หลายท่านคงจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ไตวาย ตายไว” กันมาบ้างแล้ว ดูเผินๆ อาจจะเหมือนการเล่นคำผวนทั่วไป แต่หากลองพิจารณาความหมายจะะรู้ว่า น่ากลัวไม่น้อยเพราะเสี่ยงกับความเป็นความตายชัดๆ "ทำไมถึงเป็นไตวาย แล้วถึงตายไว" คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยและอยากรู้
ไตทำหน้าที่อะไร
ไต (Kidney) เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ขนาดเท่ากำปั้นของแต่ละคน โดยทั่วไปจะมีความยาวประมาณ 11 ซม. กว้างประมาณ 6 ซม. และหนาประมาณ 3 ซม. คนปกติจะมีไต 2 อัน โดยมีตำแหน่งอยู่บริเวณช่องท้องด้านหลังของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอวข้างซ้าย 1 อัน และข้างขวาอีก 1 อัน ระหว่างไตทั้งสองข้างจะมีหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ (Inferior vena cava) ทำหน้าที่ส่งเลือดเข้าไปกรองของเสียที่ไตและไหลออกมาทางหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) ที่ไตเช่นเดียวกัน
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
หน้าที่หลักของไต คือ การกรองของเสีย เกลือแร่ และสารเคมีส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ ซึ่งอยู่ในกระแสเลือดแล้วขับลงสู่ท่อไตและกระเพาะปัสสาวะและขับถ่ายออกนอกร่างกายในรูปของปัสสาวะ การที่น้ำปัสสาวะมีกลิ่นเฉพาะตัว เนื่องจากมีสารพวกยูเรียซึ่งเกิดจากการสลายสารพวกโปรตีนนั่นเอง นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่สำคัญอีกหลายอย่าง ได้แก่
- รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย และเกลือแร่ในร่างกาย
- สร้างสารเรนนิน (renin) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความดันโลหิตให้คงที่
- สร้างฮอร์โมน อีรีโทโพอิติน ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
- ปรับสมดุลกรดด่างในร่างกาย
- สร้าง active form ของวิตามินดีซึ่งมีบทบาทควบคุมระดับเกลือแร่ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในร่างกาย
ภาวะไตวายคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร
อย่างที่กล่าวมาว่า ไตมีหน้าที่สำคัญกรองของเสียในเลือดออกจากร่างกาย แต่หากไตเริ่มเสื่อมลง หรือสูญเสียการทำงาน ความสามารถในการกรองจะค่อยๆ ลดลง จนในที่สุดจะไม่สามารถกรองของเสียได้ เราจึงเรียกว่า “ภาวะไตวาย” (renal failure หรือ kidney failure) ซึ่งส่งผลให้การควบคุมสมดุลของเสียในร่างกายเกิดการเสียหาย เนื่องจากเกิดภาวะของเสียในเลือดคั่งค้างในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ตัวบวม ปัสสาวะลดลง น้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ ล้มเหลวตามมานั่นเอง และมีผลต่อการเสียชีวิตในที่สุด
ภาวะไตวายนั้น สามารถแบ่งออกได้ เป็น 2 ชนิด คือ ภาวะไตวายเฉียบพลัน กับ ภาวะไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure หรือ Acute Renal Failure)
คือภาวะที่ไตสูญเสียการหน้าที่ไปชั่วคราว เนื่องจากสาเหตุบางอย่าง เช่น ภาวะช็อค การใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ในระยะยาวหรือในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง การรับประทานยาเกินขนาด การได้รับสารพิษ ภาวะไตอักเสบ หรือ มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ (นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต) เป็นต้น เมื่อหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุได้อย่างทันท่วงที ส่วนใหญ่แล้วการทำงานของไตจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ได้แก่ มีปัสสาวะออกน้อยกว่า 400 ซีซีต่อวัน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ จากการที่มีของเสียคั่งในร่างกาย แขนขาบวมน้ำ หอบเหนื่อย จากการคั่งของสารน้ำในร่างกาย
ภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Failure หรือ Chronic Renal Failure)
คือการที่เนื้อเยื่อไตเสื่อมสภาพ หรือตายลงอย่างช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปจนเกิดการเสื่อมสภาพแบบถาวรครบทั้งสองข้าง ไม่มีทางกลับคืนสู่สภาพเดิม เรียกว่า ภาวะเนื้อไตเสื่อมสภาพแบบถาวร จำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือด ล้างไต หรือปลูกถ่ายไตนั่นเอง
สาเหตุของภาวะไตวายเรื้อรังที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้เป็นระยะเวลานาน หรือรักษาไม่ถูกต้อง รองลงมาคือ โรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคนิ่วในไต หรือการใช้ยาที่เป็นพิษต่อไต
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ทั้งนี้แบ่งอัตราการกรองของเสียของไต หรืออัตราการทำงานของไต (GFR) ออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 อัตราการกรองของเสียของไต มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิลิตรต่อนาที แต่เริ่มพบโปรตีนในปัสสาวะหมายถึงไตเริ่มเสื่อม (หากไม่พบโปรตีนรั่วออกมาในทางเดินปัสสาวะถือว่าการทำงานของไตปกติดี)
- ระยะที่ 2 อัตราการกรองของเสียของไต อยู่ในช่วง 60 - 89 มิลลิลิตรต่อนาที ลดลงเล็กน้อยเป็นระยะที่ไตเริ่มเสื่อมแล้ว แต่ระยะนี้ยังไม่แสดงอาการ
- ระยะที่ 3 อัตราการกรองของเสียของไต อยู่ในช่วง 30 - 59 มิลลิลิตรต่อนาที ลดลงปานกลางโดยในทางการแพทย์จะเริ่มวินิจฉัยว่าเป็น "โรคไตวายเรื้อรัง" เมื่อตรวจพบค่าการกรองของเสียของไต < 60 มิลลิลิตรต่อนาที
- ระยะที่ 4 อัตราการกรองของเสียของไต อยู่ในช่วง 15 - 29 มิลลิลิตรต่อนาที ในระยะนี้จะเริ่มมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้งและคัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อยขึ้น มีอาการบวมน้ำที่ตามข้อ ขา และเท้า ใต้ตาคล้ำ ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปริมาณปัสสาวะน้อยลง โลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวตลอดเวลา
- ระยะที่ 5 อัตราการกรองของเสียของไต น้อยกว่า 15 มิลลิลิตรต่อนาที เป็นระยะสุดท้าย หรือภาวะไตวาย มีการเสียสมดุลของ แคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารต่างๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคไตวาย
การป้องกันโรคไตวายที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพ ถนอมไตไม่ให้ทำงานหนัก หลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะหากท่านพบว่า มีภาวะไตวายในระยะที่ 1-3 ซึ่งอาจจะยังไม่แสดงอาการแต่ไตเริ่มสูญเสียหน้าที่แล้วนั้นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไปตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารและยาที่มีผลต่อไต หรือทำให้ไตทำงานหนัก โดยเฉพาะอาหารรสจัด อาหารเค็ม หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาแก้ปวดต่างๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิตและไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
หากทำได้อย่างนี้ รับรองว่า คุณก็มีโอกาสห่างไกลจากโรคไต ไม่มีไตวาย ตายไว แน่