ส่วนประกอบของเลือด (Composition of blood)

หน้าที่และลักษณะที่สำคัญของแต่ละส่วนประกอบของเลือด ซึ่งมีทั้งการขนส่ง ป้องกัน และควบคุม
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ส่วนประกอบของเลือด (Composition of blood)

เลือดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง (Connective tissue) ที่มีลักษณะเป็นของเหลวไหลเวียนอยู่ภายในร่างกาย ในร่างกายคนปกติมีเลือดอยู่ประมาณ 7-8 % ของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 4-6 ลิตร โดยปริมาณของเลือดนั้นจะแตกต่างกันไปตามอายุ น้ำหนักตัว เพศ และสภาวะสุขภาพ เลือดจะไหลเวียนไปทั่วร่างกายโดยผ่านหลอดเลือดแดง(Arteries) หลอดเลือดดำ (Veins) และหลอดเลือดฝอย (Capillaries) หน้าที่ร่วมกับระบบต่างๆ ภายในร่างกายเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติได้อย่างประสิทธิภาพ

หน้าที่หลักของเลือด

หน้าที่หลักของเลือดมี 3 อย่างคือ การขนส่ง การป้องกัน และการควบคุม โดยมีกระบวนการดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1. ขนส่ง 

เลือดทำหน้าที่ขนส่งสารไปตามส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย ได้แก่

    1. ขนส่งแก๊ส โดยใช้ฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง (Red blood cell) จับกับแก๊สออกซิเจน (O2) ที่ปอดแล้วขนส่งไปตามส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย ขณะเดียวกันฮีโมโกลบินจะรับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากเนื้อเยื่อ เพื่อนำกลับไปขับออกที่บริเวณปอด
    2. ขนส่งสารอาหาร เมื่อเรารับประทานอาหาร ระบบย่อยอาหารจะทำงานย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด แล้วเลือดจะนำสารอาหารที่่จำเป็นขนส่งไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย
    3. ขนส่งของเสีย เลือดจะนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการภายในร่างกายไปขับออกที่บริเวณไต ผิวหนัง ปอด
    4. ขนส่งฮอร์โมน เลือดเป็นตัวกลางสำคัญในการขนส่งฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อไปตามอวัยวะเป้าหมายเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ภายในร่างกาย

2. ป้องกัน 

เลือดทำหน้าที่ในการป้องกันเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย เช่น เชื้อโรค สารพิษ หรือเซลล์มะเร็ง ภายในเลือดจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาว (White blood cell) ที่คอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมดังกล่าว หรือเมื่อร่างกายเกิดบาดแผล เกล็ดเลือด (Platelet) ที่อยู่ในเลือดก็จะมีกลไกการห้ามเลือด (Hemostasis) เพื่อป้องกันการสูญเสียเลือด

3. ควบคุม 

เลือดทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของของเหลวในกระแสเลือดกับของเหลวในเนื้อเยื่อ โดยการแลกเปลี่ยนของน้ำ ควบคุมประมาณกรด-เบสของร่างกายให้คงที่ หรือเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด และควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่สภาวะสมดุล

ส่วนประกอบภายในเลือด

เมื่อนำเลือดมาปั่นเหวี่ยงที่ความเร็วสูง จะพบว่าเลือดจะแยกออกเป็น 3 ชั้นตามความหนาแน่นของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่

1. ชั้นเม็ดเลือดแดง (Red blood cell: RBC) 

เป็นส่วนประกอบที่มีความหนาแน่นมากที่สุดจะอยู่ชั้นล่างสุด

2. ชั้นบัฟเฟอร์ (Buffer coat) 

เป็นชั้นถัดจากชั้นเม็ดเลือดแดงขึ้นมา จะเห็นเป็นชั้นบางๆ สีขาวของเกล็ดเลือด (Platelet: PLT) และเม็ดเลือดขาว (White blood cell: WBC)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3. ชั้นน้ำเลือด (Plasma) 

เป็นชั้นอยู่บนสุด

ส่วนประกอบต่างๆ ภายในเลือดมีลักษณะและหน้าที่ที่ต่างกัน ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไป

ลักษณะและหน้าที่ของเม็ดเลือดแดงเป็นอย่างไร?

