กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

การตรวจหัวใจแบบ Echo วิธีที่ช่วยในการตรวจพบและวินิจฉัยโรคหัวใจได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
เผยแพร่ครั้งแรก 6 พ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 7 ธ.ค. 2022 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 พ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

รู้หรือไม่ว่า คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจสูงถึงเกือบ 433,000 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 20,855 คน ต่อปี หรือ ชั่วโมงละ 2 คน จากสถิตินี้จะเห็นว่า โรคหัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัว และทุกคนยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ด้วย เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ความเครียด สภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการตรวจเช็คความเสี่ยงโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยหนึ่งในวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพคือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo คืออะไร?

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram: Echo) หรือเรียกง่ายๆ ว่า การตรวจหัวใจแบบ Echo คือ การส่งคลื่นเสียงความถี่สูงที่ปลอดภัยต่อร่างกายเข้าไปยังบริเวณทรวงอก เมื่อคลื่นเสียงผ่านอวัยวะต่างๆ จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ระบบจะนำข้อมูลที่สะท้อนกลับนั้นไปประมวลผลเป็นภาพ ซึ่งจะแสดงรูปร่าง ขนาด การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจได้ค่อนข้างชัดเจน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การตรวจหัวใจแบบ Echo นี้ นับว่ามีประโยชน์ในการประเมินการทำงานของหัวใจ สามารถบอกได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจหนาเท่าใด หัวใจโตหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวดีหรือเปล่า จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค ตรวจหาความรุนแรง และติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo เหมาะกับใคร?

การตรวจหัวใจแบบ Echo เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
  • ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น
  • ผู้ที่มีอาการบวมตามร่างกาย ซึ่งสงสัยว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจ โดยโรคหัวใจที่ทำให้เกิดอาการบวมตามร่างกาย ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ และโรคที่เยื่อหุ้มหัวใจ การตรวจหัวใจแบบ Echo จะช่วยบอกว่าอาการบวมนี้เกิดจากโรคหัวใจหรือไม่

เนื่องจากการตรวจหัวใจแบบ Echo เป็นการตรวจเฉพาะทาง ใช้วินิจฉัยโรคเชิงลึก ดังนั้นแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการที่สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้ตรวจหัวใจแบบ Echo ในทันที แต่จะพิจารณาประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เอกซเรย์ทรวงอกก่อน

หากพบว่ามีแนวโน้มเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจจริง จึงค่อยพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจหัวใจแบบ Echo เพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป

ทั้งนี้ผลการตรวจที่ได้จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของหัวใจ เช่น การบีบตัวของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ขนาดหัวใจผิดปกติ เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo มีกี่รูปแบบ?

การตรวจหัวใจแบบ Echo แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

  1. Transthoracic Echocardiogram (TTE) คือการทำ Echocardiogram ผ่านทางผนังหน้าอก เป็นการตรวจหัวใจแบบ Echo ประเภทที่นิยมมากที่สุด และเป็นวิธีมาตรฐาน เนื่องจากทำได้ง่าย สะดวก ไม่ต้องมีการเตรียมตัวที่ซับซ้อน และค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่สูงนัก ภาพสะท้อนที่ได้สามารถให้รายละเอียดได้ดี
  2. Transesophageal Echocardiogram (TEE) คือการทำ Echocardiogram โดยการสอดกล้องทางปากสู่หลอดอาหาร เป็นการตรวจเพื่อบันทึกภาพของหัวใจจากด้านในของทางเดินอาหาร เนื่องจากทางเดินอาหารอยู่ด้านหลังของหัวใจ ทำให้การตรวจวิธีนี้ได้เห็นการเคลื่อนไหวของหัวใจด้านหลังได้ชัดกว่าการตรวจด้วยวิธี TTE ซึ่งตรวจจากหน้าอกด้านนอกเท่านั้น

แพทย์มักใช้ TEE ตรวจในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีโรคที่ส่วนด้านหลังหัวใจหรือส่วนที่อยู่ติดกับหลอดอาหาร ซึ่งการตรวจด้วยวิธีแรกให้ผลไม่ชัดเจน เช่น ในผู้ที่อ้วนหรือผนังหน้าอกหนามาก แต่การตรวจวิธีนี้จะตรวจเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น ไม่ใช่การตรวจมาตรฐานเหมือนประเภทแรก เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อหลอดอาหารได้ แต่ก็พบได้น้อยมาก (น้อยกว่า 0.5%)

ข้อดีของการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

การตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TTE มีข้อดีหลายประการ ดังนี้

  • เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเจ็บปวดใดๆ ต่อร่างกาย
  • ตรวจได้ในกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะคลื่นเสียงความถี่สูงนี้มีคุณสมบัติสำคัญคือ ไม่ก่ออันตรายใดๆ ต่อเซลล์ ไม่ทำให้เซลล์กลายพันธุ์หรือเกิดการเจริญที่ผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง
  • ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ ต่อร่างกาย บางรายอาจเกิดอาการแพ้เจลที่ใช้ทาบริเวณผิวหนัง แต่พบได้น้อยมาก

ส่วนการตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TEE นั้น มีข้อดีดังนี้

  • สามารถตรวจโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือดที่อยู่ด้านหลังของหัวใจ เช่น หัวใจห้องซ้ายบน ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ ได้ชัดเจนกว่าวิธี TTE
  • ไม่มีข้อจำกัดด้านความอ้วน ไขมัน รูปร่างทรวงอกของผู้ป่วย เพราะเป็นการสอดกล้องลงไปที่หลอดอาหารโดยตรง โดยไม่ผ่านอวัยวะอื่นๆ กีดขวาง

ข้อจำกัดของการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

การตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TTE นับเป็นการตรวจมาตรฐานที่แพทย์นิยมทำในผู้ป่วยที่สงสัยว่าหัวใจมีการทำงานผิดปกติ แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ดังนี้

  • ตรวจดูได้เฉพาะโครงสร้างหัวใจ แต่จะไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่อ้วนมาก ผอมมาก มีถุงลมโป่งพอง มีผนังหน้าอกหนา มีช่องระหว่างซี่โครงที่แคบ หรือผู้ป่วยที่มีผนังหน้าอกผิดรูป อาจทำให้ภาพที่ได้ไม่ชัดเจนและส่งผลทำให้แปลผลได้ลำบาก เนื่องจากไขมัน อากาศ หรือกล้ามเนื้อไปขัดขวางการทำงานของคลื่นเสียง
  • เครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งยังเป็นการตรวจเฉพาะทางซึ่งต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจเท่านั้น ทำให้การตรวจจำกัดอยู่เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศูนย์โรคหัวใจและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเท่านั้น

ส่วนการตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TEE นั้น มีข้อจำกัดดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • เป็นการสอดกล้องสู่หลอดอาหาร ต้องมีการใช้ยาระงับปวด ยาแก้ปวด หรืออาจต้องใช้ยาสลบในขณะตรวจด้วย
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน มีโรคบริเวณช่องคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร โรคที่เกี่ยวเนื่องกับกระดูกสันหลังบริเวณคอ โรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการแข็งตัวของเลือด หรือกำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการตรวจด้วยวิธีนี้
  • มีโอกาสพบภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าการตรวจแบบ TTE เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองบริเวณปากและลำคอ อึดอัด หายใจลำบาก อาจมีเลือดออกเล็กน้อย ชีพจรเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ
  • ค่าใช้จ่ายในการตรวจสูงกว่าการตรวจแบบ TTE

การเตรียมตัวก่อนการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

การตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TTE นับว่ามีความปลอดภัยสูงมาก ผู้เข้ารับการตรวจจึงไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารใดๆ แต่หากมีการรับประทานยาประจำใดๆ จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพราะฤทธิ์ยาอาจมีผลต่อการตรวจและการทำงานของหัวใจได้

ขณะที่การตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TEE นั้นมีความซับซ้อนมากกว่า โดยจำเป็นต้องเตรียมตัวดังนี้

  • งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ (สามารถจิบน้ำได้เพียงเล็กน้อย)
  • ควรมีผู้ดูแลและพากลับบ้านหลังการตรวจ และห้ามขับรถเป็นเวลา 12 ชั่วโมง เพราะจะมีอาการง่วง มึนงง จากฤทธิ์ยาคลายกังวล

