แค่เอ่ยคำว่า "ไขมัน" ขึ้นมา บางคนก็รู้สึกรังเกียจ รู้สึกว่าอ้วน รุู้สึกว่าเป็นผู้ร้าย ฯลฯ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ไขมันนับเป็นสารอาหารจำเป็น เมื่อร่างกายย่อยสลายให้เป็นโมเลเกุลเล็กที่สุดจะเรียกว่า “Fatty acid” หรือ กรดไขมัน
ร่างกายจะต้องได้รับกรดไขมันจากการรับประทานเข้าไปเท่านั้นและร่างกายจำเป็นต้องมีกรดไขมันเพื่อใช้ประโยชน์มากมายนับตั้งแเต่เป็นวัตถุดิบสร้างผนังเซลล์ของทุกๆ เซลล์ทั่วร่างกาย กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) คือ กรดไขมันที่ร่างกายขาดไม่ได้
อาหารไขมันนอกจากจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายแล้วยังช่วยให้อาหารอร่อย กลืนลงคอง่าย มนุษย์ยุคใหม่จึงกินไขมันกันมากเกินความจำเป็น จนในที่สุดไขมันก็สร้างพิษภัยต่อร่างกายแทนที่จะให้ประโยชน์ หากอยากรู้ว่า เรามีไขมันในร่างกายมากน้อยอย่างไร ชนิดไหนเกิน ชนิดไหนขาด ควรเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบไขมันในเลือด เพราะบางคนกว่าจะรู้ตัวว่าไขมันในเลือดสูงก็เข้าข่ายเป็นโรคเสียแล้ว
การตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile)
คำแนะนำ: ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
วัตถุประสงค์
- เพื่อต้องการทราบค่าขององค์ประกอบที่สำคัญของไขมันทุกตัวในกระแสเลือด
- การได้ทราบค่าระดับไขมันทุกชนิดในเลือดที่ผิดปกติแต่เนิ่นๆ ย่อมช่วยให้มีโอกาสที่จะแก้ไข เยียวยา หรือรักษา ให้ไขมันลดลงมาสู่ระดับปกติได้ ทั้งนี้ย่อมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease: CAD) โรคลมปัจจุบัน หรือโรคอุบัติเหตุขาดเลือดในสมอง (cerebrovascular accident: CVA) ได้
คำอธิบายอย่างสรุป
1. ตามตำราโดยทั่วไปคำว่า Lipid Profile จะประกอบด้วยการวัดค่าไขมัน 5 ตัว ดังนี้
- คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol: TC)
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides: TG)
- เอชดีแอล (HDL-c)
- แอลดีแอล (LDL-c)
- วี แอล ดี แอล (VLDL)
2. ตามแบบฟอร์มใบตรวจเลือดของโรงพยาบาลทั่วไป ท่านต้องการทราบผลของไขมันในเลือดเฉพาะที่สำคัญเพียง 4 ตัว
- คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
- ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
- เอชดีแอล (HDL-c)
- แอลดีแอล (LDL-c)
คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
Cholesterol เป็นคำนามเฉพาะที่เกิดจากการประสมคำโดยนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1769 ซึ่งพบว่า นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone) นั้นประกอบด้วยสารเคมีอันมีชื่อตรงกับคำในภาษากรีก กล่าวคือ
Chole = bile (น้ำดีจากตับ)
Stereos = solid (ของแข็ง)
Ol = (suffix) แสดงว่าแอลกอฮอลล์
การวิจัยต่อมาทำให้ทราบว่าคอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นของน้ำดี หรือกรดน้ำดี หากน้ำดีอยู่ในถุงน้ำดีจนมีความเข้มข้นมากขึ้นๆ ก็จะตกผลึกจับตัวกันแข็งกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งก็คือ เปลี่ยนสภาวะมาเป็นของแข็งได้ ตามรากศัพท์ของชื่อที่ตั้งขึ้นมา
แม้ว่าคอเลสเตอรอลจะจัดอยู่ใน Lipid Profile (กลุ่มสารไขมันในเลือด) แต่ในความเป็นจริงแล้ว คอเลสเตอรอลเป็นสารคล้ายไขมันแต่มิใช่ไขมันแท้จริงเพราะไม่มีค่าพลังงาน (ไขมัน หรือ fat ทั่วไป จะมีค่าพลังงานประมาณ = 9 แคลอรีต่อกรัม)