เม็ดเลือดแดง (Red blood cell) มีรูปร่างกลม ค่อนข้างแบน และมีรอยเว้าตรงกลางทั้งสองด้าน ไม่มีนิวเคลียส เม็ดเลือดแดงมีฮีโมโกลบินเป็นโปรตีนที่สำคัญต่อการขนส่งออกซิเจน (O2) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  นอกจากนี้ผนังของเม็ดเลือดแดงมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถบีบตัวผ่านหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กได้ เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ในการรับออกซิเจน (O2) จากปอด เพื่อส่งไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย และรับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากเนื้อเยื่อต่างๆ มากำจัดออกที่บริเวณปอด ปกติเม็ดเลือดแดงมีอายุเฉลี่ยประมาณ 120 วัน การเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดแดงภายในหลอดเลือดจะเกิดการเสียดสีกับผนังหลอดเลือด หรือการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ ภายในเลือด ส่งผลให้ผนังเม็ดเลือดแดงเสื่อมสภาพและเกิดการแตกหักได้ง่าย เม็ดเลือดแดงที่มีอายุมากจะถูกทำลายที่บริเวณม้าม

ลักษณะและหน้าที่ของเม็ดเลือดขาวเป็นอย่างไร?

เม็ดเลือดขาว (White blood cell) แบ่งออกได้ 5 กลุ่ม ตามลักษณะรูปร่างและหน้าที่ ดังนี้

1. นิวโทรฟิล (Neutrophil) 

เซลล์มีรูปร่างกลม ขนาด 12-15 ไมโครเมตร (µm) นิวเคลียสมีลักษณะหยาบแบ่งออกเป็นหลายพู (Lobe) ประมาณ 2-5 พู คล้ายกับไส้กรอก ภายในเซลล์มีแกรนูลเม็ดเล็กละเอียดย้อมติดสีชมพู โดยแกรนูลนี้เป็นเม็ดที่ไว้เก็บสารเคมีภายในเซลล์ นิวโทรฟิลทำหน้าที่ยับยั้งการบุกรุกของเชื้อจุลชีพ เป็นเซลล์แรกที่เคลื่อนที่สู่บริเวณที่มีบาดแผลหรือบริเวณที่มีเชื้อโรค จะทำลายเชื้อโรคด้วยการจับกิน

2. อีโอซิโนฟิล (Eosinophil) 

เซลล์มีรูปร่างกลม ขนาด 12-17 ไมโครเมตร (µm) นิวเคลียสแบ่งออกเป็น 2 พู ภายในเซลล์มีแกรนูลเม็ดขนาดใหญ่เท่ากันย้อมติดสีส้มปนชมพู อีโอซิโนฟิลมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อพยาธิ การอักเสบ และการแพ้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3. เบโซฟิล (Basophil) 

เซลล์มีรูปร่างกลม ขนาด 8-12 ไมโครเมตร (µm) นิวเคลียสแบ่งออกเป็น 2-3 พู มีแกรนูลเม็ดหยาบขนาดไม่เท่ากันบางครั้งแกรนูลอาจบังนิวเคลียสได้ ย้อมติดสีม่วง เบโซฟิลมีการตอบสนองต่อการแพ้โดยหลั่งสารฮิสตามีนเพื่อขยายหลอดเลือดออกมา

4. ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) 

เซลล์ขนาด 7-10 ไมโครเมตร (µm) เห็นนิวเคลียสเห็นชัดเจน มีขนาดกลมเกือบเต็มเซลล์ ลิมโฟไซต์มีหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอม เช่น เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส เซลล์มะเร็ง โดยการสร้างแอนติบอดี

5. โมโนไซต์ (Monocyte) 

เซลล์ขนาด 10-20 ไมโครเมตร (µm) นิวเคลียสกลม รี หรือเห็นลักษณะซ้อนทับกันคล้ายร่องสมอง ภายในมีโครมาตินละเอียด โมโนไซต์จะทำงานร่วมกับนิวโทรฟิลเพื่อจับกินเชื้อโรคที่เข้ามาภายในร่างกาย และทำหน้าที่ในการนำเสนอสิ่งแปลกปลอมให้กับลิมโฟไซต์เพื่อสร้างแอนติบอดีมากำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ

ลักษณะและหน้าที่ของเกล็ดเลือดเป็นอย่างไร?

เกล็ดเลือด (Platelet) เป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาด 2-4 ไมโครเมตร (µm) ลักษณะคล้ายจานที่มีผิวนูนทั้งสองด้าน มีหน้าที่ในกระบวนการแข็งตัวของเลือด โดยการเกาะกลุ่มบริเวณที่เกิดบาดแผล จากนั้นจะกระตุ้นกลไกลการแข็งตัวของเลือดเพื่อสร้างร่างแหปิดแผลอย่างถาวร ป้องกันการสูญเสียเลือด


รูปที่ 2 เซลล์เม็ดเลือดที่อยู่ภายในร่างกาย

ลักษณะและหน้าที่ของน้ำเลือดเป็นอย่างไร?

