ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)

เมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็ว หรือช้าเกินไป อย่าละเลย เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
เผยแพร่ครั้งแรก 16 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation: AF) เกิดจากหัวใจห้องบนไม่สูบฉีดเลือดมายังหัวใจห้องล่าง ทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะและเต้นไม่สม่ำเสมอ มักพบบ่อยในผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วสามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นๆ หายๆ อาการจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง มีอาการน้อยกว่า 7 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี มีอาการต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี 
  • อาการที่พบบ่อย เช่น ใจสั่น หายใจไม่สะดวก เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อ่อนแรง วิงเวียน รู้สึกเหมือนจะเป็นลม
  • สาเหตุที่พบบ่อย เช่น ระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ความผิดปกติและการเปลี่ยนแปลงในหัวใจ เป็นโรคในกลุ่ม NCDs มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วโดยทั่วไปมักไม่ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตแต่อาจทำให้ไม่สบายตัว หากไม่แน่ใจว่า เสี่ยงภาวะนี้หรือไม่ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหัวใจโดยตรงจะดีที่สุด (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพและหัวใจได้ที่นี่)

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation: AF) หรือ “A-Fib” เกิดจากการที่หัวใจห้องบนไม่ผลักดัน หรือสูบฉีดเลือดมายังหัวใจห้องล่างตามปกติ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างเร็วผิดปกติ หัวใจห้องบนและห้องล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน 

ภาวะนี้พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ และพบในประชากรทั่วไปราว 1-2%

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การแบ่งกลุ่มของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

  • Paroxysmal Atrial Fibrillation: PAF) มีอาการเป็นๆ หายๆ มักจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง แม้จะไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใดๆ แต่หากเกินกว่านั้นก็ไม่เกิน7 วัน
  • Persistent Atrial Fibrillation มีอาการนานกว่า 7 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี และไม่สามารถหายไปเองหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยา หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า
  • Longstanding Persistent Atrial Fibrillation มีอาการนานกว่า 1 ปี
  • Permanent Atrial Fibrillation มีอาการจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 ปี และไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ด้วยวิธีใดๆ แต่จะควบคุมอัตราการเต้นหัวใจเท่านั้น
  • Recurrent Atrial Fibrillation มีอาการเกิดซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง
  • Lone Atrial Fibrillation มักเกิดในผู้ที่ไม่มีภาวะผิดปกติทางหัวใจ ไม่มีโรคความดันโลหิตสูง

อาการของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

ผู้ป่วยอาจมี หรือไม่มีอาการแสดงก็ได้ จึงพบว่า ผู้ป่วยหลายรายตรวจพบภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วโดยบังเอิญ เช่น ตรวจร่างกายตามปกติ หรือระหว่างการตรวจหาภาวะสุขภาพอื่นๆ แต่บางรายก็มาพบแพทย์ด้วยอาการต่อไปนี้

  • อาการใจสั่น (Palpitations) ที่เกิดจากการเต้นของหัวใจที่เร็วและไม่สม่ำเสมอ
  • เหน็ดเหนื่อย (ไม่สามารถออกกำลัง หรือออกแรงตามปกติได้)
  • อ่อนเพลีย อ่อนแรง
  • หายใจไม่สะดวก
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • วิงเวียน
  • รู้สึกเหมือนจะเป็นลม

สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไปที่พบได้บ่อย อีกทั้งยังพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิดภาวะนี้ สันนิษฐานว่า อาจมีสาเหตุจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ โดยแรงกระตุ้นทางไฟฟ้าที่ผิดปกติจะถูกปล่อยเข้าไปในห้องบนของหัวใจ  (Atrium) อย่างกะทันหันทำให้เกิดแรงกระตุ้นขึ้นมา แรงกระตุ้นนี้จะไปกลบตัวกระตุ้นหัวใจตามธรรมชาติจนทำให้ไม่สามารถควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจได้ ส่งผลให้เอเตรียมบีบรัดตนเองอย่างสุ่มๆ บางครั้งเอเตรียมอาจเกิดการรัดตัวเร็วเกินไปจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถคลายตัวรับเลือดได้ทัน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง และทำให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ
  • ผลจากการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพภายในหัวใจ เช่น มีพังผืดเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้าของเซลล์หัวใจ ทำให้การนำไฟฟ้าผิดปกติ
  • ผลจากการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจบางชนิด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
  • ผลจากการอายุที่เพิ่มขึ้นและการเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอดเรื้อรัง โรคลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ผลจากการผ่าตัดหัวใจ
  • ผลจากความเครียด ความวิตกกังวล
  • ผลจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผลจากการได้รับสารกระตุ้นการทำงานของหัวใจมากเกินไป เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์โดยเฉพาะการดื่มอย่างหนักในช่วงเวลาอันสั้น (Binge Drinking) การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด
  • ผลจากการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน

ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักไม่ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ป่วยหลายรายสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจรู้สึกไม่สบายตัวบ่อยครั้งและอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการเป็นระยะๆ
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วทำให้หัวใจห้องบนไม่ผลัก หรือฉีดเลือดลงมายังหัวใจห้องล่างได้ตามปกติ ทำให้มีเลือดค้างอยู่และกลายเป็นลิ่มเลือดได้ โดยลิ่มเลือดเหล่านั้นอาจหลุดเข้าไปในหัวใจห้องล่าง (Ventricles) และเข้าสู่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปอด หรือระบบไหลเวียนเลือดทั่วไปได้
  • ภาวะเช่นนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischaemic Attack: TIA) หรือภาวะหลอดเลือดสมอง (Stroke)ได้มากถึงประมาณ 2-7 เท่า ตัวเลขเหล่านี้จะสูงขึ้นอีกในกลุ่มผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจพิการ
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจทำให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะนี้จะกระตุ้นหัวใจห้องล่างให้เต้นเร็วกว่าปกติ อาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงตามมา

วิธีการตรวจภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเบื้องต้นด้วยตัวเอง

  • คุณสามารถตรวจภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ด้วยการวัดอัตราการเต้นหัวใจ วิธีคือ ให้สัมผัสชีพจรบนลำคอ หรือข้อมือเพื่อนับการเต้นของหัวใจ
  • อัตราการเต้นของหัวใจปกติขณะพักผ่อน (ไม่วิ่ง หรือออกกำลังกาย) ควรอยู่ที่ระหว่าง 60-100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 140 ครั้ง/นาทีได้
  • หากคุณมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 140 ครั้ง/นาที ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอีกครั้ง การค้นพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

หากสังเกตว่า หัวใจของคุณมีการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ และมีอาการเจ็บหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ การตรวจร่างกายเบื้องต้น 

หากแพทย์สันนิษฐานว่า คุณมีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วหลังประเมินอาการต่างๆ แล้ว คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจต่างๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสมได้แก่

1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือ การทดสอบที่บันทึกการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ด้วยการติดแผ่นไฟฟ้า (Electrode) ขนาดเล็กที่แขน ขา และหน้าอกของผู้ป่วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โดยทุกครั้งที่หัวใจเต้น หัวใจจะปล่อยสัญญาณไฟฟ้าขนาดเล็กออกมา อุปกรณ์ ECG จะแสดงสัญญาณเหล่านั้นออกมาบนแผ่นกระดาษ การตรวจนี้จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และตัดความเป็นไปได้ของภาวะอื่นๆ ลง

2. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram: Echo)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงจะเป็นการส่งผ่านคลื่นอัลตราซาวด์ลงไปยังหัวใจ เมื่อเดินทางผ่านอะไรจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับมาแตกต่างกัน เช่น น้ำ เนื้อเยื่อ จากนั้นจึงประมวลผลออกมาเป็นภาพหัวใจ ประโยชน์ที่ได้คือ สามารถประเมินโครงสร้างกับการทำงานของหัวใจได้ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้

3. การเอกซเรย์ทรวงอก (X-ray)

การเอกซเรย์ทรวงอกอาจนำมาใช้เพื่อระบุปัญหาและภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับภายในทรวงอกได้

4. การตรวจเลือด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ตรวจเพื่อหาระดับเกลือแร่ ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

การรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะแตกต่างกันออกไปตามบุคคล ขึ้นอยู่กับอายุ ประเภทของภาวะ อาการ และสาเหตุ ผู้ป่วยบางคนอาจสามารถรักษาได้กับแพทย์ทั่วไป ในขณะที่บางคนอาจต้องเข้ารักษาตัวกับนักหทัยวิทยาแทน

ขั้นตอนในการรักษาภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มี 2 กรณี คือ

1. กรณีที่ตรวจพบสาเหตุ

หากแพทย์ตรวจพบสาเหตุ หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แพทย์จะรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้โดยตรง ซึ่งก็อาจจะเพียงพอต่อการรักษาแล้ว

2. กรณีที่ตรวจไม่พบสาเหตุ

หากแพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จะรักษาตามวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • ใช้ยาควบคุมภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จำเป็นต้องคุมอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักไม่ให้เกิน 110 ครั้ง/นาที โดยใช้ยาต้านหัวใจเต้นผิดปกติ (Anti-Arrhythmics) เพื่อฟื้นฟูจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ เช่น ฟลีเคไนด์ (Flecainide) เบต้า บล็อคเกอร์ (Beta-blocker) อะมิโอดาโรน (Amiodarone)
  • ใช้ยาลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือตีบ เนื่องจากภาวะนี้จะทำให้คุณถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองได้ โดยรักษาด้วยยาวาร์เฟริน (Warfarin) เพื่อต้านการแข็งตัวของเลือด แต่ถ้าหากไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ แพทย์อาจพิจารณายาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบใหม่ เช่น ดาบิกาทราน (Dabigatran) ไรโวโรซาเบน (Rivoroxaban) อะพิซาเบน (Apixaban)
  • ใช้สายสวนจี้ไฟฟ้า (catheter ablation) เป็นกระบวนการเข้ารบกวนวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติของหัวใจ และเป็นทางเลือกการรักษาที่ดำเนินการในกรณีที่การใช้ยาไม่ได้ผล หรือเกิดการดื้อยาขึ้น
  • สวมใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) คือ การฝังอุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กเข้าที่หน้าอก ตำแหน่งใต้กระดูกไหปลาร้า เพื่อทำให้หัวใจเต้น เมื่อหัวใจไม่สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง หรือกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่หัวใจเต้นช้าลงมากให้กลับมาเป็นปกติ

แม้จะมีการรักษาหลายแบบ แต่ในแต่ละแบบนั้นมีความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน และมีโอกาสประสบความสำเร็จแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แพทย์จึงต้องวินิจฉัยตามระดับความรุนแรงของอาการและความเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจและสมรรถภาพหัวใจ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อ.ดร.อภิวัฒน์ เล็กอุทัย, โรคหัวใจห้องบนเต้นแบบสั่นพริ้ว (http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php?title=%), 18 พฤศจิกายน 2562.
แพทย์หญิงสิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์, ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว (https://med.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/public/pdf/medicinebook1/atrial%20fibrillation.pdf), 18 พฤศจิกายน 2562.
แพทย์หญิงชนันญา ไชยอำพร, โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (http://www.chulacardiaccenter.org/th/component/content/article/244-atrial-fibrillation) 18 พฤศจิกายน 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)