กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

นิ่วในไต (Kidney Stones)

เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2016 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที

ภาวะนิ่วในไต (Kidney stones) เกิดขึ้นได้กับไตทั้งสองข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง โดยมักเกิดกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 60 ปี ซึ่งภาวะนี้สามารถพบได้บ่อยมาก โดยผู้ชายประมาณ 16 %  และผู้หญิง 8 % จะประสบกับภาวะนิ่วในไตเมื่ออายุ 70 ปี

คำศัพท์ภาษาอังกฤษของภาวะนิ่วในไตจะเรียกว่า Nephrolithiasis แต่หากมีอาการเจ็บปวดรุนแรงร่วมด้วยจะเรียกว่า Renal colic

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจคัดกรองนิ่ว สลายนิ่ว รักษานิ่ว วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,930 บาท ลดสูงสุด 4,518 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนิ่วในไต?

อย่างที่ทราบกันดีว่า ไตมีหน้าที่ขับของเสียจากเลือดออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ แต่บางครั้งของเสียที่มาจากเลือดจะตกตะกอนและเข้าไปสะสมอยู่ในไต เมื่อเวลาผ่านไป ตะกอนเหล่านี้จะรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนแข็งๆ คล้ายหิน เรียกว่า นิ่ว ซึ่งมักเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ กำลังใช้ยาบางประเภท หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง ที่ทำให้ร่างกายมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงขึ้นได้ เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น

ภาวะนิ่วในไตมักเกิดขึ้นหลังจากการสะสมของสารเคมีบางอย่างในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสารดังต่อไปนี้

  • แคลเซียม
  • แอมโมเนีย
  • กรดยูริก: ของเสียที่ผลิตออกมา เมื่อร่างกายพยายามสลายอาหารให้เป็นพลังงาน
  • ซิสเทอิน: กรดอะมิโนที่ช่วยในการสร้างโปรตีน

หลังจากที่นิ่วก่อตัวขึ้นแล้ว ร่างกายจะพยายามกำจัดนิ่วในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งหมายความว่านิ่วจะไหลผ่านระบบขับถ่ายออกมานั่นเอง และหากไม่สามารถขับเอานิ่วออกมาได้ นิ่วจะคั่งค้างที่บริเวณระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกาย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต

ยาบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตได้ เช่น

คุณอาจมีความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไตเพิ่มขึ้นได้หากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ

  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนิ่วในไต
  • อ้วน
  • เคยผ่าตัดหลายครั้งในทางเดินอาหาร
  • ภาวะที่ทำให้มีระดับแคลเซียม, oxalate, cystine, หรือกรดยูริกในปัสสาวะสูงเรื้อรัง
  • ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง ซึ่งจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูง
  • ภาวะที่ทำให้มีการอักเสบของลำไส้เรื้อรัง
  • โรคเกาท์
  • มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ
  • โรคถุงน้ำในไต
  • Renal tubular acidosis เป็นโรคที่สามารถทำให้เลือดเป็นกรดมากกว่าปกติ

อาการของภาวะนิ่วในไต

ภาวะนิ่วในไตที่มีขนาดเล็กมากมักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ และร่างกายสามารถขับออกมาพร้อมปัสสาวะได้ตามปกติ แต่บางครั้งก้อนนิ่วอาจเข้าไปอุดกั้นระบบทางเดินปัสสาวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น หลอดไต (ureter: ท่อที่เชื่อมไตเข้ากับกระเพาะปัสสาวะ) หรือ ท่อปัสสาวะ (urethra: ท่อที่ใช้ลำเลียงปัสสาวะออกจากร่างกาย)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจคัดกรองนิ่ว สลายนิ่ว รักษานิ่ว วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,930 บาท ลดสูงสุด 4,518 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การอุดตันจากนิ่วจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดภายในท้องน้อย เอว หรือขาหนีบได้อย่างรุนแรง และบางครั้งถ้าปัสสาวะเกิดคั่งค้าง จะเกิดการสะสมของแบคทีเรีย ซึ่งนำไปสู่ภาวะติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection - UTI) ในที่สุด

ลำดับการเกิดภาวะนิ่วในไตมีดังนี้: 

  • เกิดนิ่วอุดตันในไต
  • นิ่วเริ่มเคลื่อนตัวลงไปตามท่อไต
  • ท่อไตมีขนาดตีบแคบ ทำให้ขณะที่นิ่วเคลื่อนลงมาจะสร้างความเจ็บปวด ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้

อาการของภาวะนิ่วในไตที่สามารถเกิดขึ้นได้ดังนี้ 

  • ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง บางครั้งอาจเจ็บลงไปยังขาหนีบก็ได้
  • ผู้ชายอาจรู้สึกเจ็บปวดที่อัณฑะหรือถุงอัณฑะ 
  • ปวดประจำเดือนรุนแรงที่แผ่นหลังหรือสีข้างของท้อง หรือเจ็บลงขาหนีบเป็นเวลานานหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง
  • รู้สึกกระสับกระส่ายและไม่สามารถนอนนิ่งๆ ได้ 
  • คลื่นไส้ อยากปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ 
  • อยากปัสสาวะแล้วจะปัสสาวะทันที ปัสสาวะกลางคืน เจ็บปวดขณะปัสสาวะ 
  • มีเลือดปนปัสสาวะซึ่งอาจเกิดจากการที่นิ่วขูดกับผนังไตหรือท่อปัสสาวะ

ท่อไตอุดตันและการติดเชื้อที่ไต

ภาวะนิ่วในไตที่ไปอุดกั้นหลอดไตจะทำให้เกิดภาวะไตติดเชื้อ เพราะว่าของเสียจะไม่สามารถไหลผ่านหลอดที่ถูกอุดกั้นได้จนทำให้เชื้อแบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้น โดยอาการของภาวะติดเชื้อที่ไตจะคล้ายกับอาการของภาวะนิ่วที่ไตแต่อาจจะมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย คือ 

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส 
  • หนาวสั่น 
  • รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนแรง 
  • ท้องร่วง 
  • ปัสสาวะมีสีขุ่นและกลิ่นแรง

การเป็นภาวะนิ่วในไตซ้ำ

บางคนอาจประสบกับภาวะนิ่วในไตหลายๆ ครั้ง ซึ่งมักเกิดกับกลุ่มคน ดังนี้ 

  • ผู้ที่รับประทานอาหารโปรตีนสูงแต่ใยอาหารต่ำ 
  • ผู้ที่นอนติดเตียงหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนิ่วในไต
  • ผู้ที่เคยประสบกับภาวะติดเชื้อที่ไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะรุนแรง
  • ผู้ที่เคยเป็นนิ่วไตมาก่อน โดยเฉพาะก่อนอายุ 25 ปี 
  • ผู้ที่มีไตสามารถทำงานได้ข้างเดียว
  • โรคไตเกือกม้า 
  • ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดบายพาสลำไส้ หรือภาวะที่ส่งผลต่อลำไส้เล็ก เช่น โรคโครห์น

การใช้ยาที่ก่อให้เกิดภาวะนิ่วในไต

มีหลักฐานที่กล่าวว่า ยาบางประเภทส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะนิ่วในไต เช่น ยาแอสไพริน ยาแอนทาซิด ยาขับน้ำ ยาปฏิชีวนะบางประเภท ยาต้านรีโทไวรัส (ที่ใช้เพื่อดูแลผู้ป่วย HIVยากันชัก (anti-epileptic) บางประเภท

ชนิดของนิ่วในไต

นิ่วในไตสามารถเกิดขึ้นจากหลายๆ สาเหตุ โดยมีสาเหตุหลัก 4 อย่าง ดังนี้

  1. นิ่วในไตแคลเซียม
  2. นิ่วจากแคลเซียมเป็นชนิดของนิ่วในไตที่พบได้บ่อยที่สุด และเกิดขึ้นเมื่อมีปริมาณแคลเซียมในปัสสาวะมากเกินไป ซึ่งเกิดมาจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้ คือ

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    ตรวจคัดกรองนิ่ว สลายนิ่ว รักษานิ่ว วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,930 บาท ลดสูงสุด 4,518 บาท

    จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

    ภาวะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcuria) ที่ทำให้มีปริมาณแคลเซียมในปัสสาวะมาก, การทำงานมากเกินไปของต่อมพาราไทรอยด์ (ต่อมที่ช่วยควบคุมปริมาณแคลเซียมในร่างกาย) โรคไต ภาวะโรคซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis) และมะเร็งบางประเภท 

  3. นิ่วในไตสตรูไวท์
  4. นิ่วสตรูไวท์ (Struvite stones) มักเกิดมาจากการติดเชื้อ และส่วนมากเกิดขึ้นหลังภาวะติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะที่เป็นมาช่วงเวลาหนึ่ง นิ่วสตรูไวท์มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยมักจะมาโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด

  5. นิ่วในไตกรดยูริก
  6. นิ่วจากกรดยูริกสามารถเกิดขึ้นได้ หากมีปริมาณกรดยูริกในปัสสาวะสูง โดยอาจจะเป็นผลมาจากปัจจัยต่อไปนี้ คือ การรับประทานอาหารโปรตีนสูง ภาวะต่างๆ เช่น โรคเก๊าท์ ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถสลายสารเคมีบางประเภทได้ ภาวะทางพันธุกรรมที่ทำให้มีกรดยูริกในร่างกายสูงกว่าปรกติ หรือการทำเคมีบำบัด

  7. นิ่วในไตซีสทีน
  8. นิ่วซีสทีน (Cystine stones) เป็นชนิดของนิ่วที่หายากที่สุดซึ่งเกิดจากภาวะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Cystinuria ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะมีกรดสูง

การวินิจฉัยภาวะนิ่วในไต

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะนิ่วในไตได้จากการสอบถามอาการ ซักประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกาย ควบคู่กับการทดสอบต่างๆ ดังนี้

  • การตรวจปัสสาวะเพื่อมองหาภาวะติดเชื้อและชิ้นส่วนของนิ่ว
  • การตรวจหานิ่วในปัสสาวะ
  • การตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการทำงานของไต และเพื่อวัดระดับสารต้นเหตุที่ทำให้เกิดนิ่ว เช่น แคลเซียม เป็นต้น

ทั้งนี้คุณสามารถเก็บตัวอย่างนิ่วมาให้แพทย์ได้ด้วยการปัสสาวะใส่ถุงพลาสติก ซึ่งตัวอย่างนิ่วจะทำให้การวินิจฉัยทำได้ง่ายขึ้น และช่วยให้แพทย์สามารถกำหนดแนวทางรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงหรือมีไข้สูงร่วมด้วย แพทย์จะส่งต่อให้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัสสาวะแทน

การวินิจฉัยด้วยการ X-ray

เพื่อยืนยันข้อวินิจฉัย หรือระบุหาตำแหน่งของนิ่วในไต

  • การสแกนคอมพิวเตอร์ (CT): เป็นการถ่ายภาพชุดเอกซเรย์ในมุมที่ต่างกันเล็กน้อย และนำภาพที่ได้รวมเข้าด้วยกัน 
  • เอกซเรย์: เทคนิคถ่ายภาพที่ใช้พลังรังสีตรวจหาความผิดปรกติในร่างกาย
  • การสแกนอัลตราซาวด์: วิธีที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพภายในร่างกายออกมา
  • การฉีดสารทึบรังสี (intravenous urogram – IVU หรือ intravenous pyelogram - IVP): เป็นการฉีดสารสีที่จะแสดงออกมาบนภาพเอกซเรย์อย่างเด่นชัดเข้าในเส้นเลือดก่อนทำการถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อมองหาการอุดตันขณะที่ไตกรองสารสีออกจากเลือดไปเป็นปัสสาวะ

การสแกน CT เป็นเทคนิคที่ใช้กันบ่อยที่สุดเพราะว่ามีความแม่นยำมากกว่าเทคนิคอื่นๆ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์

การรักษาและป้องกันภาวะนิ่วในไต

ภาวะนิ่วในไตส่วนมากจะมีขนาดเล็กมาก (เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 4 mm) จึงสามารถขับออกพร้อมกับปัสสาวะได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถรักษาได้เองที่บ้าน แม้ว่านิ่วจะมีขนาดเล็กมาก แต่ก็สร้างความเจ็บปวดขึ้นได้ โดยอาการเจ็บปวดจะหายไปเมื่อนิ่วถูกขับออกจากร่างกายสำเร็จ

สำหรับนิ่วที่มีขนาดใหญ่แพทย์จะใช้วิธีสลายด้วยอัลตราซาวด์หรือเลเซอร์ ในบางกรณีอาจต้องหัตถการ เพื่อสลายนิ่วโดยตรง ซึ่งคาดกันว่าผู้ป่วยนิ่วในไตครึ่งหนึ่งจะประสบกับภาวะเดิมอีกครั้งภายในระยะเวลาห้าปี

การลดโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะนิ่วในไตซ้ำนั้น ทำได้ด้วยการดื่มน้ำมากๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยวิธีสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ ให้ดูที่สีปัสสาวะถ้ามีสีใส ถือว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ แต่หากปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มในตอนเช้า ก็ไม่ต้องกังวลเพราะร่างกายสะสมของเสียมาตลอดทั้งคืน

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มพวกน้ำชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดนิ่วได้ และควรดื่มน้ำเปล่าอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นตัวช่วยป้องกันการเกิดนิ่วที่ดีที่สุด ยิ่งถ้าคุณอาศัยในสภาพอากาศร้อนหรือเมื่อคุณออกกำลังกาย ก็ควรดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อชดเชยของเหลวที่สูญเสียไปในรูปแบบของเหงื่อ

การใช้ยารักษาโรคนิ่วในไต

หากมีอาการเจ็บปวดรุนแรง แพทย์จะบรรเทาอาการปวดด้วยการฉีดยาแก้ปวด หากอาการไม่ทุเลาลง แพทย์จึงจะจ่ายยาโดสที่ 2 โดยห่างจากโดสแรกครึ่งชั่วโมง ซึ่งการใช้ยาฉีดยังสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้ด้วย 

นอกจากนี้แพทย์จะประเมินว่านิ่วเกิดจากสารประกอบชนิดใด เพื่อจ่ายยาที่เหมาะสมในการขับนิ่ว โดยแพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวด ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หรือยาทั้งสองกลุ่มให้คุณกลับไปรับประทานที่บ้าน

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคนิ่วในไต

หากแพทย์แนะนำว่าต้องรอจนกว่านิ่วจะถูกขับออกมาเอง คุณควรเก็บก้อนนิ่วจากปัสสาวะด้วยการกรองปัสสาวะของตนเองด้วยถุงพลาสติก แล้วนำนิ่วไปให้กับแพทย์เพื่อทำการวิเคราะห์และกำหนดวิธีการรักษา นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้มาก เพื่อให้ปัสสาวะมีสีใส หากคุณดื่มน้ำไม่เพียงพอ ปัสสาวะของคุณจะมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล และอาจกลับมาเป็นนิ่วอีกครั้ง

การเข้าพักรักษาตัวจากภาวะนิ่วในไตที่โรงพยาบาล

หากนิ่วในไตเคลื่อนตัวเข้าไปยังหลอดไต (ท่อที่ลำเลียงของเสียจากไตไปสู่กระเพาะปัสสาวะ) และทำให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรงขึ้น แพทย์จะให้คุณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป

โดยการพักฟื้นที่โรงพยาบาลจะถูกแนะนำในกรณีดังต่อไปนี้

  • มีความเสี่ยงต่อภาวะไตล้มเหลวมากขึ้น เช่น มีไตที่ใช้การได้เพียงข้างเดียว
  • การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการติดเชื้อระบบปัสสาวะ 
  • นิ่วในไตมีขนาดมากกว่า 10 มิลลิเมตร
  • อาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้คลื่นไส้ประมาณ 1 ชั่วโมง 
  • มีภาวะขาดน้ำ และอาเจียนมากเกินไป 
  • กำลังตั้งครรภ์ 
  • มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

การรักษาภาวะนิ่วในไตขนาดใหญ่

หากนิ่วในไตมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะถูกขับออกมาโดยปัสสาวะ หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 6 - 7 มิลลิเมตร อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดนำนิ่ว ซึ่งมีทั้งการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal shock wave lithotripsy - ESWL) การส่องกล้องท่อไต (Ureteroscopy) การผ่าตัดนิ่วโดยใช้กล้องผ่านผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy - PCNL) หรือการผ่าตัดแบบเปิด (Open surgery)

การสลายนิ่วในไตด้วยคลื่นกระแทก

การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal shock wave lithotripsy - ESWL) เป็นวิธีรักษาที่แพทย์เลือกใช้มากที่สุด ในการรักษาภาวะนิ่วในไตที่ไม่สามารถเคลื่อนออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้ โดย ESWL สามารถทำลายนิ่วที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 11 - 20 มิลลิเมตร ได้ถึง 60 % 

กระบวนการนี้จะใช้อัลตราซาวด์ (คลื่นเสียงความถี่สูง) ชี้ตำแหน่งของนิ่วในไตก่อนที่จะใช้คลื่นอัลตราซาวด์ที่มาจากเครื่องจักรเข้าไปกระแทกสลายนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนสามารถไหลออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้

ESWL อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวบ้าง ดังนั้น จึงต้องให้ยาแก้ปวดร่วมด้วย และอาจต้องเข้าทำ ESWL มากกว่าหนึ่งครั้งกว่าจะสลายนิ่วในไตได้ทั้งหมด 

การส่องกล้องท่อไต

หากนิ่วอุดกั้นในหลอดไต จำต้องเข้ารับการส่องกล้องท่อไต (Ureteroscopy) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Retrograde intrarenal surgery (RIRS)

กระบวนการนี้จะสอดท่อเรียวยาวที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ ผ่านท่อปัสสาวะและเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ก่อนเคลื่อนขึ้นไปยังหลอดไตในตำแหน่งที่นิ่วอุดตันอยู่ ศัลยแพทย์จะใช้วิธีค่อยๆ กำจัดนิ่วออกอย่างเบามือด้วยเครื่องมืออีกชิ้น หรือใช้เลเซอร์สลายนิ่วให้กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็ได้

กระบวนการนี้จะมีการดามท่อพลาสติก (Stent) ภายใน เพื่อให้ชิ้นส่วนของนิ่วไหลไปสู่กระเพาะปัสสาวะง่ายขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ และการส่องกล้องท่อไตต้องดำเนินการโดยการใช้ยาสลบกับผู้ป่วย ดังนั้นหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ผู้ป่วยควรพักฟื้นอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ไม่ควรขับรถหรือใช้งานเครื่องจักรหนัก 

การผ่าตัดนิ่วในไตโดยใช้กล้องผ่านผิวหนัง

การผ่าตัดนิ่วในไตโดยใช้กล้องผ่านผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy - PCNL) เป็นทางเลือกที่ใช้กำจัดนิ่วขนาดใหญ่ในกรณีที่ ESWL ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น 

  • นิ่วในไตก้อนขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร  
  • นิ่วในไตชนิด Staghorn calculi ซึ่งรูปร่างผิดปกติ   
  • นิ่วในไตจาก Cysteine  
  • ไต หรือทางเดินปัสสาวะผิดปกติ เช่น ไตรูปเกือกม้า 

PCNL จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Nephroscope สอดผ่านการกรีดผ่านแผ่นหลังเพื่อสอดเครื่องมือไปยังไต นิ่วจะถูกดึงออกหรือทำลายให้กลายเป็นชิ้นเล็กด้วยแสงเลเซอร์หรือพลังงานนิวมาติก (Pneumatic)

PCNL ต้องดำเนินการด้วยการใช้ยาสลบกับคนไข้ ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถหรือใช้งานเครื่องจักรหนักหลังผ่าตัดเป็นเวลา 48 ชั่วโมง

ข้อดี คือ ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 1 สัปดาห์ ต่างจากการผ่าตัดเปิด ที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 3 สัปดาห์

