ความหมายของโรคหัวใจ
โรคหัวใจ (Heart Disease หรือ Cardiovascular disease) หมายถึง ภาวะความผิดปกติและโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงาน และส่วนประกอบเกี่ยวกับหัวใจทั้งหมด ซึ่งสามารถแตกแขนงออกไปได้หลายชนิด และสามารถเกิดจากทั้งปัจจัยภายในร่างกาย เช่น โรคแทรกซ้อนอื่นๆ อาการบาดเจ็บหรือความผิดปกติของอวัยวะอื่น และปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การรับสารเคมีต่างๆ เข้าร่างกาย
โรคหัวใจเป็นโรคกลุ่มหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก และยังเป็นกลุ่มโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วย ส่วนในประเภทไทยนั้น จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบว่า มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 432,943 คน และมีแนวโน้มที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะสูงขึ้นในปีถัดๆ ไป ซึ่งโรคหัวใจสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
1. โรคหัวใจที่เป็นแต่กำเนิด
โรคหัวใจที่เป็นแต่กำเนิด คือ โรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นติดตัวมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ส่วนมากมักจะเป็นโรคหัสใจชนิดมีรูรั่วที่ผนังหัวใจ หรือมีลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วเกิดขึ้น หรือผู้ป่วยอาจจะเป็นรวมๆ กันหลายโรคก็ได้
สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ หากความร้ายแรงของโรคไม่ได้ร้ายแรงมาก ก็จะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมานอกจากแพทย์จะได้ยินเสียงหัวใจเต้นผิดปกติเวลาตรวจร่างกาย แต่หากความร้ายแรงของโรคมีความซับซ้อน หรือมีภาวะอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เด็กอาจมีการเจริญเติบที่ไม่สมอายุ มีผิวออกเขียวคล้ำ รวมถึงเจ็บป่วย และเหนื่อยง่ายกว่าเด็กทั่วไป
ซึ่งปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าไปไกลมาก และโรคหัวใจเกือบทุกชนิดก็สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ทางที่ดี หากคุณมีลูกน้อยที่มีอาการคล้ายกับเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติให้เร็วที่สุด
สำหรับตัวอย่างของโรคหัวใจที่เป็นแต่กำเนิดจะได้แก่
1.1 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
นิยามของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease: CHD) คือ กลุ่มภาวะความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกเกิด ซึ่งหากมีการตรวจพบ ก็จะต้องให้เด็กเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาทันทีหลังคลอด สามารถแบ่งออกได้ เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- โรคหัวใจพิการชนิดตัวเขียว: เป็นโรคที่เกิดจากหัวใจของเด็กไม่ได้รับออกซิเจนในเลือดที่เพียงพอ ทำให้เด็กมีสภาพผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ
- โรคหัวใจพิการชนิดไม่มีตัวเขียว: เป็นโรคที่เลือดของเด็กมีออกซิเจนอยู่เพียงพอแล้ว แต่กลับไม่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
อาการที่พบได้มากของทารกที่หัวใจพิการแต่กำเนิดจะได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- พัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป
- มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก
- มีปัญหาด้านการหายใจ
สำหรับส่วนปัจจัยที่ทำให้เด็กเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้นั้น นอกเหนือจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจแล้ว เรายังแบ่งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ออกมาได้อีก 2 ปัจจัยคือ
- ปัจจัยจากมารดา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัดเยอรมัน การบริโภคแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์
- ปัจจัยจากภาวะทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคเทอร์เนอร์
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้น หากไม่ได้รับการรักษาให้ทันเวลา ก็จะเป็นอันตรายต่อเด็กและทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ เช่น ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก รู้สึกปวดศีรษะ อ่อนแรงและเหนื่อยล้าง่าย
อ่านเพิ่มเติม: รวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ประเภท ปัจจัยเสี่ยง การวินิจฉัยและรักษา ทำได้อย่างไร
1.2 โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent ductus arteriosus: PDA) เป็นโรคหัวใจที่มักพบในเด็กทารกเป็นส่วนมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงชื่อ "ดักตัส อาร์เทอริโอซัส (Ductus Arteriosus)" ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดของทารกไหลเข้าไปในปอดในขณะที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เพราะในขณะนั้น เลือดของทารกยังไม่จำเป็นต้องรับออกซิเจนจากปอดก็ได้ และเมื่อเด็กเกิด หลอดเลือดดังกล่าวก็จะปิดไปเองภายในเวลาหลังคลอดไม่นาน ซึ่งโรคนี้จะเกิดขึ้น หากหลอดเลือดดักตัส อาร์เทอริโอซัสนี้ปิดไม่สนิทหลังจากเด็กคลอด
อ่านเพิ่มเติม: "โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน" อีกโรคร้ายทางหัวใจที่พบมากในเด็กทารก
1.3 โรคลิ้นหัวใจรั่ว
โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) มีสาเหตุมาจากลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท หรือโครงสร้างผิดปกติ เสื่อมสภาพ หรือเกิดการติดเชื้อ จนทำให้เลือดที่สูบฉีดออกไปจากหัวใจมีการไหลย้อนกลับ และหัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดให้ออกไปเลี้ยงร่างกายอย่างเพียงพอและสมดุล
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
โรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งหากโรคนี้พบในเด็กแรกเกิด ก็มักจะมาจากความพิการของหัวใจตั้งแต่กำเนิด หรืออาจมาจากพันธุกรรมของคนในครอบครัวซึ่งเคยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจมาก่อน
อาการของโรคลิ้นหัวใจในช่วงแรกจะไม่มีการแสดงออกมามากมายนัก และผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นมาจากโรคลิ้นหัวใจรั่ว เช่น ท้องอืด หน้าบวม เหนื่อยง่าย รู้สึกเวียนศีรษะ จนเมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มเหนื่อยง่ายขึ้นแม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมออกแรงอะไร รวมถึงมีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไอหรือจามเป็นเลือด
2. โรคหัวใจที่เป็นหลังเกิด
โรคหัวใจที่เป็นหลังเกิด แบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ได้แก่
2.1 โรคหัวใจรูห์มาติก
โรคหัวใจรูห์มาติก (Rheumatic heart disease) คือ โรคหัวใจซึ่งเกิดจากอาการเจ็บคออันเนื่องมาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ "สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococcus)" หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบนั่นเอง
หลังจากผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวแล้ว ตัวเชื้อก็จะลุกลามทำให้ผู้ป่วยเกิดเป็นโรค "ไข้รูห์มาติก" โดยจะมีอาการไข้ขึ้น อ่อนเพลีย เจ็บและแน่นหน้าอก หอบ และเกิดอาการหัวใจอักเสบร่วมด้วย
โรคหัวใจรูห์มาติกจะไม่เกิดขึ้น หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา ไม่อย่างนั้นโรคนี้จะทำให้ส่วนประกอบบางส่วนของหัวใจเกิดการอักเสบ และเกิดเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วตามมาได้ ส่วนประกอบของหัวใจที่จะเกิดการอักเสบ ได้แก่
- เยื่อหุ้มหัวใจ
- กล้ามเนื้อหัวใจ
- ลิ้นหัวใจ
ในส่วนของอาการแสดง ผู้ป่วยโรคหัวใจรูห์มาติกจะมีอาการของโรคหัวใจทั่วๆ ไป คือ เหนื่อยง่าย ไอหอบ และเท้าบวม ซึ่งหากอาการผู้ป่วยไม่ทุเลาลง หรือเป็นเรื้อรังมากๆ ผู้ป่วยบางรายจะมีเนื้อเยื่อพังผืดไปเกาะต่อตรงลิ้นหัวใจซึ่งเคยอักเสบด้วย และจะทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจตีบขึ้น อีกทั้งในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการข้ออักเสบเกิดขึ้นด้วย หรือมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของแขน ขา มือ เท้า ร่วมไปกับอาการทางโรคหัวใจ
โรคหัวใจรูห์มาติกสามารถลุกลามส่งผลร้ายแรงถึงขั้นหัวใจวายและเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรละเลยปล่อยให้อาการของโรคดำเนินต่อไปโดยไม่ทำการรักษา ซึ่งการรักษาโรคหัวใจรูห์มาติกนั้นสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ทั้งในรูปแบบรับประทานและแบบฉีด
2.2 โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส เชื้อโรคคอตีบ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อโรคคอตีบพบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็ก ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงเด็กโต สำหรับกลุ่มเชื้อไวรัสที่มักเป็นสาเหตุของโรคนี้ก็คือ กลุ่มเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้จากทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือผ่านมารดาไปสู่ทารกผ่านรกในครรภ์ จนทำให้หัวใจอักเสบ และลุกลามไปทำลายเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจให้ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง
เด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักจะมีอาการรุนแรง และปรับตัวต่อการรักษาไม่ได้จนเสียชีวิตหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ทันเวลา แต่ผู้ป่วยบางรายก็จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และอาการค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ส่วนลักษณะอาการที่พบได้มากของโรคนี้ จะได้แก่
- เหนื่อยง่าย
