กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation)

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจคืออะไร มีการใส่กี่รูปแบบ ใครบ้างที่จำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟัาหัวใจ
เผยแพร่ครั้งแรก 29 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 ก.พ. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) เป็นกล่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้ฝังลงไปที่กล้ามเนื้อหัวใจ หรือเยื่อหุ้มหัวใจ (ตามความเหมาะสมแต่ละกรณีฉ  
  • หน้าที่ของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจคือ ตรวจจับ จดจำการเคลื่อนไหวของร่างกาย และอัตราการหายใจ หากมีความผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นช้าเกินไป เครื่องจะส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจให้ทำงานมากขึ้น
  • เมื่อไรก็ตามที่กระแสไฟฟ้าถูกรบกวนจากปัจจัยต่างๆ จะทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติ นำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอันตรายถึงชีวิตได้
  • การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจถือว่า มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการเกิดโรคร่วมน้อยลง 
  • หมั่นตรวจสุขภาพตามนัดและเช็คเครื่องกระตุ้นหัวใจเสมอ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีของเครื่อง  (ดูแพ็กเกจตรวจหัวใจที่นี่)

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation) คือ การฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า “เพสเมกเกอร์” หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเข้าไปในช่องอก โดยเครื่องจะทำหน้าที่คอยส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจทำให้หัวใจเต้นได้ปกติ

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจคืออะไร?

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจมีลักษณะเป็นกล่องขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 20-50 กรัม ประกอบด้วยแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานประมาณ 8-10 ปี (ขึ้นอยู่กับรุ่นของเครื่อง) 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สำหรับเครื่องรุ่นใหม่ แบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานสั้นกว่าเครื่องรุ่นเก่าเนื่องจากใช้พลังงานสูงกว่า โดยเครื่องจะเชื่อมต่อกับลวดสายไฟซึ่งเชื่อมต่อกับหัวใจ

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทำงานอย่างไร?

ภายในเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจนั้นจะมีเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้า เป็นวงจรไฟฟ้าระบบคอมพิวเตอร์ที่จะเปลี่ยนพลังงานจากแบตเตอรี่เป็นกระแสไฟฟ้า 

กระแสไฟฟ้าจะไหลไปตามเส้นลวดและกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ โดยอัตราการส่งกระแสไฟฟ้าออกไปเรียกว่า “อัตราการสูญเสียประจุ (Discharge rate)”

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในปัจจุบันสามารถตั้งโปรแกรมการทำงานและตั้งค่าอัตราการส่งกระแสไฟฟ้าได้ 

ถ้าหัวใจของผู้ป่วยเต้นช้าเกินไป หรือเต้นไม่ตรงจังหวะ เครื่องก็จะตรวจจับได้และส่งกระแสไฟฟ้าออกไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่หากหัวใจผู้ป่วยเต้นได้เองอย่างปกติ เครื่องก็จะไม่ส่งกระแสไฟฟ้าใดๆ

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจส่วนมากจะมีตัวตรวจจับ จดจำการเคลื่อนไหวของร่างกายและอัตราการหายใจของผู้ป่วย ทำให้เครื่องสามารถเพิ่มการส่งกระแสไฟฟ้าได้หากผู้ป่วยต้องออกแรง หรือใช้แรงมากขึ้นนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เหตุใดผู้ป่วยถึงต้องใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ?

ทุกครั้งที่หัวใจเต้น หัวใจจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย โดยมีกล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าคอยบีบ หรือคลายตัวทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้อย่างปกติ

เมื่อไรก็ตามที่กระแสไฟฟ้าถูกรบกวนจากปัจจัยต่างๆ จะทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติ นำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ เรียกภาวะนี้ว่า "สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง (Heart block)" 

สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวางจะเกิดขึ้นเมื่อมีสัญญาณไฟฟ้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจถ่ายทอดไปไม่ได้ จนทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ

ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง

  • มีการเสียหายของตัวปล่อยกระแสไฟฟ้าหัวใจ (Sinus node) ทำให้หัวใจเต้นช้าลงอย่างผิดปกติ (Bradycardia)
  • มีการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ (Supraventricular tachycardia)
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) คือหัวใจหยุดทำงาน และหยุดส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้เพียงพอ และยังช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

เครื่องกระตุกหัวใจแตกต่างจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอย่างไร?

