แมกนีเซียม (Magnesium) คือแร่ธาตุที่จำเป็นต่อโครงสร้างของกระดูกที่แข็งแรง คนเราสามารถรับแมกนีเซียมได้จากอาหาร แต่บางครั้งอาจต้องได้รับจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแมกนีเซียม หรือเรียกว่าอาหารเสริมแมกนีเซียม ตามความจำเป็นหรือเมื่อมีระดับแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่อยู่ในภาวะขาดแมกนีเซียม (Magnesium deficiency) นอกจากนี้แมกนีเซียมยังเชื่อมโยงกับโรคต่างๆ อย่างโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ความดันโลหิตสูง มือสั่น กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ลมชัก อ่อนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
อาหารที่มีใยอาหาร (Fiber) สูงมักอุดมไปด้วยแมกนีเซียม เช่น พืชตระกูลถั่ว (Legumes) โดยเฉพาะอัลมอนด์ ธัญพืชทั้งเมล็ด ผักต่างๆ (โดยเฉพาะบร็อคโคลี สควอซ (หรือก็คือพืชผักกลุ่มฟักทอง ฟัก แฟง แตงชนิดต่างๆ มะระ ซูกินี ชะโยเต บวบ น้ำเต้า) และผักใบเขียว) เมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ช็อคโกแลต และกาแฟ น้ำที่มีการผสมแร่ธาตุมากมายก็นับว่าเป็นแหล่งของแมกนีเซียมได้เช่นกัน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
มีคนใช้วิธีรับประทานแมกนีเซียมเพื่อป้องกันภาวะขาดแมกนีเซียม อีกทั้งยังใช้เป็นยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้สำหรับการผ่าตัดหรือการตรวจวินิจฉัยโรค และใช้เป็นยาลดกรด ช่วยภาวะอาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย
บางคนใช้แมกนีเซียมสำหรับโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด อย่างอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด (Idiopathic mitral valve prolapse) โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (Coronary artery disease) ภาวะหลอดเลือดสมอง และหัวใจวาย
แมกนีเซียมยังใช้รักษาโรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD)), ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome (CFS)), โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia), โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis), ภาวะติดสุรา (Alcoholism), การพักฟื้นหลังผ่าตัด, บรรเทาอาการตะคริวกินขาในช่วงกลางคืนและระหว่างตั้งครรภ์, ปวดศีรษะไมเกรน, อาการปวดระยะยาวที่เรียกว่ากลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่ (Complex regional pain syndrome), กระดูกพรุน (Osteoporosis), กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome (PMS)), ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence), ภาวะที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนและบวมแดงที่แขนขาที่เรียกว่าอีริโทรเมลัลเจีย (Erythromelalgia), กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome (RLS)), หอบหืด (Asthma), ไข้ละอองฟาง (Hay fever), โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) การป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยิน และมะเร็ง
แมกนีเซียมยังนำไปรับประทานเพื่อลดน้ำหนัก ส่วนนักกีฬาใช้เพื่อบำรุงกำลัง แต่ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
บางคนใช้แมกนีเซียมทาผิวเพื่อรักษาแผลติดเชื้อ น้ำร้อนลวก และฝีฝักบัว (Carbuncles) และเพื่อเร่งการสมานแผล การประคบเย็นด้วยแมกนีเซียมใช้รักษาภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังรุนแรงที่เกิดจากแบคทีเรีย หรือโรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas) และใช้ประคบร้อนเพื่อรักษาภาวะติดเชื้อที่อยู่ใต้ผิวหนังชั้นลึก
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การฉีดแมกนีเซียมเข้าร่างกายเพื่อวัตถุประสงค์ด้านโภชนาการและรักษาภาวะขาดแมกนีเซียม มักใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่ตับอ่อน ภาวะผิดปกติด้านการดูดซับแมกนีเซียม และโรคตับแข็ง (Cirrhosis) อีกทั้งมีการฉีดเพื่อใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์และภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์อื่นๆ อีกด้วย
การฉีดแมกนีเซียมใช้เพื่อควบคุมอาการชัก รักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติหลังประสบกับภาวะหัวใจวาย และรักษาภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) อีกทั้งการฉีดแมกนีเซียมยังรักษาโรคหอบหืดและภาวะแทรกซ้อนที่ปอดอื่นๆ
นอกจากนี้ยังใช้สำหรับไมเกรนและอาการปวดศีรษะ การได้รับพิษ เจ็บปวด สมองบวม ผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด ได้รับแรงกระแทกที่ศีรษะ เลือดออก โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) ป้องกันโรคสมองพิการ (Cerebral palsy) และเพื่อรักษาบาดทะยัก (Tetanus) อีกด้วย
ประโยชน์ของแมกนีเซียม
แมกนีเซียมจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและบำรุงกระดูก จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย สำหรับกระเพาะอาหารนั้น แมกนีเซียมจะช่วยปรับสมดุลกรดในกระเพาะและทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น
ภาวะที่ใช้แมกนีเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ท้องผูก (Constipation) การรับประทานแมกนีเซียมสามารถช่วยระบายอาการท้องผูกและใช้เตรียมลำไส้ก่อนเข้ารับกระบวนการทางการแพทย์ต่างๆ ได้
- ภาวะอาหารไม่ย่อย (Indigestion) การรับประทานแมกนีเซียมเป็นยาลดกรด (Antacid) จะช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกได้ องค์ประกอบของแมกนีเซียมหลายประเภทสามารถใช้ได้ แต่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์จะออกฤทธิ์เร็วที่สุด
- ภาวะขาดแมกนีเซียม (Magnesium deficiency) การรับประทานแมกนีเซียมสามารถช่วยรักษาและป้องกันภาวะขาดแมกนีเซียมได้ดี ภาวะนี้มักจะเกิดกับผู้ป่วยโรคตับ หัวใจล้มเหลว อาเจียนหรือท้องร่วง ไตทำงานผิดปกติ และภาวะสุขภาพอื่นๆ
- ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia กับ Eclampsia) การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดจัดว่าเป็นการรักษาหลักของการลดความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia) และภาวะครรภ์เป็นพิษ (Eclampsia) งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมจะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการชักได้
- หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เรียกว่า Torsades de pointes การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เรียกว่า Torsades de pointes ได้
ภาวะที่อาจใช้แมกนีเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะหรืออาร์ริทเมีย (Arrhythmias) การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เรียกว่า อาร์ริทเมียได้
- หอบหืด (Asthma) การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยรักษาอาการหอบหืดกำเริบเฉียบพลันได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาวิธีนี้อาจจะให้ผลต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยการใช้แมกนีเซียมในรูปของยาพ่นอาจช่วยเรื่องการหายใจของผู้ป่วยหอบหืดได้ดี โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาร่วมกับยาซาลบูทามอล (Salbutamol) แต่ ณ ขณะนี้ยังมีข้อสรุปของผลการสำรวจที่ขัดแย้งกันอยู่ การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดช่วยลดอาการกำเริบได้ในเด็ก แต่ควรเป็นการเสริมเพิ่มไปจากการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) และยาซาลบูทามอล
- อาการเจ็บปวดจากความเสียหายที่ประสาทจากโรคมะเร็ง การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากความเสียหายที่เส้นประสาทจากมะเร็งได้หลายชั่วโมง
- โรคสมองพิการ (Cerebral palsy) มีหลักฐานว่าการให้แมกนีเซียมกับสตรีมีครรภ์ก่อนคลอดก่อนกำหนดจะลดความเสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาพร้อมโรคสมองพิการได้
- อาการปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ (Cluster headache) การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์หรือปวดเป็นชุดๆ แต่ละครั้งนาน 1 ชั่วโมง เป็นเวลาเดิมของทุกวันหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจรุนแรงหลายเดือน และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำตาไหล น้ำมูกไหล ลืมตาลำบาก ปวดขมับ ปวดเบ้าตา เป็นต้น
- อาการเจ็บหน้าอก (Angina) เนื่องจากหลอดเลือดแดงอุดตัน การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยลดอาการปวดหน้าอกจากลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) ได้
- โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียมทุกวันนาน 8 สัปดาห์จะช่วยให้ปอดของเด็กที่ป่วยเป็นโรคซิสติก ไฟโบรซิสแข็งแรงขึ้น
- เบาหวาน (Diabetes) การรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน แม้งานวิจัยในเรื่องผลกระทบของแมกนีเซียมในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังคงมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น แมกนีเซียมอาจชะลอการเกิดปัญหาทางประสาทที่เกิดจากเบาหวานได้
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) การรับประทานแมกนีเซียมร่วมกับกรดมาลิก (Malic acid (Super Malic tablets)) อาจช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้ อีกทั้งการรับประทานแมกนีเซียมซิเตรท (Magnesium Citrate) ทุกวันนาน 8 สัปดาห์ก็อาจช่วยลดอาการของโรคนี้ได้เช่นกัน
- สูญเสียการได้ยิน การรับประทานแมกนีเซียมอาจป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยินของผู้ที่จำเป็นต้องอยู่ในที่เสียงดัง อีกทั้งการรับประทานแมกนีเซียมยังช่วยลดอาการไม่ได้ยินของผู้สูญเสียการได้ยินกะทันหันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงดังได้ การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดยังช่วยให้ภาวะสูญเสียการได้ยินกะทันหันดีขึ้นด้วย
- คอเรสเตอรอลสูง (High cholesterol) การรับประทานแมกนีเซียมคลอไรด์ (Magnesium chloride) และแมกนีเซียมออกไซด์ (Magnesium oxide) ช่วยลดระดับสารลิโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density lipoprotein: LDL) หรือเรียกว่าไขมันเลว และระดับคอเรสเตอรอลโดยรวม และยังช่วยเพิ่มสารลิโพโปรตีนความหนาแน่นสูง (High-density lipoprotein: HDL) หรือไขมันดี ในคนที่มีระดับคอเรสเตอรอลสูง
- โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคเบาหวานและโรคหัวใจ คนที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนลงพุงมากกว่าผู้ที่มีระดับแมกนีเซียมตามปกติ 6-7 เท่า การบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงยังมีผลต่อการลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนลงพุงในผู้หญิงและกลุ่มวัยรุ่น
- โรคลิ้นหัวใจ (Mitral valve prolapse) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยลดการเกิดโรคลิ้นหัวใจในผู้ป่วยที่มีระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำได้
- กระดูกพรุน (Osteoporosis) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยป้องกันการสูญเสียกระดูกในผู้หญิงสูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนได้ อีกทั้งการรับประทานร่วมกับเอสโทรเจนและแคลเซียมกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารวิตามินรวมยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกในกลุ่มผู้หญิงสูงวัยได้ดีกว่าการใช้เอสโทรเจนเพียงอย่างเดียว
- ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดเอามดลูกออกได้ ยังมีหลักฐานว่าการใช้แมกนีเซียมในปริมาณมากที่ 3 กรัม ตามด้วย 500 มิลลิกรัม/ชั่วโมง สามารถลดความไม่สบายตัวหลังจากนั้นได้อีก อย่างไรก็ตาม หากเป็นการใช้ในปริมาณที่ต่ำกว่านี้อาจไม่มีประสิทธิภาพใดๆ และอาจจะเพิ่มความเจ็บปวดขึ้นได้
- ความเจ็บปวดหลังผ่าตัด เมื่อฉีดแมกนีเซียมร่วมกับยาระงับประสาทหรือให้คนไข้หลังผ่าตัด อาจยืดระยะเวลาก่อนที่จะเกิดความเจ็บปวดขึ้นได้ และยังลดความจำเป็นของการใช้ยาแก้ปวดหลังผ่าตัดลงอีกด้วย
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome (PMS)) การรับประทานแมกนีเซียมบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนอย่างอารมณ์แปรปรวนและท้องอืดได้ และยังช่วยป้องกันอาการปวดไมเกรนก่อนมีประจำเดือนอีกด้วย
- อาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากการบีบเกร็งของหลอดเลือด (Vasospastic angina) การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยป้องกันการบีบเกร็งของหลอดเลือดในผู้ที่มีอาการปวดหน้าอกจากเส้นเลือดแดงที่ขนส่งเลือดไปยังหัวใจได้
ภาวะที่แมกนีเซียมอาจไม่สามารถรักษาได้
- มะเร็งลำไส้และทวารหนัก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียมช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก ข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ กลับกล่าวว่าแมกนีเซียมอาจลดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ได้จริง แต่ไม่ใช่กับมะเร็งทวารหนัก
- คอเลสเตอรอล และไขมัน LDL การได้รับประทานแมกนีเซียมไม่มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญกับการลดระดับไขมัน LDL และคอเลสเตอรอล
- หัวใจวาย โดยทั่วไปแล้วการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดหรือการรับประทานนั้นไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังประสบกับภาวะหัวใจวายได้
- เมาที่สูง (Altitude sickness) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียมซิเตรททุกวันโดยแบ่งเป็น 3 ครั้ง เริ่มที่ 3 วันก่อนปีนเขา ไปจนถึงตอนลงเขา ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเมาที่สูงได้ (ควรใช้ยาเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) และยาอะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide)
- เสริมประสิทธิภาพด้านกีฬา งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียมจะช่วยลดผลจากการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพด้านกีฬา งานวิจัยอื่นกล่าวอีกว่าการรับประทานอาหารเสริมแมกนีเซียม (Easymag, Sanofi-Aventis) ทุกวันนาน 12 สัปดาห์จะช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินของผู้หญิงสูงอายุได้ แต่การรับประทานแมกนีเซียมนั้นไม่อาจเพิ่มความทนทานหรือกำลังระหว่างกิจกรรมด้านกีฬาได้แต่อย่างใด
- อาการปวดเรื้อรังหลังบาดเจ็บ งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดเป็นเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน นาน 5 วัน ไม่อาจลดอาการปวดของผู้ที่มีอาการเจ็บปวดหลังการบาดเจ็บ
- แมงกะพรุนต่อย งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานยาเฟนตานิล (Fentanyl) ในขณะที่กำลังได้รับแมกนีเซียมทางเส้นเลือดไม่อาจลดอาการปวดหลังถูกแมงกะพรุนต่อยได้
- กล้ามเนื้อบีบรัด/ตะคริว การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ไม่อาจลดความถี่หรือความรุนแรงของอาการตะคริวได้
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการทาครีมแมกนีเซียม (MagPro) ที่กล้ามเนื้อนาน 1 สัปดาห์ไม่อาจเพิ่มความยืดหยุ่นและความทนทานของกล้ามเนื้อได้
- ความเสียหายที่ประสาทจากการใช้ยารักษามะเร็ง Oxaliplatin งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียมไม่อาจป้องกันความเสียหายที่เส้นประสาทจากการใช้ยารักษามะเร็งตัวนี้ได้
- ตะคริวกินขาในช่วงกลางคืน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานแมกนีเซียมนาน 4 สัปดาห์ ไม่ได้ป้องกันอาการตะคริวในช่วงกลางคืนได้
- ถูกกระทบกระแทกที่ศีรษะ งานวิจัยกล่าวว่าอาหารเสริมชนิดนี้ไม่อาจช่วยหรือลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงที่ศีรษะได้
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease) งานวิจัยพบว่าการฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate) เข้าเส้นเลือดทุกชั่วโมงในปริมาณ 8 โดสไม่ได้ส่งผลดีต่อเด็กที่ป่วยเป็นโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวแต่อย่างใด
- ตายคลอด (Stillbirths) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ระหว่างตั้งครรภ์ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการตายคลอดของทารกได้
