พิษจากสารตะกั่ว (Lead poisoning)

เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
พิษจากสารตะกั่ว (Lead poisoning)

แค่ไหนถึงเรียกว่ารับพิษจากสารตะกั่ว?

การได้รับพิษจากสารตะกั่ว เป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณที่สูงเป็นความสามารถที่ร่างกายจะกำจัดออกได้ คือ ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร หากเกิน 15-20 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จะมีผลต่อสุขภาพได้

สาเหตุ

ได้รับสารตะกั่วจากที่มีอยู่ในพื้นดินและอากาศ จากสิ่งแวดล้อมที่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่นำสารตะกั่วมาใช้ สารตะกั่วจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยการรับประทานอาหาร การสัมผัสและการสูดดม ส่วนใหญ่ได้จากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีสารตะกั่วปนอยู่ อาจซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดพิษได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1. กลุ่มเสี่ยงสูง

ได้แก่ ช่างผสมสี ช่างเชื่อมเหล็กหรือตัดเหล็ก ช่างบัดกรีตะกั่ว ผู้ที่ทำงานแบตเตอรี่ โรงงานถลุงแร่ตะกั่ว หลอมตะกั่ว โรงงานผลิตน้ำมันเครื่องยนต์ที่มีส่วนผสมสารตะกั่ว ช่างผสมสารตะกั่วเพื่อผลิตท่อพีวีซี

2. กลุ่มเสี่ยงปานกลาง

ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์สารตะกั่ว หรือใช้วัตถุดิบที่ทำมาจากตะกั่ว เช่น ช่างพ่นสี ทาสี ผู้ผลิตสายเคเบิลหรือเส้นลวด ผู้ผลิตหรือซ่อมแซมอุปกรณ์เคลื่อนที่อัตโนมัติ ผู้ทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ เครื่องเคลือบ ทำงานโรงพิมพ์ อู่ต่อเรือ หลอมโลหะ เป็นต้น

3. กลุ่มเสี่ยงน้อย

ผู้ที่สูดดมก๊าซจากการเผาผลาญสารตะกั่ว ผู้ที่นำผลิตผลจากสารตะกั่วมาใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น ตำรวจจราจร พนักงานขับรถ ผู้ให้บริการตามสถานีเดินรถ ผู้ทำยางรถยนต์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์

พยาธิสรีรภาพ

เมื่อสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปยังเนื้อเยื่อของอวัยวะส่วนต่างๆ (ค่าครึ่งชีวิต 40 วัน) เช่น สมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไขกระดูก เส้นผม เป็นต้น หลังจากนั้นจะสะสมที่กระดูกและฟันเกือบทั้งหมด (ค่าครึ่งชีวิต 10-20 ปี) มีเพียงเล็กน้อยที่อยู่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดแดง (ค่าครึ่งชีวิต 30-40 วัน) แล้วจะขับออกทางไตและทางอุจจาระ เหงื่อ หากขับออกได้ช้าจะมีการสะสมและเกิดพิษ โดยเฉพาะเมื่อร่างกายมีภาวะขาดสมดุลกรด-ด่าง สารตะกั่วที่สะสมอยู่ในกระดูกจะเข้าสู่หลอดเลือดและกระจายไปตามเนื้อเยื่ออ่อนทำให้เกิดอาการพิษมากขึ้น สารตะกั่วจะขัดขวางการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ขัดขวางเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการสร้างฮีม โดยขัดขวางการจับตัวระหว่างเหล็ก (Fe+) กับโปรโตพอร์ไพริน (Protoporphyrin) ทำให้ระดับของฮีโมโกลบินและฮีมลดลง ส่งผลกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือด และ protoporphyrin จะจับกับสังกะสี (Zn) เป็น Zinc protoporphyrin (ZPP) นอกจากนี้พิษจากสารตะกั่วยังมีผลลดการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าให้หัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและการไหลเวียนเลือดผิดปกติ ไตทำงานผิดปกติเกี่ยวกับการขับกรดยูริก สารตะกั่วสามารถผ่านไปยังสมองทาง Blood brain barrier ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ และยังมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์และโครโมโซม

