กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป

Infective Endocarditis (โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ)

เผยแพร่ครั้งแรก 12 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 ธ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

ความหมายของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Infective endocarditisเป็นการติดเชื้อของเยื่อบุชั้นในบริเวณหัวใจและลิ้นหัวใจ เป็นโรคที่สามารถทำลายหัวใจของผู้ป่วยได้ รวมถึงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้มากมาย นอกจากนี้ การทำฟัน ใส่สายสวนในร่างกาย และหัตถการอื่นๆ ที่พบบ่อยทางการแพทย์ยังสามารถทำให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้เช่นกัน 

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโรคนี้อาจมีอันตรายถึงชีวิต แต่ผู้ป่วยส่วนมากที่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

เชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่นๆ ซึ่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้สามารถทำให้เกิดภาวะเยื่อบุหัวใจ หรือลิ้นหัวใจอักเสบได้ทั้งนั้น และโรคนี้ยังสามารถเกิดได้ในคนปกติทั่วไป แต่จะพบได้บ่อยกว่าในกลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจแต่เดิมอยู่แล้ว เช่น

  • ลิ้นหัวใจผิดปกติ
  • ใส่ลิ้นหัวใจเทียม
  • มีความพิการของหัวใจแต่กำเนิด
  • มีการใส่เครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปที่หัวใจ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker)

ส่วนปัจจัยอื่นที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้ ประกอบด้วย

  • การใช้ยาเสพติดเข้าเส้น
  • การทำฟันในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่หัวใจอยู่เดิม
  • เคยเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบมาก่อน
  • มีสายสวนอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน

อาการของโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

ผู้เป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการคล้ายไข้หวัด
  • ไข้
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อ
  • ปวดศีรษะ
  • มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง
  • ซีดลง
  • มีผื่นขึ้น
  • มีจุดสีแดงหรือสีเข้มใต้ผิวหนังบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้าหรือฝ่าเท้า 
  • มีจุดเล็กๆ อยู่ใต้เล็บ บนหน้าอก บนเพดานปากหรือภายในกระพุ้งแก้ม
  • หายใจลำบากหรือไอเรื้อรัง
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • ปัสสาวะปนเลือด
  • เท้า ขา หรือท้องบวม
  • มีอาการอ่อนแรงเฉียบพลันบริเวณใบหน้าหรือแขนขา
  • มีอาการสับสน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ สามารถทำให้เกิดก้อนลิ่มเลือดและแบคทีเรียขึ้นภายในห้องของหัวใจ ซึ่งก้อนลิ่มเลือดดังกล่าวอาจเกิดการแตกออก และกลายเป็นลิ่มเลือดซึ่งสามารถเดินทางไปยังบริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ จากนั้นจะส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงขึ้นใหม่ 

หากผู้ป่วยมีอาการของโรคนี้ หรือสงสัยว่าตนเองอาจจะเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากหากได้รับการรักษาเร็วเท่าไร ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงก็จะลดลงเท่านั้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การวินิจฉัยโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

ในการวินิจฉัยโรคนี้ แพทย์อาจทำการตรวจ หรือทำหัตถการบางอย่างเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และเพื่อแยกโรคอื่นๆ ออกไป โดยในขั้นแรก แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับประวัติการผ่าตัด หรืออาการเจ็บป่วยก่อนหน้านี้ของผู้ป่วยก่อน เนื่องจากโรคหัวใจบางชนิดนั้น สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้ เช่น

  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางประเภท
  • ลิ้นหัวใจพิการหรือมีลิ้นหัวใจเทียม
  • มีการใส่เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker)
  • เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการเกี่ยวกับหัวใจมาก่อน

หลังจากนั้น แพทย์จะฟังเสียงหัวใจของผู้ป่วย หากได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาการดังกล่าวก็อาจเป็นสัญญาณบอกถึงโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งตรวจและหัตถการอื่นๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้อีก ซึ่งประกอบด้วย

  • การตรวจเลือด (Blood Test): แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อดูชนิดของเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคที่เข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถตรวจได้ว่า ผู้ป่วยมีอาการของการอักเสบหรือการติดเชื้อหรือไม่
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram: ECHO): เรียกอีกชื่อสั้นๆ ได้ว่า "การตรวจเอคโค่" เป็นการใช้คลื่นเสียงในการสร้างภาพภายในหัวใจขึ้นมา ทำให้แพทย์เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจได้ ซึ่งประเภทของการตรวจเอคโค่ที่แพทย์มักนิยมใช้ในการวินิจฉัยโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบจะมี 2 ประเภท คือ 
    • การทำทีทีอี (Transthoracic Echocardiogram: TTE): เป็นการตรวจเอคโค่ชนิดพิเศษที่แพทย์จะวางอุปกรณ์บนผิวหนังใกล้กับกระดูกหน้าอก หรือบนหน้าท้องส่วนบน หรือใกล้หัวนม ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณไปยังเครื่องตรวจ เพื่อแปลงสัญญาณให้กลายเป็นภาพของหัวใจ ก่อนที่แพทย์จะแปลผลการตรวจดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป โดยการตรวจประเภทนี้จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที
    • การทำทีอีอี (Transesophageal Echocardiogram: TEE): เป็นการตรวจเอคโค่ผ่านการส่องกล้องทางหลอดอาหาร โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยอมและพ่นยาชาในลำคอก่อน จากนั้นจะให้ผู้ป่วยกลืนหัวตรวจซึ่งเป็นกล้องส่องผ่านทางปากเข้าไป เพื่อให้แพทย์ได้บันทึกภาพหัวใจจากด้านในทางเดินอาหาร การตรวจชนิดนี้จะเห็นภาพการทำงานของหัวใจชัดกว่าการตรวจแบบทีทีอี

การป้องกันโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ

ในอดีต ก่อนที่จะทำฟัน ผ่าตัดในปาก หรือผ่าตัดเกี่ยวกับลำไส้ อวัยวะเพศหรือทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยที่มีความพิการของหัวใจแต่กำเนิด หรือเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว 1 ชั่วโมงก่อนการทำหัตถการทุกอย่างเพื่อป้องกันโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ แต่ในปัจจุบัน แพทย์ได้เปลี่ยนมาให้ยากับผู้ป่วยที่เสี่ยงจะเกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคหัวใจทุกรายอีกต่อไป

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันผู้ป่วยจากโรคเยื่อบุหัวใจได้ก็คือ การปรึกษาและพูดคุยกับแพทย์ประจำตัวอยู่เป็นประจำ ยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ก็ควรเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูสภาวะและอาการของโรคว่ามีความเสี่ยงต่อโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบมากขึ้นหรือไม่ และการทำความสะอาดช่องปากให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ ก็สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดได้ เพราะการติดเชื้อดังกล่าว จะสามารถลุกลามกลายเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบได้เช่นกัน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Jay R. McDonald, Acute Infective Endocarditis (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2726828/), 1 September 2010
John L Brusch, Infective Endocarditis (https://emedicine.medscape.com/article/216650-overview), 3 January 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)