กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ตัวเหลือง เกิดจากอะไรได้บ้าง?

เผยแพร่ครั้งแรก 14 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ตัวเหลือง เกิดจากอะไรได้บ้าง?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการตัวเหลือง หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “ดีซ่าน” เป็นอาการที่พบได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ มีสาเหตุมาจากการสะสมของสารบิลิรูบินซึ่งถูกสลายมาจากฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง
  • โรคหลายชนิดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองได้ เช่น โรคตับ โรคโลหิตจาง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีหมู่เลือดไม่ตรงกับแม่ก็สามารถพบภาวะตัวเหลืองได้ตั้งแต่คลอด
  • ภาวะแทรกซ้อนจากอาการตัวเหลืองสามารถรุนแรงได้ถึงขั้นทำให้สมองพิการ สูญเสียการรับรู้ และไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้
  • วิธีรักษาอาการตัวเหลืองมีหลายวิธี โดยจะรักษาไปตามอาการ หรือโรคที่ทำให้ตัวเหลือง ส่วนวิธีป้องกันอาการตัวเหลืองก็ทำได้ไม่ยาก หากคุณไม่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงทำให้เกิดาอาการตัวเหลือง ก็เพียงดูแลตนเองให้ร่างกายแข็งแรงก็เพียงพอแล้ว (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

อาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน (Jaundice) เป็นอาการที่พบได้ตั้งแต่ในเด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งโดยส่วนมากมักเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาการตัวเหลืองมักมาพร้อมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีไข้ 

ดังนั้นหากพบว่า เราหรือคนใกล้ตัวมีอาการตัวเหลืองผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรักษาโดยด่วน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง

อาการตัวเหลือง ส่วนมากเกิดจากการสะสมของสารที่มีชื่อว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ตามเนื้อเยื่อต่างๆ จนทำให้ผิวหนังกลายเป็นสีเหลือง โดยบิลิรูบินเป็นสารที่ถูกสลายมาจากฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดแดง ปกติจะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ 

แต่หากตับไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้ หรือมีบิลิรูบินในร่างกายมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลืองได้ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีบิลิรูบินสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไปได้เช่นกัน ได้แก่

1. เป็นโรคตับ 

เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์ หรือโรคมะเร็งตับ ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินออกจากร่างกายได้ 

อาการที่พบนอกเหนือจากตัวเหลือง ตาเหลือง ได้แก่ ปวดท้องรุนแรงบริเวณชายโครงขวา ท้องโต คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ ปัสสาวะสีเข้ม 

2. ท่อน้ำดีอุดตัน 

สาเหตุมักมาจากเนื้องอก และนิ่วในถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีไหลย้อนกลับมาที่ตับ และกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องตรงกลางบริเวณสะดือร้าวไปถึงหลัง มีไข้ หนาวสั่น และคันตามเนื้อตัว

3. มีการติดเชื้อ 

เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ บี และซี หรือติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของตับ และระบบท่อน้ำดีผิดปกติ อาการที่พบจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ มีตัวเหลืองตาเหลืองเล็กน้อย ไปจนถึงปวดท้องรุนแรง มีไข้ อ่อนเพลีย เช่นเดียวกับโรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์

4. เป็นโรคเลือด 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือด หรือโรคโลหิตจางซึ่งมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ อาจทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองได้เนื่องจากมีบิลิรูบินสะสมในร่างกายมาก 

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มักพบภาวะซีด ตับม้ามโต อ่อนเพลีย หอบเหนื่อยด้วย ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย และ โรคขาดเอนไซม์ G6PD

5. มีเลือดออกในร่างกาย 

เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร ก็อาจพบอาการตัวเหลือง หรือตาเหลืองได้เช่นกัน ร่วมกับพบอวัยวะที่มีเลือดออกทำงานผิดปกติด้วย

6. สาเหตุอื่นๆ 

เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือทารกที่มีหมู่เลือดไม่ตรงกับแม่ ก็พบภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอดได้บ่อยเช่นกัน

นอกจากนี้ อาการตัวเหลืองอาจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับสารบิลิรูบินก็ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า เช่น มีภาวะวิตามินเอเกิน ทำให้มีการสะสมของสารแคโรทีนอยด์ในร่างกาย จนผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม และบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของอาการตัวเหลือง

หากเกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง จากการสะสมของบิลิรูบินในร่างกายเป็นเวลานาน ก็อาจเกิดภาวะบิลิรูบินเป็นพิษได้ 

เนื่องจากบิลิรูบินจะแพร่จากกระแสเลือดไปยังสมอง และทำลายเซลล์สมอง จนทำให้เกิด "ภาวะสมองพิการเฉียบพลันจากบิลิรูบิน (Acute Bilirubin Encephalopathy") ซึ่งมักพบในเด็ก โดยเฉพาะทารกที่ตัวเหลืองแต่แรกคลอด 

ผู้ที่สมองถูกทำลายจากบิลิรูบินจะมีอาการเซื่องซึม สับสน มีพัฒนาล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง จนถึงขั้นสูญเสียการรับรู้ และไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้

การรักษาอาการตัวเหลือง

การรักษาอาการตัวเหลืองจะแตกต่างกันไปตามโรคที่เป็นสาเหตุ  เช่น

  • การใช้ยา เช่น ยาต้านไวรัส เพื่อรักษาโรคตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือยาถ่ายพยาธิ เพื่อรักษาพยาธิใบไม้ในตับ
  • การผ่าตัด ใช้เพื่อรักษาภาวะเนื้องอก และนิ่วในถุงน้ำดี
  • การฉายรังสี และเคมีบำบัด สำหรับการรักษาโรคมะเร็งตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดี
  • การตัดม้าม อาจจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยโรคโลหิตจางชนิดรุนแรง ที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมาก
  • การส่องไฟรักษา จะทำในเด็กทารกที่มีอาการตัวเหลืองแต่แรกคลอด โดยแสงที่ใช้จะสามารถลดระดับบิลิรูบินในร่างกายได้
  • การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นวิธีรักษาสำหรับเด็กที่มีบิลิรูบินในเลือดสูงมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

การป้องกันอาการตัวเหลือง

  • กรณีอาการตัวเหลืองจากความผิดปกติของตับและท่อน้ำดี สามารถป้องกันได้โดยการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ งดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ ใส่ใจสุขอนามัยในการรับทานอาหาร และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
    นอกจากนี้ คุณยังควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า การทำงานของตับ และระบบน้ำดียัวเป็นปกติ
  • กรณีอาการตัวเหลืองที่เกิดจากโรคเลือด หรือภาวะโลหิตจาง อาการตัวเหลืองจากสาเหตุนี้มักเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่ไม่สามารถป้องกันได้ สิ่งที่ทำได้ คือ พยายามดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมอาการของโรค

อาการตัวเหลืองมีปัจจัยที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ แต่หากคุณรู้สึกว่าตนเอง หรือคนใกล้ชิดมีอาการตัวเหลือง ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น ผลข้างเคียงของอาการตัวเหลืองนั้นร้ายแรง และไม่สามารถทำให้คุณดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

คุณจึงต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเอาไว้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับวิตามินเสริมแต่พอดี หมั่นออกกำลังกายเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อที่ร่างกายจะได้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง หรือหากมีโรคประจำตัวเสี่ยงมีอาการตัวเหลือง ก็ควรหมั่นไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อควบคุมอาการของโรคไว้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)