คอเลสเตอรอลเป็นสารลักษณะขี้ผึ้ง (waxy substance) ที่ร่างกายจำเป็นต้องมี เพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้คอเลสเตอรอลในการดำรงชีวิต ดังนี้
- เป็นองค์ประกอบของเยื่อผนังห่อหุ้มเซลล์ทุกเซลล์ทั่วร่างกาย (ประมาณ 100 ล้านล้านเซลล์) เพื่อสร้างคุณสมบัติความไหลลื่น (fluidity) สะดวกต่อการผ่านเข้า-ออกเซลล์ของสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ ฯลฯ
- เป็นวัตถุดิบให้ร่างกายผลิตน้ำดี (bile) เพื่อใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมัน รวมทั้งช่วยการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามิน เอ ดี อี และเค)
- เป็นสารเริ่มต้น (precursor) หรือเป็นวัตถุดิบให้ร่างกายใช้สังเคราะห์วิตามินดี ขึ้นมาใช้ กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือ เมื่อร่างกายถูกแสงแดด แสงแดดจะช่วยสังเคราะห์คอเลสเตอรอลที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังให้สร้างวิตามินดีขึ้นมา ผลที่ได้ก็คือ
- คอเลสเตอรอลแล้วจำนวนหนึ่ง (เมื่อถูกแดด) ย่อมลดลงเพราะถูกนำไปใช้ผลิตวิตามินดี
- ได้วิตามินดีมาใช้ฟรีๆ เพื่อช่วยร่างกายในการสะสมแคลเซียมอันเป็นการปกป้องโรคกระดูกพรุนโดยวิธีธรรมชาติที่สุดและประหยัดที่สุด
- ร่างกายจะนำคอเรสเตอรอลซึ่งเป็นสารสเตอรอยด์ (steroid) ไปใช้ผลิตสเตอรอยด์ฮอร์โมน (steroid hormones) ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้ ดังตัวอย่างฮอร์โมนต่อไปนี้
- คอร์ติซอล (Cortisol) และ แอลโดสเตอโรน (aldosterone) สำหรับต่อมอะดรินัล (ต่อมหมวกไต) ในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมโซเดียม
- เทสโทสเทอโรน (testosterone) และ เอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศ (ของชายและหญิง) ช่วยให้ร่างกายคึกคัก กระชุ่มกระชวย เพิ่มอารมณ์ทางเพศทั้งชายเเละหญิง โดยเหตุนี้ การกินยาลดอเรสเตอรอลใดๆ จึงมีผลโดยตรงต่อการลดฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน (testosterone) สำหรับผู้ชาย หรือฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) สำหรับผู้หญิง
- บทบาทที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของคอเรสเตอรอลคือ เป็นฉนวนปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาท (to insulate nerve fibers) เพื่อให้การสื่อประสาทฉับไว ถูกต้อง เพราะเส้นใยประสาททุกเส้นจะห่อหุ้มด้วย "ไมลีน ชีธ" (myelin sheath) ที่ผลิตด้วยคอเลสเตอรอลเสมือนเป็นฉนวนสายไฟฟ้านั่นเอง นั่นหมายถึงว่า เซลล์สื่อประสาท (neuron) ทุกเซลล์ต้องวิ่งไปตามเส้นใยประสาท อย่างถูกต้อง ฉับไว และแม่นยำ มิฉะนั้นอาจเกิดอาการจมูกรับกลิ่นไม่ได้ มือสั่น เดินเซ จำชื่อคน หรือจำเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ หรือจำทางกลับบ้านไม่ถูก อาการท้อแท้ สิ้นหวัง ฯลฯ
ความสมบูรณ์แบบส่วนหนึ่งของวงจรเส้นใยประสาท ก็คือการมี "myelin sheath " เป็นฉนวนหุ้มที่ทำจากคอเลสเตอรอลซึ่งไม่ชำรุดบกพร่อง หรือสรุปว่าต้องมีอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้มันสมองของมนุษย์ หรือหมูจึงเต็มไปด้วยคอเลสเตอรอล ยกตัวอย่างมันสมองหมู (3 ออนซ์ ประมาณ 100 กรัม) จะมีคอเลสเตอรอลมากถึง 1,866 มิลลิกรัม
สำหรับในร่างกายมนุษย์พบว่า มีคอเลสเตอรอลอยู่ทั่วไปร่างกายและทุกอวัยวะ ดังนี้
แหล่งคอเลสเตอรอลของมนุษย์ (ร่างกายหนักประมาณ 70 กิโลกรัม)
เนื้อเยื้อ / อวัยวะ |
