โรคสมาธิสั้น (Attention-deficit hyperactivity disorder: ADHD) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ โรคนี้พบบ่อยในเด็ก แต่อาการของโรคยังสามารถคงอยู่จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ได้
ADHD ต่างจาก ADD อย่างไร?
เดิมทีโรคสมาธิสั้นใช้ชื่อว่า "Attention deficit disorder (ADD)" จนถึงปี ค.ศ. 1987 ก่อนที่จะมีการเพิ่มคำว่า "hyperactivity" เข้าไป
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 864 บาท ลดสูงสุด 336 บาท
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ทำให้โรคนี้มีชื่อว่า "Attention-deficit hyperactivity disorder (ADHD)" ตามที่ระบุไว้ในคู่มือการวินิจฉัย และสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ที่กำหนดโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา
ในปัจจุบันยังมีการใช้คำว่า "ADD" และ "ADHD" ในความหมายเดียวกัน หรือบางคนอาจเรียกเด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิ แต่ไม่มีพฤติกรรมซน หรือไฮเปอร์ หุนหันพลันแล่นว่า "กลุ่ม ADD"
แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากเห็นด้วยว่าคำว่า ADD ถือเป็นคำที่ล้าสมัยไปแล้ว และการใช้คำนี้เป็นการระบุถึงโรคอาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะว่าโรค ADHD ก็มีประเภทย่อยต่างๆ ที่สามารถอธิบายแต่ละภาวะได้อยู่แล้ว
สาเหตุของโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นมีสาเหตุหลักมาจากความบกพร่องในการทำงานของสมองในส่วนทำหน้าที่ควบคุมสมาธิ การยับยั้งชั่งใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย มีอาการสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ สมาธิสั้น ขาดความยั้งคิด หรือหุนหันพลันแล่น และมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง
อาการของโรคสมาธิสั้น
อาการสมาธิสั้นในเด็ก
หากโรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นในเด็กก็จะสังเกตได้ว่า เด็กมีพฤติกรรมซนกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน แต่โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสติปัญญา เพราะเมื่อเด็กสมาธิสั้นได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถเรียนรู้ได้เหมือนเด็กปกติ พฤติกรรมหลักๆ ที่เด็กโรคสมาธิสั้นแสดงออกมา ได้แก่
- อาการขาดสมาธิ (inattention) เด็กจะมีอาการเหม่อลอย วอกแวก คล้อยตามสิ่งเร้าได้ง่าย ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ รวมถึงมีพฤติกรรมเรียน ทำงาน ทำการบ้านไม่เสร็จเรียบร้อย
- อาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity) เด็กจะมีพฤติกรรมชอบปีนป่าย วิ่งไปวิ่งมา ส่งเสียงดัง อาจชอบเข้าไปก่อกวนเพื่อนๆ หรือคนรอบตัว แต่อาการนี้อาจดีขึ้นเมื่อเด็กโตเป็นวัยรุ่น ซึ่งอาจเหลือแค่พฤติกรรมมือไม้อยู่ไม่สุข กระดิกขาอยู่บ่อยๆ
- อาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity) เด็กจะขาดการยั้งคิด ไม่มีการไตร่ตรองก่อนการกระทำใดๆ มีความวู่วาม พูดจาขวานผ่าซาก คล้ายมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบพูดแทรก พูดเสียงดังขึ้นมาระหว่างที่ผู้อื่นพูดอยู่ อาการนี้อาจดีขึ้นเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ เริ่มเรียนรู้ และมีวุฒิภาวะมากพอ
อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ทุกคนจะมีอาการตั้งแต่เด็ก แต่อาจไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ทำให้ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่คิดว่า เด็กเพียงแต่มีนิสัยดื้อรั้นเท่านั้น
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 864 บาท ลดสูงสุด 336 บาท
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการของโรคสมาธิสั้นที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ ได้แก่
- มาทำงานสายเป็นประจำ
- ทำงานตกๆ หล่นๆ ผิดพลาดบ่อยจนถูกตำหนิบ่อยครั้ง
- เหม่อลอยเวลาทำงานที่ต้องใช้สมาธิ
- เบื่อง่าย
- ทำอะไรนานๆ ไม่ได้
- หลงๆ ลืมๆ บ่อย
- ส่งงานไม่ทันตามกำหนด
- ชอบพูดแทรกคนอื่น หรือพูดจากระโชกโฮกฮาก เสียงดัง
- เครียด
- หงุดหงิดง่าย
ผู้ป่วยโรคนี้หลายคนไม่รู้ว่าตนเองมีภาวะนี้ โดยอาจแค่รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำในแต่ละวันนั้นเป็นเรื่องที่ลำบาก และท้าทายเท่านั้น จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ในขณะเดียวกัน คนรอบข้างก็ไม่เข้าใจ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งนี้บางคนอาจสังเกตว่า อาการของตนเองค่อยๆ ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ในขณะที่อีกหลายคนยังคงมีอาการอยู่อย่างต่อเนื่อง
สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของโรคสมาธิสั้น
ผู้เชี่ยวชาญยังคงไม่แน่ใจว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากอะไร แต่ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคสมาธิสั้นในเด็ก ได้แก่
- พันธุกรรม โรคนี้มีการถ่ายทอดในครอบครัว แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุยีนที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้ชัดเจน
- การสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะตะกั่ว
- การใช้แอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
- การได้รับบาดเจ็บ หรืออันตรายของสมอง
- การคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสมาธิสั้น
หากไม่ได้รับการรักษา โรคนี้อาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น
- ล้มเหลวทางการศึกษา
- ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
- มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ
- เกิดอุบัติเหตุ และได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้ง
- ติดแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติด
- ทำพฤติกรรมที่ผิดกฏหมาย
- มีปัญหาในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
- เพื่อนน้อย หรือแทบไม่มีสังคม
โรคที่สามารถเกิดร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอื่นร่วมด้วย เช่น
- โรควิตกกังวล
- ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้
- โรคซึมเศร้า
- โรคอารมณ์สองขั้ว หรือไบโพลาร์ (ภาวะที่มีอาการทั้งซึมเศร้า และร่าเริงเกินปกติ)
- โรคดื้อ (Oppositional defiant disorder: ODD) เป็นโรคที่ส่งผลให้มีอาการต่อต้านกฎระเบียบทุกรูปแบบ
- โรคเกเร (Conduct disorder) เป็นโรคที่มีพฤติกรรมในแง่ลบ เช่น โกหก ขโมยของ ใช้กำลัง หรือล้อเลียนผู้อื่น
- Tourette syndrome เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติทางระบบประสาทที่จะมีพฤติกรรมซ้ำๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ
- ปัญหาทางการนอนหลับ
- ปัสสาวะรดที่นอน
หากมีข้อสงสัยว่า คุณ หรือคนที่คุณรักมีพฤติกรรมการแสดงออกซึ่งใกล้เคียงกับโรคสมาธิสั้น ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือจิตแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หาข้อบ่งชี้ และรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป หากป่วยจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุขมากยิ่งขึ้น
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจแนะนำคุณแม่มือใหม่ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
หากคุณยังมีคำถาม ส่งคำถามให้คุณหมอตอบได้ที่นี่
เราจะไม่เปิดเผยชื่อและข้อมูลส่วนตัวของคุณ