อาการ

ปวดท้องอย่างรุนแรงเป็นพักๆ (Colicky pain) คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการมึนศีรษะ หอบเหนื่อย ความดันเลือดต่ำ สับสน ชัก และหมดสติ อาการที่เป็นแบบเรื้อรัง เช่น ซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ลิ้นเลี่ยน เหงือกดำ (Lead line) อาจมีอาการท้องผูก ท้องเสีย กลั้นอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้ ปวดบวมตามข้อจากกรดยูริกสูง ไม่มีความรู้สึกทางเพศ ประจำเดือนผิดปกติ มึนงง แขนขาชา นอนไม่หลับ ฝันร้าย อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ความจำไม่ดี หลงลืมง่าย สมองอักเสบ อาจทำให้แท้งและก่อให้เกิดมะเร็งได้

การวินิจฉัยโรค

จากประวัติมีสาเหตุจากอาชีพ สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และแหล่งที่มาของอาหารและน้ำดื่มใช้บริโภค ความเจ็บป่วยในระบบต่างๆ จากการตรวจร่างกาย เช่น การตรวจสัญญาณชีพ ภาวะซีด ตรวจภายในช่องปากพบเหงือกส่วนที่ใกล้ฟันมีสีดำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลำไส้และระบบประสาททำงานผิดปกติ นอกจากนี้ตรวจหาระดับสารตะกั่วจากเลือด ปัสสาวะ และกระดูก จะพบสารตะกั่วมีระดับสูง และควรตรวจหาค่าฮีโมโกลบิน ฮีมาโดคริต เพื่อดูภาวะซีด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูการทำงานของหัวใจ

การรักษา

  • ให้ยาแคลเซียมอีดีทีเอ (Ca EDTA) 50 mg/kg/day หรือ ผู้ใหญ่ 1 gm ใน 5% D/W 500 ml/day เป็นเวลา 5 วัน หากมีอาการทางสมอง แพทย์จะให้ยาขับสารตะกั่วชนิด Dimercaprol (BAL) เสริม เพื่อให้ยาเข้าสู่สมองได้ดี
  • ให้ยา Succinyl ASIA หรือ 2,3 Dimercaptosuccinic acid (DMSA) หรือ Chemet 10 mg/kg ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน อาจมีการสวนล้างด้วย Polyethyleneglycol ในชั่วโมงแรกหลังได้รับพิษจากสารตะกั่ว
  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หากมีอาเจียนมาก ให้ Atropine 10% และ Calcium gluconate 10% ลดการบีบตัวของลำไส้ และลดอาการพิษ หากมีอาการชัก ให้ Phenobarbital
  • แนะนะให้เปลี่ยนอาชีพหรือย้ายที่ทำงาน หากมีระดับสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 60 ไมโครกรัม/เดซิลิตร

การพยาบาล

ซักประวัติเกี่ยวกับอาชีพ สภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน ตรวจดูว่ามีภาวะซีดหรือไม่ เหงือกมีสีดำ หัวใจเต้นผิดปกติ ลำไส้และระบบประสาททำงานปกติหรือไม่ ตรวจหาระดับตะกั่วในเลือดและในปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ให้การพยาบาลเพื่อป้องกันการชัก ภาวะหมดสติและภาวะแทรกซ้อนทางสมอง โดยบันทึกสัญญาณชีพ สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงและระดับความรู้สึกตัว จัดท่าให้ผู้ป่วยมีทางเดินหายใจโล่ง ติดตามผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น อิเล็กโทรไลต์ หน้าที่ของตับ ไต ก๊าซในเลือด ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำและสารอาหารได้อย่างเหมาะสมและครบถ้วน ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดพิษจากตะกั่ว ที่มาของสารตะกั่ว


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
emedicine.medscape.com, Lead poisoning (https://emedicine.medscape.com/article/1174752-overview), Jan 16, 2020
ncbi.nlm.nih.gov, Lead poisoning (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4961898/), 2015 Jun

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?

ร่างกายของคุณต้องการวิตามินที่สำคัญถึง 13 ชนิดในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม