บวบเหลี่ยม (Luffa)

ประโยชน์ของบวบเหลี่ยม คุณค่าทางโภชนาการ สรรพคุณ ตัวอย่างเมนูน่ากินจากบวบเหลี่ยม และข้อควรระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก 6 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 30 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
บวบเหลี่ยม (Luffa)

บวบเหลี่ยม เป็นพืชสวนครัวชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากมีรสชาติหวาน และมีลักษณะอ่อนนิ่ม รับประทานง่าย โดยเมนูที่นิยมมากที่สุด คือบวบผัดไข่ และแกงเลียงใส่บวบ ในอดีตบวบจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาทำยารักษาได้หลายโรค เนื่องจากมีฤทธิ์เย็น

ชื่อวิทยาศาสตร์  Luffa acutangula (L.) Roxb.

ชื่อวงศ์               CUCURBITACEAE

ชื่ออังกฤษ         ANGLED LOOFAH, ANGLED LUFFA, SINGKAW TOWEL GOURD

ชื่อท้องถิ่น         กะตอรอ เดเรเนอมู เดเรส่า บวบหวาน มะนอย มะนอยข้อง มะนอยงู มะนอยเลี่ยม หมักนอย

ถิ่นกำเนิดของบวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยมมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มีการกระจายพันธุ์และนิยมบริโภคกันมากในประเทศเขตร้อน เช่น ไทย จีน ฮ่องกง และอินเดีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของบวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยมเป็นพืชตระกูลแตง ลักษณะเป็นไม้เถา มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นเป็นเหลี่ยมตามข้อ ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูป 5-7 เหลี่ยม ขอบใบมีรอยเว้าตื้นๆ โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ก้านใบเป็นเหลี่ยม ดอกเพศเมียและดอกเพศผู้อยู่บนต้นเดียวกัน และมักจะออกตามง่ามใบแห่งเดียวกัน อาจออกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อก็ได้ ดอกเพศผู้กลีบรองกลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ รูปรีสีเหลือง มีเกสรผู้ 3 อัน อับเรณูแบบ 1 ช่อง 1 อัน และแบบ 2 ช่อง 2 อัน ดอกเพศเมียกลีบรองกลีบดอกและกลีบดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่รูปขอบขนาน ท่อรังไข่รูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น 3 แฉก ภายในรังไข่มี 3 ช่อง ผลทรงกระบอก โคนเรียวเล็ก มีเหลี่ยมเป็นสันคมตามความยาวของผล มีเหลี่ยมประมาณ 8-10 เหลี่ยม

คุณค่าทางโภชนาการของบวบเหลี่ยม

บวบเหลี่ยม 100 กรัม มีพลังงาน 18 กิโลแคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

(ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

สรรพคุณของบวบเหลี่ยม

สามารถนำมาปรุงเป็นยาได้ ซึ่งสรรพคุณทางยาของบวบเหลี่ยมนั้นจะเหมือนกับบวบกลมหรือบวบหอม โดยมีวิธีทำและสรรพคุณดังนี้

  • ดอกมีรสชุ่ม ขมเล็กน้อย และเย็นจัด ช่วยดับร้อน คลายร้อนในร่างกายได้ดี โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัม ต้มผสมกับน้ำผึ้งแล้วจิบเป็นยา
  • ผลของบวบเหลี่ยมมีรสเย็น ช่วยลดไข้ได้
  • น้ำคั้นที่ได้จากใบสด ใช้เป็นยาหยอดตาเด็กเพื่อรักษาอาการเยื่อตาอักเสบ
  • ผลอ่อนและดอก มีสรรพคุณขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะแสบขัด แก้ปัสสาวะเป็นเลือด โดยนำผลอ่อน ใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มจนเดือด นำน้ำที่ได้มาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง  หรือใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมนำไปต้ม ใช้ดื่มเป็นชาก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • ใบสดนำมาตำพอกแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษคัน หรือนำส่วนใบมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้างแผลใช้รักษาโรคผิวหนังประเภทกลากเกลื้อนก็ได้เช่นกัน
  • เมล็ด ช่วยขับพยาธิตัวกลม สำหรับผู้ใหญ่ใช้เมล็ด 40-50 เม็ด เด็กใช้เมล็ด 30 เม็ด โดยนำเมล็ดแก่มาเคี้ยวกินตอนท้องว่าง หรือก่อนมื้ออาหาร วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 2-3 วัน จะช่วยถ่ายพยาธิตัวกลมออกทางอุจจาระ แต่หากรับประทานมากอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้
  • ส่วนราก มีรสจืดเย็น มีฤทธิ์ช่วยระบายอ่อนๆ และช่วยลดอาการบวมน้ำ โดยนำส่วนรากต้มกับน้ำดื่ม หรือบดเป็นผง นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง

แนวทางการใช้บวบเหลี่ยมเพื่อสุขภาพ

บวบเหลี่ยม สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อสุขภาพได้ดังนี้

  1. บรรเทาอาการหืดหอบ นำเมล็ดบวบเหลี่ยมแก่จัด ประมาณ 30 เม็ด ตำผสมกับพริกไทยดำ และเหล้าขาว 40 ดีกรี ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานเพียงอาทิตย์ละ 1 เม็ด จะช่วยให้อาการดีขึ้น
  2. ขับปัสสาวะ ผลอ่อนของบวบเหลี่ยม นำไปต้มกับน้ำจนเดือด กรองเอาบวบออก แล้วนำน้ำที่ได้มากดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ดื่มไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  3. ขับพยาธิ นำเนื้อในเมล็ดที่แก่แล้วมาเคี้ยวครั้ง 40-50 เมล็ด สำหรับผู้ใหญ่ หรือ 30 เม็ด สำหรับเด็ก ติดต่อกัน 2 วัน จะช่วยขับพยาธิชนิดตัวกลมได้
  4. ขับเสมหะ ใบและเมล็ดบวบเหลี่ยมมีรสขมใช้เป็นยาขับเสมหะ หากใช้ใบสดให้นำมาต้มกับน้ำดื่ม ถ้าเป็นใบแห้งให้ใช้ 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มก่อนอาการเช้าและเย็น

เมนูเพื่อสุขภาพจากบวบเหลี่ยม

ผลบวบเหลี่ยมอ่อนมีเนื้อนุ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวาน ใช้จิ้มกับน้ำพริกรับประทาน เช่น น้ำพริกปลาร้า เป็นต้น หรือนำมาประกอบอาหาร เช่น แกงเลียง แกงป่า แกงอ่อม แกงจืด แกงกับปลาแห้ง ผัดกับไข่ หรือนำไปปิ้ง หมก ก็ได้เช่นกัน ข้อแนะนำสำหรับการต้มบวบให้มีรสหวาน คือ ไม่ควรปอกเปลือกออกทั้งลูก แต่ให้ปาดเฉพาะสันที่เป็นเหลี่ยมออกแล้วนำไปประกอบอาหารเลย

ผัดบวบใส่ไข่ เริ่มด้วยตั้งกระทะใส่น้ำมัน เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่บวบลงไปผัดสักครู่ ตามด้วยไข่ 2-3 ฟอง ปรุงรสตามต้องการ เมื่อบวบนิ่มให้ปิดไฟตักใส่จาน

แกงเลียงบวบกุ้งสด นำเครื่องแกงที่ประกอบไปด้วย กุ้งแห้ง เนื้อกุ้งต้ม พริกไทยเม็ด หอมแดง กะปิ กระชาย พริกขี้หนูสวน มาปั่นหรือตำรวมกันให้ละเอียด นำน้ำซุบกุ้งตั้งไฟ พอเดือดให้ใส่เครื่องแกงลงไปละลาย เมื่อน้ำแกงเดือดให้ใส่กุ้งที่ลวกแล้วลงไป ใส่ผัก (บวบ ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน เห็ดฟาง) ตามลำดับความสุกยากง่าย ต่อจากนั้นปรุงรสตามชอบ ปิดท้ายด้วยใบแมงลัก

ต้มจืดบวบใส่หมูสับ หมักหมูบดด้วยกระเทียม รากผักชี และพริกไทย ทิ้งไว้ 15 นาที ต้มน้ำให้เดือดใส่หมูบดปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ลงไป ปรุงรสให้กลมกล่อม แล้วใส่บวบลงไป เมื่อบวบนุ่มสุก ให้ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย

บวบต้มจิ้มน้ำพริก นำบวบเหลี่ยมมาต้มให้สุก รับประทานคู่กับน้ำพริกชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกปลาทู น้ำพริกกะปิ

ข้อควรระวัง

จากผลวิจัยระบุว่า การรับประทานบวบเหลี่ยมติดต่อกันมากเกินไป จะส่งผลให้ไตพร่องและทำให้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อมลงด้วย ดังนั้น จึงควรรับประทานบวบเหลี่ยมในปริมาณที่เหมาะสม



10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชน, 2538
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ผักพื้นบ้าน, 2540
โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ, ประมวลสรรพคุณยาไทย ภาคสอง, 2521

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)