ประโยชน์ของหอมแดง ไอเดียการกินการใช้หอมแดงเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

ทำความรู้จักวิธีการใช้ประโยชน์จากหอมแดง สมุนไพรติดครัว ราคาถูก หาซื้อง่าย มากสรรพคุณ
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 28 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
ประโยชน์ของหอมแดง ไอเดียการกินการใช้หอมแดงเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • หอมแดง เป็นพืชสมุนไพรใกล้ตัวที่ราคาไม่แพง หาซื้อมารับประทานง่าน หนึ่งในตัวช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายที่ควรมีติดไว้ทุกบ้าน
  • น้ำมันหอมระเหยในหอมแดง ทำให้หอมแดงมีรสชาติเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านอนุมูลอิสระ
  • สารที่ทำให้เกิดกลิ่นในหอมแดงล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารโพรพินไดซันไฟด์ ช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกาย หรือ สารโพรพิล-อัลลิลไดซันไฟด์ ช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
  • ประโยชน์อื่นๆ ของหอมแดง เช่น ช่วยให้เจริญอาหาร ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด บำรุงสมอง ป้องกันมะเร็ง ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น หรือแม้กระทั่งใช้ไล่แมลงสาบภายในบ้าน
  • หอมแดงอาจชะลอการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่เสี่ยงต่อการมีเลือดออก หรือต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหอมแดง อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

หอมแดง สมุนไพรใกล้ตัวที่มีติดครัวเกือบทุกบ้าน มีคุณค่าทางสารอาหารสูง และเป็นตัวช่วยในการบำรุงสุขภาพชั้นดี แต่หอมแดงจะมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายของเราด้านไหนบ้างนั้น วันนี้เรามาสำรวจคุณประโยชน์ของหอมแดงอย่างละเอียดกัน

ทำความรู้จักกับหอมแดง

หอมแดง (Shallot) เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยนิยมนำส่วนหัวมาใช้ในการประกอบอาหาร จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถหาซื้อได้อย่างสะดวกตามตลาดในประเทศไทย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ส่วนมากมักปลูกหอมแดงทางภาคอีสาน จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งเมื่อปลูก 1 หัว จะสามารถเจริญเติบโต และแตกแยกออกมาเป็นหัวใหม่ๆ อีกประมาณ 2-10 หัวต่อกอกันเลยทีเดียว 

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีปลูก การดูแล และสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยพืชสมุนไพรชนิดนี้มีสารอัลลิซิน (Allicin) และเอน-โพรพิลไดซันไฟด์ (N-propyl disulphide) ที่ทำให้มีกลิ่นฉุน อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่เหมือนใคร แต่กลับมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย

สารสำคัญในหอมแดง

1. น้ำมันหอมระเหย 

ในหอมแดงประกอบด้วยสารเคมีสำคัญมากมาย ซึ่งส่วนมาก สารเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของ "น้ำมันหอมระเหย (Coumarins)" ซึ่งจะอยู่ในส่วนของหัวหอมแดง เป็นสารที่ทำให้หอมแดงมีรสชาติออกขมปนเผ็ดร้อน มีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านอนุมูลอิสระ

นอกจากนี้ ในหอมแดงยังมีองค์ประกอบจากกำมะถัน ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองตา เวลาหั่นหอมแดงจึงทำให้แสบตาน้ำตาไหล ทำให้แสบจมูก และอาจระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือก่อให้เกิดพิษบนผิวหนังได้ ส่งผลทำให้เป็นผื่นคันและปวดแสบปวดร้อน

2. สารที่ทำให้เกิดกลิ่น

โดยสารดังกล่าว ก็คือ สารโพรพิลไดซันไฟด์ (Propyl Disulfide) ซึ่งสารชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกาย ส่วนสารที่ช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดลงได้ คือ โพรพิล-อัลลิลไดซันไฟด์ (Propyl-allyl Disulfide) และไดโพรพิลไดซันไฟด์ (Dipropyl Disulfide)

3. สารที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ 

สารชนิดนี้มีชื่อว่า สารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งโดยปกติแล้ว สารนี้จะไม่มีอยู่ในหัวหอม แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อหัวหอมถูกทุบ หรือทำให้แตก ภายในสารอัลลิซินจะมีเอนไซม์ชื่อว่า "อัลลิเนส (Alliinase)" ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดกระบวนการทางธรรมชาติ ส่งผลให้ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้

4. สารต้านอนุมูลอิสระ

หรือเรียกได้ในชื่อ สารเควอซิทิน (Quercetin) ที่สกัดได้จากหอมแดงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คุณค่าทางโภชนาการ

ในส่วนของหัวหอมแดง 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้

พลังงาน 63 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 12.6 กรัม โปรตีน 2.7 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม เส้นใย 0.6 กรัม วิตามินเอ 28 ไมโครกรัม วิตามินซี 5 มิลลิกรัม แคลเซียม 16 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.5 มิลลิกรัม ไทอามีน 0.09 มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน 0.03 มิลลิกรัม และเถ้า 0.6 กรัม

ประโยชน์ของหอมแดง

พืชสมุนไพรอย่างหอมแดง แน่นอนว่าจะต้องมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากมาย เพราะมีสรรพคุณทางยาหลายด้าน โดยประโยชน์และสรรพคุณมีดังนี้

  • ช่วยให้เจริญอาหาร สำหรับผู้ที่รู้สึกรับประทานอาหารได้น้อย ไม่ค่อยรู้สึกหิว หรือเบื่ออาหาร ให้ลองนำหอมแดงมาใช้ในการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นยำวุ้นเส้น ไข่เจียวใส่หอมแดง หรือแม้แต่ซุปหัวหอม

    เพราะกลิ่นหอมแดงจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกอยากอาหารมากยิ่งขึ้น และรสชาติของหอมแดงยังช่วยทำให้กับข้าวอร่อยมากขึ้นด้วย

  • ป้องกันโรคหัวใจ และช่วยลดความดันโลหิต หอมแดงอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

    เนื่องจากในหอมแดงมีสารเคอร์ซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกาย และช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี

  • บำรุงสมอง ในหอมแดงนั้นเต็มไปด้วยธาตุฟอสฟอรัส มีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง ทำให้ความจำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

  • ป้องกันมะเร็ง เนื่องจากมีผลการวิจัยค้นพบว่า สารเคอร์ซิติน และสารฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่ในหอมแดง มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุในการก่อโรคมะเร็งได้

  • ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น หอมแดงเป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน จึงมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในร่างกาย ใครที่ขี้หนาวเป็นประจำรับประทานหอมแดงแล้ว รับรองจะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้แน่นอน

  • ช่วยไล่แมลงสาบ สำหรับบ้านไหนที่มีปัญหาแมลงสาบมาคอยกวนใจ ให้ลองนำหอมแดงมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำไปวางบริเวณที่แมลงสาบชอบเข้ามา ในหอมแดงนั้นเต็มไปด้วยสารกำมะถัน ที่มีกลิ่นฉุน จึงสามารถช่วยขับไล่แมลงสาบ ไม่ให้มากวนใจได้

ไอเดียการใช้หอมแดงเพื่อสุขภาพ

หอมแดงไม่ได้มีดีแค่นำมาประกอบอาหารเท่านั้น เพราะสรรพคุณของหอมแดงยังใช้เป็นยาได้ด้วยเช่นกัน โดยหอมแดงสามารถนำมาใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้ มีสูตรการใช้งานดังนี้

1. รักษาแผล

หากเกิดบาดแผล ให้นำหอมแดงมาหั่นเป็นแว่นๆ ผสมกับน้ำมะพร้าว และเกลือ แล้วนำไปต้มให้เดือด นำมาใช้พอกบริเวณแผล โดยล้างแผลให้สะอาดก่อนนำมาพอก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบ

2. รักษาอาการนอนไม่หลับ

เชื่อหรือไม่ว่า หอมแดงมีคุณสมบัติช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับได้ ลองใช้กลิ่นจากหัวหอมแดงที่เป็นอโรมาอ่อนๆ มาวางไว้บนหัวเตียง โดยวิธีการทำ คือ หั่นหอมแดงเป็นแผ่นบางๆ จากนั้นห่อด้วยผ้าขาว วางเอาไว้ข้างหมอน กลิ่นหอมระเหยอ่อนๆ จะทำให้นอนหลับได้ง่าย และสนิทมากยิ่งขึ้น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3. รักษาสิว และลดรอยดำจากสิว

หอมแดงมีคุณสมบัติช่วยในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียไม่ให้เจริญเติบโต โดยเฉพาะเชื้อบนผิวหนังอันเป็นสาเหตุของการเกิดสิว ช่วยลดอาการอักเสบบวมแดงจากสิวอักเสบ และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ไม่ดีต่อผิวได้อีกด้วย 

ดังนั้นเมื่อเป็นสิวจึงสามารถใช้หอมแดงรักษาสิวได้ และยังช่วยลดเลือนรอยสิวบนใบหน้าลงได้อีกด้วย โดยการหั่นหอมแดงเป็นแผ่นบางๆ หรือทุบให้น้ำมันหอมระเหยไหลซึมออกมา จากนั้นนำหอมแดงมาทาบนใบหน้าที่มีปัญหา จะทำให้สิวหายเร็ว และช่วยลดเลือนรอยดำให้ค่อยๆ จางหายไป

