โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease)

รวมข้อมูลนิยาม ประเภท ปัจจัยเสี่ยงในผู้ใหญ่และเด็กที่จำไปสู่โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ
เผยแพร่ครั้งแรก 17 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 ธ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease)

ประเภทของโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือดมีอยู่ 6 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease: CHD): เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจที่ใช้สูบฉีดเลือดมีการอุดตัน หรือถูกรบกวนจากการสะสมของสารไขมัน (Atheroma) ภายในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทำให้เกิด ภาวะหัวใจขาดเลือดตามมา
  2. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke): เกิดขึ้นเมื่อการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหยุดลงหรือถูกรบกวน จนทำให้เซลล์สมองค่อยๆ ตายลง จนนำไปสู่ความเสียหายที่สมอง และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
  3. โรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Arterial Disease): เกิดขึ้นเมื่อมีการอุดตันในหลอดเลือดแดงที่อวัยวะแขนหรือขา 
  4. โรคหัวใจรูห์มาติก (Rheumatic heart disease): ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ที่เกิดจากไข้รูห์มาติก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ streptococcal bacteria

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

    จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  5. โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital heart disease): ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ ตั้งแต่ช่วงปริกำเนิด

  6. โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis and pulmonary embolism): ก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา ซึ่งก้อนเลือดสามารถหลุดไปอุดตันที่หัวใจ หรือปอด ทำให้อันตรายต่อชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมักมีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เราทุกคนจึงอาจมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มากกว่าเพียง 1 ปัจจัย เช่น

  • ความดันโลหิตสูง (Hypertension): หากผู้ป่วยมีการควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ดีพอ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นบนผนังหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดตามมา
  • การสูบบุหรี่: สารพิษที่อยู่ในยาสูบทั้งหมดสามารถทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบ และเกิดความเสียหายลุกลามเพิ่มขึ้นได้
  • คอเลสเตอรอลในเลือดสูง: ระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูง สามารถทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้อีก
  • โรคเบาหวาน: ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 นั้นสามารถก่อความเสียหายขึ้นที่หลอดเลือดแดงได้
  • การรับประทานอาหารที่ไม่ดี: อาหารไขมันสูงจะเร่งให้เกิดการเกาะตัวกันของไขมันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งจะเพิ่มทั้งระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและความดันโลหิต
  • ขาดการออกกำลังกาย: ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายมักจะมีระดับคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต และความเครียดที่สูงกว่าปกติ อีกทั้งคนในกลุ่มนี้ยังเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักร่างกายเกินเกณฑ์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกประการ
  • การที่มีน้ำหนักมากเกิน: ผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือภาวะอ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ต่างก็เป็นตัวการที่นำไปสู้การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 
  • การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกิน: การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป จะเพิ่มทั้งระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายและความดันโลหิต จนนำไปสู่โรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดตามมาในภายหลัง
  • ความเครียด: ความเครียดสามารถเพิ่มระดับความดันโลหิต และฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดขึ้นได้ เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล
  • ประวัติครอบครัว: ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือดมาก่อน มักจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคที่ใกล้เคียงมากกว่า
  • เชื้อชาติ: ผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกาใต้ และแอฟริกาแคริปเปียน จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่า

การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต เช่น

  • ปรับเมนูอาหารในแต่ละมื้อ: เพื่อให้หัวใจมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น อีกทั้งยังได้รับสารอาหารบำรุงที่เพียงพอ คุณจึงควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ มีใยอาหารสูง และไม่ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือมากกว่า 6 กรัมต่อวัน เนื่องจากเกลือในอาหารที่มากเกินไป จะสามารถเพิ่มระดับความดันโลหิตขึ้นได้
  • การออกกำลังกายและการควบคุมน้ำหนัก: สำหรับวัยผู้ใหญ่ ควรออกกำลังกายด้วยระดับความเข้มข้นปานกลางเป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น การปั่นจักรยานหรือเดินเร็ว
  • ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป: หลายครั้งที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นการสังสรรค์และระบายความเครียดได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม คุณควรจะดื่มบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เพราะแอลกฮอล์นั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มักทำให้เกิดโรคและภาวะเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้
  • การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ไม่ได้ส่งผลดีใดๆ ต่อร่างกายเลย และไม่ใช่แค่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้นด้วย ดังนั้น การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นทางออกสำหรับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงขึ้น
  • การใช้ยา: หากคุณมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง แพทย์จะจ่ายยาที่ช่วยลดความเสี่ยงของคุณ ดังนี้
    • ยาสำหรับลดความดันโลหิต เช่น ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (Angiotensin-Converting Enzyme: ACE Inhibitors), ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker)
    • ยาสแตติน (Statins) สำหรับลดคอเลสเตอรอลในเลือด
    • ยาแอสไพริน (Aspirin) ในปริมาณต่ำ สำหรับป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในเด็ก

มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า นิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก มักนำไปสู่ภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงในวันข้างหน้า ดังนั้น สิ่งที่ผู้ปกครองควรพิจารณาเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในเด็ก มีดังต่อไปนี้

  • ไขมันและน้ำตาล: ผู้ปกครองควรจำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลที่เด็กบริโภคเข้าไป เพราะอาจทำให้เด็กกลายเป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตสูงในช่วงอายุมากขึ้นด้วย
  • เกลือ: การรับประทานอาหารที่มีเกลือเยอะ มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง
  • การออกกำลังกายมีหลายวิธีที่จะทำให้เด็กออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อของเด็ก รวมถึงป้องกันไม่ให้เด็กมีน้ำหนักมากเกินได้ ผู้ปกครองอาจชวนเด็กออกไปวิ่งเล่นตามสวนสาธารณะ เล่นในสวนสนุก หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ร่างกายมีการขยับตัวและเผาผลาญพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไป

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
American heart association, Heart attack (https://www.heart.org/en/health-topics/heart-attack/about-heart-attacks), 31 June 2016

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)