กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

โรคร้ายที่มากับการนอน นอนไม่พอ นอนมากเกินไปส่งผลอะไรบ้าง

นอนไม่พอ นอนมากเกินไป รู้หรือไม่ว่าเกิดโรคร้ายได้
เผยแพร่ครั้งแรก 29 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
โรคร้ายที่มากับการนอน นอนไม่พอ นอนมากเกินไปส่งผลอะไรบ้าง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เวลาในการนอนที่เหมาะสมต่อวันของวัยผู้ใหญ่ควรจะอยู่ที่ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน (เวลาที่แนะนำคือ 8 ชั่วโมง) แต่ไม่ควรนอนน้อย หรือมากกว่านี้ เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้
  • หากนอนน้อยเกินไปมีความเสี่ยงต่อโรคอันตรายหลายโรค เช่น มะเร็งลำไส้ หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากร่างกายจะเสียสมดุลทั้งระบบย่อยอาหารและระบบฮอร์โมน
  • หากนอนมากเกินไป (เกินกว่า 9 ชั่วโมง) ก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน อาจทำให้สมองช้า ไม่สดใส กลายเป็นคนเฉื่อยชา หรือซึมเศร้า เนื่องจากระดับฮอร์โมนเซโรโทนินและเอ็นดอร์ฟินลดน้อยลง ทำให้รู้สึกไม่มีความสุข
  • ดังนั้นควรปรับเวลานอนให้เหมาะสม ตั้งแต่ก่อน 4 ทุ่มและตื่นเวลา 6 โมงเช้า ไม่ควรเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนเพราะอาจทำให้นอนไม่หลับ รวมถึงไม่ควรใช้ยานอนหลับ หรือยากระตุ้นให้ตื่นจนชิน เพราะอาจส่งผลให้เป็นโรคทางจิตเวชในอนาคตได้
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจปรึกษาปัญหานอนไม่หลับ หรือทำ Sleep test

 การนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนหลับมากจนเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งนั้น เพราะพฤติกรรมการนอนทั้ง 2 แบบนี้มีส่วนทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย

นอนมากไปหรือนอนน้อยไปส่งผลเสียไหม?

การนอนที่ถูกต้องตามหลักสากลในวัยผู้ใหญ่คือ นอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในกลุ่มผู้ที่ชอบนอนดึก หรือนอนไม่หลับ ร่างกายก็จะพักผ่อนไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการเกิดโรค ภาวะผิดปกติมากมาย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจการนอน Sleep Test วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,455 บาท ลดสูงสุด 50%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ส่วนกลุ่มผู้ที่นอนมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันก็จัดว่า นอนมากเกินไปสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่ต่างกัน

โรคและอาการที่เป็นผลกระทบมาจากการนอนหลับจะส่งสัญญาณไม่มากนักในช่วงแรก แต่ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการนอน เช่น จากที่เคยเป็นคนตื่นเช้าก็อาจกลายเป็นตื่นสายขึ้น หรือนอนไม่หลับตอนกลางคืน แต่จะไปง่วงในช่วงสาย หรือบ่ายแทน 

สิ่งที่ตามมาก็คือ อาการของร่างกายที่เริ่มผิดปกติ เช่น จากที่ไม่เคยมีอาการปวดศีรษะก็อาจจะเริ่มปวดมากขึ้น และลุกลามกลายเป็นโรคไมเกรนในเวลาต่อมา

เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการนอนหลับได้ 2 กลุ่มด้วยกันคือ

1. กลุ่มผู้มีอาการนอนหลับไม่เพียงพอ

อาการผิดปกติเริ่มต้นของผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพออาจเป็นการนอนตื่นสายมากขึ้น ง่วงนอนตลอดเวลาในช่วงกลางวัน มีกลิ่นตัวแรง รู้สึกหงุดหงิดและเครียดง่ายกว่าเดิม 

หากทำแบบนี้ต่อไปนานๆ อาจมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังเพราะร่างกายและสมองของผู้ป่วยชินกับการนอนดึกไปแล้ว ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ อีกมากมาย เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจการนอน Sleep Test วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,455 บาท ลดสูงสุด 50%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • มะเร็งลำไส้ การศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กันทางสถิติว่า การนอนน้อยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ คาดว่า เกิดจากการที่นาฬิกาชีวภาพภายในร่างกายถูกรบกวน ทำให้ระบบการทำงานต่างๆ ผิดปกติไป รวมถึงการนอนน้อยทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและมีการหลั่งสารต่างๆ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญขึ้นได้
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ โดยที่มีการศึกษาว่า ชั่วโมงการนอนที่น้อยสัมพันธ์กับการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ อาจเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติกมากกว่าปกติซึ่งมีผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
  • โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่นอนไม่พอ จะทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสและอินซูลินในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะดื้ออินซูลินจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอได้ด้วย
  • ระบบร่างกายรวน การที่ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถเกิดการรวนจนร่างกายทำงานผิดปกติได้ เริ่มจากระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารย่อยไม่ดี การถ่ายอุจจาระไม่เป็นปกติ ท้องเสีย เพราะว่ากระเพาะอาหารเกิดการล้า จึงทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดีเท่าที่ควรนั่นเอง
  • โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายจะมีอาการเริ่มต้นคือ ต้องใช้เวลาเกินกว่า 30 นาทีจึงจะสามารถหลับได้ หรืออาจหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน จากนั้นก็จะไม่สามารถหลับต่อได้อีก นอกจากนี้โรคนอนไม่หลับเรื้อรังยังส่งผลต่อการเข้าห้องน้ำบ่อยทั้งคืนด้วย เพราะร่างกายจะต้องการดูดซับน้ำมากกว่าคนปกติ อาการนี้จะต้องเกิดขึ้นเกิน 1 เดือน จึงจะเรียกว่า “การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง”
  • สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง เพราะการนอนไม่หลับจะทำให้การหลั่งของฮอร์โมน "เทสโทสเทอโรน" (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศสำคัญต่ำลง ทำให้ความต้องการทางเพศลดต่ำลงไปด้วย
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย เพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียเมื่อตื่นเช้า รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่าจนหงุดหงิดง่ายและอารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ อีกทั้งยังทำให้การตัดสินใจต่างๆ ผิดพลาดไปด้วย เนื่องจากสมองพักผ่อนไม่เพียงพอ

เมื่อเห็นรายชื่อโรคและความผิดปกติต่างๆ หลายคนคงอดกลัวไม่ได้ แต่เพื่อความสบายใจ หลายคนอาจเลือกตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจดูการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูระดับไขมันต่างๆ ระดับน้ำตาล วัดระดับความดันโลหิต

หรือหากมีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพ เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อย ก็อาจเลือกตรวจหัวใจ ตรวจเบาหวาน หรือตรวจคัดกรองมะเร็งเพิ่มเติม ตามความเหมาะสม 

วิธีแก้ไขความผิดปกติจากการนอนหลับไม่เพียงพอ

  • พยายามกำหนดเวลานอนให้เป็นเวลา ระหว่างนอนควรปล่อยสมองให้โล่ง หยุดคิดเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้หลับได้เร็วขึ้น หากเข้านอนราว 30 นาทีแล้วยังไม่หลับ ให้ไปทำกิจกรรมอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมานอนใหม่
  • งดดื่มชา กาแฟ และอาหารที่มีส่วนผสมของสารซึ่งสามารถกระตุ้นสมองได้ก่อนนอน ปรับการรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ตรงเวลามากขึ้น รับประทานผักผลไม้และอาหารที่มีประโยชน์ให้มากๆ 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหนัก หรือรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมากๆ ก่อนนอน เพราะจะยิ่งทำให้ย่อยอาหารได้ช้า อึดอัดท้อง จนทำให้นอนไม่หลับ
  • ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้ขับเหงื่อ ทำให้สมองปลอดโปร่งมากขึ้น และยังทำให้นอนหลับได้เร็วขึ้นด้วย
  • งดเล่นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตก่อนนอน 
  • ปิดไฟ ปิดผ้าม่านให้สนิท เพื่อทำห้องนอนให้เงียบและมืดน่านอนมากขึ้น
  • เลือกเตียงและฟูกนอนที่เป็นมาตรฐาน นอนสบาย ไม่แข็งและนุ่มจนเกินไป พร้อมทั้งหาหมอนที่รองรับศีรษะได้พอดีด้วย