ขั้นตอนการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

การตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TTE มีขั้นตอนดังนี้

  1. เปลี่ยนเสื้อผ้าให้พร้อมสำหรับการตรวจ ผู้หญิงต้องถอดเสื้อชั้นในออก
  2. เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ตรวจนอนบนเตียงราบ ตะแคงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย มือซ้ายพาดขึ้นบน
  3. เจ้าหน้าที่จะทำการติดอุปกรณ์เพื่อเฝ้าสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้บริเวณทรวงอกเพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจ
  4. จากนั้นแพทย์จะใช้หัวตรวจทาด้วยเจลเย็นๆ ขยับไปมาบนผนังทรวงอก หัวตรวจจะสร้างคลื่นเสียง ซึ่งจะถูกแปลงเป็นภาพหัวใจให้เห็นบนจอรับสัญญาณ
  5. ผู้ป่วยควรหายใจออกและกลั้นไว้ช่วงสั้นๆ เป็นพักๆ เพราะอากาศในปอดอาจมีผลต่อความชัดเจนของภาพที่เห็น
  6. แพทย์จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-45 นาที ระหว่างการตรวจผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงการกดของเครื่องมือ บนหน้าอกเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงใดๆ
  7. หากผลที่ได้ไม่ชัดเจน สามารถตรวจซ้ำในวันเดียวกันได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง

ส่วนการตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TEE มีขั้นตอนดังนี้

  1. เปลี่ยนเสื้อผ้าให้พร้อมสำหรับการตรวจ ผู้หญิงต้องถอดเสื้อชั้นในออก หากสวมใส่ฟันปลอมต้องถอดออกเช่นกัน
  2. เจ้าหน้าที่จะให้อมยาชาประมาณ 20 นาที แล้วจึงให้กลืนยา หลังจากนั้นอาจพ่นยาชาที่คอ ให้ยาคลายวิตกกังวล และให้ออกซิเจนร่วมด้วย
  3. แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย จากนั้นค่อยๆ สอดท่อเข้าทางปากจนถึงระดับที่ต้องการ อาจรู้สึกว่าแพทย์ขยับท่อไปมา แต่จะไม่รบกวนการหายใจ
  4. ขณะที่แพทย์ตรวจ เจ้าหน้าที่จะวัดชีพจร ความดันโลหิตและประเมินการหายใจร่วมด้วย เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
  5. แพทย์จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-45 นาที
  6. หลังการตรวจ ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำร้อน-เย็นจัด จนกว่ายาชาจะหมดฤทธิ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  7. หากมีอาการผิดปกติหลังการตรวจ เช่น เจ็บคอ เลือดออก หายใจลำบาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ค่าใช้จ่ายในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo

การตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TTE มีให้บริการทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ สำหรับโรงพยาบาลรัฐนั้น ราคาเริ่มต้นที่ครั้งละ 2,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเริ่มต้นที่ 3,000-4,000 บาท ซึ่งบางโรงพยาบาลอาจนำการตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TTE ไปรวมกับโปรแกรมตรวจหัวใจอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 7,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรายการที่ตรวจ รวมทั้งค่าบริการทางการแพทย์และค่าบริการทางโรงพยาบาล

ขณะที่การตรวจหัวใจแบบ Echo ในรูปแบบ TEE นั้น สำหรับโรงพยาบาลรัฐ ราคาเริ่มต้นที่ครั้งละ 4,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเริ่มต้นที่ 6,000-7,000 บาทขึ้นไป

หัวใจนับเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกาย สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ เช่น ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ควรตรวจหัวใจอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง หากพบความผิดปกติจะได้รีบวางแผนการรักษาได้ทัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของตัวคุณเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Echo
รีวิว ตรวจเอคโค่ (ECHO) หัวใจ ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2 | HDmall


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ตรวจ ECHO หัวใจคืออะไร จำเป็นไหม? อ่านสรุปได้ที่นี่, (https://hdmall.co.th/c/echocardiogram).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)