4. บรรเทาอาการหวัดคัดจมูก

อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นหวัดคัดจมูกได้ง่าย และมีน้ำมูกมาก จึงส่งผลทำให้หายใจไม่สะดวก แต่อาการดังกล่าวสามารถบรรเทาได้โดยการนำหอมแดงมาบุบให้แตก แล้วห่อเอาไว้ด้วยผ้าเช็ดหน้า 

เสร็จแล้วให้นำมาวางไว้ใกล้ๆ ตัว หรือก่อนนอนให้นำมาวางไว้ข้างหมอน กลิ่นหอมแดงที่ระเหยออกมาจะทำให้หายใจโล่งขึ้น นอกจากนี้ หอมแดงสามารถกำจัด หรือต้านไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดได้อีกด้วย

5. แก้โรคหอบหืด

เตรียมหอมแดง ขิงสด กระเทียมสด นำทุกอย่างมาปอกเปลือกล้างน้ำให้สะอาด ใส่ลงไปในโถปั่น ปั่นให้ละเอียด ใส่น้ำลงไป 1 แก้ว กรองเอาเฉพาะน้ำ ให้นำมารับประทานก่อนนอนเป็นประจำครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็จะช่วยให้อาการของโรคหอบหืดดีขึ้น

6. บรรเทาอาการปวดหัวในเด็ก

นำหอมแดงมาบดหรือตำจากนั้นนำไปประคบลงบนกระหม่อมเด็ก ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะในเด็ก นอกจากนี้ ยังช่วยลดน้ำมูก ลดไข้ และแก้อาการมือเท้าเย็นได้ด้วย

7. ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินหายใจ

ทุบหอมแดงสดให้แตก จากนั้นนำไปต้มแล้วนำมาดื่ม หรือทุบจนแตกเพื่อนำมาสูดดม กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากหอมแดงจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น ปัญหาของโรคคอและหลอดลมอักเสบ

8. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และเสริมสมรรถภาพทางเพศ

เพียงทุบหอมแดงให้แตกแล้วนำไปต้ม เอาน้ำมาดื่มก็จะช่วยขับปัสสาวะ และยังสามารถใช้เป็นยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ โดยจะช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศได้เป็นอย่างดี 

9. รักษาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด

นำหอมแดงไปต้มน้ำดื่มหรือนำมากินสดพร้อมเมนูอาหารอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยรักษาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด 

เนื่องจากกรดลีโลอิก (Lenoleic Acid) ที่มีอยู่ในหัวหอม เป็นสารสำคัญที่มีคุณสมบัติช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด ช่วยให้เส้นเลือดเกิดการขยายตัว ส่งผลทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น

10. แก้อาการท้องอืด

นำหอมแดงประมาณ 5-10 หัว มาต้มแล้วกรองเอาน้ำมาดื่ม ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องเดิน แก้ปัญหาท้องอืด จุกเสียดแน่น ช่วยในการขับลม และบำรุงร่างกายที่ผอมแห้งให้กลับมามีน้ำมีนวลมากขึ้น

11. แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย

นำหอมแดงมาทุบให้พอแหลก จากนั้นนำมาผสมกับยาหม่อง แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกกัด ปล่อยไว้ 5 นาที แล้วทาซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง พิษจากแมลงเหล่านั้นจะค่อยๆ ลดลง อาการก็จะดีขึ้น

12. รักษาเชื้อรา

มีการทดลองพบว่า น้ำจากหอมแดงมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราในช่องคลอด (Candida albican) และเชื้อรา Dermatophytes ที่ก่อให้เกิดโรคกลากนั่นเอง

ไอเดียการกินหอมแดงเพื่อสุขภาพ

หอมแดงเป็นผักสมุนไพรที่อยู่คู่ครัวทุกบ้าน เพราะเป็นวัตถุดิบหลักที่จะช่วยให้รสชาติอาหารมาพร้อมความเผ็ดเปรี้ยว และเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะกลิ่นของหอมแดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราไปดูกันว่า เมนูจากหอมแดงที่น่าสนใจจะมีอะไรบ้าง

1. ซุปหอมแดงขิง

เตรียมหอมแดง ขิงสด ตุ๋นส่วนประกอบทั้งสองชนิดลงในหม้อจนกว่าหอมแดงจะเปื่อย ใส่ผงปรุงรสลงไปเพื่อเพิ่มความอร่อย นำมาดื่มในช่วงเช้า และช่วงบ่าย การดื่มซุปน้ำร้อนๆ จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและทำให้รู้สึกสดชื่นได้เป็นอย่างดี