- หัวใจเต้นรัวแรงหรือช้าเกินไป
- ตัวซีด
- เบื่ออาหาร
- ปวดท้อง
- ตัวเขียวคล้ำ
- อาจมีอาการช็อคร่วมด้วย ซึ่งในกรณีนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่เด็กจะเสียชีวิตได้
รูปแบบการรักษาของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักจะเป็นรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ เพื่อรอให้กล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วยฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้ แต่โอกาสการฟื้นตัวนั้นก็จะขึ้นอยู่กับภาวะ และอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ บางรายใช้เวลาเป็นเดือน และบางรายกล้ามเนื้อหัวใจก็อาจไม่ฟื้นตัวดีขึ้นเลยก็ได้
สำหรับตัวยาที่ใช้รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจจากอักเสบจะประกอบไปด้วย
- ยาช่วยการบีบตัวของหัวใจ
- ยาขยายหลอดเลือด
- ยาขับปัสสาวะ
- เครื่องช่วยหายใจหรือช่วยระบบไหลเวียนเลือด เช่น เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ (Intra-Aortic Balloon Pump: IABP)
2.3 โรคหัวใจเนื่องมาจากความดันโลหิตสูง
โรคนี้พบได้บ่อยทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ รวมถึงในวัยหนุ่มสาวเป็นส่วนมากด้วย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งนั้นเกิดมาจากโรคไต แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นเองได้เมื่อร่างกายมีความดันโลหิตสูงขึ้น เพราะหัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้สามารถสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ
และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง หัวใจก็จะไม่สามารถทำงานหนักต่อไปได้อีก และการสูบฉีดเลือดก็จะอ่อนกำลังลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจวายเกิดขึ้น นั่นคือ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หอบ ไอ และมีอาการบวมน้ำเกิดขึ้น
สำหรับอาการของโรคหัวใจซึ่งมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงนั้น ในช่วงแรกหัวใจของผู้ป่วยจะยังทำงานได้ดีอยู่ และไม่มีอาการของโรคหัวใจแต่อย่างใด แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ และรู้สึกมึนงงบ้าง จึงทำให้การวินิจฉัยของโรคเป็นไปค่อนข้างยาก นอกเสียจากจะมีการตรวจความดันโลหิตเป็นระยะๆ เพื่อให้เห็นความผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ความดันโลหิตที่ปกติสำหรับเด็กโตกับผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 120/80 มม.ปรอท (มิลลิเมตรปรอท)
นอกเหนือจากชนิดและสาเหตุของโรคหัวใจที่กล่าวไปข้างต้นแล้วแล้ว ยังมีโรคและภาวะความผิดปกติอื่นๆ เกี่ยวกับหัวใจที่มีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิดๆ รวมไปถึงปัจจัยด้านสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจขึ้นด้วย เช่น
2.4 โรคหัวใจและหลอดเลือด
ทุกคนคงทราบกันดีว่า หัวใจและหลอดเลือดนั้นมีความสัมพันธ์กันอยู่ เพราะหลอดเลือดจะต้องทำหน้าที่เป็นทางผ่านให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ดังนั้น หากหลอดเลือดหรือตัวหัวใจมีปัญหา โรคและภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ส่วนปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น นอกเหนือจากพันธุกรรม และเชื้อชาติที่ผู้ป่วยอาจได้รับมาจากคนในครอบครัวแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ก็ล้วนเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิดๆ ทั้งนั้น เช่น ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง
อ่านเพิ่มเติม: โรคหัวใจและหลอดเลือดคืออะไร มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไร แล้วป้องกันได้อย่างไรบ้าง
2.5 โรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน
โรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) เป็นโรคหัวใจที่เกิดจากการอุดตันของไขมันคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ จนส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงมากพอ ซึ่งสาเหตุนี้เป็นผลกระทบมาจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง รวมถึงไม่ออกกำลังกาย และไม่ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การเสพยาเสพติดบางประเภท เช่น โคเคน และภาวะความเครียดทางอารมณ์ที่รุนแรง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
อ่านเพิ่มเติม: ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน
2.6 ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis) มีสาเหตุมาจาก กล้ามเนื้อหัวใจชั้นกลางซึ่งทำหน้าที่หดตัวเพื่อให้เลือดได้สูบฉีดเกิดการอักเสบขึ้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น
- เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคบางชนิด เช่น โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ หัดเยอรมัน
- เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบางชนิด เช่น โรคคอตีบ โรคคออักเสบ
- เชื้อรา เช่น เชื้อยีสต์ ราเมือก (Smile molds)
- ยาบางชนิด เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ยาสำหรับโรคลมชัก
- โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกันตนเอง เช่น โรคลูปัส (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
- การสัมผัสสารบางชนิด เช่น สารตะกั่ว สารหนู
อ่านเพิ่มเติม: กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันเกิดจากอะไร อาการ วิธีวินิจฉัยและการรักษามีอะไรบ้าง
2.7 ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) คือ การอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ หรือถุงเยื่อบุซึ่งทำหน้าที่คอยยึดหัวใจของเราให้อยู่ในตำแหน่งคงที่เสมอ ซึ่งอาการที่เด่นชัดที่สุดของภาวะนี้ก็คือ อาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงเหมือนถูกมีดแทง และอาการปวดที่คล้ายกับอาการหัวใจวาย
สาเหตุของการเกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้นยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น
- เชื้อแบคทีเรีย
- สัตว์ปรสิต
- เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV)
- โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิต้านทาน
- อาการบาดเจ็บจากบาดแผลและการฉายรังสี
- ภาวะไตวาย
- การบาดเจ็บจากการรักษา
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการชัก ยาควบคุมการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจ
ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบถือเป็นอาการผิดปกติที่อันตรายมาก และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากเข้ารับการรักษาไม่ทันเวลา อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น
- ภาวะบีบรัดหัวใจ: เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นหากมีของเหลว เช่น น้ำหรือเลือด เข้าไปอยู่ในพื้นที่ระหว่างกล้ามเนื้อหัวใจกับเยื่อหุ้มหัวใจมากเกินไป จนทำให้เกิดความดัน และส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมา เช่น เกิดความวิตกกังวล วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม ชีพจรอ่อนลง
- ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัวเรื้อรัง: เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลโดยตรงต่อตัวเยื่อหุ้มหัวใจที่เกิดการอักเสบ เพราะจากภาวะนี้จะทำให้เกิดเนื้อเยื่อคล้ายแผลเป็นที่ผิวถุงหุ้มหัวใจ จนทำให้ถุงหุ้มมีลักษณะหนาและแข็งขึ้น จนทำให้การคลายตัว เคลื่อนที่ และการสูบฉีดเลือดของหัวใจมีปัญหา จนทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก มีอาการบวมที่ท้องรวมถึงแขนขา และเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้
อ่านเพิ่มเติม: ไขข้อสงสัย "ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจ" คืออะไร
2.8 โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ
โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Valve Stenosis) มีสาเหตุมาจากการเปิดของลิ้นหัวใจเอออร์ติกที่ตีบแคบลง โดยตัวลิ้นหัวใจดังกล่าวจะคอยทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนกลับของเลือดเข้ามาในหัวใจ แต่เมื่อลิ้นหัวใจเอออร์ติกเกิดทำงานขัดข้องขึ้น ก็จะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดถูกจำกัดน้อยลง และการทำงานของหัวใจก็จะหนักขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเอออร์ติกติบนั้นไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม หรือการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง แต่มีปัจจัยมาจากการสะสมของแคลเซียมตามรอยพับของลิ้นหัวใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อคนเราเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุแล้ว อีกทั้งโรคนี้ยังพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดด้วย
อ่านเพิ่มเติม: ทำความรู้จัก "โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ"
2.9 โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Infective endocarditis) เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุชั้นในของหัวใจและลิ้นหัวใจ ถือว่าเป็นโรคที่มีความอันตรายร้ายแรงสูง และสามารถทำให้เกิดโรคอื่นๆ และภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย เช่น ภาวะหัวใจวาย โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ปอดติดเชื้อ ไตวาย
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบก็คือ เชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้น การทำหัตถการหรือการรักษาใดๆ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้ทั้งหมด แม้แต่การทำฟัน หรือใส่สายสวนในร่างกายก็เช่นกัน ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนทำให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้ จะประกอบด้วย