คอเลสเตอรอล จำนวน(กรัม) |
ทั่วร่างกาย (เปอร์เซ็นต์) |
มันสมอง ระบบประสาท ในเนื้อเยื้อ ของเหลวกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ตับ หัวใจ ปอด ไต ม้าม ช่องทางเดินอาหาร ต่อมอะดรินอล กระดูกโครงสร้าง ต่อมอื่นๆ |
32.0 31.3 30.0 12.6 10.8 7.5 5.1 5.0 3.8 1.2 0.7 0.2 |
23 22 21 9 8 5 4 4 3 1 - - |
รวมทั้งร่างกาย |
140.2 |
100 |
หมายเหตุ ค่าคอเลสเตอรอลวัดจากเลือดได้ง่ายที่สุด
ตัวอย่างของอวัยวะที่สามารถผลิตคอเลสเตอรอล ได้แก่ ตับ ลำไส้เล็ก ต่อมอะดรินัล สมอง แม้แต่รก (placenta)ในครรภ์ของมารดา ก็สามารถผลิตคอเลสเตอรอลสำหรับสร้างฮอร์โมนเพศเพื่อป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์แท้งก่อนกำหนดคลอด
มีตัวเลขโดยประมาณว่า จำนวนคอเลสเตอรอลที่ใช้หมุนเวียนซึ่งเกิดขึ้นจากการผลิตเองของร่างกาย บวกด้วยการบริโภคจากอาหาร กับลบด้วยจำนวนที่ใช้หมดไปของแต่ละบุคคลในแต่ละวันก็คือจำนวนที่เหลือหมุนเวียนเท่ากับ 1100 มิลลิกรัม ในจำนวนนี้มาจากการบริโภคอาหารเพียงวันละ 200 ถึง 300 มิลลิกรัมเท่านั้น หรือหมายความว่า คอเรสเตอรอลมาจากอาหารต่อวันไม่ถึง 30%
- วิธีที่จะไม่เพิ่มค่าคอเลสเตอรอลจากอาหารให้แก่ร่างกาย มีหลักการจำและเตือนตนเองดังนี้
- อาหารใดที่ขึ้นมาจากดินโดยตรง เช่น พืช ผัก ผลไม้ กะทิ ทุเรียน แม้แต่น้ำมันที่คั้นออกมาจากพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่ว น้ำมันมะกอก จะไม่มีคอเลสเตอรอลอยู่ในอาหารนั้น แต่มีข้อยกเว้นในเรื่องน้ำมันและกะทิที่จะกล่าวถึงภายหลัง
- อาหารใดที่ได้จากสัตว์ หรือกำเนิดมาจากสัตว์ก่อนจะส่งต่อมาถึงมนุษย์ จะมีคอเลสเตอรอลแฝงอยู่ด้วยเสมอทั้งสิ้น เช่น เนื้อสัตว์ น้ำมันจากเนื้อสัตว์ ไข่ นมวัว นมพร่องมันเนย (มีคอเลสเตอรอล 10 มิลลิกรัมต่อแก้ว 8 ออนซ์) หรือโยเกิร์ตก็มี 15 มิลลิกรัมต่อถ้วย รวมทั้งเนย (จากนม) ก็มี 30 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ แต่เนย (จากถั่ว) จะมีจำนวนคอเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม
- ร่างกายมีกลไกในการสังเคราะห์ หรือผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาใช้เองได้จากอาหารทั่วไปที่ไม่มีค่าคอเลสเตอรอลรอเลยก็ได้ แม้แต่จากอาหารที่มีต้นกำเนิดขึ้นมาจากดิน เช่น พืช ผัก ผลไม้ อย่างไรก็ดี ร่างกายกลับไม่มีกลไกยับยั้งการผลิตคอเลสเตอรอลจึงอาจมีการผลิตเกินความจำเป็นได้
เงื่อนไขที่ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นเองเกินความจำเป็น มักเกิดจากปัจจัยดังนี้
- กินอาหารมากเกินความจำเป็น (in-take calories in excess of our body’s requirement)
- อาหารที่มีน้ำตาลปริมาณมาก มีไขมันอิ่มตัว (saturated fat) รวมทั้งเป็นไขมันจากเนื้อสัตว์และไขมันทรานส์ (trans fat)
- ความเครียด ความวิตกกังวลจะทำให้ต่อมอะดรินัล สร้างฮอร์โมนบังคับให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาเผื่อไว้ใช้ยามจำเป็น หรือบางครั้งมากเกินความจำเป็น
- คอเลสเตอรอลในเลือด อาจจะถูกชักนำโดยการขนส่งพาไปทำลาย หรือพาไปเพิ่มจำนวนก็ได้ เครื่องมือขนส่งที่ว่านั้นมีชื่อว่า “ไลโปโปรตีน” (lipoprotein) เป็นสารประกอบโปรตีนผสมกับไขมันล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด ตัว lipoprotein ซึ่งเกิดจากส่วนผสมของไขมันและโปรตีนนั้น หากมีอัตราส่วนไขมันมากแต่โปรตีนน้อยเรียกว่าเป็น “ไลโปโปรตีน ความหนาแน่นต่ำ” นั้นคือ “low density lipoprotein” เรียกย่อๆ ว่า LDL แต่หากมีอัตราส่วนของไขมันน้อยแต่โปรตีนมาก (เฉพาะโปรตีนมีเนื้อแน่นกว่าไขมัน) เรียกว่า “ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง” นั่นคือ “high density lipoprotein” เรียกย่อๆ ว่า HDL