เครื่องกระตุกหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) มีหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เครื่องกระตุกหัวใจจะเป็นตัวส่งต่อคลื่นไฟฟ้าไปสู่หัวใจในขณะที่เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่คุกคามชีวิต เพื่อกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นในจังหวะปกติอีกครั้ง

เครื่องกระตุกหัวใจนิยมใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้

ปัจจุบันเครื่องมือสมัยใหม่จะมีทั้งเครื่องกระตุกหัวใจและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจรวมกันในเครื่องเดียว

จะทราบได้อย่างไรว่า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเหมาะสมกับเรา?

ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด ทีมแพทย์จะประเมินผู้ป่วยก่อนว่า เหมาะสมกับการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหรือไม่ 

วิธีการที่นิยมใช้ เช่น การตรวจเลือด การเอ็กซเรย์ต่างๆ การสอบถามปัญหาสุขภาพทั่วไป ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย และประวัติการผ่าตัดที่ผู้ป่วยเคยได้รับ

การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ มี 2 วิธี คือ

1. การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจและลวดสายไฟผ่านทางหลอดเลือดดำไปสู่หัวใจ (Transvenous implantation)

เป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ การผ่าตัดจะทำโดยการให้ยาชาเฉพาะที่ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บ มีขั้นตอนดังนี้

  • หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่แล้ว แพทย์จะผ่าเปิดแผลความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า และใส่สายลวดไฟฟ้าเข้าสู่เส้นเลือดดำ
  • แพทย์จะใช้เอกซ์เรย์ในการนำทางสายลวดไปสู่ห้องหัวใจและฝังอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ปลายอีกด้านหนึ่งของสายลวดจะเชื่อมต่อกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งจะถูกฝังอยู่ในกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง
  • ระยะเวลาในการใส่เครื่องจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที หรืออาจจะนานกว่านั้น หากผู้ป่วยใส่เครื่องชนิดที่มี 3 สาย (Biventricular pacemaker) หรืออาจมีการผ่าตัดหัวใจร่วมด้วยในขณะใส่เครื่อง
  • ส่วนมากผู้ป่วยจะกลับบ้านได้ภายในวันเดียว

2. การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในเยื่อหุ้มหัวใจ

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแต่ยังไม่เป็นที่นิยมนัก วิธีนี้จะใส่สายลวดข้างหนึ่งบนผิวชั้นนอกของเยื่อหุ้มหัวใจชั้นอีพิคาร์เดียม (Epicardium) 

ส่วนมากวิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยเด็ก หรือผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดหัวใจพร้อมกับการผ่าตัดใส่เรื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

การผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจวิธีนี้ ผู้ป่วยจะถูกให้ยาสลบ โดยแพทย์ผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงในการผ่าตัด และการฟื้นตัวของผู้ป่วยจะใช้เวลามากกว่าวิธีใส่ปกติ

วิธีการทดสอบและตั้งค่าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

เมื่อใส่สายลวดไฟฟ้าเข้าที่แล้ว ก่อนที่จะเชื่อมสายเข้ากับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จะทดสอบการทำงานของเครื่องว่า สามารถกระตุ้นการเต้นของหัวใจได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

หลังจากนั้น แพทย์จะเชื่อมต่อสายลวดไฟฟ้าเข้ากับลวดสายไฟและตั้งค่ากระแสไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นการเต้นของหัวใจของผู้ป่วย

การฟื้นตัวของผู้ป่วยจากการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

แพทย์จะติดตามการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจและอัตราการเต้นของหัวใจได้ โดยการติดตามด้วยเครื่องติดตามชนิดพิเศษ (การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง) 

เครื่องติดตามนี้ประกอบด้วยกล่องขนาดเล็ก เชื่อมด้วยสายลวดไฟฟ้าแปะลงบนหน้าอกของผู้ป่วย

แพทย์จะเอกซเรย์ช่องอก เพื่อตรวจสอบการทำงานของปอดและตำแหน่งของสายลวดไฟฟ้า

ขั้นตอนเหล่านี้ ผู้ป่วยอาจจะเกิดการเจ็บปวดหรือรู้สึกไม่สบายได้บ้างในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการทดสอบ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

นอกจากนี้ อาจมีแผลถลอกได้บ้างบริเวณที่มีการสอดลวดไฟฟ้า แต่อาการจะหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน

การดูแลตัวเองหลังจากการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

  • หลังจากใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ คุณสามารถกลับไปใช้ชีวิตเกือบปกติได้ทันที แต่ควรเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
  • เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน คุณสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และสามารถทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนักได้ เช่น การเล่นกีฬา
  • คุณอาจจะรู้สึกหนัก และรู้สึกถึงเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในร่างกายได้ แต่ไม่นานก็จะชินไปเอง
  • คุณจะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อตรวจสอบว่า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจยังทำงานได้ปกติหรือไม่ และให้แพทย์เก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจ เพื่อติดตามภาวะการทำงานของหัวใจ
  • เครื่องใช้ภายในบ้านเกือบทุกชนิด (รวมถึงเครื่องไมโครเวฟ) ไม่รบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจถือว่า มีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงที่จะก่อให้โรคร่วมน้อยลง
  • ข้อควรดูแลเป็นพิเศษคือ การรักษาให้เครื่องทำงานอย่างปกติ ลวดสายไฟจะต้องอยู่ตรงตำแหน่งที่ถูกต้อง ในบางครั้ง แพทย์สามารถตั้งโปรแกรมใหม่ให้แก่เครื่องได้เพื่อที่จะซ่อมแซมการส่งสัญญาณ

Q&A

คำถาม: หลังจากการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจสามารถกลับบ้านได้เลยหรือไม่?

คำตอบ: ส่วนมากการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจจะเสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียว หากไม่มีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ โดยจะได้รับคู่มือการใช้เครื่องเครื่องกระตุ้นหัวใจและบัตรประจำตัว ซึ่งผู้ป่วยควรพกติดตัวไว้ตลอดเวลา

คำถาม: ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจสามารถขับรถได้หรือไม่?

คำตอบ: ผู้ป่วยสามารถกลับมาขับรถได้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (กรณีที่ไม่มีอาการข้างเคียง เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ) แต่หากต้องขับรถขนาดใหญ่ เช่น รถขนส่งผู้โดยสาร อาจต้องรอถึง 6 สัปดาห์หลังจากใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

คำถาม: ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทำงานอยู่ในร่างกายหรือไม่?

คำตอบ: ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจได้ แต่ก็จะชินไปเอง

คำถาม: ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะเป็นปกติเมื่อใด?

คำตอบ: ผู้ป่วยควรกลับมารู้สึกปกติได้อย่างรวดเร็ว แต่ควรเลี่ยงการเอื้อมแขนข้างที่ได้รับการผ่าตัดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เลี่ยงการเอื้อมในที่นี้ เช่น เลี่ยงการตากผ้า การหยิบของจากที่สูง อย่างไรก็ตาม ควรขยับแขนข้างที่ได้รับการใส่เครื่องอยู่เสมอ

คำถาม: ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะกลับมาออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาได้เมื่อใด?

คำตอบ: พยายามเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังจากการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หลังจากนั้น ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้ 

อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกระแทก เช่น เลี่ยงการเล่นฟุตบอล หรือรักบี้ และหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้กำลังมาก

คำถาม: ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจควรดูแลรักษาแผลอย่างไร?

คำตอบ: ไม่ควรทำให้แผลเปียกจนกว่าจะตัดไหมแล้ว หลังจากนั้นเลี่ยงการเสียดสีบริเวณแผล ผู้ป่วยหญิงอาจต้องเปลี่ยนเสื้อชั้นในให้สายมีขนาดใหญ่ขึ้นและควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนแสงแดดภายในปีแรก เนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่มีสีเข้มขึ้นได้

คำถาม: ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจต้องตัดไหมเย็บออกหรือไม่?

คำตอบ: การตัดไหมจะขึ้นอยู่กับชนิดของไหมที่แพทย์ใช้ โดยมากแพทย์จะใช้ไหมละลายซึ่งจะละลายหายไปได้เอง ก่อนผู้ป่วยจะกลับบ้านแพทย์จะแจ้งให้ทราบว่า ใช้ไหมชนิดใดและจะแจ้งให้ทราบว่า ต้องกลับมาตัดไหมออกหรือไม่ 

ส่วนมากถ้าต้องตัดออกจะตัดออกภายใน 10 วัน หลังการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

คำถาม: ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจต้องรับการตรวจด้านใดบ้าง?

คำตอบ: ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจสอบเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หลังจากการผ่าตัด 4 สัปดาห์ และตรวจการทำงานของเครื่องทุก 3-12 เดือน 

หากหลังจากการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแล้วผู้ป่วยรู้สึกไม่ดีขึ้น หรือเครื่องไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นนัก ให้ไปพบแพทย์เพื่อปรับตั้งค่าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจใหม่

คำถาม: เครื่องใช้ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจหรือไม่?

