อาการไม่พึงประสงค์ของยารักษาโรคซึมเศร้า

เผยแพร่ครั้งแรก 24 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
อาการไม่พึงประสงค์ของยารักษาโรคซึมเศร้า

เนื่องจากยากลุ่ม TCAs มีการออกฤทธิ์ต่อระบบสารนำสื่อประสาทหลายระบบอาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายได้มาก 

อาการไม่พึงประสงค์จากยารักษาโรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง?

1. ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง 

การออกฤทธิ์ของยาอาจมีผลต่อสมองส่วนกลางทำให้สูญเสียความจำ มีอาการสับสน อาการคุ้มคลั่งได้ อัตราการเกิดจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณของระดับความเข้มข้นของยาในเลือด และในกรณีที่หยุดใช้ยากลุ่มนี้ทันที อาจเกิดภาวะถอนยา ได้แก่ อาการท้องไส้ปั่นป่วน ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ในกรณีที่จำเป็นต้องลดขนาดยาควรค่อยๆ ลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ แล้วหยุดใช้ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการชักจากการใช้ยากลุ่มนี้ได้โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของขนาดยาและอาการสั่น ซึ่งบ่งบอกว่ามีระดับยาในเลือดสูง หากผู้ป่วยเกิดอาการสั่นจำเป็นต้องปรับลดขนาดยาลง ก็จะทำให้อาการสั่นลดลงได้และหายได้ภายใน 1 เดือนหลังจากหยุดยา และอาการข้างเคียงอีกอย่างที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง โดยทำให้เกิดอาการง่วงนอน เกิดความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่ใช้ยาเป็นระยะเวลานาน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

2. ผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติส่วนปลาย 

ทำให้เกิดอาการปากแห้ง ตามัว ปัสสาวะคั่ง ท้องผูก หรืออัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะความดันลูกตาสูงผิดปกติโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีต้อหินแบบมุมแคบร่วมด้วย การรักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนี้ได้แก่ การลดขนาดยา การเพิ่มขนาดยาอย่างช้าๆ การเปลี่ยนยา หรือใช้ยาบางชนิดที่ต้านฤทธิ์อาการข้างเคียงจากยากลุ่ม TCAs หรือการใช้ยาช่วยลดอาการท้องผูก การใช้ยาหยอดตากรณีที่มีอาการตามัวร่วมด้วย

3. ผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจ 

อาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ภาวะความดันโลหิตต่ำ ขณะเปลี่ยนอิริยาบถ มีความเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกสะโพกหักได้ความเสี่ยงของอาการเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะนี้อยู่เดิม และผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาความดันโลหิตสูง ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ยากลุ่มนี้กรณีผู้ป่วยรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูง การแก้ไขโดยการลดขนาดยาไม่ช่วยให้ภาวะความดันโลหิตต่ำนี้ดีขึ้น แต่การเพิ่มขนาดยาอย่างช้าๆช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้ ผลของยาต่อหัวใจอีกอย่างคือทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น มีผลทำให้หัวใจทำงานหนักและมีความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในกรณีผู้ป่วยเคยมีประวัติ การเหนี่ยวนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจช้า หัวใจหยุดเต้นและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนใช้ยาในผู้ป่วยอายุมากกว่า 40 ปีและผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจ

4. ผลต่อการทำงานของตับ

ยากลุ่มนี้กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ในตับได้และยาอาจทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันได้ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักดังนั้นจึงควรหยุดยาทันทีหากเอนไซม์ตับอยู่ในระดับผิดปกติ และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ซ้ำอีก เนื่องจากการให้ยาในครั้งต่อไปจะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงมากกว่าครั้งแรก

ยากลุ่ม TCAs เป็นยากลุ่มหลักที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้ามานานไม่ว่ายาซึมเศร้ากลุ่มใหม่ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยทนต่ออาการข้างเคียงของยาได้ดีกว่า แต่ก็ยังไม่มียารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาดีกว่ายากลุ่ม TCAs แต่เนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ของยา อาจเกิดขึ้นรุนแรงได้หลายอย่างดังที่กล่าวมาด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ในปัจจุบันมีการใช้ยากลุ่มนี้ลดลง

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ของยารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นใหม่ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร  ได้แก่ อาการคลื่นไส้ เป็นอาการที่พบได้มากที่สุด แม้ว่าจะเริ่มขนาดยาต่ำ นอกจากนี้ยังมีอาการท้องเสีย ปากแห้ง อาเจียน ท้องอืด เบื่ออาหาร ซึ่งพบบ่อยในยากลุ่ม SSRIs  อาการท้องผูกพบมากในยา กลุ่ม SNRIs, paroxetine, mirtazapine
  • ปัญหาสมรรถภาพทางเพศ  ได้แก่ ความต้องการทางเพศลดลง หรือหลั่งช้าไม่ถึงจุดสุดยอด พบอุบัตืการณ์ได้สูงถึงร้อยละ 50-80 ในการใช้ยากลุ่มSSRIs และร้อยละ 30 - 40 ในการใช้ยากลุ่มSNRIs จึงควรมีการประเมินปัญหาทางเพศก่อนใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มใหม่
  • ผลต่อระบบเส้นเลือดและหัวใจ  ได้แก่ อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้า คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างบางชนิดทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นเมื่อใช้ในขนาดสูง เช่น venlafaxine ดังนั้นแพทย์ควรติดตามวัดความดันโลหิตเป็นระยะเมื่อใช้ยาชนิดนี้
  • ผลต่อระบบประสาท  ได้แก่ อาการปวดศีรษะ พบในยากลุ่มSSRIs โดยเฉพาะ fluoxetine อาการนอนไม่หลับพบร้อยละ 25 จากการใช้ยากลุ่ม SSRIs บางรายมีอาการฝันร้าย อาการขาอยู่ไม่สุข ง่วงซึม วิงเวียน อ่อนเพลีย อ่อนแรง เหงื่อออก วิตกกังวล กระวนกระวาย ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยเช่นกันในยา SSRIs, SNRIs ยาที่พบว่า ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้บ่อยที่สุดคือ mirtazapine  ดังนั้น ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
  • การเกิดภาวะ serotonin syndrome  มักเกิดจากการใช้ร่วมกับยาอื่น จนทำให้ระดับซีโรโทนินในเลือดสูงจนเป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินอันตรายโดยมีกลุ่มอาการดังนี้ ท้องเสีย อาการกระวนกระวาย อยู่ไม่สุขประสาท สัมผัสไวผิดปกติ ประสาทอัตโนมัติแปรปรวน สัญญาณชีพเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ไข้สูง สั่นจนควบคุมไม่ได้ และชักเกร็ง เพ้อหมดสติ ระบบหัวใจล้มเหลวและถึงแก่ความตาย วิธีการรักษาคือต้องหยุดยาทันทีและรักษาแบบประคับประคอง ให้ยาตามอาการที่เกิดขึ้น
  • ภาวะสีหน้าไม่แสดงอารมณ์  เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยากลุ่ม SSRIs ไปนานๆ ผู้ป่วยจะไม่สามารถแสดงอารมณ์ร้องไห้เมื่อเจอสถานการณ์ทำให้ผิดหวัง จะรู้สึกเฉยๆ แสดงอารมณ์ได้น้อย ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากหยุดใช้ยา
  • หาวบ่อย  เป็นผลข้างเคียงที่ยามีผลต่อสมองส่วนไฮโพทาลามัส
  • ชัก  เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างน้อย แต่อาจพบในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยากลุ่ม SSRIs ขนาดสูง
  • ระบบโลหิตผิดปกติ  เช่น เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เลือดออกง่าย เกิดจ้ำเลือดขึ้นง่าย ในผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม SSRIs โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่มแก้ปวดอักเสบ หรือแอสไพริน ต้องระวังเลือดออกในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยาบางชนิดยังมีผลลดระดับเม็ดเลือดขาว เช่น ภาวะ neutropenia ดังนั้นหากพบผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้แล้วเกิดการติดเชื้อง่าย มีไข้หนาวสั่น เจ็บคอแผลในช่องปาก พึงตระหนักให้ตรวจเลือดและหากพบเม็ดเลือดขาวต่ำต้องหยุดยาทันทีและรักษาโรคติดเชื้อ
  • ภาวะน้ำหนักตัวเพิ่ม  เป็นอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาบางตัว เช่น mirtazapine ยาออกฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นซึ่งพบได้ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่รับประทานยา นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มระดับไขมันในเลือดชนิดโคเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์
  • อาการถอนยา  จะพบอาการเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากหยุดยาในผู้ป่วยที่ได้ยามานานมากกว่า 1 เดือน พบบ่อยในยาที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น โดยเกิดอาการสั่น วิงเวียน คลื่นไส้ ท้องเสียอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เดินเซ นอนไม่หลับ หงุดหงิด วิตกกังวล หรือบางคนอาจมีอาการเหมือนถูกไฟดูด
  • ความคิดฆ่าตัวตาย  องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้มีคำเตือนข้างกล่องยาแก้ซึมเศร้าทุกตัว เกี่ยวกับให้ระวังความคิดและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในเด็กและผู้ใหญ่ไว้เนื่องจากมีรายงานในงานวิจัยทดลองยาวิเคราะห์ติดตามนับสิบปี ปัจจุบันอาจมีข้อมูลขัดแย้งข้อมูลดังกล่าว แต่ยังมีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการวิตกกังวลและกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข เมื่อเริ่มต้นให้ยา SSRIs จะกระตุ้นความคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกรายจึงควรที่จะได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ในช่วงหลายสัปดาห์แรกระหว่างได้รับยารักษาโรคซึมเศร้า

ด้วยเหตุผลดังกล่าวของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า จึงทำให้แพทย์ใช้ยากลุ่มนี้อย่างระมัดระวังและหากจะหยุดใช้ยาต้องค่อยๆ ลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันอาการที่จะเกิดขึ้นหลังหยุดยาอย่างทันที.


38 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Antidepressants - Side effects. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/antidepressants/side-effects/)
Negative Side Effects of Antidepressants. Verywell Mind. (https://www.verywellmind.com/negative-effects-of-antidepressants-1067351)
Adverse reactions to antidepressants. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19721108)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป