กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Circadin (ตัวยา Melatonin)

เผยแพร่ครั้งแรก 6 ส.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นและพบว่า ยังช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้

ด้วยความที่ยังไม่มีการศึกษาและรับรองถึงประสิทธิภาพของเมลาโทนิน ในการรักษาภาวะเจ็บป่วยใดๆ โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) เมลาโทนินจึงใช้เป็นยาทางเลือกเพื่อช่วยรักษา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การใช้เมลาโทนินในเด็ก

มีการนำมาใช้เพื่อรักษาเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder (ADHD))  แต่มีการวิจัยระบุว่าไม่ควรใช้เมลาโทนินในเด็ก เนื่องจากปริมาณยาที่มากเกินไปอาจทำให้เด็กเกิดอาการชักได้ และอาจรบกวนพัฒนาการของร่างกายในช่วงวัยรุ่นเนื่องจากมีผลต่อฮอร์โมนตัวอื่นๆ ด้วย

การใช้เมลาโทนินในภาวะ Jet lag

Jet lag คือ ภาวะที่ร่างกายเกิดการอ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่พอ ปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากเวลาที่เปลี่ยนไป (changing of time zone) มักเกิดจากการนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศที่ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง 

มีการวิจัยระบุว่า เมลาโทนินสามารถช่วยให้อาการ jet lag ดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว กระฉับกระเฉง ลดอาการง่วงตอนกลางวันและภาวะเหนื่อยล้า แต่ไม่ได้ช่วยให้หลับเร็วขึ้น

ข้อควรระวังของเมลาโทนิน

มีการจำหน่ายเมลาโทนินในหมวดอาหารเสริมสมุนไพร (herbal supplement) เนื่องจากไม่มีการควบคุมมาตรฐานของการผลิตสินค้าสมุนไพร จึงควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น กินยาตามที่แพทย์กำหนดและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว ดังต่อไปนี้

  • โรคเบาหวาน
  • อาการซึมเศร้า
  • ความดันโลหิตสูง หรือต่ำ
  • มีเลือดออกหรือมีภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ
  • โรคลมชัก
  • โรคภูมิต้านตนเอง
  • กินยาป้องกันร่างกายต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะ (prevent organ transplant rejection)
  • กินยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drugs) เนื่องจากเมลาโทนินอาจรบกวนการทำงานของยาได้

ภาวะฝันกลางคืนเนื่องจากเมลาโทนิน

มีรายงานว่า พบอาการฝันร้ายหรือฝันแปลกๆ หลังใช้เมลาโทนิน เนื่องจากการกินในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลรบกวนการทำงานของระบบนาฬิกาในร่างกายและเพิ่มอาการฝันร้ายในบางคน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การใช้เมลาโทนินในหญิงตั้งครรภ์

เมลาโทนินอาจรบกวนการตกไข่และทำให้ผู้หญิงบางคนตั้งครรภ์ยากขึ้นจึงควรปรึกษาแพทย์หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ 

ผลข้างเคียงของเมลาโทนิน

ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปของเมลาโทนิน (ควรแจ้งแพทย์หากผลข้างเคียงใดต่อไปนี้รุนแรงขึ้นหรืออาการไม่ดีขึ้น)

  • อาการง่วงนอนในเวลากลางวัน
  • อารมณ์หดหู่ซึมเศร้า
  • หงุดหงิด
  • ปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ มึนงง
  • เต้านมโตขึ้นในผู้ชาย
  • ปริมาณอสุจิลดลงในผู้ชาย
  • ความต้องการทางเพศลดลง

ปฏิกิริยาของเมลาโทนินต่อยาอื่น

ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่กินประจำทั้งหมด รวมถึงอาหารเสริม สมุนไพร วิตามิน และสารที่ใช้คลายเครียด โดยเฉพาะยาที่ระบุไว้ในส่วนคำเตือน หรือยาต่อไปนี้

ปฎิกิริยาของเมลาโทนินที่อาจเกิดขึ้นได้

  • อาจรบกวนระบบการคิด หรือการนอนและตื่นได้หลายวัน หากคุณต้องเดินทางไปในสถานที่ที่มีโซนเวลาต่างกัน (jet lag)
  • เกิดอาการง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ หรือใช้เครื่องจักรอย่างน้อยสี่ชั่วโมงหลังใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะคาเฟอีนสามารถเพิ่มระดับเมลาโทนินในร่างกายได้

ปริมาณการใช้เมลาโทนิน

  • ยาเม็ด ครีมทาผิวหนัง lozenges ที่ละลายภายใต้ลิ้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์ ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แนะนำ
  • รักษาอาการนอนไม่หลับ ควรใช้ปริมาณ 0.3 - 5 มิลลิกรัม ก่อนนอน (เงื่อนไขของสภาพร่างกายและอายุที่แตกต่างกันจะต้องใช้ยาในปริมาณที่แตกต่างกัน) หากเริ่มใช้ยาเป็นครั้งแรกควรเริ่มใช้ในปริมาณต่ำสุด และควรใช้เมลาโทนินก่อนนอนหรือเมื่อคุณพร้อมที่จะนอนหลับ
  • กรณี jet lag ให้กินก่อนเวลานอนในวันที่คุณมาถึงจุดหมายปลายทางและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 - 5 วัน

กรณีกินเมลาโทนินเกินขนาด

อาการของการกินยาเมลาโทนินเกินขนาด ดังนี้

  • ง่วงนอนและส่งผลต่อการนอนหลับ
  • ปวดศีรษะ
  • ท้องเสีย

หากคุณสงสัยว่า  มีการให้ยาเกินขนาดควรติดต่อแผนกพิษวิทยาหรือห้องฉุกเฉินทันที

กรณีกินยาเมลาโทนินไม่ครบขนาด

เมลาโทนินมักใช้เมื่อจำเป็น ดังนั้นอาจไม่อยู่ในตารางการใช้ยาประจำวัน หากคุณลืมกินยา ควรกินเม็ดที่ลืมให้เร็วที่สุดเท่าที่จำได้ ยกเว้นใกล้ช่วงเวลาที่ต้องกินยามื้อต่อไป ควรข้ามเม็ดที่ลืมและกินเม็ดต่อไปตามตารางการกินยาปกติ ไม่ควรกินเพิ่มเป็น 2 เท่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเมลาโทนิน

คำถาม: แพทย์ไม่ให้ลูกชายของฉันใช้เมลาโทนินเพื่อช่วยในการนอนหลับแต่ไม่ได้บอกเหตุผล หากกินแล้วจะเกิดอันตรายหรือไม่ ?
คำตอบ: อาจมีสาเหตุหลายประการที่แพทย์บอกว่าไม่ควรกินเมลาโทนิน เช่น

  • อาจมีปฏิกิริยา หรือขัดขวางการทำงานของยาอื่นๆ ที่กินอยู่เป็นประจำ
  • เมลาโทนินยังไม่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้ ความบริสุทธิ์ ความเสี่ยง และข้อดี
  • ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควรพูดคุยกับแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดว่า ทำไมถึงไม่อนุญาตให้ใช้

คำถาม: จะปลอดภัยไหมหากต้องกินเมลาโทนิน ร่วมกับยาเหล่านี้ Flexeril, Celexa, Neurontin, clonazepam, levoxyl, zestoretic ?
คำตอบ: เมลาโทนินยังไม่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ในด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้ ความบริสุทธิ์ ความเสี่ยง และข้อดี จึงไม่สามารถตอบได้ชัดเจน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

คำถาม: ถ้าฉันกินเมลาโทนินชนิดเม็ดขนาด 3 mg ทุกคืนจะเป็นอย่างไรบ้าง ?
คำตอบ: โดยทั่วไป แนะนำให้ใช้เมลาโทนิน ในระยะเวลาสั้นๆ ปริมาณ 3 mg เป็นขนาดยาปกติ โดยร่างกายเริ่มตอบสนองต่อยาที่ 0.15 mg ในเพศชายและ 0.1 mg ในเพศหญิง หากคุณต้องการใช้เพื่อช่วยในการหลับนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์