คำตอบ: เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านส่วนมากไม่มีผลรบกวนเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

  • โทรศัพท์มือถือ มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วย แต่ควรเก็บให้ห่างจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
  • เครื่องตรวจสอบความปลอดภัย เครื่องสแกนภายในสนามบิน หรืออุปกรณ์กันขโมยในห้างสรรพสินค้าต่างๆ อาจรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจได้ ผู้ป่วยจะสามารถเดินผ่านเครื่องได้แต่ต้องผ่านอย่างรวดเร็ว และควรแจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วยว่า ท่านมีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในร่างกาย
  • เครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ ผู้ป่วยต้องไม่ผ่านเครื่องเอ็มอาร์ไอ เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากเครื่องสแกนมีคลื่นแม่เหล็กอยู่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ก่อนว่า ตนมีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอยู่ในร่างกาย
  • การสลายนิ่ว (Lithotripsy) ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยนิ่วในไต 

คำถาม: ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเมื่อใด?

คำตอบ: เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจมีอายุแบตเตอรี่ประมาณ 8-10 ปี หลังจากนี้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมถึงเปลี่ยนเครื่องภายในด้วย โดยการผ่าตัดเปลี่ยนแบตเตอรี่เป็นเพียงขั้นตอนสั้นๆ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

คำถาม: ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจติดตามผลเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจบ่อยเพียงใด?

คำตอบ: ผู้ป่วยจะได้รับการนัดตรวจติดตามไปตลอดชีวิต โดยจะนัดทุกๆ 3-12 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดและการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ 

ระหว่างการตรวจติดตามแพทย์จะประเมินและตรวจสอบอัตราการสูญเสียประจุ ตรวจสอบความแรงของกระแสไฟฟ้า และตรวจสอบผลการทำงานของหัวใจ

คำถาม: การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจมีผลต่อกิจกรรมทางเพศหรือไม่?

คำตอบ: ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปกติ แต่ควรพูดคุยกับคู่รักให้เข้าใจเรื่องรอยแผลเป็น และทำความเข้าใจว่า ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ

คำถาม: การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจมีความเสี่ยงไหม?

คำตอบ: นอกจากการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะมีประโยชน์มากมายแล้ว ยังมีความเสี่ยงอยู่ด้วย ดังนี้

  • การติดเชื้อ  

ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อในบริเวณที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือบริเวณเส้นเลือดได้ แต่มีความเสี่ยงต่ำมาก (อัตราส่วนราว 1 ใน 100 ของคนที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ) 

อาการติดเชื้อมีดังนี้ มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า เจ็บปวด หรือแดงบริเวณที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ บางครั้งบริเวณนั้นอาจจะมีความร้อนเนื่องจากมีการปล่อยประจุไฟฟ้าออกมาได้ 

หากผู้ป่วยรู้สึกว่า อาจจะติดเชื้อควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ และเลือด 

  • การทำงานของเครื่องผิดปกติ

จะเกิดขึ้นได้ใน 1 ต่อ 250 ของคนที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอาจเกิดการทำงานผิดปกติได้ ถ้าสายลวดหลุดจากตำแหน่ง หรือแบตเตอรี่สำหรับส่งประจุไฟฟ้าผิดปกติ หรือวงจรไฟฟ้าในเครื่องผิดปกติ เนื่องจากผ่านสนามแม่เหล็ก หรือโปรแกรมในเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจติดตั้งผิดปกติ

สัญญาณเตือนว่า เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจอาจทำงานผิดปกติคือ มีอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือช้าผิดปกติ ปวดศีรษะ สะอึก และหน้ามืดเป็นลม ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนเครื่อง หรือติดตั้งโปรแกรมใหม่

  • ทวิดเลอร์ซินโดรม (Twiddler’s syndrome)

คือ อาการที่เกิดจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ เนื่องจากเครื่องเคลื่อนจากตำแหน่งปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว วิธีการแก้ไขคือ ฝังและเย็บตัวเครื่องเข้ากับกล้ามเนื้อรอบๆ ให้มั่นคงยิ่งขึ้น

แม้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะช่วย "ยืดอายุ" ผู้ป่วยโรคหัวใจบางประเภทได้ แต่การป้องกันตนเองไม่ให้เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจประเภทไหนเลย ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งคุณสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้

ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้สด ไขมันดี (ไขมันไม่อิ่มตัว) หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว ไขมันดัดแปลง ไม่สูบบุหรี่  ออกกำลังกาย ไม่เครียด และพักผ่อนอย่างเพียงพอ 

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจและสมรรถภาพหัวใจ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sciencedirect.com, Pacemaker implantation (https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/pacemaker-implantation), 18 December 2562.
Clevelandclinic.org, Pacemaker implantation (https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/17360-permanent-pacemaker/procedure-details), 20 December 2562.
Mayo Clinic Staff, Pacemaker (https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/pacemaker/about/pac-20384689), 16 December 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)