เราเคยสังเกตกันบ้างหรือไม่ว่าบางครั้งที่เราทำกิจกรรมเปลี่ยนแปลงจากกิจวัตรประจำวัน อย่างเช่นการเดินทางข้ามทวีปเป็นเวลานานๆ ไกลๆ การเปลี่ยนเวลานอนหรือแม้แต่การทำงานเข้ากะเหล่านี้ จะสังเกตได้ว่าเราไม่สามารถนอนหลับให้ตรงเวลาหรือนอนหลับให้เร็วได้ในคืนนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะนาฬิกาชีวิตของเราที่เคยส่งสัญญาณเตือนร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกตินั่นเอง
นาฬิกาชีวิตคืออะไร
นาฬิกาชีวิตคือการทำงานของร่างกายคนเราที่ถูกควบคุมเป็นวงจร ซึ่งให้มีการกระทำตามเวลา 24 ชั่วโมง เป็นกิจวัตรประจำวันซ้ำๆ วนไป เช่น เวลาของการนอนหลับ การง่วงนอน และการหลั่งฮอร์โมน นาฬิกาชีวิตนี้จะขึ้นอยู่กับแสงสว่างและอุณหภูมิภายในร่างกาย โดยสมองจะมีหน้าที่ควบคุมการทำงานระบบต่างๆ ด้วยการส่งสัญญาณเตือนให้เกิดอาการดังกล่าวเมื่อถึงเวลาที่เคยทำ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การทำงานของนาฬิกาชีวิต
ในสมองของคนเราจะมีกลุ่มเซลล์ที่ชื่อว่า “นิวเคลียสซูพราไคแอสมาติก” ทำหน้าที่ส่งสัญญาณมายังสมองส่วนที่ทำงานควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ เมื่อมีแสง อุณหภูมิ และความมืดมากระตุ้นอย่างเช่นระบบฮอร์โมนหรือระบบควบคุมอุณหภูมิ หากเป็นตอนเช้าก็จะกระตุ้นให้มีการชะลอการหลั่งสารเมลาโทนินเพื่อไม่ให้เกิดการง่วงนอน แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืนก็จะส่งสัญญาณไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินมากขึ้น เพื่อให้เรารู้สึกง่วงนอนและอยากนอนหลับนั่นเอง
ทั้งนี้หากนาฬิกาชีวิตทำงานเปลี่ยนไปถึงขั้นไม่สามารถสั่งระบบการทำงานของร่างกายให้ทำงานตรงเวลาได้ ตัวอย่างเช่นการทำงานเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายต้องนอนหลับพักผ่อนกลับไม่ได้นอน จนส่งผลให้เกิดการนอนผิดเวลาหรือนอนไม่เพียงพอ นานวันก็อาจทำให้ร่างกายเกิดผลกระทบตามมาได้
นาฬิกาชีวิตมีผลกระทบอะไรกับการดำเนินชีวิตบ้าง
นาฬิกาชีวิตมีผลทำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนินได้น้อยลง เมื่อเกิดขึ้นเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจนเกิดเป็นโรคต่างๆ ดังนี้
- เกิดการอ่อนเพลีย เช่น การเดินทางไกล ทำให้ร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
- ปรับตัวไม่ได้ เนื่องจากนอนไม่หลับเพราะต้องทำงานเวลากลางคืน
- ร่างกายทำงานไม่ได้ตามปกติ เช่น เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บร้ายแรงหรือเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงจนทำให้ร่างกายไม่สามารถหลับได้
- เจ็บป่วยง่าย เพราะไม่สามารถควบคุมเวลานอนหลับได้ ทำให้นอนหลับไม่เป็นเวลาหรือหลับได้ทุกที่ (โรคลมหลับ)
วิธีแก้ทำให้นาฬิกาชีวิตกลับมาทำงานได้ดังเดิม
- ปรับเวลานอนหรือเลื่อนเวลานอนให้เร็วกว่าเดิม โดยจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ หากปัญหาเกิดจากการเดินทางไกลแล้วเกิดการหลงเวลาทำให้นอนไม่หลับ แพทย์มักให้ใช้อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสารช่วยในการนอนหลับคือ “สารเมลาโทนิน”
- เลี่ยงการหลับในเวลากลางวันหรือไม่ควรงีบหลับเกิน 20 นาที เมื่อนอนกลางวันมากเกินไปมักทำให้ไม่อยากนอนในตอนกลางคืน หรือทำให้หลับยากและรู้สึกอ่อนเพลีย
- หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีแสงสีฟ้าที่ทำให้ร่างกายตื่นและมีผลกับการทำงานของนาฬิกาชีวิตได้
- เข้านอนให้ตรงเวลา จะเป็นการช่วยให้ร่างกายจำเวลานอนและเวลาตื่นได้ดีขึ้น
- เสริมสร้างบรรยากาศให้น่านอน เช่น ทำห้องให้สงบ ฟังเพลงเบาๆ อาบน้ำอุ่นก่อนนอน ไม่รับประทานอาหารมากเกินไป อุณหภูมิในห้องต้องเย็นสบาย ที่นอนนุ่มกำลังดีเหมาะกับการนอน และไม่เครียดก่อนเข้านอน เป็นต้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำตามความเหมาะสม หรือออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อให้ร่างกายได้รับแสงแดดบ้าง
- หากเป็นโรคลมหลับก็ควรต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและหายขาด จะได้ไม่ส่งผลเสียกับสุขภาพในระยะยาวต่อไป
นาฬิกาชีวิตเป็นสิ่งสำคัญกับร่างกายของมนุษย์ ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ร่างกายนอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ ทำให้ระบบร่างกายสามารถทำงานเป็นไปด้วยดี ดังนั้นเราจึงควรรักษาเวลาแห่งนาฬิกาชีวิตให้ดี เพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงไม่เกิดโรคนั่นเอง