คอเลสเตอรอลที่เกาะ LDL หรือเรียกสั้นๆ ว่า LDL-Cholesterol หรือ LDL-c นั้น จะมีบทบาทช่วยกันขนส่งคอเลสเตอรอลจากตับออกไปแจกจ่ายจนทั่วร่างกาย LDL จึงถือว่า เป็นตัววายร้ายที่ไปเพิ่มค่าคอเลสเตอรอลในร่างกายให้สูงขึ้น
แต่คอเลสเตอรอลที่จับเกาะกับ HDL ซึ่งถูกเรียกว่า HDL-c จะมีบทบาทตรงกันข้ามกับ LDL-cd กล่าวคือ มันจะพากันจับคอเลสเตอรอลทั่วร่างกายกลับคืนไปให้ตับทำลาย (โดยผลิตเป็นน้ำดี) ฉะนั้น HDL จึงถือว่าเป็นพระเอกเพราะช่วยให้คอเลสเตอรอลทั่วร่างกายมีค่าลดลง และหาก HDL เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ค่าคอเลสเตอรอลรวมจะลดลงได้มากเท่านั้น
Total cholesterol หรือค่าคอเลสเตอรอลรวมในปัจจุบันสามารถคำนวณได้จากสูตร
Total C = HDL + LDL + 20 % triglyceride
ค่าปกติของ Cholesterol
ผู้ใหญ่ / ผู้สูงอายุ cholesterol : < 200 mg/dL
เด็ก cholesterol : 120-200 mg/dL
ค่าผิดปกติ
ในกรณีที่น้อยกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
- ค่าคอเรสเตอรอลต่ำที่คนทั่วไปมักชอบ มีศัพท์แพทย์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “hypocholesterolemia” ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าเกิดสภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ก็ได้
- อาจมีเซลล์ตับอักเสบ (Hepatitis)
- อาจเกิดปัญหาท่อในถุงน้ำดีอุดตัน
- อาจเกิดสภาวะโรคไต (Nephrotic syndrome)
- อาจเกิดสภาวะดีซ่านจากถุงน้ำดีอุดตัน (Obstructive jaundice) ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วถูกตับทิ้งออกทางท่อถุงน้ำดีไม่ได้จึงทำให้ค่า bilirubin ในเลือดสูงขึ้น มีผลต่อเนื่องทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง นั่นคือ อาการดีซ่าน แต่ขณะเดียวกันคอเลสเตอรอลก็มีค่าสูงขึ้นในกระแสเลือดเพราะทิ้งออกไม่ได้เช่นกัน
- อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ จึงอาจผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารไขมันและโปรตีนไม่ได้
คำแนะนำเพิ่มเติม
- ค่า Total cholesterol ตัวเดียว อาจไม่ใช่ตัวบ่งชี้ที่แม่นยำในการวินิจฉัยสุขภาพ
- เมื่อจะเจาะเลือดคราวใดก็สมควรจะได้ตรวจให้ครบ Lipid Profile คือ เอชดีแอล แอลดีแอล และไตรกลีเซอไรด์ ทุกครั้งจะดีกว่า
คำถามที่น่าสนใจ
คำถาม: ความแตกต่างระหว่าง carotid dropper ultrasound กับ MRI คืออะไรคะ
คำตอบ: การตรวจวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดแคโรติดตีบ (Carotid Atherosclerosis) นั้น สามารถทำได้หลายวิธี โดยวิธีที่นิยมใช้คือ การทำ Doppler Ultrasound หรือ MRI แต่หลายท่านอาจสงสัยว่าแบบใดดีกว่ากัน จะเปรียบเทียบอย่างง่ายดังนี้
- หากสงสัยก้อน Plaque หรือก้อนไขมันขนาดราว 2-5 มิลลิเมตร การใช้ Doppler Ultrasound หรือ MRI ไม่ต่างกัน
- หากสงสัยก้อนเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร แนะนำให้ทำ MRI
แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำ MRI สูงกว่าการทำ Doppler Ultrasound และต้องมีการฉีดสี จึงแนะนำให้ทำ Doppler Ultrasound เบื้องต้นก่อน แล้วทำ MRI แต่คุณหมอบางท่าน อาจพิจารณาทำ MRI ไปเลยก็ได้