กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Plantar Fasciitis (เอ็นฝ่าเท้า หรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ)

เผยแพร่ครั้งแรก 16 ธ.ค. 2016 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

หลายๆ คนอาจเคยมีอาการเจ็บปวดจนแทบจะกรีดร้องเวลาลุกออกจากเตียงนอนและวางส้นเท้าลงบนพื้น นั่นคืออาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจเป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis) เป็นภาวะที่จะมีอาการเจ็บคล้ายถูกของมีคมแทงที่บริเวณส้นเท้า อาการปวดนี้มักจะเกิดขึ้นในตอนเช้า หลังคุณลุกจากที่นอนหรือลุกขึ้นหลังจากที่อยู่ในท่านั่งเป็นระยะเวลานาน อาการปวดส้นเท้าส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือเกิดจากกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณใต้ฝ่าเท้า โดยเอ็นฝ่าเท้าหรือพังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar Fascia) นั้นจะอยู่ที่บริเวณใต้ฝ่าเท้า มันมีลักษณะเป็นแผ่นของเนื้อเยื่อที่สานกันอย่างแน่นหนาและจะปกคลุมอยู่เหนือกระดูก แผ่นเนื้อเยื่อเส้นเอ็นนี้เองที่จะทำหน้าที่คล้ายกับสายของธนู เมื่อคุณยกเท้าขึ้น แผ่นเส้นเอ็นนี้จะหย่อนตัวลง ในทางตรงกันข้ามเมื่อคุณวางเท้าลง แผ่นเส้นเอ็นนี้จะตึงตัว ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บและเกิดการอักเสบของแผ่นเส้นเอ็นนี้ และเมื่อมีอาการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งจะเกิดภาวะบาดเจ็บซ้ำซ้อนและเรื้อรังขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยหยุดพักให้เท้าได้มีเวลาฟื้นตัวอย่างเพียงพอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผู้ที่เป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบมักจะอธิบายอาการของตนเองว่ามีลักษณะเป็นอาการปวดส้นเท้าแบบเฉียบพลันและอาจพบอาการบวมที่ส้นเท้าได้ด้วย โดยปกติอาการปวดจากโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะเกิดขึ้นรุนแรงหลังจากหยุดพักอยู่นิ่งๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ส่วนในระหว่างวันอาการปวดนั้นมักจะเบาลงแต่อาการปวดก็สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากการออกกำลังกาย หรือยืนนานๆ เช่นเดียวกัน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบเกิดขึ้นเมื่อเอ็นฝ่าเท้าเกิดการตึงตัวและมีแรงตึงมากเกินไป จนเกิดเป็นอาการอักเสบขึ้น ขณะที่แรงตึงในเส้นเอ็นมีมากขึ้น รอยฉีกขาดเล็กๆ จะเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเส้นเอ็นนั้นๆ ยิ่งมีแรงตึงและรอยฉีกขาดมากขึ้นเท่าไร การอักเสบและระคายเคืองก็จะมีมากขึ้นด้วย การสะสมของแรงตึงและรอยฉีกขาดเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบและอาการปวดส้นเท้า ผู้ชายที่อายุระหว่าง 40 ถึง 70 ปี เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะนี้มากที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบมีหลายข้อด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  • โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกิน หรือการที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว : น้ำหนักที่มากเกินไปทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นฝ่าเท้าได้และทำให้คุณสมบัติในการดูดซับแรงกระแทกของมันลดลงนำไปสู่การบาดเจ็บของส้นเท้าต่อไป
  • แรงกดลงบนส้นเท้ามากเกินไป : มักเกิดกับผู้คนที่ต้องยืนเป็นระยะเวลานานๆ เดินหรือวิ่งมากเกินไป
  • โครงสร้างเท้าผิดปกติ : เช่นคนที่มีอุ้งเท้าแบน (Flat feet) อุ้งเท้าสูงเกินไป (High arches) หรือคนที่มีลักษณะการเดินผิดปกติ
  • โรคเบาหวานและข้ออักเสบ : เบาหวานและโรคข้ออักเสบบางชนิดสามารถทำให้เส้นเอ็นเกิดการอักเสบได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ
  • การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม : รองเท้าที่ขนาดไม่พอดีกับเท้าจะไม่ช่วยรองรับฝ่าเท้า ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเดินที่ผิดปกติ และมีแรงตึงต่อเอ็นฝ่าเท้ามากขึ้นได้

*ปัจจัยในข้อ 1-3 ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดแรงตึง และแรงดันที่เพิ่มขึ้นในเส้นเอ็นฝ่าเท้าทั้งสิ้น

อาการและการวินิจฉัยโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

อาการปวดส้นเท้าเป็นอาการหลักของโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบและเป็นอาการสำคัญที่บ่งชี้ถึงภาวะนี้อย่างชัดเจน หากอาการปวดส้นเท้าไม่หายดีภายใน 2-3 สัปดาห์ คุณควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ แพทย์จะสอบถามคุณเกี่ยวกับอาการต่างๆ และตรวจดูเท้าเพื่อวินิจฉัยแยกกับสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้าได้ โดยแพทย์อาจทำการสั่งเอ็กซเรย์เพื่อค้นหารอยแตกหักของกระดูกบริเวณเท้าและสาเหตุอื่นๆ ที่อาจเป็นได้ การทำเอ็กซเรย์ อาจทำให้พบส่วนเล็กๆของกระดูกที่ยื่นออกมาบริเวณส้นเท้า (Heel spurs) แต่อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนของกระดูกที่ยื่นเหล่านี้มักไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ในความเป็นจริงแล้วมันมักจะถูกตรวจพบโดยบังเอิญในภาพถ่ายรังสีเอ็กซเรย์ของผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบอีกด้วย

การรักษาโรค "เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ" และ "ผังผืดที่เท้า"

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้า เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า "โรครองช้ำ" โรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าที่ลามไปถึงฝ่าเท้าเวลาตื่นนอน บางครั้งก็อาจรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อนั่งพักนานๆ แต่เมื่อได้เดินแล้วจะรู้สึกดีขึ้น สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีน้ำหนักตัวมาก การรับน้ำหนักจากการยืนเป็นเวลานาน ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม มีปัญหาเท้าผิดรูป เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าโก่งหรือสูง เป็นต้น หากไม่รีบรักษา อาจทำให้โรคนี้มีอาการรุนแรงขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง โรครองช้ำ 

การรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้า จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น หากอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง ก็อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยา รวมถึงการผ่าตัดและการทำหัตถการอื่นๆ

การรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้าด้วยตัวเองที่บ้าน

วิธีการรักษาเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้าด้วยตัวเองที่บ้าน มีดังต่อไปนี้

  • การพักใช้งาน (Rest) : การพักใช้งานเท้าข้างที่มีอาการของโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้า สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและทำให้อาการดีขึ้นได้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในนิตยสารแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในประเทศสหรัฐอเมริกา (American Family Physician) ระบุว่า ผู้ป่วยโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ 25% มีอาการดีขึ้นเมื่อพักใช้งานเท้า
  • การประคบเย็น (Icing) : โดยใช้แผ่นประคบเย็นประคบบริเวณที่ปวดเป็นเวลา 20 นาที แล้วหยุดพัก ควรทำอย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้ง
  • การยืดกล้ามเนื้อและออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง (Stretching & Strengthening exercises) : การขยับหรือการยืดกล้ามเนื้อ จะช่วยลดความตึงและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้า ผู้ป่วยอาจใช้ขั้นบันได ไม้กระดาน หรือลูกกลิ้งเป็นอุปกรณ์ในการช่วยยืดกล้ามเนื้อได้ โดยนักกายภาพบำบัด (Physical Therapist) อาจเป็นผู้แนะนำท่าออกกำลังเฉพาะส่วนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อขา ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับข้อเท้าและส้นเท้ามากขึ้น
  • รับประทานยาแก้ปวด หากรู้สึกปวดบริเวณส้นเท้ามาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด  และยาลดการอักเสบ (Non Steroidal Anti-Inflamatory Drugs) เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบที่เกิดขึ้น
  • การใส่เฝือกอ่อนตอนกลางคืน (Night splints) : เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยยืดกล้ามเนื้อน่องและส่วนโค้งของฝ่าเท้าขณะหลับ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี
  • การพันเทป (Arch taping) : การพันเทปบริเวณเท้าที่ถูกต้อง สามารถลดแรงตึงของเส้นเอ็นและป้องกันไม่ให้เอ็นฝ่าเท้าเคลื่อนไหวมากเกินไป จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดลง

การรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้าโดยแพทย์

วิธีการรักษาเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้าโดยแพทย์ มีดังต่อไปนี้

  • ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroid injections) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจฉีดยาสเตียรอยด์ให้เพื่อลดอาการปวดชั่วคราว แต่การฉีดสเตียรอยด์หลายๆ ครั้ง สามารถทำให้เกิดการฉีกขาดของเอ็นฝ่าเท้าหรือเกิดการหดตัวของเนื้อเยื่อไขมันที่ปกคลุมบริเวณส้นเท้า ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้น
  • การผ่าตัด (Surgery) : โดยการลอกเอ็นฝ่าเท้าซึ่งยึดติดอยู่กับกระดูกส้นเท้าให้แยกออกจากกระดูกส้นเท้า หรือยืดความยาวของมัดกล้ามเนื้อน่อง อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบอาจทำให้โครงสร้างฝ่าเท้าที่มีลักษณะโค้ง มีความแข็งแรงลดลง ดังนั้นการผ่าตัดมักจะเป็นทางเลือกในการรักษาลำดับท้ายๆ
  • การใช้พลังงานทางกายภาพ (Physical Agent) ในการบำบัดรักษา เช่น คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound Therapy) และคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Therapy)กระบวนการนี้จะเป็นการใช้พลังงานบำบัดบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อลดการอักเสบ และกระตุ้นการรักษาตัวเองของเนื้อเยื่อ แต่หลังจากการรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้มีอาการบวม ช้ำเขียว ปวด หรือชา 
  • การใช้อุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าชนิดหล่อพิเศษเฉพาะราย (Therapeutic Custom made Total Contact Foot Orthosis) : เนื่องจากอักเสบของเอ็นฝ่าเท้า มักเกิดจากการใช้เท้า การสะสมของแรงกระทำที่เท้า ซึ่งเรียกว่าชีวกลศาสตร์ที่ก่อให้เกิดโรค (Patomechanics) การตรวจในด้านนี้ เช่น ตรวจหาแรงกดที่ฝ่าเท้า (Pedobarogram) การตรวจการเคลื่อนไหว (Gait Motion Analysis) จะช่วยบ่งชี้ต้นตอของโรคได้ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่เจาะจง ด้วยการสร้างกายอุปกรณ์โดยหล่อแบบเท้าเฉพาะจากคนไข้ในแต่ละข้าง โดยมีการ Off loading ในจุดลงน้ำหนักที่ก่อให้เกิดการอักเสบ รวมถึงการ support เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เท้าล้มเข้าด้านในมาก (Hyper Pronation)

การป้องกันการเกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้า

มีหลายวิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือโรคผังผืดที่เท้าได้ เช่น

  • การควบคุมน้ำหนัก : การที่น้ำหนักมากเกินไปจะทำให้เกิดแรงกดที่เส้นเอ็นฝ่าเท้า ซึ่งอาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น หากต้องการลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย ตวรยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังทุกครั้ง และควรมีการ Warm Up ก่อนออกกำลักายเพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ รวมถึงลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บของข้อต่อและเส้นเอ็น
  • สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม : เนื่องจากการสะสมของแรงกระแทกที่เท้า เป็นต้นตอของการอักเสบ จึงควรพิจารณาใช้แผ่นรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า และมีการดูดซับแรงกระแทกที่ดี พยายามหลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นแข็งๆ เลือกสวมใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดี ผู้ที่มีปัญหาเท้าผิดรูป เช่น เท้าแบน หรืออุ้งเท้าโก่ง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดรองเท้าที่มีการออกแบบให้เข้ากับลักษณะของเท้าที่มีความผิดปกติ เพื่อลดอาการบาดเจ็บและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • เปลี่ยนรองเท้าที่หมดสภาพ : สำหรับนักวิ่ง หรือนักกีฬาที่ต้องวิ่งเป็นประจำ ควรเปลี่ยนรองเท้าหลังจากที่ผ่านการใช้เกินระยะ 500 ไมล์ (800 กม.) เพราะพื้นรองเท้าส่วนกลางที่มีหน้าที่รับแรงกระแทก (Midsole) หมดสภาพในการรับแรงกระแทกแล้ว

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

การรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้แบบเรื้อรัง หรือเป็นรุนแรงมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษา โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว และเป็นอุปสรรคในการออกกำลังกายที่จำเป็นต่อตัวคุณ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบยังสามารถส่งผลให้เกิดปัญหากับหลัง เข่าและสะโพกได้ และจะทำให้เกิดลักษณะการเดินที่ผิดปกติซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเท้าอีกข้างของคุณอีกด้วย


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
orthoinfo.aaos.org, Plantar Fasciitis and Bone Spurs (https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/plantar-fasciitis-and-bone-spurs)
Zawn Villines, Best exercises and remedies for plantar fasciitis (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324353.php), February 4, 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
เวลาตื่นตอนเช้ามีอาการปวดสันเท้ามาก เกินจากสาเหตุใด
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
มีอาการปวดฝ่าเท้า ตอนอากาศเย็น ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)