น้ำเลือดหรือพลาสมา (Plasma) มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองใส ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 90 % ที่เหลือเป็นโปรตีนชนิดต่างๆ ประมาณ 8 % ที่เหลือเป็นสารอินทรีย์และอิเล็กโทรไลต์ เมื่อเจาะเลือดมาแล้วปล่อยให้เลือดแข็งตัวภายนอก โดยไม่ใส่สารกันเลือดแข็ง จะเรียกของเหลวส่วนนั้นว่า ซีรัม (Serum) ซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายกับพลาสมา แต่ขาดโปรตีนและปัจจัยที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด

โปรตีนในพลาสมามีหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างกัน ปริมาณและคุณภาพของโปรตีนที่ผิดปกติสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ และโปรตีนบางชนิดสามารถตรวจพบได้เฉพาะกรณีที่ร่างกายเกิดความผิดปกติ ดังนั้นการตรวจหาปริมาณโปรตีนแต่ละชนิดสามารถช่วยวินิจฉัยการเกิดโรคได้ โปรตีนสำคัญที่ละลายอยู่ในพลาสมา ได้แก่

1. อัลบูมิน (Albumin) 

เป็นโปรตีนขนาดเล็กและพบมากที่สุดในพลาสมา ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำเข้าและออกภายในหลอดเลือด หากอัลบูมินมีปริมาณลดลง จะส่งผลให้แรงดันในหลอดเลือดลดลงด้วย น้ำที่อยู่ภายในหลอดเลือดจะถูกขับออกไปอยู่ตามเนื้อเยื่อจนเกิดภาวะบวมน้ำ (Edema) นอกจากนี้อัลบูมินยังทำหน้าที่ขนส่งสารที่จำเป็น เช่น ฮอร์โมน กรดไขมัน แคลเซียม และยาชนิดต่างๆ

2. โกลบูลิน (Globulin) 

สามารถแบ่งแยกชนิดของโปรตีนนี้ด้วยกระแสไฟฟ้าได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่

  1. กลุ่มอัลฟ่าโกลบูลิน เช่น alpha1-antitrypsin ทำหน้าที่ในการลดฤทธิ์ของเอนไซม์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการย่อยโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบภายในร่างกาย
  2. กลุ่มเบต้าโกลบูลิน เช่น ทรานสเฟอร์ริน (Transferrin) ทำหน้าที่ขนส่งเหล็กไปตามเนื้อเยื่อที่ต้องการเหล็ก และไปยังอวัยวะที่มีการสะสมเหล็ก
  3. กลุ่มแกรมมาโกลบูลิน เช่น อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เป็นแอนติบอดีที่ทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

3. ไฟบริโนเจน (Fibrinogen) เป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ในกระบวนการช่วยให้เลือดแข็งตัว

นอกจากโปรตีนแล้วยังมีสารอินทรีย์อื่นๆ ที่อยู่ในพลาสมาด้วย ได้แก่ สารอาหาร ฮอร์โมน ของเสีย และอิเล็กโทรไลต์ ความสำคัญของอิเล็กโทรไลต์คือช่วยรักษาความต่างศักย์ระหว่างภายในกับภายนอกเซลล์ให้คงที่ เพื่อให้ระบบการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างสมบูรณ์

ส่วนประกอบของเลือดแต่ละชนิดมีความสำคัญและทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ และในสภาวะที่ถูกบุกรุกหรือบาดเจ็บ ส่วนประกอบเหล่านี้จะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นภายในร่างกาย ดังนั้นปริมาณและคุณภาพของส่วนประกอบของเลือดที่ผิดปกติสามารถบ่งบอกถึงสภาวะที่ผิดปกติของร่างกายได้


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นีโลบล เนื่องตัน. เคมีของเลือด. ใน: นีโลบล เนื่องตัน, บรรณาธิการ, ชีวเคมี. ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ฉบับพิมพครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: บริษัทธรรมสาร จํากัด, 2542: 575-649.
Saladin KS. Anatomy and physiology – the unity of form and function. 3rd ed. New York: McGraw-Hill; 2004.
Lindsay BJ. Amino acids and Proteins. In: Bishop ML, Fody EP, Schoeff L, eds. Clinical chemistry principles, procedures, correlations. 5th ed. Baltimore: Lippincott Williams & Wilkins, 2005: 179-218.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?
วิตามิน (Vitamins) คืออะไร?

ร่างกายของคุณต้องการวิตามินที่สำคัญถึง 13 ชนิดในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม