ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
เผยแพร่ครั้งแรก 17 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) หมายถึง ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ หรืออ่อนกำลังลงจนไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
  • ปัจจุบันหัวใจล้มเหลวคร่าชีวิตคนทั่วโลกเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน ส่วนจำนวนผู้ป่วยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง
  • อาการสำคัญของโรคหัวใจล้มเหลวได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ข้อเท้าบวม ขาบวม ไม่อยากอาหาร
  • สาเหตุสำคัญมาจากความผิดปกติของหัวใจ โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคเรื้อรัง การติดเชื้อ การได้รับยา หรือสารที่กระตุ้นหัวใจมากเกินไป คนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
  • หากไม่แน่ใจว่า "คุณเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่" ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญโดยตรง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพและหัวใจได้ที่นี่)

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) หมายถึง ภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ได้แก่ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ หรืออ่อนกำลังลงจนไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายได้เพียงพอ แม้แต่การรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจเพื่อนำไปฟอกที่ปอดก็ทำได้ไม่เต็มที่

แม้จะพบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง รวมทั้งผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าวัยไหนๆ มีโอกาสหัวใจล้มเหลวได้ แม้จะยังไม่แก่ ไม่อ้วน และถึงแม้ว่าจะเป็นนักกีฬาก็ตาม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ชนิดของหัวใจล้มเหลวเมื่อแบ่งจากระยะเวลาการเกิดโรค

  1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute heart failureเป็นภาวะที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว หรือ มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่รักษาไม่ต่อเนื่อง อาการจึงแย่ลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมักพบในผู้ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินต้องให้การรักษาทันทีเพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิตและการหายใจ
  2. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic heart failure) มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างคงที่เป็นเวลานาน ภาวะนี้พบได้บ่อย เฉลี่ย 1% ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นภาวะที่มีอัตราเสียชีวิตสูง เฉลี่ย 10% ต่อปี

ชนิดของหัวใจล้มเหลวเมื่อแบ่งตามการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ

  1. หัวใจห้องล่างขวาล้มเหลว(Right-sided heart failure) หัวใจห้องล่างขวาทำหน้าที่รับเลือดจากร่างกายส่งไปฟอกยังปอด หากเกิดภาวะนี้จะทำให้ของเหลวในร่างกายคั่ง เกิดอาการบวมของเท้า ตับโต แน่นท้อง
  2. หัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลว(Left-sided heart failure) หัวใจห้องล่างซ้ายทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หากเกิดภาวะนี้จะทำให้เลือดคั่งในปอด (น้ำท่วมปอด) ร่วมกับมีอาการบวมที่เท้าได้ ส่วนมากภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจทั้งสองด้าน

อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะและกล้ามเนื้อต่างๆ ไม่ดี
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด
  • หายใจลำบาก หายใจติดขัด อาจเกิดขึ้นขณะเดิน หรือออกแรง บางครั้งมีอาการเมื่อนอนราบ ทำให้ในช่วงกลางคืนผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาเพื่อลุกขึ้นมาหายใจอย่างกะทันหัน และอาจพบอาการน้ำลายฟูมปากและไอร่วมด้วย
  • เส้นเลือดดำที่คอโป่งพอง
  • เสียงหัวใจ หรือเสียงปอดผิดปกติ หรือผิดปกติทั้งสองอย่าง
  • ข้อเท้าบวม ขาบวม ตับโต ม้ามโต แน่นท้อง ท้องอืด เกิดจากออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง เช่น ไต ทำให้ไตทำงานได้ไม่ดีเกิดภาวะคั่งน้ำและเกลือแร่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ไม่อยากอาหาร เป็นผลจากการที่ตับและกระเพาะอาหารบวมออกจากการบวมน้ำ ทำให้มีอาการคลื่นไส้และไม่อยากอาหาร

สาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

  • ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ หรือการทำงานของหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว เยื่อหุ้มหัวใจหนา ทำให้หัวใจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจ ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
  • โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไตวาย
  • การติดเชื้อไวรัสและความเสียหายจากระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
  • การได้รับยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจ หรือยาที่กดการทำงานของหัวใจ
  • การได้รับยาเคมีบำบัด หรือได้รับการฉายแสง
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์มากเกินไป
  • การทำงานของไตผิดปกติ

การวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว

  • การซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาปัจเสี่ยง หรือสาเหตการเกิดภาวะหวใจล้มเหลวที่อาจเป็นได้
  • การตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น ตรวจความดันโลหิต ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับความสมดุลของเกลือแร่และน้ำ เก็บตัวอย่างปัสสาวะ ตรวจการทำงานของตับ
  • การทดสอบ BNP หรือ NT pro BNP (Brain Natriuretic Peptide) ซึ่งเป็นโปรตีนที่บ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจ จะหลั่งออกมาในกระแสเลือดเมื่อหัวใจทำงานหนัก จึงสามารถใช้วินิจฉัย หรือติดตามการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ยิ่งตรวจพบ BNP หรือ NT pro BNP ในกระแสเลือดมาก ยิ่งหมายถึง หัวใจทำงานหนักมากๆ หรือกำลังอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวนั่นเอง
  • การเอ็กซเรย์ทรวงอกเพื่อดูขนาดหัวใจว่า ใหญ่ขึ้นหรือไม่ และเพื่อตรวจสอบว่ามีสารน้ำ (น้ำท่วมปอด) หรือเลือดคั่งในปอดหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อบันทึกกิจกรรมทางไฟฟ้าและจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • การตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (Echo) เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจว่า มีการบีบตัว หรือคลายตัวตามปกติ หรือไม่ รวมทั้งการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย เนื่องจากหัวใจห้องล่างซ้ายมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

มีรายงานว่า ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังได้รับการวินิจฉัยโรค ดังนั้นจึงควรสังเกตตนเองและเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดดังนี้ 

  • ผู้ชายอายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ก็ควรเข้ารับการตรวจเช่นกัน

  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต ไขมันในเลือดในเลือดสูง
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษามีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสภาพผู้ป่วย 

  • การใช้ยา เพื่อเพิ่มความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและลดภาระการทำงานของหัวใจไม่ให้หนักจนเกินไป เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเกล็ดเลือด ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยการทำงานของหัวใจ เช่น ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pace maker) การฝังเครื่องช็อคหัวใจ หรือเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ เครื่องนี้นอกจากจะรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งมักพับในภาวะหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง รวมทั้งรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันได้
  • การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดต่อเพิ่มหลอดเลือดหัวใจทำให้มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มขึ้น การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การผ่าตัดใส่เครื่องช่วยการสูบฉีดเลือดของหัวใจ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือปลูกถ่ายหัวใจในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ให้ได้ผล
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ ควบคุมปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวัน ควบคุมน้ำหนัก
  • หากเป็นไข้หวัด หรือโรคติดเชื้อใดๆ ควรรีบรักษา
  • การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงความเครียด หรือรู้จักวิธีผ่อนคลายความเครียด
  • การพักผ่อนให้เพียงพอ

แม้จะได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นภาวะหัวใจล้มเหลว แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า “หมดหนทางในการรักษา” เพียงแต่ผู้ป่วยต้องมีระเบียบวินัยในชีวิตมากยิ่งขึ้น ไปพบแพทย์ตามนัด ใช้ยาอย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์แนะนำ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ หรือทำให้อาการแย่ลง และพยายามรักษาสุขภาพ ส่งเสริมให้มีความแข็งแรงยิ่งๆ ขึ้น

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจและสมรรถภาพหัวใจ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android   


45 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Fogoros, RN. Verywell Health (2018). Symptoms and Complications of Heart Failure. (https://www.verywellhealth.com/symptoms-and-complications-of-heart-failure-4161320)
Moore, K. Roth, E. Healthline (2017). Heart Failure. (https://www.healthline.com/health/heart-failure)
Mayo Clinic (2017). Diseases and Conditions. Heart Failure. (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-failure/symptoms-causes/syc-20373142)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

แนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถทำได้ 3 วิธีคือ การใช้ยา การผ่าตัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

อ่านเพิ่ม