มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อยมาก มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส HHV-8 ซึ่งจะพบได้ในผู้ที่ติดเชื้อ HIV แล้วควบคุมการติดเชื้อได้ไม่ดี หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยมะเร็งชนิดนี้จะส่งผลกระทบต่อผิวหนังและอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วยอย่างรุนแรง
มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาสามารถแบ่งได้ 4 ชนิดหลัก แต่ละชนิดจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน และมีวิธีการรักษาแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (HIV-related Kaposi's sarcoma) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี โรคนี้สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาต้านการติดเชื้อเอชไอวี (Antiretroviral Therapy: ART) เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเอชไอวีแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาฟื้นตัว ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยรังสีรักษา หรือการใช้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นโรคและความกว้างของมะเร็งที่เป็นโรค รวมถึงอาการที่เป็นด้วย
- คลาสสิกคาโปซิซาร์โคมา (Classic Kaposi's sarcoma) พบได้บ่อยในวัยกลางคน และผู้สูงอายุชาวเมดิเตอเรเนียน หรือชาวตะวันออกกลาง คาดว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดนี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่อ่อนแอต่อเชื้อไวรัส HHV-8 อย่างไรก็ตามโรคนี้มักไม่จำเป็นต้องรับการรักษา เว้นแต่อาการของโรคจะแย่ลงอย่างชัดเจน มักรักษาโดยการใช้รังสีรักษา และผ่าตัดตุ่มต่างๆ ออก
- คาโปซิซาร์โคมาที่สัมพันธ์กับการปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant-related Kaposi's sarcoma) เป็นภาวะแทรกซ้อนของการปลูกถ่ายอวัยวะที่พบได้น้อย มักเกิดขึ้นเพราะผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายเข้าไปใหม่ ทำให้ติดเชื้อไวรัส HHV-8 ปกติแล้วจะรักษาด้วยการลดขนาดยา หรือหยุดยากดภูมิคุ้มกัน หากสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอาจต้องใช้รังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัดแทน
- Endemic African Kaposi's sarcoma เป็นมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาที่พบได้ในคนเชื้อชาติแอฟริกัน และเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในภูมิภาคนี้ ผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นโรคนี้ทุกรายต้องตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการใช้ยาต้านเอชไอวี ส่วนผู้ป่วยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเอชไอวี จะรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และในบางรายอาจต้องใช้รังสีรักษา
อาการของโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา
อาการที่พบได้บ่อยที่สุดในระยะเริ่มแรกคือ มีตุ่มขนาดเล็ก แบน กดไม่เจ็บ มีสีแดงหรือสีม่วงคล้ายรอยฟกช้ำตามช่องปากหรือตามผิวหนัง เมื่อเวลาผ่านไปตุ่มเหล่านี้อาจเจริญเติบโตเป็นก้อนเนื้อที่เรียกว่าโนดูล (Nodules) และอาจรวมเข้ากับตุ่มอื่นๆ ได้
นอกจากผิวหนังภายนอกแล้ว อาจพบความผิดปกติที่อวัยวะภายในต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด และระบบย่อยอาหาร จนทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการบวมที่แขนหรือขา
- หายใจลำบาก
- ไอเป็นเลือด
- เจ็บหน้าอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
สาเหตุของมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา
มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา เกิดจากไวรัสที่ชื่อว่า Human Herpesvirus 8 (HHV-8) หรือที่เรียกว่า Kaposi's sarcoma-associated herpesvirus (KSHV) ไวรัสชนิดนี้ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผ่านทางน้ำลาย หรือติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอดบุตร
ไวรัส HHV-8 เป็นไวรัสชนิดที่พบได้บ่อย แต่คนส่วนใหญ่ที่ติดไวรัสชนิดนี้จะไม่เป็นมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา เว้นแต่จะมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เชื้อไวรัส HHV-8 แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากในเลือดจนควบคุมไม่ได้ จึงทำให้เกิดก้อนเนื้อหรือเนื้องอกขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาสูง
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
หากพบว่าตนเองมีอาการที่อาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา และเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เป็นและตรวจดูผิวหนังเพื่อดูลักษณะของตุ่มราบที่มองเห็นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร มีสีผิดปกติอย่างไรบ้าง หากแพทย์สงสัยว่าคุณเป็นมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา ก็อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังนี้
- การตรวจการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Test) การตรวจนี้จะทำในผู้ที่ยังไม่เคยตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
- การเก็บตัวอย่างผิวหนังไปตรวจ (Skin Biopsy) การใช้ตัวอย่างเซลล์จากผิวหนังบริเวณที่มีอาการไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง
- การส่องกล้องตรวจ (Endoscopy) การใช้อุปกรณ์ที่เป็นท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นได้ และมีกล้องอยู่ปลายท่อ โดยสอดเข้าไปผ่านลำคอเพื่อดูว่าปอด หรือ ระบบย่อยอาหารได้ผลกระทบจากโรคมะเร็งชนิดนี้หรือไม่
- การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography (CT) Scan) เพื่อดูว่าต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้รับผลกระทบจากมะเร็งหรือไม่
หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาจะสามารถควบคุมโรคได้เป็นเวลาหลายปี ซึ่งที่ผ่านมาก็พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น
เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเดียวกันในช่วงๆเวลาใกล้กันได้หรือไม่คะ