คำถาม: เมลาโทนินสามารถใช้เพื่อช่วยในการนอนไม่หลับของเด็กวัย 8 ขวบได้หรือไม่ ?
คำตอบ: เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตในสมองจากกรดอะมิโน tryptophan ถูกสร้างขึ้นและปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อความมืด และช่วยควบคุมจังหวะการหลับและการตื่นในเวลากลางวันหรือกลางคืนตามธรรมชาติของร่างกาย ระดับของเมลาโทนินในเลือดจะสูงที่สุดในช่วงเวลานอน

อ้างอิงตามสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (The National Institute of Health) การใช้เมลาโทนินมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับความปลอดภัยในเด็ก มีการศึกษาการใช้ในเด็กที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ รวมทั้งภาวะปัญญาอ่อน (mental retardation), ภาวะบกพร่องของพัฒนาการทางสติปัญญา (autism), ความผิดปกติทางการมองเห็น, โรคลมชัก แสดงให้เห็นว่า 1. ช่วงเวลาก่อนการหลับลดลง (หลับเร็วขึ้น) 2. ช่วงเวลาหลับนานขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่ขายเป็นอาหารเสริมในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีการทดสอบอย่างละเอียดด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพยา เหมือนยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสามารถวางตลาดได้โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือใดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพ ตราบเท่าที่บริษัทจัดจำหน่ายเหล่านี้ไม่ได้อ้างว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถป้องกัน หรือรักษาโรคใดๆ ได้ 

นอกจากนี้อาหารเสริมส่วนใหญ่ไม่ได้รับการทดสอบเพื่อหาค่าความบริสุทธิ์หรือปฏิกิริยากับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่นๆ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้

คำถาม: การให้เมลาโทนินกับเด็ก 10 ขวบ มีอันตรายอย่างไร?
คำตอบ: เมลาโทนินยังไม่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้ ความบริสุทธิ์ ความเสี่ยง และข้อดี และยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

คำถาม: เมลาโทนินมีความปลอดภัยแค่ไหนในการรักษาอาการนอนไม่หลับ และทำไมจึงทำให้ฉันปวดศีรษะในวันรุ่งขึ้น ?
คำตอบ: ประสิทธิภาพหลักๆ ของเมลาโทนิน คือ ช่วยให้หลับเร็วขึ้น ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของเมลาโทนิน ได้แก่ อาการปวดศีรษะ, ง่วงนอน และคลื่นไส้  ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงใดๆ ที่ดูเหมือนว่าเป็นภาวะผิดปกติ

คำถาม: ฉันเป็นคนหลับแล้วตื่นง่าย และถ้าตื่นขึ้นตอนกลางคืนก็ไม่สามารถนอนหลับอีกได้โดยง่าย ส่งผลให้เป็นคนนอนไม่พอ ฉันอยากใช้เมลาโทนินเพื่อช่วยให้หลับลึกและนานขึ้น แต่ฉันได้ยินว่า อาจมีผลให้เกิดการสูญเสียความทรงจำ เป็นความจริงหรือ ?
คำตอบ: เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในสมองโดยต่อม pineal และสร้างจากกรดอะมิโน tryptophan ความมืดจะช่วยกระตุ้นการผลิตและการปล่อยเมลาโทนินสู่ร่างกาย ซึ่งแสงสว่างจะเป็นตัวยับยั้งการสร้างเมลาโทนิน

ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าเมลาโทนิน มีบทบาทต่อ ระบบนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย และการทำงานของร่างกายหลายๆ อย่าง ซึ่งเมลาโทนินจะอยู่ในระดับสูงสุดก่อนนอน และเมลาโทนินชนิดสังเคราะห์มีการใช้รักษาภาวะป่วยทางการแพทย์หลายชนิด โดยเฉพาะความผิดปกติของการนอนหลับ

อ้างอิงตาม The National Center for Complementary and Alternative Medicine ได้แสดงให้เห็นว่า เมลาโทนินอาจช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ สามารถหลับได้เร็วขึ้น ประโยชน์ของเมลาโทนินที่สำคัญ คือ ช่วยผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของนาฬิกาชีวิต สามารถหลับได้ดีขึ้น 

