“หัวใจ” ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญต่อทุกระบบในร่างกาย เนื่องจากหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย การที่เรามีหัวใจที่แข็งแรงจะช่วยให้อวัยวะส่วนอื่นของร่างกายแข็งแรงตามไปด้วย เนื่องจากมีสารอาหารไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ การที่เรานั้นมีหัวใจที่แข็งแรง ยังเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานร่างกายได้ดีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย และการใช้สมองในการทำงานอย่างเต็มที่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยให้หัวใจแข็งแรง
พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารมีผลโดยตรงต่อสุขภาพหัวใจ รวมถึงระบบต่างๆ ในร่างกายด้วย การที่คุณใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมย่อมทำให้มีสุขภาพร่างกายและหัวใจที่แข็งแรง
โดยจะแบ่งออกเป็น 4 แนวทางง่ายๆ ที่แค่ปฏิบัติตามก็มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง ดังนี้
1. ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อหัวใจที่แข็งแรง
การออกกำลังกายไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้ แต่การออกกำลังกายเพื่อทำให้หัวใจแข็งแรงนั้น จะต้องทำการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน อย่างน้อยประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ก็จะช่วยให้หัวใจของคุณแข็งแรงขึ้น
วิธีการออกกำลังแบบใช้ออกซิเจนนั้น สังเกตง่ายๆ จากการที่เราจะมีอาการเหนื่อยหอบ แต่ยังสามารถพูดได้ตามปกติ หากเรามีอุปกรณ์ที่สามารถวัดการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกายได้ อัตราการเต้นของหัวใจที่ควรจะเป็นคือ 60-70% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดนั่นเอง
2. เลือกรับประทานอาหารบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
อาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรงมีอยู่หลากหลาย หลักการรับประทานอาหารเพื่อช่วยให้หัวใจแข็งแรงแบบง่ายๆ ก็คือการรับประทานอาหารเพื่อลดไขมันในเส้นเลือด ดังนี้
- รับประทานอาหารไขมันต่ำ โปรตีนสูง เช่น เนื้อไม่ติด เนื้อไก่ เนื้อปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทะเล จะมีกรดไขมันที่ดีช่วยในเรื่องการลดไขมันในหลอดเลือดได้อีกด้วย
- รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น อาหารจำพวกนี้อุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุ และใยอาหาร ช่วยในเรื่องของการลดไขมันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ
- รับประทานธัญพืชไม่ขัดสีเป็นประจำ ช่วยควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี
- เลิกรับประทานอาหารรสจัด เช่น รสเค็มจัด นอกจากจะส่งผลเสียโดยตรงต่อไตแล้ว โซเดียมคลอไรด์ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย โดยปริมาณโซเดียมต่อวันไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัม (เกลือ 1 ช้อนชา หรือ น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ)
- หลีกเลี่ยงไขมันไม่ดีที่ทำลายสุขภาพ เช่น ไขมันจากสัตว์ที่อยู่ในรูปของน้ำมัน เนย หรือครีม เพราะเป็นแหล่งสำคัญของไขมันอิ่มตัวชนิดไม่ดี และคอเลสเตอรอล รวมถึงไขมันทรานส์ด้วย
- ลดหรืองดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะเป็นการเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะเป็นอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้เมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะสังเกตได้ว่า เลือดจะสูบฉีดมากกว่าปกตินั่นเอง
3. ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำร้ายหัวใจ
ในช่วงที่เครียดหรือกังวล หัวใจจะทำงานหนักกว่าปกติ เพราะเหตุนี้ความเครียดจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดความแข็งแรงของหัวใจลงโดยไม่รู้ตัว
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงก็ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือ การนอนหลับสนิท ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่หัวใจของเราจะได้พักผ่อนไปด้วย การนอนหลับอย่างเพียงพอ จึงถือเป็นการช่วยให้หัวใจของเรากลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในวันถัดไปนั่นเอง
5. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเป็นโรคหัวใจคือ โรคเบาหวาน ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้
6. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
การควบคุมน้ำหนักตัวนี้อาศัยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ซึ่งคำนวณดังสูตร
BMI = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2
โดยค่า BMI ที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 18.5–24.9 กิโลกรัม/เมตร
ทำไมถึงต้องตรวจหัวใจเป็นประจำทุกปี?