2. กลุ่มผู้มีอาการนอนมากเกินไป

เราสามารถเรียกพฤติกรรมการนอนมากเกินไปได้อีกชื่อคือ "โรคนอนเกิน (Hypersomnia)" หรือ "โรคขี้เซา" โดยจำนวนชั่วโมงการนอนจะมากกว่า 8 ชั่วโมงขึ้นไป และจะไม่รู้สึกว่า นอนเท่าไรจึงจะเพียงพอ 

ผู้ป่วยโรคนอนเกินยังมีอาการของโรคอื่นๆ ตามมาได้อีก ดังนี้

  • ทำร้ายสมอง การนอนมากเกินไปจะทำให้สมองผู้ป่วยเฉื่อยชา จนกลายเป็นคนที่คิดอะไรไม่ออก การประมวลผลต่างๆ ช้าลงกว่าเดิม กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา ขยับตัวน้อยลง 

  • อ้วนง่าย น้ำหนักที่เกินเกณฑ์จะส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และต่อให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้อย แต่หากยังคงมีพฤติกรรมนอนมากเกินไปอยู่ก็ยังสามารถเกิดภาวะอ้วนได้ เพราะกระเพาะอาหารไม่ค่อยได้ทำงานนั่นเอง

  • กลายเป็นคนซึมเศร้า ร่างกายของผู้ป่วยโรคนอนเกินจะมีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) และสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขน้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนง่าย รู้สึกว่า ชีวิตไม่มีความสุข 

  • ภาวะมีบุตรยาก ผู้หญิงที่นอนในระยะเวลา 7-8 ชั่วโมงต่อวัน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากกว่าผู้หญิงที่นอนนานเกินวันละ 9 ชั่วโมง เพราะฮอร์โมนและรอบเดือนจะเป็นปกติก็ต่อเมื่อต้องได้รับการพักผ่อนที่พอดีเท่านั้น

  • เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตเร็ว เพราะผู้ที่นอนมากเกินไปมักจะนอนหลับง่ายและนานกว่าคนปกติ ทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้ขยับตัว หรือมีการเผาผลาญพลังงาน ทำให้ไม่สามารถเพิ่มออกซิเจนแก่อวัยวะภายในได้ และเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น

  • เสี่ยงต่อสภาวะการหยุดหายใจแบบเฉียบพลัน เราสามารถเรียกสภาวะนี้ได้อีกชื่อว่า “อาการไหลตาย” สาเหตุนี้เกิดขึ้นจากการดับของสัญญาณสมองทำให้เนื้อสมองตาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการนอนนานมากเกินไป

วิธีแก้ไขความผิดปกติจากการนอนหลับมากเกินไป

  • เข้านอนตรงเวลาทุกวัน 
  • เมื่อตื่นนอนแล้วให้ลุกจากที่นอนทันที อย่าต่อเวลาการนอนออกไปอีก
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนทุกชนิด
  • หากิจกรรมก่อนนอนง่ายๆ เช่น หาหนังสืออ่านสักเล่ม ฟังเพลง เพื่อให้คุณได้ปรับตัวและพัฒนาการนอนหลับที่ดีได้
  • อย่ากลัวจนไม่กล้านอน หรือบังคับตนเองไม่ให้นอนเลยเพราะกลัวว่าจะนอนนานเกินไปอีก เพราะถ้าทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้พฤติกรรมการนอนผิดรูปแบบไปกว่าเดิม และผู้ป่วยอาจกลายเป็นนอนไม่หลับ หรือหลับยาวกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

