โรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบตันหรือหลอดเลือดแตก เป็นเหตุให้เนื้อเยื่อในสมองนั้นถูกทำลายลง ส่งผลให้การทำงานของสมองหยุดชะงักและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากอาการสมองขาดเลือด โดยแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- หลอดเลือดสมองตีบหรือเกิดอุดตัน (Ischemic stroke) สามารถพบได้ถึง 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้นจากบริเวณอื่นของร่างกายไหลตามกระแสเลือดจนเข้าไปอุดตันที่เส้นเลือดของสมอง หรืออาจจะเกิดลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในเส้นเลือดสมอง และได้ขยายขนาดจนใหญ่ขึ้นและอุดตันเส้นเลือดของสมอง ส่วนสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดของสมองเกิดการตีบตันนั้นอาจจะเกิดจากการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแคบลง ความยืดหยุ่นและความสามารถในการลำเลียงเลือดลดน้อยลง
- หลอดเลือดสมองปริแตกหรือเกิดการฉีกขาด (Hemorrhagic stroke) สามารถพบได้ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุจากเส้นเลือดเกิดความเปราะบาง ร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการโป่งพองและแตกออก หรืออาจจะเกิดจากเส้นเลือดสูญเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในเส้นเลือด จึงทำให้เส้นเลือดปริแตกได้ง่าย ส่งผลให้ปริมาณที่เลือดจะไปเลี้ยงสมองเกิดการลดลงอย่างเฉียบพลัน และเมื่อเส้นเลือดปริแตก ก็อาจทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ ส่งผลให้ผุ้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน แบ่งออกเป็นแบบหลักๆ ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้
- อายุ: เมื่ออายุมากขึ้น เป็นปกติที่หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามอายุไปด้วยเช่นกัน โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นเพราะสาเหตุจากคราบหินปูนและไขมันมาเกาะ ทำให้ช่องทางที่เลือดไหลผ่านแคบลงเรื่อยๆ
- เพศ: ได้มีการค้นพบว่าเพศชายนั้นมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ: จะส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเลือดและเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป
2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้
- ความดันโลหิตสูง : เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติหลายเท่าตัว
- เบาหวาน : เป็นต้นเหตุให้เส้นเลือดแข็งทั่วร่างกาย และถ้าหากเกิดเส้นเลือดแข็งในสมองก็จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติ 2 - 3 เท่า
- ไขมันในเลือดสูง : เป็นทั้งความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูงคือภาวะที่ไขมันเกาะสะสมอยู่ตามผนังของเส้นเลือด ทำให้เป็นอุปสรรคกีดขวางการลำเลี้ยงเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- โรคหัวใจ : อันได้แก่ โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด และถ้าลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดสมองก็จะทำให้สมองเกิดอาการขาดเลือดได้
- การสูบบุหรี่ : ในบุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอน ทำให้ประมาณออกซิเจนที่ร่างกายได้รับลดลง และยังเป็นตัวที่ทำลายผนังของหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัว มีการค้นพบว่าสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวก็ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 3.5%
- ยาคุมกำเนิด : ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดจะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
- โรคซิฟิลิส : เป็นหนึ่งในสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบทำให้เส้นเลือดแข็งตัว
- การไม่ออกกำลังกาย : สาเหตุหลักๆของหลายโรค
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อสมองเกิดการขาดเลือด จะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นมา โดยจะเป็นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและตำแหน่งที่สมองนั้นเสียหาย เช่น
- มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่บริเวณใบหน้า ตามร่างกาย หรือชาครึ่งซีกของร่างกาย
- พูดไม่ชัด
- ปากเบี้ยว มุมปากตก
- น้ำลายไหล กลืนลำบาก
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันทีทันใด
- ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวอย่างฉับพลัน
- เดินเซ ทรงตัวลำบาก
อาการเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ในรายที่เป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวจะเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมาเตือนพักหนึ่งแล้วจะหายไปเอง หรือก็อาจจะเกิดขึ้นหลายๆ ครั้งก่อนที่จะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร
ดังนั้นถ้าพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองเป็นอาการที่ร้ายแรงอย่างมาก และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากไม่ถึงแก่ชีวิต ก็อาจทำให้เป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูร่างกายค่อนข้างนาน
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การจะรักษาอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก เพราะมีการรักษาที่แตกต่างกันโดยมีรายละเอียดดังนี้
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน: เป้าหมายในการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ สามารถรักษาได้หลายทาง เช่น แพทย์อาจใช้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการแล้วรีบส่งตัวโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง
- หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด: เป้าหมายของการรักษาคือควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับของความดันเลือด ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจจะจำเป็นต้องพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายของสมองที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันเลือด
การป้องกันการกลับเป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ
การป้องกันนั้นเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง และควรจะทำก่อนที่จะเกิดโรคนี้ขึ้น โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดหลอดเลือดตีบตันหรือแตก เช่น
- หมั่นตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจสอบปัจจัยเสี่ยง ถ้าพบเร็วก็สามารถรักษาได้เร็ว
- ถ้าพบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดตีบตันหรือแตก ให้รีบรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด และถ้าพบอาการผิดปกติให้รีบเข้าพบแพทย์ทันที
- คอยควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน น้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ
- รับประทานอาหารให้สมดุล เลี่ยงการทานเค็ม หวาน มัน
- ออกกำลังอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 วันต่อสัปดาห์ และคอยควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
- งดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ถ้ามีอาการเตือนว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอเป็นการชั่วคราว ให้รีบเข้าพบแพทย์แม้อาการเหล่านั้นจะหายเป็นปกติในเวลาไม่นาน
- ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันไปแล้ว แพทย์จะให้การรักษาโดยให้ทานยาเพื่อป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำของโรค แต่การให้ยานั้นก็ต้องมีการติดตามผลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากการให้ยาผิด หรือประมาท หรือไม่มีการติดตามดูแลอย่างดีอาจจะเกิดผลร้ายอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง จำเป็นต้องตรวจไหม ใครควรตรวจ?