เราควรตรวจหัวใจเป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าติดตามสภาวะของหัวใจว่า ทำงานได้ปกติดีหรือไม่ หรือมีสิ่งผิดปกติอะไรที่ต้องได้รับการแก้ไขหรือเปล่า การที่ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ในบทความนี้ จะแบ่งการตรวจสุขภาพหัวใจออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ การตรวจหัวใจเบื้องต้นด้วยตนเอง และการตรวจหัวใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การตรวจหัวใจเบื้องต้นด้วยตนเอง
การตรวจหัวใจเบื้องต้นด้วยตนเองเป็นเพียงการตรวจพื้นฐานที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า หัวใจของคุณทำงานปกติจริงๆ แต่ก็สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ หากคุณมีอาการผิดปกติ อย่านิ่งเฉย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด โดยการตรวจหัวใจเบื้องต้นด้วยตนเอง มี 3 วิธีดังนี้
- การวัดความดันโลหิต: ความดันโลหิตนั้นมีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือดของหัวใจ หากความดันโลหิตปกติ ย่อมหมายความว่าหัวใจมีแนวโน้มว่าทำงานปกติค่อนข้างสูง
ค่าความดันปกติ ตัวบนจะอยู่ที่ 120 ส่วนตัวล่างจะไม่เกิน 90 แต่หากคุณมีความดันตัวบนสูงกว่า 140 หรือตัวล่างสูงกว่า 100 ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
แม้ว่าความดันจะไม่ได้สามารถบอกความแข็งแรงของหัวใจโดยตรง แต่การที่มีความดันสูง หมายความว่า หัวใจกำลังทำงานหนักเกินกว่าปกติ - การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ: อัตราการเต้นของหัวใจในคนปกติอยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ยิ่งหัวใจเต้นช้าเท่าไหร่ก็ยิ่งแข็งแรงเท่านั้น (แต่ถ้าช้าเกินไปควรไปพบแพทย์) เพราะการที่หัวใจเต้นช้า หมายความว่า หัวใจบีบตัวเพียงหนึ่งครั้งก็สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย แต่หากคุณรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติเกินไปก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายต่อไป
- สังเกตจากอาการทั่วไป: หากคุณไม่มีอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืดเวลาออกกำลังกายหรือเดินขึ้นบันได ใจสั่น เป็นลมบ่อยๆ หรือเจ็บบริเวณหน้าอก ก็อาจสรุปง่ายๆ ได้ว่า อาจไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เพราะอาการเหล่านี้ คืออาการของคนเป็นโรคหัวใจนั่นเอง
การตรวจหัวใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การตรวจหัวใจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำก็ต่อเมื่อแพทย์สงสัยว่าคุณอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจมีอัตราการเต้นที่ผิดปกติ หรือมีภาวะของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ ซึ่งแพทย์จะใช้การทดสอบหลายๆ อย่างร่วมกัน เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ
โดยจะมีวิธีการทดสอบหรือตรวจหัวใจ ดังนี้
- การตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (Echocardiogram): เป็นการอัลตราซาวด์หัวใจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพของหัวใจขึ้นมา เพื่อตรวจสอบรายละเอียดหัวใจ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG): การบันทึกกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ซึ่งผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดโดยตรง
- การทดสอบความทนต่อการออกกำลังกาย (Exercise Tolerance Test: ETT): เป็นการบันทึกกิจกรรมของหัวใจขณะที่ต้องทำงานหนักอยู่ เช่น ขณะที่คุณกำลังเดินอยู่บนลู่วิ่ง เพื่อดูว่าหัวใจตอบสนองต่อการออกแรงอย่างไรบ้าง
- การทดสอบความเอียง: สอดส่องความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจของคุณขณะนอนราบและขณะลุกขึ้นยืน เพื่อประเมินอาการหน้ามืดหรือวิงเวียน และเพื่อดูว่าอาการของคุณมีความเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตหรือการเต้นของหัวใจหรือไม่
- การถ่ายภาพสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI): ใช้พลังงานแม่เหล็กที่ปล่อยออกมาในเครื่องสแกน เพื่อร่างภาพหัวใจและหลอดเลือดออกมา วิธีการตรวจนี้ใช้เพื่อตรวจหาปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของหัวใจและการไหลเวียนโลหิต
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Computed Tomography: Cardiac CT): จะใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่เคลื่อนไปรอบๆ ร่างกายเพื่อให้ได้ภาพจำลองหัวใจแบบ 3D ออกมา
- การสแกนด้วยทัลเลียม (Thallium scan): เป็นการสแกนเพื่อดูว่า เลือดไหลไปยังกล้ามเนื้อหัวใจผ่านหลอดเลือดหัวใจปกติดีหรือไม่ โดยติดตามจากสารทัลเลียมที่ฉีดเข้าไป
- การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ: เป็นการเอกซเรย์ประเภทหนึ่งที่ใช้ตรวจหลอดเลือดหัวใจที่ใช้ส่งเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ โดยการฉีดสีเข้าไปแล้วดูการไหลเวียนของสี
- การตรวจเลือด: สามารถตรวจได้หลายอย่าง เช่น วัดระดับของเซลล์เม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ระดับไขมัน คอเลสเตอรอล และกรดยูเรีย ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจทั้งนั้น
แนวทางการรักษาโรคหัวใจ
การรักษาโรคหัวใจจะเริ่มต้นจากการใช้ยารักษาโรคหัวใจบรรเทาอาการก่อน ยกเว้นเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดที่ต้องได้รับการรักษาด้วยสวนหัวใจ แพทย์จะรักษาโดยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน และการดามขดลวด
หากยาใช้รักษาไม่ได้ผล แพทย์จะประเมินผู้ป่วยว่า โรคและระยะที่ผู้ป่วยเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติคนไข้ การทดสอบหัวใจต่างๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมถึงสุขภาพโดยรวม
โดยการผ่าตัดหัวใจแต่ละวิธีนั้นจะใช้ในโรคหัวใจที่มีสาเหตุแตกต่างกัน มีดังนี้
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG): เป็นการสร้างเส้นทางการไหลเวียนเลือดใหม่ โดยนำเส้นเลือดจากส่วนอื่น ของร่างกาย มาเชื่อมต่อกับหลอดเลือดหัวใจอีกที
- ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ: เป็นการรักษาโรคลิ้นหัวใจที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยลิ้นหัวใจจะมีหน้าที่ในการควบคุมปริมาณเลือดที่ไหลเข้า-ออกหัวใจ
- การปลูกถ่ายหัวใจและปอด: การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นมีข้อบ่งชี้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายที่มีอาการเหนื่อยหอบ และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา ส่วนโรคหัวใจๆ อื่นที่อาจได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
- การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker implantation): เครื่องจะส่งไฟฟ้าไปกระตุ้นวงจรไฟฟ้าในหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติอีกครั้ง
- การใส่เครื่องกระตุกหัวใจชนิดฝัง (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD): เครื่องจะส่งต่อช็อตไฟฟ้าไปสู่หัวใจในขณะที่เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่คุกคามชีวิต เพื่อกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นในจังหวะปกติอีกครั้ง
ความเสี่ยงในการผ่าตัดหัวใจ
ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถพบได้บ่อยจากการผ่าตัดหัวใจมักเปลี่ยนแปลงไปตามชั่วโมงและวัน โดยผู้ป่วยจะได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์ ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนดังนี้
- เลือดออก: อาจเกิดขึ้นที่บริเวณแผลผ่าตัด หรือในบริเวณของหัวใจซึ่งมีการผ่าตัด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ: ในบางกรณีอาจมีการใส่เครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจภายนอกชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหานี้
- หัวใจขาดเลือด: เกิดการทำลายเนื้อเยื่อหัวใจจากการขาดเลือดที่ไหลเข้าสู่หัวใจ
- เสียชีวิต: ความเสี่ยงของการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นในการผ่าตัดที่มีการหยุดการทำงานของหัวใจ
- ลิ่มเลือด: อาจเกิดลิ่มเลือดบริเวณภายในและรอบๆ หัวใจ หรืออาจเคลื่อนที่ไปตามกระแสเลือด
- เส้นเลือดในสมองตีบ: มักเกิดจากการมีลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัด
- การผ่าตัดฉุกเฉิน: หากมีปัญหาเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัด อาจต้องมีการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
- ภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac tamponade): เป็นภาวะที่เยื่อหุ้มหัวใจมีเลือดอยู่ภายใน ทำให้หัวใจทำงานได้ยากขึ้นหรือทำงานไม่ได้เลย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
อ่านเพิ่มเติม: ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดหัวใจ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคหัวใจ
- ภาวะที่สามารถใช้ยารักษาโรคหัวใจได้: ภาวะเจ็บแน่นหน้าอก ภาวะหัวใจวาย ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ และภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- ยารักษาโรคหัวใจมีหลายประเภท: ยารักษาโรคหัวใจแต่ละประเภทจะใช้รักษาอาการที่เฉพาะเจาะจง จึงไม่ควรซื้อยารับประทานเอง และควรข้อคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวก่อนรับประทาน
- ยารักษาโรคหัวใจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย: ผลข้างเคียงของยารักษาโรคหัวใจจะขึ้นอยู่กับประเภทของยา เช่น ยาขับปัสสาวะก็จะทำให้ผู้รับประทานปัสสาวะมาก หรือยากลุ่มปิดกั้นช่องแคลเซียม อาจทำให้มีอาการบวมตรงหลังเท้า หากมีอาการที่ไม่สามารถทนได้ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
อ่านเพิ่มเติม: ทำความรู้จักยารักษาโรคหัวใจกลุ่มต่างๆ และข้อควรปฏิบัติในการใช้ยาอย่างปลอดภัย
หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่เราจะต้องดูแลรักษาให้แข็งแรงอยู่เสมอ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารสามารถป้องกันโรคผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจได้
แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อย่ากังวล เพราะในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาไปไกลมาก มีวิธีการตรวจ การรักษา และยารักษาโรคหัวใจที่หลากหลาย สามารถแก้ไขอาการผิดปกติต่างๆ ของหัวใจได้ เราจึงควรหมั่นไปตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำเพื่อสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง
รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับการตรวจ รักษา และยารักษาโรคหัวใจ
- รวมวิธีการตรวจหัวใจต่างๆ
- การตรวจเอ็กโคคาร์ดีโอแกรม (Echocardiogram)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG)
- การสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization)
- การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจการตรวจหัวใจ
- รวมวิธีการผ่าตัดหัวใจ (Heart surgery)
- การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
- การปลูกถ่ายหัวใจและปอด
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting: CABG)
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Open Heart Bypass Surgery)
- การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดหัวใจ
- การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการดามขดลวด
- การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ
- ยารักษาโรคหัวใจ