วิธีการนอนหลับที่ดีและเหมาะสม

  • นอนหลับให้ได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน อย่าให้ชั่วโมงการนอนน้อย หรือมากกว่านี้ และควรกำหนดเวลานอนกับเวลาตื่นที่ตรงเวลาด้วย เวลานอนที่ดีควรก่อน 4 ทุ่ม แล้วตื่นประมาณตี 5-6 โมงเช้า เพียงเท่านี้ ร่างกายก็จะมีการปรับตัวกับพฤติกรรมการนอนแบบใหม่ได้

  • อาบน้ำก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ว่าคุณจะทำงาน หรือเรียนหนักมาแค่ไหน เมื่อกลับถึงบ้าน หรือก่อนเข้านอน ให้พยายามอาบน้ำก่อนนอนทุกครั้งเพราะจะทำให้คุณรู้สึกสบายตัว ไม่เหนียวตัวจากคราบเหงื่อไคลที่เจอมาตลอดทั้งวัน จนทำให้รู้สึกนอนไม่หลับได้

  • ไม่ควรนอนนานๆ เวลากลางวัน ไม่ควรนอนนานเกิน 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับอีกในเวลากลางคืน

  • ทำกิจวัตรให้เป็นระเบียบ มีความตรงต่อเวลาและสม่ำเสมอในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เวลาตื่น เวลากินข้าว เวลาออกกำลังกาย เวลาอาบน้ำ เวลานอน หลายคนอาจเรียกเวลาเหล่านี้ว่า "นาฬิกาชีวิต" เมื่อทุกอย่างเป็นไปอย่างมีระเบียบ สุขภาพกายและใจก็จะดีขึ้นโดยทันตาเห็น

  • ไม่ควรใช้ยานอนหลับ โดยเฉพาะในผู้ป่วยรายที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง เพราะผู้ป่วยควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุด้วยการใช้ยา อีกทั้งการปรับพฤติกรรมการนอนใหม่ด้วยตนเอง จะทำให้ผู้ป่วยมีการนอนหลับที่ดีในระยะยาว 


    ส่วนผู้ป่วยรายที่นอนมากเกินไปก็ไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทเพื่อให้ไม่หลับ หรือปลุกให้ตนเองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการหลอนและกลายเป็นอาการทางจิต หรือประสาทไปในที่สุด

หากมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้ต้องนอนดึกขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เวลาทำงาน ภาระต่างๆ ภายในบ้าน หรือครอบครัว ขอให้คำนึงถึงภาวะสุขภาพของตนเอง เวลาว่างที่พอจะจัดสรรได้กับภาระต่างๆ ที่ต้องทำ และพฤติกรรมการนอนที่เป็นอยู่ควบคู่กันไป 

แล้วปรับตัวกับเวลาในการนอนหลับเข้ากับปัจจัยเหล่านั้น บางทีคุณอาจได้นาฬิกาชีวิตที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง และไม่กระทบต่อสุขภาพด้วย

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจปรึกษาปัญหานอนไม่หลับ หรือทำ Sleep test จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
National Heart, Lung, and Blood Institute, Sleep Deprivation and Deficiency (https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/sleep-deprivation-and-deficiency), 11 October 2019.
Nagai M, Hoshide S, Kario K. Sleep duration as a risk factor for cardiovascular disease- a review of the recent literature. Curr Cardiol Rev. 2010 Feb;6(1):54-61. doi: 10.2174/157340310790231635. PMID: 21286279; PMCID: PMC2845795.
Donga E, van Dijk M, van Dijk JG, et al. A single night of partial sleep deprivation induces insulin resistance in multiple metabolic pathways in healthy subjects. J Clin Endocrinol Metab. 2010;95(6):2963‐2968. doi:10.1210/jc.2009-2430

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับ ด้วยหลักทางการแพทย์
วิธีรักษาอาการนอนไม่หลับ ด้วยหลักทางการแพทย์

นอนไม่หลับ มีทั้งนอนไม่หลับเฉียบพลันและนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง อาการนอนไม่หลับเรื้อรังอาจใช้ยาช่วยได้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อ่านเพิ่ม