2. ทูน่าผัดไข่ใส่หอมแดง

เตรียมส่วนผสม ได้แก่ ทูน่า ไข่ไก่ หอมแดง กระเทียม พริกขี้หนู น้ำมันพืช เกลือ น้ำตาล และน้ำปลา เริ่มด้วยการปอกเปลือกกระเทียม หอมแดง ล้างให้สะอาด จากนั้นนำพริก หอมแดง กระเทียมมาสับให้หยาบ 

อย่างแรก ตั้งน้ำมันในกระทะให้ร้อน เอากระเทียมหอมแดงสับหยาบใส่ลงไป ผัดจนเริ่มกรอบแล้วตักขึ้นมา นำทูน่าลงไปคลุกกับน้ำมันที่ติดกระทะ ผัดสักครู่ จากนั้นตอกไข่ใส่ลงไป ผัดจนส่วนผสมทุกอย่างสุก 

เมื่อส่วนผสมทุกอย่างถูกผัดจนเข้ากันแล้ว ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงตามใจชอบ เทหอมแดงกับพริกที่เจียวลงไปผัดคลุกให้เข้ากัน ยกขึ้นเสิร์ฟได้เลย

3. หมูหวานปักษ์ใต้

เตรียมหอมแดง หมูสามชั้น ซีอิ๊วดำ ซอสปรุงรส และน้ำตาลปี๊ป เริ่มด้วยการหั่นหมูสามชั้นเป็นชิ้นเล็กๆ หั่นหอมแดง ตั้งกระทะให้น้ำมันร้อน ใส่หอมแดงลงไปผัด ใส่หมูสามชั้นลงไป ปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำ น้ำตาลปี๊ป และซอสปรุงรส ตั้งไฟทิ้งไว้สักครู่จนน้ำแห้ง และเครื่องปรุงเข้าเนื้อหมู ตักพร้อมเสิร์ฟ

4. ปลากระป๋องผัดหอมแดงทอด

เตรียมส่วนผสมดังนี้ ปลากระป๋อง พริกชี้ฟ้า ซอสหอยนางรม น้ำปลา และหอมแดง 

เริ่มจากการหั่นหอมแดงเป็นแว่น ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันลงไป นำหอมแดงลงไปเจียวให้กรอบ เทปลากระป๋องใส่ลงไป ปรุงรสด้วยน้ำมันหอย น้ำปลา ซอยพริกใส่ลงไป คนปลากระป๋องบ่อยๆ จากนั้นตั้งทิ้งไว้สักครู่ ตักใส่จาน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ

5. ใช้ดับกลิ่นคาวอาหาร

หากอยากทำปลานึ่งให้ปราศจากกลิ่นคาว แนะนำให้ลองบุบหอมแดงให้แตกแล้วยัดเข้าไปในตัวปลา เพื่อช่วยดับกลิ่นคาว การใส่หอมแดงลงไปในต้มส้มแกงไก่ ก็จะช่วยดับกลิ่นคาวจากไก่ได้เป็นอย่างดี ทำให้แกงมีกลิ่นหอม และมีรสชาติที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากเมนูดังกล่าวที่เราแนะนำไป หอมแดงยังสามารถนำมาประกอบอาหารอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น นำมาทำเป็นเมนูยำ ต้มยำ และเจียวไว้สำหรับโรยหน้าได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

  • เนื่องจากน้ำมันหอมแดงมีสารกำมะถันสูง จึงทำให้แสบตา เป็นพิษต่อผิวหนังโดยทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง จึงควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณผิวที่บอบบาง
  • การรับประทานหอมแดงมากเกินไป อาจทำให้ผมหงอก มีกลิ่นตัว และมีอาการหลงลืมง่าย ดังนั้น ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะดีกว่า
  • หอมแดงอาจชะลอการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงหอมแดง หากคุณมีเลือดออกผิดปกติ นอกจากนี้หลีกเลี่ยงหอมแดงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด

หอมแดงเป็นพืชสมุนไพรที่ราคาไม่แพง สามารถหาซื้อมารับประทานเพื่อบำรุงร่างกายได้ทุกวัน อย่างไรก็ตาม คุณควรรับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ร่วมกับการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Wieslaw Wiczkowski. (2008). Quercetin from Shallots (Allium cepa L. var. aggregatum) Is More Bioavailable Than Its Glucosides. Journal of Nutrition 138(5):885-8 · June 2008
Hadjipavlou-Litina D. (2007) Anti-inflammatory and antioxidant activity of coumarins designed as potential fluorescent zinc sensors. J Enzyme Inhib Med Chem. 2007 Jun;22(3):287-92.
The shallot certified plant. (-). Medicinal and dietetic properties of shallots (http://plant-certifie-echalote.org/en/pages/vertus.php)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กระเทียม
กระเทียม

11 ประโยชน์และเรื่องน่ารู้ของกระเทียมที่คุณอาจไม่เคยรู้

อ่านเพิ่ม