คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เช่น เป็นสารตั้งต้นผลิตฮอร์โมนบางชนิด และเป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ แต่หากร่างกายเรามีคอเลสเตอรอลมากเกินไป จากประโยชน์ก็อาจกลับกลายเป็นโทษร้ายได้เหมือนกัน
คนที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ คงคุ้นเคยกับการตรวจวัดคอเลสเตอรอลในเลือด และหลายคนก็อาจเคยประสบภาวะคอเลสเตอรอลสูงมาแล้ว สงสัยบ้างไหมว่า คลอเลสสูงเกิดจากอะไร? อันตรายแค่ไหน? แล้วทำไมแพทย์ต้องแนะนำให้เราควบคุมระดับคอเลสเตอรอลด้วย? ... ก่อนอื่นเราควรทราบก่อนว่า คอเลสเตอรอลที่เราตรวจวัดในเลือด มีหลักๆ 2 ตัว คือ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- HDL (High-Density Lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดดี ซึ่งเป็นตัวพาไขมันส่วนเกินในกระแสเลือดกลับไปยังตับ
- LDL (Low-Density Lipoprotein) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ซึ่งจะนำไขมันจากตับมาสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ และผนังหลอดเลือด
หากในร่างกายมีสัดส่วนของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสูงกว่าชนิดดีมากเกินไป จะทำให้มีการสะสมไขมันส่วนเกินตามเนื้อเยื่อและผนังหลอดเลือดมาก ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน มีการอักเสบ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเส้นเลือดสมองได้
เกณฑ์ปกติของระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- ระดับคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับ LDL น้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับ HDL มากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
สาเหตุของคอเลสเตอรอลสูง
- ทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอด ไข่แดง อาหารทะเล รวมถึงอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เพราะสารจำพวกน้ำตาลสามารถเปลี่ยนและสะสมเป็นไขมันในร่างกายได้
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้ไขมันที่สะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อไม่ถูกเผาผลาญ
- ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด การดื่มเหล้าทำให้ตับเสียหาย สมดุลของระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายจึงผิดปกติด้วย สารการสูบบุหรี่ก็เป็นตัวขัดขวางคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL ไม่ให้นำไขมันส่วนเกินกลับมายังตับได้ ทำให้เกิดไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด
- อ้วน น้ำหนักเกิน ความอ้วนเกิดจากมีไขมันสะสมมากตามเนื้อเยื่อ ใต้ผิวหนัง และอวัยวะต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูงด้วย
- มีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น เป็นโรคตับ หรือต่อมไทรอยด์บกพร่อง
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวมีคอเลสเตอรอลสูง ก็มีโอกาสที่จะเกิดไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เลย
- อายุและเพศ ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่ระดับคอเลสเตอรอลจะสูงก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน เพศชายจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศ แต่เมื่อเพศหญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นมาเทียบเท่ากัน
การรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยผู้มีคอเลสเตอรอลสูง ควรควบคุมอาหาร เน้นทานอาหารพวกผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง และลดการทานอาหารที่มีไขมันและแป้งสูง โดยเฉพาะพวกไขมันทรานส์ ในเนยเทียม เบเกอรี่ อาหารฟาสต์ฟู้ด ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด และหันมาทานแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท แทนแป้งขัดสี รวมถึงงดการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยเน้นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่มีความหนักปานกลาง เช่น การวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โดยควรออกให้ได้อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดแล้ว ยังทำให้หัวใจแข็งแรงอีกด้วย
- รักษาโดยใช้ยา หากระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติมาก แพทย์อาจให้ยากลุ่มสเตติน (Statins) เพื่อขัดขวางการผลิตคอเลสเตอรอลในตับ ร่วมกับยากลุ่มไฟเบรต (Fibrate) ซึ่งช่วยลดการสร้าง LDL นอกจากนี้ อาจมีให้ยาที่ขัดขวางการดูดซึมไขมันในทางเดินอาหาร และยาเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันดีร่วมด้วย
การป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลสูง
- งดการทานอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีแป้งสูง
- เน้นทานไขมันดีให้ได้ปริมาณพอเหมาะ โดยไขมันดีมีอยู่ในเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ถั่วและธัญพืช
- ทานผักผลไม้มากๆ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีไฟเบอร์สูง จึงช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี