กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

Acetazolamide (อะเซตาโซลาไมด์)

เผยแพร่ครั้งแรก 24 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

Acetazolamide เป็นยาในกลุ่มยาขับปัสสาวะ ยาต้านอาการชัก และยารักษาต้อหิน ชื่อทางการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ Diamox โดยบริษัท Sanofi Aventis กลไกการออกฤทธิ์ของยา Acetazolamine คือ ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์คาร์โบนิก แอนไฮเดรส (Carbonic Anhydrase) แบบผันกลับได้ เป็นผลให้เกิดการลดการหลั่งของไฮโดรเจนไอออนที่บริเวณท่อไต เพิ่มการขับออกของโซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอเนต และน้ำ ยามีฤทธิ์ลดการสร้างของน้ำในดวงตา ลดระดับความดันในลูกตา จึงมีการใช้ยา Acetazolamine ในการรักษาโรคต้อหิน การยับยั้งเอนไซม์ Carbonic Anhydrase ของยาในระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลต่อการหลั่งของสารสื่อประสาทที่ตัวเซลล์ประสาทมากเกินไปได้

Acetazolamide จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามการจำแนกโดยคณะกรรมการอาหารและยา มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยา ต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย และสำหรับบุคคลทั่วไปเภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ รูปแบบยาที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่
  • รูปแบบยาผงสำหรับเตรียมยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัมต่อไวอัล
  • รูปแบบยาเม็ด ขนาด 250 มิลลิกรัม
  • รูปแบบยาแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม

ข้อบ่งใช้ของยา Acetazolamide

โรคที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • โรคต้อหินมุมเปิด (open-angle glaucoma) หรือให้ยาก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด (closed-angle glaucoma)
  • ใช้เพื่อขับปัสสาวะ
  • โรคลมชัก (epilepsy)
  • ป้องกันการเกิดความผิดปกติในผู้ที่ต้องเดินทางขึ้นที่สูง เช่น เดินทางขึ้นภูเขา ซึ่งเกิดจากการตอบสนองและปรับตัวของร่างกายต่อการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศและออกซิเจน  อาการแสดง ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หายใจสั้น เดินไม่ได้

ขนาดและวิธีการใช้ยา Acetazolamide

Acetazolamide มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • โรคต้อหินมุมเปิด หรือให้ยาก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด
    • การใช้ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 250-1000 มิลลิกรัมต่อวัน ถ้าให้ขนาดยามากกว่า 250 มิลลิกรัม ควรพิจารณาแบ่งขนาดการใช้ยา
    • การใช้ยาในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 250-1000 มิลลิกรัม ต่อวัน ถ้าให้ขนาดยามากกว่า 250 มิลลิกรัม ควรพิจารณาแบ่งขนาดการใช้ยา
    • การใช้ยาในรูปแบบยาแคปซูลชนิดออกฤทธิ์นาน (extended release) ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง
  • ใช้เพื่อขับปัสสาวะ
    • การใช้ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด  250-375 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน ควรมีการเว้นช่วงหยุดการใช้ยาระหว่างการรักษา เพื่อให้ยายังคงประสิทธิภาพในการขับปัสสาวะในกรณีต้องมีการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง
    • การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดเดียวกันกับยาในรูปแบบยาฉีด โดยขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 250-375 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน ควรมีการเว้นช่วงหยุดการใช้ยาระหว่างการรักษา เพื่อให้ยายังคงประสิทธิภาพในการขับปัสสาวะในกรณีต้องมีการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง
  • โรคลมชัก การใช้ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 250-1000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้ยา สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาต้านอาการชักกลุ่มอื่นได้
    • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาด 8-30 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวป็นกิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้ยา ขนาดการใช้ยาสูงสุดคือ 750 มิลลิกรัมต่อวัน
  • โรคลมชัก การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน
    • ขนาดเดียวกันกับยาในรูปแบบยาฉีด โดยขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 250-1000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้ยา สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาต้านอาการชักกลุ่มอื่นได้
    • ขนาดเดียวกันกับยาในรูปแบบยาฉีด โดยขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาด 8-30 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวป็นกิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้ยา ขนาดการใช้ยาสูงสุดคือ 750 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ป้องกันการเกิดความผิดปกติในผู้ที่ต้องเดินทางขึ้นที่สูง การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 500-1000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้ยา แนะนำให้รับประทานยาครั้งแรก 24-48 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และใช้ยาต่อไปอีกอย่างน้อย 48 ชั่วโมงในระหว่างการเดินทางขึ้นที่สูง

ข้อควรระวังและผลข้างเคียงของการใช้ Acetazolamide

ข้อควรระวังในการใช้ Acetazolamide ได้แก่

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการแพ้ยา Acetazolamide และยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide)
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยภาวะพร่องโซเดียม และโพแทสเซีบม
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต่อมหมวกไตวาย
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยภาวะเลือดเป็นกรดจากระดับคลอไรด์ในกระแสเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อหินมุมปิดเรื้อรัง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ระดับรุนแรง
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็ก
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ควระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ (respiratory acidosis)
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ผลข้างเคียงของการใช้ Acetazolamide ได้แก่

  • อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ส่งผลต่ออารมณ์ ปวดศีรษะ น้ำหนักลด รบกวนระบบทางเดินอาหาร ง่วงซึม ความรู้สึกสัมผัสผิดปกติ (parasthesia) ปัสสาวะบ่อย เลือดเป็นกรด รบกวนระดับอิเล็กโทรไลต์ในกระแสเลือด ทำให้ระดับโซเดียมและโพแทสเซียมในกระแสเลือดลดลง เกิดนิ่วในไต มีไข้ กระหายน้ำ สับสน มึนงง ส่งผลต่อการได้ยิน และการรับรส
  • ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ ไวต่อแสง ดีซ่าน อาการชัก
  • ผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิต ได้แก่ ความผิดปกติต่อระบบเลือด เกร็ดเลือด การแพ้ยารุนแรง ชนิด SJS ซึ่งพบได้น้อย

ข้อควรทราบอื่นๆของยา Acetazolamide

  • ยาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category C ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อแพทย์มีความเห็นว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาแอสไพริน (Aspirin) ขนาดสูง เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะอะนอเร็กเซีย (anorexia) หายใจเร็ว เลือดเป็นกรด โคม่า และเสียชีวิตได้
  • ผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิด ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
  • ยาสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสงแดด และความชื้น

1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The acetazolamide challenge: techniques and applications in the evaluation of chronic cerebral ischemia. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19246526)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)