ผลการศึกษาของเมลาโทนิน (ซึ่งโดยมากยังไม่ใช่การศึกษาที่มีคุณภาพ) มีหลักฐานชี้ว่า เมลาโทนินช่วยให้หลับเร็วขึ้น เพิ่มระยะเวลานอนหลับให้ยาวขึ้น การศึกษาเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในตอนนี้ ซึ่งการศึกษาในระยะสั้นได้แสดงให้เห็นว่าเมลาโทนินนั้นปลอดภัย เมื่อใช้ในปริมาณที่แนะนำโดยศูนย์แพทย์ทางเลือก (National Center for Complementary and Alternative Medicine)

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า เมลาโทนินเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับ Coumadin (warfarin) นอกจากนี้มีรายงานของผู้เคยใช้ซึ่งมีความกังวลว่าเมลาโทนินอาจเพิ่มความเสี่ยงของการชัก ความดันโลหิตลดลง เพิ่มระดับคอเลสเตอรอล มีความสัมพันธ์กับจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงของโรคต้อหิน 

นอกจากนี้มีความกังวลว่า เมลาโทนินอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆ และอาหารเสริมบางอย่าง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย วิงเวียนหรือปวดศีรษะ หงุดหงิด ง่วงนอน และผลข้างเคียงอื่นๆ ที่มีรายงาน เช่น มีอาการสับสน ทรงตัวไม่ดี เดินละเมอ  ฝันแปลกๆ ฝันร้าย ปวดศีรษะ การเดินไม่สมดุล คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องเกร็ง อารมณ์แปรปรวน เช่น ใจลอยและเศร้า รวมถึงอาการทางจิต เช่น อาการหลอนและหวาดระแวง สูญเสียความทรงจำ

คำถาม: ดูเหมือนว่าเมื่อใดที่ฉันใช้เมลาโทนินก่อนนอน ฉันมักตื่นขึ้นมาด้วยอาการปวดศีรษะในเช้าวันรุ่งขึ้น เป็นเพราะอะไร ?
คำตอบ: ตามที่อ้างอิงโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ เมลาโทนินจัดว่า ปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่แนะนำเป็นระยะเวลาสั้นๆ ผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดของเมลาโทนินที่มีการศึกษาทางคลินิก ได้แก่ ความเมื่อยล้า เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หงุดหงิดและง่วงนอน รายงานผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจทำให้พบในเช้าวันรุ่งขึ้น ได้แก่ ภาวะสับสน เลอะเลือน ฝันละเมอ ฝันร้าย

ผลิตภัณฑ์ที่ขายเป็นอาหารเสริมในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับการทดสอบอย่างละเอียดเหมือนผลิตภัณฑ์ยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ซึ่งต้องแสดงให้เห็นว่า ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถวางตลาดได้โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือใดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพตราบเท่าที่บริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่อ้างถึงการรักษาโรคเฉพาะใดๆ 

นอกจากนี้อาหารเสริมส่วนใหญ่ไม่ได้รับการทดสอบความบริสุทธิ์ หรือปฏิกิริยากับยา อาหาร หรือสมุนไพรและอาหารเสริมอื่นๆ โดยทั่วไปอาหารเสริมควรอยู่ภายใต้การดูแลของเภสัชกร

คำถาม: มียาชนิดใดบ้างที่ไม่สามารถกินร่วมกับเมลาโทนินได้?
คำตอบ: เมลาโทนินสร้างขึ้นตามธรรมชาติในร่างกายเพื่อตอบสนองต่อการรับรู้ของแสง ในกรณีของอาหารเสริมเมลาโทนินถูกนำมาใช้เพื่อลดอาการนอนไม่หลับ รักษาภาวะ jet lag ป้องกันเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคมะเร็ง 

อาหารเสริมไม่ได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) เหมือนกับยาตามใบสั่งแพทย์ สมุนไพรและอาหารเสริมไม่จำเป็นต้องทดสอบประสิทธิภาพและความบริสุทธิ์หรือความปลอดภัย แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบในเรื่องผลการรักษาที่ผู้ผลิตกล่าวอ้าง

