้นมีอาการกำเริบขึ้นมาอีก ก็อาจจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องไปอีก 5 ปี

สำหรับยากลุ่มที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทคือ ยาในกลุ่มต้านอาการทางจิต (Antipsychotic) โดยยาจะออกฤทธิ์ช่วยลดอาการเห็นภาพหลอน การหลงผิด หรือปัญหาด้านการคิด ผ่านการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสารเคมีภายในสมอง ซึ่งปัจจุบันยาในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

  • ยากลุ่มดั้งเดิม (First-Generation) เป็นยาที่พัฒนาขึ้นในช่วงปี 1950 และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเรื่องการเคลื่อนไหว หรือการหดเกร็งกล้ามเนื้อได้ โดยตัวยาในกลุ่มดั้งเดิมที่มักถูกใช้อยู่บ่อยๆ คือ 
    • Thorazine (Chlorpromazine)
    • Etrafon and Trilafon (Perphenazine)
    • Prolixin (Fluphenazine)
  • ยากลุ่มใหม่ (Second-Generation) เป็นกลุ่มยาที่ถูกพัฒนาขึ้นภายหลีง และไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการเคลื่อนไหวมากเท่ายากลุ่มแรก แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงด้านอื่นๆ แทน เช่น น้ำหนักเพิ่ม ซึ่งสำหรับตัวยาที่มักถูกใช้อยู่บ่อยๆ จะได้แก่

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ยาจิตเวชทั้งกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มใหม่สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ได้

  • ผู้ป่วยเกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กระตุก สั่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง แต่จะพบในยากลุ่มเก่ามากกว่า
  • น้ำหนักเพิ่ม มักพบในยากลุ่มใหม่มากกว่า
  • ง่วงนอน
  • มึนงง
  • กระวนกระวาย
  • ปากแห้ง
  • ท้องผูก
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • มองเห็นภาพไม่ชัด
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ชัก
  • เม็ดเลือดขาวมีปริมาณลดลง
  • ไม่มีอารมณ์ทางเพศ

2. การรักษาด้วยไฟฟ้า

เป็นการรักษาที่ไม่ใช่แค่สำหรับผู้ป่วยโรคจิตเภทเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง ซึ่งการรักษาด้วยไฟฟ้าในขั้นตอนแรก แพทย์จะทำให้ผู้ป่วยหมดสติเสียก่อน และทำให้กล้ามเนื้อทั้งหมดคลายตัว 

จากนั้นจะใช้กระแสไฟฟ้าส่งผ่านไปที่ศีรษะของผู้ป่วยในปริมาณที่น้อยและไม่เป็นอันตราย ผู้ป่วยจะเกิดอาการชักขึ้น แต่จะมีอาการแสดงเพียงแค่ปลายแขนขยับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ระยะเวลาในการรักษาด้วยไฟฟ้าจะไม่ถึง 5 นาทีและจะรักษาแบบวันเว้นวันไปเรื่อยๆ เป็นเวลาประมาณ 10-12 ครั้ง ซึ่งจำนวนการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์กับอาการของผู้ป่วย

3. การรักษาด้วยการดูแลจิตใจผู้ป่วย

เพราะอาการของผู้ป่วยโรคจิตเภทมักเกิดมาจากความขัดแย้งหรือประสบการณ์ที่เจ็บปวดในอดีต จนส่งผลต่อพฤติกรรมที่ผิดปกติต่อตนเองและคนรอบข้าง ดังนั้นถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นจากการใช้ยาหรือใช้กระแสไฟฟ้ารักษา 

แต่หากสังคมรอบตัวผู้ป่วยยังมีความขัดแย้งและสร้างปัญหาต่อสภาพจิตใจผู้ป่วยอยู่เหมือนเดิม อาการป่วยก็จะยังคงอยู่ต่อไปไม่มีวันหาย และการรักษาด้วยยาก็ไม่สามารถช่วยได้ แพทย์จึงจะใช้วิธีการรักษาโดยการเยียวยาจิตใจให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น

  • การให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ป่วย (Cognitive Behavioral Therapy) : เพื่อช่วยเรื่องความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกติจากโรคจิตเภท แพทย์และนักจิตบำบัดอาจสอนเกี่ยวกับการตรวจสอบว่า ความคิดที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และช่วยแนะนำวิธีการเมินเฉยต่อเสียงที่ได้ยินในหัว
  • การให้ความรู้แก่ญาติผู้ป่วย (Family Therapy) : ความเข้าใจจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดคืออีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ ดังนั้น แพทย์จึงจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย รวมถึงในระหว่างสมาชิกในครอบครัวกันเองด้วย เพื่อให้สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยเอื้อต่อการรักษามากขึ้น เช่น 
    • ให้ลดใช้อารมณ์ให้การพูดคุย ไม่เสียงดังหรือใช้กำลังแก้ปัญหา
    • ลดการกล่าวโทษซึ่งกันและกันในครอบครัว 
    • ไม่ทำให้คนในครอบครัวหรือผู้ป่วยรู้สึกอับอาย
    • หมั่นพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น
    • คอยเตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ครบทุกครั้ง
  • ทำกิจกรรมบำบัด (Self-Help Groups) : การให้ผู้ป่วยได้พบปะระหว่างกันในโรงพยาบาลจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองมีเพื่อน ไม่โดดเดี่ยว ไม่ใช่ตัวประหลาด และได้มีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงได้ฝึกทักษะการเข้าสังคมด้วย 
  • ช่วยปรับตัวกลับเข้าสู่สังคม (Rehabilitation) : การรักษานี้จะเป็นการบำบัดให้ผู้ป่วยได้มีทักษะการเข้าสังคมอีกครั้ง และสามารถทำงานได้ดีขึ้นภายในสิ่งแวดล้อมของตนเอง รวมถึงช่วยฝึกการจัดการด้านการเงิน และฝึกการสื่อสารกับผู้อื่นให้ดียิ่งขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าทั้งสาเหตุและการรักษาโรคจิตเภทมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน การใช้ยา รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการลดโอกาสที่จะทำให้คนที่คุณรักเป็นโรคจิตเภท การสร้างครอบครัวที่อบอุ่น ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 

มีการพูดจากันอย่างนุ่มนวลไม่ใช้อารมณ์เป็นหลัก อีกทั้งทำให้คนในครอบครัวรู้สึกว่าสามารถไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ จะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะทำให้คนใกล้ชิดของคุณเป็นโรคจิตเภทได้อีกทางหนึ่ง 

หรือหากคุณพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายเป็นโรคจิตเภท ทางที่ดีให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อให้มีการตรวจสอบอาการและหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อไป


18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Schizophrenia: Definition, Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment. WebMD. (https://www.webmd.com/schizophrenia/mental-health-schizophrenia)
Schizophrenia. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/schizophrenia.html)
Schizophrenia. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/schizophrenia)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
พูดคนเดียวประมาณ20ปีค่ะแล้วอารมณ์เสียบ่อยมากบ้างครั้งควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ท่าจะรักษาจะรักษาอย่างไรคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)