- บาดทะยัก (Tetanus) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ไม่อาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยบาดทะยักได้แม้จะเทียบกับการรักษาตามปกติ อย่างไรก็ตาม การรับประทานแมกนีเซียมอาจลดระยะเวลาที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้ข้อมูลนี้ยังคงขัดแย้งกันอยู่ก็ตาม
ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานและยังไม่มีข้อสรุปว่าใช้แมกนีเซียมรักษาได้หรือไม่
- โรคพิษสุรา (Alcoholism) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจเพิ่มคุณภาพการนอนหลับของผู้ที่ติดสุราและกำลังอยู่ในช่วงการเลิกสุรา อย่างไรก็ตาม การฉีดแมกนีเซียมอาจไม่สามารถลดอาการถอนพิษสุราได้
- ได้รับพิษอะลูมินัมฟอสไฟด์ (Aluminum phosphide poisoning) มีงานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้จะลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ที่ได้รับพิษอะลูมินัมฟอสไฟด์ได้ แต่งานวิจัยอื่นๆ กลับแย้งว่าแมกนีเซียมไม่มีผลต่อพิษชนิดนี้แต่อย่างใด
- ภาวะวิตกกังวล (Anxiety) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีเซียม ผลซานจา (Hawthorn) และแคลิฟอร์เนียป็อปปี้ เพียงช่วยรักษาภาวะวิตกกังวลชนิดอ่อนถึงปานกลาง แต่ไม่อาจใช้รักษาระดับรุนแรงได้
- โรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD)) เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอาจมีระดับแมกนีเซียมต่ำ งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้สามารถช่วยรักษาเด็กกลุ่มอาการนี้ที่มีระดับแมกนีเซียมต่ำได้ แต่ไม่เห็นผลการวิจัยในระยะยาว
- โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานแมกนีซิโอการ์ด (Magnesiocard) อาจให้ผลคล้ายกับการใช้ลิเทียม (Lithium) ในผู้ป่วยอารมณ์สองขั้วได้เพียงบางราย
- โรคหัวใจ งานวิจัยในเรื่องผลกระทบของการบริโภคแมกนีเซียมในอาหารกับโรคหัวใจยังคงไม่สอดคล้องกัน บ้างก็กล่าวว่าการเพิ่มการบริโภคอาหารที่มีแมกนีเซียมเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ แต่งานวิจัยอื่นกลับกล่าวว่าการเพิ่มปริมาณการบริโภคไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจ บ้างก็ว่าไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างการบริโภคแมกนีเซียมกับโรคหัวใจ
- ภาวะซึมเศร้า (Depression) งานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้นาน 6 สัปดาห์สามารถลดอาการซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่มีอาการอ่อนถึงปานกลางได้ แต่การฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดเพียงโดสเดียวนั้นไม่อาจลดอาการใดๆ ลงได้เมื่อเทียบในช่วงระยะเวลา 1 สัปดาห์ให้หลัง ผู้ที่ได้รับแมกนีเซียมทุกวันในอาหารที่ 76-360 มิลลิกรัม อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ส่วนผู้ที่ได้รับในปริมาณที่มากหรือน้อยกว่านั้นจะไม่ลดความเสี่ยงต่อภาวะนี้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะบอกว่า การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้สามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้หรือไม่
- ความดันโลหิตสูง งานวิจัยส่วนมากแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้สามารถลดเลขตัวล่างของความดันโลหิตลงได้ (Diastolic blood pressure) ประมาณ 2 mmHg การลดลงนี้อาจจะมีค่าน้อยเกินที่จะส่งผลต่อความดันโลหิต อีกทั้งยังมีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แมกนีเซียมกับเลขความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure) ที่ขัดแย้งซึ่งกันและกันอยู่
- สมองเสียหายจากการขาดออกซิเจนในทารก งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจช่วยทารกที่มีความเสียหายที่สมองจากการขาดออกซิเจนในระยะสั้นได้เท่านั้น ไม่อาจช่วยในระยะยาวได้
- นิ่วในไต การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจป้องกันการเกิดนิ่วในไตซ้ำซากได้ แต่การใช้ยาอย่าง Chlorthalidone (Hygroton) อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
- ปวดหลังส่วนล่าง งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดทุกๆ 4 ชั่วโมงนาน 2 สัปดาห์ในขณะที่กำลังรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันนาน 4 สัปดาห์อาจช่วยลดอาการปวดหลังของผู้ที่มีปัญหาปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังได้
- ภาวะมาเนีย (Mania) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยาเวอราปามิล (Verapamil) สามารถลดอาการมาเนียได้ดีกว่าการใช้ยาเวอราปามิลเพียงอย่างเดียว งานวิจัยอื่นๆ กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดสามารถลดปริมาณการใช้ยาอื่นๆ ในการควบคุมอาการมาเนียชนิดรุนแรงลงได้ แต่ยังคงขาดหลักฐานในการรักษาที่หายขาด
- ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headaches) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ปริมาณมากอาจช่วยลดความถี่ของการเกิดไมเกรนลง แต่งานวิจัยอื่นกล่าวว่าแมกนีเซียมไม่ได้ส่งผลต่ออาการไมเกรน ซึ่งมีงานวิจัยไม่กี่ชิ้นที่กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจลดอาการไมเกรนลงได้ แม้ว่างานวิจัยอื่นๆ จะกล่าวถึงการไม่บรรเทาอาการปวดแม้ใช้เข้าเส้นเลือดก็ตาม
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis (MS)) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจลดอาการตึงหรือแข็งของกล้ามเนื้อในผู้เป็นปลอกประสาทเสื่อมแข็งได้ แต่ไม่อาจรักษาได้
- การพักฟื้นหลังผ่าตัด งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานลูกอมยาแมกนีเซียม (Magnesium lozenge) ก่อนผ่าตัด 30 นาที จะลดอาการเจ็บคอจากการสอดท่อช่วยหายใจได้ แต่ไม่อาจบรรเทาอาการอื่นๆ หลังผ่าตัดได้
- ตะคริวที่ขาของหญิงตั้งครรภ์ งานวิจัยเรื่องการใช้แมกนีเซียมกับอาการตะคริวที่ขาจากการตั้งครรภ์ยังคงไม่สอดคล้องกัน บ้างกล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจลดอาการตะคริวระหว่างตั้งครรภ์ได้ บ้างก็กล่าวว่าแมกนีเซียมไม่ส่งผลใดๆ ต่ออาการนี้
- คลอดก่อนกำหนด การให้แมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจป้องกันการบีบรัดตัวของมดลูกเมื่อคลอดก่อนกำหนดได้ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าแมกนีเซียมสามารถชะลอการคลอดได้นาน 48 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับการใช้ยาปกติ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ยังเชื่อว่าแมกนีเซียมอาจส่งผลเสียต่อแม่และเด็กได้เช่นกัน
- ภาวะขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome (RLS)) การรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจลดปริมาณการเคลื่อนไหวและเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับของผู้ป่วยโรคขาอยู่ไม่สุขได้ อย่างไรก็ตาม บทบาทของแมกนีเซียมกับโรคนี้ยังคงไม่แน่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยภาวะนี้บางรายจะมีระดับแมกนีเซียมในเลือดสูงอยู่แล้วก็ได้
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ยังคงมีหลักฐานเกี่ยวกับผลจากการใช้อาหารเสริมชนิดนี้หรือรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียมกับโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สอดคล้องซึ่งกันและกันอยู่ แต่ก็มีรายงานว่าแมกนีเซียมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้ชายได้ ขณะนี้จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้จะให้ผลเช่นใด บ้างก็กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่งานวิจัยอื่นกลับกล่าวว่าคนส่วนมากไม่สามารถใช้แมกนีเซียมในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือพิการจากโรคหลอดเลือดสมองได้
- ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage) ยังคงมีหลักฐานที่ปนเปกันอยู่เกี่ยวกับผลของการใช้แมกนีเซียมควบคุมอาการตกเลือดในสมองบ้างก็กล่าวว่าการฉีดแมกนีเซียมเข้าเส้นเลือดจะลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและภาวะเจ้าหญิง-เจ้าชายนิทรา (Vegetative state) ลงได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ กลับแย้งว่าแมกนีเซียมไม่ได้มีประโยชน์เช่นนี้
- เสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน (Sudden cardiac death) งานวิจัยเบื้องต้นบางชิ้นกล่าวว่าการบริโภคแมกนีเซียมปริมาณมากนั้นมีโอกาสน้อยที่จะเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่แน่ชัดว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะนี้ได้หรือไม่ ก็แม้กระทั่งการให้แมกนีเซียมทางเส้นเลือดอาจไม่ส่งผลดีด้วยเช่นกัน (ควรใช้แมกนีเซียมกรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Torsade de pointes))
- ภาวะพิษจากยาต้านเศร้า (Tricyclic antidepressant drugs) งานวิจัยกล่าวว่าการให้แมกนีเซียมในยาทางเส้นเลือดไม่อาจช่วยผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิกได้
- ลดน้ำหนัก งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยแคลเซียม แมกนีเซียม และแลคทูโลส (Lactulose) นาน 1 ปีสามารถลดไขมันร่างกายได้เล็กน้อย แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่อาจลดน้ำหนัก อัตราส่วนไขมัน หรือขนาดรอบเอวได้ เพราะส่วนที่ลดลงไปคือปริมาณน้ำในกระแสเลือด
- ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) งานวิจัยไม่สามารถสรุปว่ามีความเกี่ยวพันระหว่างปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome (CFS)) การฉีดแมกนีเซียมอาจช่วยลดอาการเหนื่อยล้าได้ แต่ประโยชน์ข้อนี้ยังคงเป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น
ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของการใช้แมกนีเซียม
แมกนีเซียมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมหรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ใช้วิธีฉีดเข้าร่างกายในปริมาณและขนาดที่ถูกต้อง บางคนอาจประสบกับผลข้างเคียงจากการใช้แมกนีเซียม อย่างอาการปวดท้อง หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และผลข้างเคียงอื่นๆ ได้
สำหรับผู้ใหญ่ โดยมากปริมาณแมกนีเซียมที่น้อยกว่า 350 มิลลิกรัม/วัน (310-420 มิลลิกรัม) นั้นจัดว่าปลอดภัย หากบริโภคในปริมาณมากอาจจะไม่ปลอดภัยเนื่องจากแมกนีเซียมสามารถเข้าสะสมในร่างกายจนทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ได้ อย่างหัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตตกลง สับสน หายใจช้าลง โคม่า และเสียชีวิต
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ
สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร อาหารเสริมชนิดนี้ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์หรือแม่ที่ต้องให้นมบุตรเมื่อบริโภคในปริมาณที่น้อยกว่า 350 มิลลิกรัม/วัน แมกนีเซียมในรูปแบบยาฉีดหรือฉีดเข้าเส้นเลือดช่วงก่อนคลอดมีความปลอดภัย แต่อาจไม่ปลอดภัยหากให้ใช้ในปริมาณมาก
เด็ก เด็กส่วนมากสามารถรับอาหารเสริมชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัย โดยปริมาณที่ปลอดภัยนั้นได้แก่ สำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี มีปริมาณที่น้อยกว่า 80 มิลลิกรัม/วัน, สำหรับเด็กอายุ 4-8 ปี คือ 130 มิลลิกรัม และ สำหรับเด็กอายุ 9-13 ปีขึ้นไป คือ 240 มิลลิกรัม หากเป็นการใช้แมกนีเซียมปริมาณที่มากกว่านี้จะไม่ปลอดภัย
โรคพิษสุรา การติดสุราจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะขาดแมกนีเซียมขึ้น
ภาวะเลือดออกผิดปกติ แมกนีเซียมอาจชะลอการเกิดลิ่มเลือดได้ ซึ่งทางทฤษฎีแล้วการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเลือดออกหรือฟกช้ำในกลุ่มผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติได้ง่ายขึ้น
เบาหวาน เบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะขาดแมกนีเซียมขึ้น หากเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีจะลดปริมาณแมกนีเซียมที่ร่างกายดูดซึมลง
ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดแมกนีเซียมมากขึ้นเนื่องจากร่างกายดูดซับแมกนีเซียมได้น้อยลง และมักประสบกับโรคภัยที่ส่งผลต่อการดูดซึมนี้บ่อยครั้ง
สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัด (Heart block) ไม่ควรให้แมกนีเซียมปริมาณมากกับผู้ที่มีปัญหาภาวะนี้
โรคที่ส่งผลต่อการดูดซึมแมกนีเซียม การดูดซับแมกนีเซียมของร่างกายจะลดลงได้จากหลายๆ ภาวะ เช่น การติดเชื้อที่กระเพาะอาหาร โรคภูมิคุ้มกัน โรคลำไส้อักเสบ และอื่นๆ
ปัญหาที่ไตอย่างโรคไตวาย อวัยวะไตที่ทำงานไม่ดีจะทำการกำจัดแมกนีเซียมออกจากร่างกายได้ยาก การรับประทานแมกนีเซียมเข้าไปมากขึ้นจะยิ่งทำให้แมกนีเซียมสะสมในร่างกายมากจนอาจไปถึงระดับที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้นหากคุณมีปัญหาที่ไตไม่ควรรับแมกนีเซียม
กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome) ผู้ป่วยภาวะนี้อาจมีระดับแมกนีเซียมสูงในร่างกาย ซึ่งยังคงไม่แน่ชัดว่าแมกนีเซียมเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะนี้หรือไม่ เนื่องจากก็มีผู้ป่วยภาวะนี้บางรายก็มีปัญหาขาดแมกนีเซียมเช่นกัน
การใช้แมกนีเซียมร่วมกับยาชนิดอื่น
ใช้แมกนีเซียมร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง
- ยาปฏิชีวนะอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside antibiotics)
ยาปฏิชีวนะบางตัวส่งผลต่อกล้ามเนื้อ โดยยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เรียกว่ายาอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) แมกนีเซียมเองก็ส่งผลต่อกล้ามเนื้อเช่นกัน ดังนั้นการรับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้กับฉีดยาแมกนีเซียมอาจทำให้เกิดปัญหากล้ามเนื้อขึ้นได้ ตัวอย่างยาปฏิชีวนะอะมิโนไกลโคไซด์ มีทั้ง Amikacin (Amikin), Gentamicin (Garamycin), Kanamycin (Kantrex), Streptomycin, Tobramycin (Nebcin) และอื่นๆ
- ยาปฏิชีวนะเตตระไซคลิน (Tetracycline antibiotics)
แมกนีเซียมสามารถเข้ายึดเกาะกับยาเตตระไซคลินในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งจะลดปริมาณยาเตตระไซคลินที่ร่างกายสามารถดูดซึมลง ดังนั้นการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับ tetracyclines จะลดประสิทธิภาพของยา tetracyclines ลง เพื่อเลี่ยงการตีกันเช่นนี้ควรรับประทานแคลเซียม 2 ชั่วโมงก่อนหรือ 4 ชั่วโมงหลังทานยา tetracyclines ตัวอย่าง tetracyclines มีทั้ง demeclocycline (Declomycin), minocycline (Minocin), และ tetracycline (Achromycin)
- ยาปฏิชีวนะควิโนโลน (Quinolone antibiotics)
แมกนีเซียมสามารถเข้ายึดเกาะกับยาควิโนโลนในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งจะลดปริมาณยาควิโนโลนที่ร่างกายสามารถดูดซึมลง ดังนั้นการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยาควิโนโลนจะลดประสิทธิภาพของยา เพื่อเลี่ยงการตีกันเช่นนี้ควรรับประทานแคลเซียม 2 ชั่วโมงก่อนหรือ 4 ชั่วโมงหลังรับประทานยาควิโนโลน ตัวอย่างยาควิโนโลนมีทั้ง Ciprofloxacin (Cipro), Enoxacin (Penetrex), Norfloxacin (Chibroxin, Noroxin), Sparfloxacin (Zagam), Trovafloxacin (Trovan) และ Grepafloxacin (Raxar)
- ยากลุ่มไบฟอสโฟเนตส์ (Bisphosphonates)
แมกนีเซียมจะลดปริมาณการดูดซับยากลุ่มไบฟอสโฟเนตส์ของร่างกายลง ดังนั้นการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยากลุ่มไบฟอสโฟเนตส์สามารถลดประสิทธิภาพของยาได้ เพื่อเลี่ยงการตีกันเช่นนี้ควรรับประทานยากลุ่มไบฟอสโฟเนตส์ก่อนแมกนีเซียมอย่างน้อย 2 ชั่วโมงหรือใช้ยาในวันหลัง ตัวอย่างยากลุ่มไบฟอสโฟเนตส์มีทั้ง Alendronate (Fosamax), Etidronate (Didronel), Risedronate (Actonel), Tiludronate (Skelid) และอื่นๆ
- ยาสำหรับความดันโลหิตสูง (Calcium channel blockers)
แมกนีเซียมอาจลดความดันโลหิตลงได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยาสำหรับลดความดันโลหิตสูงอาจทำให้ความดันเลือดของคุณตกลงต่ำเกินไปได้ ตัวอย่างยาที่ควบคุมความดันโลหิตสูงมีทั้ง Nifedipine (Adalat, Procardia), Verapamil (Calan, Isoptin, Verelan), Diltiazem (Cardizem), Isradipine (DynaCirc), Felodipine (Plendil), Amlodipine (Norvasc) และอื่นๆ
- ยาคลายกล้ามเนื้อ
แมกนีเซียมอาจช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการคลายกล้ามเนื้อได้ ตัวอย่างยาคลายกล้ามเนื้อมีทั้ง Carisoprodol (Soma), Pipecuronium (Arduan), Orphenadrine (Banflex, Disipal), Cyclobenzaprine, Gallamine (Flaxedil), Atracurium (Tracrium), Pancuronium (Pavulon), Succinylcholine (Anectine) และอื่นๆ
- ยาขับน้ำ (Potassium-sparing diuretics)
ยาขับน้ำบางประเภทสามารถเพิ่มระดับแมกนีเซียมในร่างกายขึ้นได้ ดังนั้นการรับประทานยากลุ่มนี้ร่วมกับอาหารเสริมชนิดนี้อาจทำให้มีแมกนีเซียมในร่างกายมากเกินไปได้ โดยยาขับน้ำที่เพิ่มระดับแมกนีเซียมมีดังนี้ Amiloride (Midamor), Spironolactone (Aldactone) และ Triamterene (Dyrenium)
ปริมาณการใช้แมกนีเซียม
ผู้ใหญ่
- ปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน (Recommended Dietary Allowances (RDA)) สำหรับธาตุแมกนีเซียมคือ
ชายและหญิงอายุ 19-30 ปีคือ 400 มิลลิกรัม และ 310 มิลลิกรัม
ชายและหญิงอายุ 31 ปีขึ้นไปคือ 420 มิลลิกรัม และ 320 มิลลิกรัม
สำหรับสตรีมีครรภ์อายุ 14-18 ปีคือ 400 มิลลิกรัม; 19-30 ปีคือ 350 มิลลิกรัม; 31-50 ปีคือ 360 มิลลิกรัม
สำหรับผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตรอายุ 14-18 ปีคือ 360 มิลลิกรัม; 19-30 ปีคือ 310 มิลลิกรัม; 31-50 ปีคือ 320 มิลลิกรัม
ส่วนปริมาณสารอาหารสูงสุด (upper intake level (UL)) ต่อวันของแมกนีเซียมสำหรับทุกคนที่มีอายุเกิน 8 ปี รวมถึงสตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตรคือ 350 มิลลิกรัม - สำหรับอาการท้องผูก
แมกนีเซียมซิเตรท 8.75-25 กรัม มักจะเป็น 150-300 มิลลิลิตรในรูปของสารละลาย 290 มิลลิลิตร
แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ 2.4-4.8 กรัม 30 มิลลิลิตร (2 ช้อนโต๊ะ)
แมกนีเซียมซัลเฟต 10-30 กรัม
และใช้เกลือแมกนีเซียมเป็นการรักษาครั้งคราวในปริมาณที่ 8 ออนซ์ ต่อน้ำ 1 แก้ว - สำหรับอาการอาหารไม่ย่อย แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ 400-1,200 มิลลิกรัม 4 ครั้ง/วัน หากเป็นแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ใช้ 800 มิลลิกรัม/วัน
- สำหรับภาวะขาดแมกนีเซียม แมกนีเซียมซัลเฟต 3 กรัมทุกๆ 6 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 ครั้ง, สารละลายแมกนีเซียมคลอไรด์ 5% ทุกวันนาน 16 สัปดาห์, น้ำแร่ที่อุดมด้วยแมกนีเซียม (Hepar) 100 มิลลิกรัม/ลิตร, แมกนีเซียมแล็กเทต 10.4 mmol ทุกวันนาน 3 เดือน พยายามเลี่ยงการใช้แมกนีเซียมออกไซด์และแมกนีเซียมคาร์บอเนต
- สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (Arrhythmias) magnesium-DL-hydrogen aspartate 2.163 มิลลิกรัม และ potassium-DL-hydrogen aspartate 2.162 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 21 วัน
- สำหรับอาการปวดหน้าอกจากหลอดเลือดอุดตัน แมกนีเซียมออกไซด์ 800-1,200 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 3 เดือน
- สำหรับเบาหวาน
สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ใช้แมกนีเซียมคลอไรด์ 2.5 กรัมในสารละลาย 50 มิลลิลิตร ทุกวันนาน 16 สัปดาห์, น้ำเกลือทะเลสาบ (Salt lake water) ที่มีปริมาณแมกนีเซียมสูง 300 มิลลิลิตร และเจือจางด้วยน้ำสะอาดที่ประกอบด้วยแมกนีเซียม 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ทุกวันนาน 30 วัน, แมกนีเซียม 360 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 4-16 สัปดาห์
สำหรับเบาหวานชนิดที่ 1 ใช้อาหารเสริมแมกนีเซียมกลูโคเนต (Ultramagnesium) 300 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 5 ปี - สำหรับโรคไฟโบรมัยอัลเจีย แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ร่วมกับกรดมาลิก (Super Malic tablets), แมกนีเซียมซิเตรท 300 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 8 สัปดาห์
- สำหรับภาวะสูญเสียการได้ยิน แมกนีเซียมแอสปาร์เทท 167 มิลลิกรัม ผสมกับน้ำมะนาว 200 มิลลิลิตร ทุกวันนาน 8 สัปดาห์
- สำหรับภาวะคอเลสเตอรอลสูง แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ 1 กรัมนาน 6 สัปดาห์
- สำหรับโรคอ้วนลงพุง ผลิตภัณฑ์แมกนีเซียมแอสปาร์เทท 365 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 6 เดือน
- สำหรับโรคลิ้นหัวใจ (Mitral valve prolapse) แมกนีเซียมคาร์บอเนท 1,200-1,800 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 5 สัปดาห์
- สำหรับโรคกระดูกพรุน
แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ 300-1,800 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 6 เดือน ตามด้วย แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ 600 มิลลิกรัม/วันนาน 18 เดือน
แมกนีเซียมซิเตรท 1,830 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 30 วัน
นอกจากเอสโทรเจนให้บริโภคแมกนีเซียม 600 มิลลิกรัม ร่วมกับแคลเซียมและอาหารเสริมวิตามินรวม 500 มิลลิกรัม ทุกวันนาน 1 ปี - อาการปวดหลังผ่าตัด ยาลูกอมแมกนีเซียม (Magnesium-Diasporal lozenge, Med Ilac) ที่ประกอบด้วยเกลือ แมกนีเซียมซิเตรท 610 มิลลิกรัม นาน 20 นาทีก่อนผ่าตัด
- สำหรับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) แมกนีเซียมออกไซด์ 333 มิลลิกรัม/วัน ตลอด 2 รอบเดือน ส่วนการบริโภคธาตุแมกนีเซียมปริมาณสูงที่ 360 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวันจะเริ่มขึ้นจากวันที่ 15 ของรอบเดือนจนกว่าจะมีประจำเดือน, ธาตุแมกนีเซียม 360 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวันนาน 2 เดือน, แมกนีเซียม 300 มิลลิกรัม ร่วมกับวิตามินบี 6 (Vitamin B6) 50 มิลลิกรัม
- สำหรับภาวะขาดแมกนีเซียม ปริมาณที่เริ่มตามปกติสำหรับภาวะขาดแมกนีเซียมไม่รุนแรงคือ ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต 1 กรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง 4 โดส สำหรับภาวะขาดแมกนีเซียมรุนแรงนั้นให้ใช้แมกนีเซียมซัลเฟต 5 กรัมเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อการป้องกันภาวะขาดแมกนีเซียม ผู้ใหญ่จะได้รับธาตุแมกนีเซียมที่ 60-96 มิลลิกรัม ทุกวัน
- สำหรับความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia กับ Eclampsia) ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต 4-5 กรัมตามด้วย แมกนีเซียมซัลเฟต 4-5 กรัมทุกๆ 4 ชั่วโมง หรือแมกนีเซียมซัลเฟต 1-3 กรัมต่อชั่วโมง ปริมาณที่ใช้ไม่ควรเกิน 30-40 กรัม/วัน ปริมาณแมกนีเซียมซัลเฟตสูงสุด (9-14 กรัม) ตามด้วยปริมาณน้อย (2.5-5 กรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมง นาน 24 ชั่วโมง)
- สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (Torsades de pointes) ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต 1-6 กรัมหลายนาที ตามด้วยการหยดยา (IV infusion)
- สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (Arrhythmias) รักษาโดยการฉีด
สำหรับลดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหลังหัวใจวายคือ แมกนีเซียมซัลเฟต 8 กรัมในสารละลาย 250 มิลลิลิตรในช่วง 12 ชั่วโมง
สำหรับภาวะหัวใจเต้นถี่ผิดปกติ หยดยาแมกนีเซียมซัลเฟต 5 กรัมในสารละลาย 100 มิลลิลิตร ปริมาณครึ่งหนึ่งที่ใช้เป็นเวลา 20 นาทีตามด้วยเศษที่เหลืออีก 2 ชั่วโมง
สำหรับภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ฉีดแมกนีเซียมคลอไรด์ 1-4 กรัม 1 โดสในช่วง 5 นาที
สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ แมกนีเซียมซัลเฟต 2 กรัมในสารละลาย 10 มิลลิลิตร ทางเส้นเลือดในระยะเวลา 1-10 นาที ตามด้วยแมกนีเซียมซัลเฟต 5-10 กรัมในสารละลาย 250-500 มิลลิลิตร ในช่วง 5 ชั่วโมง - สำหรับอาการเจ็บปวดจากความเสียหายที่เส้นประสาทที่เกี่ยวกับมะเร็ง ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต 0.5-1 กรัมแบบโดสเดี่ยว และฉีด 50 % แมกนีเซียมซัลเฟต 1-2 มิลลิลิตร ในช่วง 5-10 นาที
- สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต 1.2 กรัมทางเส้นเลือดโดยใช้ยาพ่น, แมกนีเซียมซัลเฟต 1.2-2 กรัมในสารละลาย 100-150 มิลลิลิตร เป็นเวลา 20 นาที
- สำหรับอาการปวดศีรษะเป็นชุด ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต 1 กรัมในช่วง 5 นาที หรือแมกนีเซียมซัลเฟต 1 กรัม
- สำหรับอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดมดลูก ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟตในสารละลายหยดเข้าเส้นเลือด 3 กรัม ตามด้วยการฉีดแมกนีเซียมซัลเฟตเข้าเส้นเลือด 0.5 กรัมต่อชั่วโมง นาน 20 ชั่วโมง
- สำหรับความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด ฉีดแมกนีเซียม 5-50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทางเส้นเลือดด้วยการหยดสารละลายต่อเนื่องที่ 6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ชั่วโมงตามระยะเวลาผ่าตัดถึง 48 ชั่วโมง และแมกนีเซียมร่วมกับยาแก้ปวด 3.7-5.5 กรัมภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
- สำหรับอาการเจ็บหน้าอกจากการบีบรัดของหลอดเลือด (Vasospastic angina) ฉีดแมกนีเซียม 65 มิลลิกรัม/น้ำหนักร่างกายทางเส้นเลือดเป็นเวลา 20 นาที
- สำหรับหอบหืด แมกนีเซียมซัลเฟต 1-2 กรัมเป็นเวลา 20-30 นาที หรือแมกนีเซียมซัลเฟต 78 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ชั่วโมงทางเส้นเลือดระหว่าง และ 30 นาทีก่อนเข้ารับการทดสอบการทำงานปอด
- สำหรับภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (Pre-eclampsia กับ Eclampsia) แมกนีเซียมซัลเฟตเจือจางในน้ำเกลือ 4 กรัมเข้าเส้นเลือดเป็นเวลา 10-15 นาที ตามด้วยแมกนีเซียมซัลเฟต 5 กรัมแบบฉีดที่กล้ามเนื้อ และแมกนีเซียมซัลเฟต 2.5 หรือ 5 กรัมฉีดเข้าร่างกายทุกๆ 4 ชั่วโมง นาน 24 ชั่วโมง
- สำหรับกลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (CFS) สารละลายที่ประกอบด้วยแมกนีเซียมซัลเฟต 1 กรัม ฉีดเข้าร่างกาย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 6 สัปดาห์
- สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ยาซาลบูทามอล 2.5 มิลลิลิตร ร่วมกับแมกนีเซียมซัลเฟต 2.5 มิลลิลิตร (151 มิลลิลิตรต่อโดส) โดยพ่น 3 ครั้งในระยะเวลาห่างกัน 30 นาที
เด็ก
- ปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน (Recommended Dietary Allowances (RDA)) สำหรับธาตุแมกนีเซียมคือ
อายุ 1-3 ปีคือ 80 มิลลิกรัม
อายุ 4-8 ปีคือ 130 มิลลิกรัม
อายุ 9-13 ปีคือ 240 มิลลิกรัม
อายุ 14-18 ปีคือ 410 มิลลิกรัม (เด็กชาย) และ 360 มิลลิกรัม (เด็กหญิง)
สำหรับทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีจะมีค่าปริมาณสารอาหารที่เพียงพอ (Adequate Intake (AI)) คือ 30 มิลลิกรัม จากคลอดจนถึงอายุ 6 เดือน และ 75 มิลลิกรัม สำหรับอายุ 7-12 เดือน
ปริมาณสารอาหารสูงสุดต่อวัน (Upper Intake Level (UL)) สำหรับแมกนีเซียม
เด็กอายุ 1-3 ปีคือ 65 มิลลิกรัม และสำหรับเด็กอายุ 4-8 ปี คือ 110 มิลลิกรัม - สำหรับโรคซิสติก ไฟโบรซิส แมกนีเซียมไกลซีน (Magnesium-glycine) 300 มิลลิกรัม/วัน นาน 8 สัปดาห์
- สำหรับหอบหืด แมกนีเซียมซัลเฟต 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และมากถึง 2 กรัมด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือดในสารละลาย 100 มิลลิลิตร ในช่วงเวลา 20 นาที