ผลข้างเคียงทางคลินิกที่เป็นไปได้และปฏิกิริยากับยาอื่นๆ มีดังนี้

  • มีรายงานว่าผู้ป่วยที่ใช้ยา warfarin มีเลือดออกเพิ่มขึ้น
  • ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่ใช้ยา nifedipine
  • พบอาการง่วงนอนในผู้ป่วยที่ได้รับ fluvoxamine เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตตามกฎหมายและการตรวจพบสารปนเปื้อนด้วยโลหะที่เป็นพิษหรือยาอื่น ๆ ดังนั้นควรซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรจากแหล่งที่เชื่อถือได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน

ในสหรัฐฯ เมื่อซื้ออาหารเสริม ควรตรวจดูว่า ข้างขวดมีสัญลักษณ์ USP (United States Pharmacopeia) หรือ DSVP (Dietary Supplement Verification Program) หรือไม่ องค์กรเหล่านี้รับประกันการอ้างเนื้อหาบนฉลาก และควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้

คำถาม: ผลกระทบระยะยาวของการกิน เมลาโทนินทุกคืนคืออะไร ?
คำตอบ: มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า เมลาโทนินจะช่วยฟื้นฟูการนอนหลับเมื่อระบบนาฬิกาภายในของร่างกายถูกรบกวน เช่น คนทำงานกลางคืนและต้องนอนในเวลากลางวัน หรือในภาวะ Jet lag เมลาโทนินเป็นอาหารเสริมที่อาจทำให้เกิดความเมื่อยล้า เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หงุดหงิด และง่วงนอนได้ ความเมื่อยล้าอาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ในช่วงเช้าในปริมาณสูง  เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการง่วงนอนในเวลากลางวัน  คนที่ขับรถ หรือใช้เครื่องจักรกลหนักจึงควรระมัดระวัง และควรทำความคุ้นเคยกับผลต่อร่างกายจากการใช้เมลาโทนิน

Rozerem (ramelteon) เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ที่กระตุ้นตัวรับในสมองเหมือนเมลาโทนินและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในด้านการรักษาอาการนอนไม่หลับ  การศึกษาทางคลินิกของ Rozerem มีระยะเวลานานถึง 6 เดือน

คำถาม: ระดับยาที่ปลอดภัยของเมลาโทนินคือเท่าไร ? และระดับยาที่เป็นอันตรายคือเท่าไร ?
คำตอบ: ปริมาณสูงสุดที่แนะนำสำหรับการใช้เมลาโทนิน คือ 5 มิลลิกรัม มีการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ระบุว่า ต้องใช้เมลาโทนินที่เป็นอาหารเสริมในปริมาณมากกว่าธรรมชาติ 3 ถึง 10 เท่า 

ในบางกรณีปริมาณยาที่น้อยลงมีประสิทธิผลทำให้ง่วงนอนเท่ากับปริมาณยาที่สูง แนะนำให้ใช้เมลาโทนินในระยะเวลาสั้นๆ (ไม่เกิน 4 สัปดาห์ต่อเนื่อง)

คำถาม: เป็นความจริงหรือไม่ที่คนเราไม่ควรกินเมลาโทนินหากมีอาการซึมเศร้า ?
คำตอบ: เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อม pineal ในสมอง ช่วยควบคุมฮอร์โมนอื่นๆ และรักษาสมดุลของนาฬิการ่างกาย

คำถาม: เด็กอายุ 5 ปี กินเมลาโทนินขนาด 1.5 มิลลิกรัมในเวลากลางคืนเพื่อการนอนที่ดีขึ้น จะมีปัญหาอะไรไหม ?
คำตอบ: เมลาโทนินเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพื่อช่วยกระตุ้นการนอนหลับ บรรเทาอาการ jet lag นอนไม่หลับทั่วไป และนอนไม่หลับเนื่องจากการทำงานเป็นกะ  

เมลาโทนิน จะช่วยให้หลับเร็วขึ้น แต่จะไม่ทำให้คุณภาพของการนอนหลับดีขึ้น ผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับเมลาโทนิน คือ อาการง่วงนอน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ 

ผลข้างเคียงที่พบได้น้อยคือ อาการตัวสั่น วิตกกังวล ปวดท้องเกร็ง หงุดหงิด สับสน คลื่นไส้อาเจียน และความดันโลหิตต่ำ จึงไม่ควรรับประทานพร้อมกับแอลกอฮอล์  benzodiazepines เช่น Valium (diazepam) Xanax (alprazolam) และ Ativan (lorazepam) หรือยากดประสาทตัวอื่นๆ 

จากข้อมูลยาที่มีอยู่ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 14 ปี ใช้เมลาโทนิน 2- 5 มิลลิกรัม เพื่อรักษาภาวะนอนไม่หลับ ปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยานี้กับเด็กหรือคนอื่นๆ

คำถาม: เมลาโทนินทำให้ผมร่วงหรือไม่ ?
คำตอบ: เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่พบได้ตามธรรมชาติในร่างกาย แต่สามารถสังเคราะห์ได้จากห้องปฏิบัติการ หน้าที่หลักของเมลาโทนินในร่างกาย คือ ควบคุมวงจรการหลับและตื่นของร่างกายในระหว่างวัน  

ความมืด ทำให้ร่างกายสร้างเมลาโทนินมากขึ้น ซึ่งจะส่งสัญญาณให้ร่างกายเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับ แสงสว่างจะลดการผลิตเมลาโทนินและส่งสัญญาณให้ร่างกายเตรียมตัวตื่น บางคนที่มีปัญหาในการนอนหลับจะมีระดับเมลาโทนิน ค่อนข้างต่ำ จึงคิดว่าการเพิ่มเมลาโทนินจากอาหารเสริมจะช่วยให้พวกเขานอนหลับได้  หลายคนจึงใช้เมลาโทนินเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย

เมลาโทนินในประเทศไทยมีการจัดจำหน่ายในชื่อการค้า Circadin® 2 mg จัดเป็นยาอันตราย (จำหน่ายโดยเภสัชกร)

1. ขนาดยาเมลาโทนินสำหรับการรักษาอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยอายุมากกว่าหรือตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป คือ 2 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยกินยาช่วงเย็นก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 - 2 ชั่วโมง โดยอาจกินยาขนาดนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 13 สัปดาห์

2. ขนาดยาเมลาโทนินสำหรับการรักษาหรือป้องกันอาการเมาเวลาหรืออาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับเนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศโดยข้ามช่วงเวลาหรืออาการ Jet lag คือ 2 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งก่อนนอน เริ่มกินยาตั้งแต่ก่อนเข้านอนวันแรกที่เดินทางไปต่างประเทศที่เปลี่ยนช่วงเวลาจากประเทศเดิม แนะนำให้กินประมาณ 3 คืนติดต่อกันและต่อเนื่องจนสามารถหลับเองได้ตามปกติ โดยทั่วไป คือ ประมาณ 3 - 5 วันจึงหยุดยาได้

3. ไม่แนะนำให้ใช้ยาเมลาโทนินในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นเนื่องจากข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยยังไม่เพียงพอ

4. ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาเมลาโทนินในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตที่ผิดปกติ ดังนั้นอาจพิจารณาใช้ยาในขนาดปกติ แต่ควรระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ

5. ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดในเรื่องการใช้ยาเมลาโทนินในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติ แต่มีการศึกษาพบว่า ระดับเมลาโทนินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางวัน เนื่องจากผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติจะขจัดยาได้ลดลง ดังนั้นไม่แนะนำให้ใช้ยาเมลาโทนินในผู้ป่วยที่ตับผิดปกติ

**อนึ่ง: การกินยานี้ควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่ควรหัก บด หรือแบ่งยา เพราะจะทำให้ระบบที่ทำให้ตัวยาออกฤทธิ์นานถูกทำลาย**


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Zawn Villines, elatonin for sleep: What to know (https://www.medicalnewstoday.com/articles/325181.php), May 15, 2019
Atli Arnarson, Side Effects of Melatonin: What Are the Risks? (https://www.healthline.com/nutrition/melatonin-side-effects), February 8, 2018
drugs.com, Melatonin (https://www.drugs.com/melatonin.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)