- การใส่ลิ้นหัวใจเทียม
- การใส่เครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปที่หัวใจ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker)
- การเสพยาเสพติดโดยวิธีการฉีดเข้าเส้นเลือด
- ผู้ป่วยเคยเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบมาก่อน
อ่านเพิ่มเติม: โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบเกิดจากอะไร เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้าง แล้วควรป้องกันอย่างไร
3.0 ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (Arrhythmia) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งทำหน้าที่คอยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้คงที่ จนทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผู้ป่วยมีความผิดปกติไปจากเดิม อาจเป็นได้ทั้งการเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเต้นช้ากว่าปกติ และส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกใจสั่นในอก รู้สึกว่าหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ อ่อนเพลีย และวิงเวียนศีรษะ
ความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าที่คอยคุมอัตราการเต้นของหัวใจสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากโรค หรือจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะหัวใจล้มเหลว การเสพยาเสพติดบางชนิด เช่น โคเคนหรือยาบ้า การสูบบุหรี่ การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป หรืออาการเครียดจัดหรือโกรธจัด
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นภาวะที่จะต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน เพราะในระหว่างที่หัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่นั้น การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายอาจหยุดชะงักลงซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และหากผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด เป็นลม รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอกมาก หรือเกิดแขนขาอ่อนแรง อาการเหล่านี้ถือเป็นอาการผิดปกติที่ร้ายแรง และจะต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
อ่านเพิ่มเติม: ความหมาย ปัจจัยเสี่ยง การรักษาของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดจังหวะ
สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ
จากสาเหตุของโรคทางหัวใจที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วย ความผิดปกติของหัวใจ รวมถึงประวัติสุขภาพและการเจ็บป่วยก่อนหน้านั้น แต่สาเหตุหลักๆ ที่มักจะทำให้เกิดโรคหัวใจจะได้แก่
- การสูบบุหรี่: ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 2 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหันมากกว่าถึง 4 เท่าของผู้ไม่สูบ
- พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง: ผู้ที่รับสารคาเฟอีนจากเครื่องดื่มประเภทชากาแฟมากเกินไป ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป รวมถึงผู้ที่รับประทานยาบางชนิดโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน
- ความดันโลหิตสูง: ผู้ที่ความดันโลหิตสูง หรือไม่ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ดีจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้นเพื่อนำไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ เนื่องจากมีการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด และทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานผิดปกติ
- คอเลสเตอรอลสูง: ยิ่งคุณมีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมากขึ้นมากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสาเหตุนี้สามารถลดความเสี่ยงลงได้จากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันกับน้ำตาลสูงให้น้อยลง
- ไม่ออกกำลังกาย: การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ไม่ออกกำลังกายให้เพียงพอจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 วัน จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้
อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
หากคุณไม่แน่ใจว่าตนเองเสี่ยงหรือมีอาการของโรคหัวใจหรือไม่ ให้สังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นโรคหัวใจ ควรไปพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้
- เหนื่อยและอ่อนเพลียง่าย: ผู้ป่วยโรคหัวใจจะรู้สึกเหนื่อยง่าย หรืออาจรู้สึกเหนื่อยมากผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงแม้จะออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย หรือทำกิจกรรมที่ไม่ได้ออกแรงมาก
- เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก: ผู้ป่วยโรคหัวใจมักจะจะมีอาการรู้สึกหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีของหนักมาทับอยู่บนอกตลอดเวลา และผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกรุนแรงถึงขั้นรู้สึกเหมือนถูกมีดแทงอกเลยทีเดียว
- ภาวะหัวใจล้มเหลว: อาการแสดงของภาวะนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยแม้นั่งอยู่เฉยๆ บางรายอาจหายใจไม่สะดวกด้วยและรู้สึกอ่อนเพลียอยู่เกือบตลอดเวลา อีกทั้งผู้ป่วยอาจมีอาการบวมตามเท้า และขาเนื่องมาจากภาวะคั่งน้ำและเกลือ
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ: โดยปกติ อัตราการเต้นของหัวใจในคนทั่วไปอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที แต่อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วถึง 150-250 ครั้งต่อนาที ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น และหายใจไม่ทัน
- เป็นลมหมดสติ: เพราะการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยหน้ามืดเป็นลมได้
- หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน: ภาวะนี้ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการชักเกร็งกระตุก หมดสติ และหยุดหายใจกะทันหัน หากคุณมีคนใกล้ชิดที่เกิดอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด
วิธีการวินิจฉัยโรคหัวใจ
การตรวจวินิจฉัยโรคทางหัวใจจะมีความหลากหลาย และแตกต่างกันไปตามสภาพและอาการของโรค แต่วิธีการตรวจวินิจฉัยหลักๆ ที่แพทย์มักนิยมใช้กันจะได้แก่
- การตรวจด้วยเครื่องสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram: ECHO): สามารถเรียกได้สั้นๆ ว่า "การตรวจเอคโค่" เป็นตรวจหัวใจโดยวิธีการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงซึ่งปลอดภัยต่อร่างกายเข้าไปในทรวงอก เพื่อตรวจดูการบีบตัวของหัวใจ และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีความผิดปกติอย่างไร จากนั้นคลื่นจะสะท้อนกลับมาเป็นข้อมูลซึ่งสามารถนำไปประมวลผลเป็นภาพการทำงานของหัวใจต่อไปได้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG หรือ EKG): เป็นการตรวจเพื่อทดสอบคลื่นไฟฟ้าและจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะมีการติดแผ่นตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหรือ "อิเลคโทรด (Electrode)" บนผิวหนังของผู้ป่วย และทำการบันทึกรูปแบบการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจออกมา
- การตรวจสมรรถภายหัวใจด้วยการออกกำลังกาย หรือ สเตรสเทส (Stress test): เป็นการตรวจเพื่อทดสอบการทำงานของหัวใจว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดเมื่อต้องทำงานหนักขึ้น และจะทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจได้ โดยวิธีการตรวจคือ แพทย์จะให้ผู้ป่วยออกกำลัง เช่น วิ่งสายพาน ปั่นจักรยาน จากนั้นแพทย์จะอ่านกราฟการทำงานของหัวใจว่ามีการทำงานอย่างไร
- การเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray: CXR): เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของรูปร่าง โครงสร้าง หรือตำแหน่งของหัวใจและหลอดเลือดว่ามีความผิดปกติอย่างไร
- การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology): เป็นการตรวจหัตถการที่แพทย์จะแปะแผ่นตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหรืออิเลคโทรดลงไปที่บริเวณหน้าอกของผู้ป่วย จากนั้นจะมีการฉีดยาชาบริเวณขาหนีบ และใส่สายสวนเข้าไปในร่างกายจนถึงบริเวณหัวใจ จนเมื่อหัวใจส่งสัญญาณไฟฟ้ากลับมา แพทย์ก็จะนำข้อมูลจากสัญญาณนั้นไปประเมินต่อไป
จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยมากมายที่ทำให้คุณเป็นโรคหัวใจชนิดใดชนิดหนึ่งได้ หรือไม่แน่ว่า ในตอนนี้คุณอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่เสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจบางชนิดอยู่ก็ได้ ดังนั้น เพื่อความมั่นใจในสุขภาพของตนเอง คุณจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หมั่นดูแลร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หรือหากคุณรู้สึกผิดปกติและสงสัยว่าตนเป็นโรคหรือภาวะเกี่ยวกับหัวใจ อย่าลังเลที่จะรีบไปพบแพทย์ทันที
รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน
- ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ
- โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดจังหวะ
- รวม 7 ปัจจัยทำให้หัวใจเต้นแรงแต่มักทำคนเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ
- ยาแก้ปวดที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยง
- ควรใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