การผ่าตัดเปิด

การผ่าตัดเปิด (Open surgery) เพื่อรักษานิ่วในไตถือว่ามีน้อยรายมาก (น้อยกว่า 1% ) โดยเป็นการผ่าตัดที่แนะนำสำหรับกรณีที่นิ่วมีขนาดใหญ่มากๆ หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ ระหว่างการผ่าตัดแบบเปิด แพทย์จะกรีดแผ่นหลังไปยังหลอดไตและไต จากนัั้นทำจึงกำจัดนิ่วออกโดยตรง

การรักษาภาวะนิ่วในไตจากกรดยูริก

หากคุณเป็นนิ่วที่มาจากกรดยูริก ควรดื่มน้ำมากกว่า 3 ลิตรต่อวัน เพื่อพยายามสลายนิ่ว ทั้งนี้นิ่วจากกรดยูริกจะมีความอ่อนนุ่มมากกว่านิ่วประเภทอื่นๆ และสามารถทำให้มีขนาดเล็กลงได้ด้วยอัลคาไลน์แบบเหลว ดังนั้นอาจต้องใช้ยาบางตัวเพื่อทำให้ปัสสาวะมีอัลคาไลน์มากขึ้น เพื่อให้นิ่วสลายตัวไปเอง

ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาภาวะนิ่วในไต

ภาวะนิ่วในไตมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างที่ดำเนินการรักษา โดยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จะขึ้นอยู่กับประเภทของนิ่ว รวมทั้งขนาดและตำแหน่งของนิ่ว ดังนี้

  • ภาวะเลือดเป็นพิษ (Sepsis): บริเวณที่มีการติดเชื้อลุกลามไปยังกระแสเลือดจนทำให้เกิดอาการผิดปกติทั่วร่างกาย
  • หลอดไตอุดตัน: เกิดจากเศษของนิ่วเข้าไปอุดตันหลอดไต การบาดเจ็บที่หลอดไต ภาวะติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ มีเลือดออกขณะผ่าตัด

โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 5 - 9 % ที่ประสบกับภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาแบบสอดกล้องท่อไต (Ureteroscopy)

อาหารกับนิ่วในไต

การหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดนิ่วนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาที่คุณไม่ควรละเลย โดยหากคุณมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งเป็นนิ่วชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คุณควรลดการบริโภคโซเดียม (เกลือ) เพราะโซเดียมจะไปเพิ่มการขับแคลเซียมไปในปัสสาวะ ทำให้เกิดนิ่วชนิดนี้มากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่อาหารที่ใส่เกลือปริมาณมากเท่านั้นที่มีโซเดียมสูง แต่ยังรวมถึงอาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม อาหารกระป๋อง อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแช่แข็ง และขนมขบเคี้ยวต่างๆ รวมไปถึงเนื้อและโปรตีนจากสัตว์อื่นๆ ได้แก่ ไข่ และปลา เพราะโปรตีนเหล่านี้อาจเพิ่มการขับแคลเซียมและลดการขับซิเตรตในปัสสาวะได้

นอกจากนี้ คุณควรลดการบริโภคอาหารที่มีออกซาเลตสูงด้วย ได้แก่

  • ผลไม้บางชนิด เช่น สตรอเบอร์รี่ และองุ่นคองคอร์ด
  • พืชผักบางชนิด ได้แก่ บีทรูท กระเทียมต้น หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด กะหล่ำดอก และผักโขม
  • อาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ได้แก่ โจ๊ก เต้าหู้ ช็อคโกแลต ชา กาแฟสำเร็จรูป แอลกอฮอล์ และรำข้าวสาลี
  • พืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วลิสง อัลมอนด์ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์

จากรายงานในวารสาร Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism ปี 2012 พบว่าการได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อยเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วแคลเซียมออกซาเลต ดังนั้นหากคุณมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วออกซาเลตในไต นอกจากการลดการบริโภคโซเดียมและโปรตีนจากสัตว์แล้ว คุณควรมั่นใจว่าตัวเองได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ

ส่วนผู้ป่วยที่มีนิ่วยูริกนั้นควรจำกัดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์เพียง 170-280 กรัมต่อวัน เนื่องจากโปรตีนจากสัตว์ประกอบไปด้วยพิวรีน ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายจะสลายไปเป็นกรดยูริกในที่สุด

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามอาการก็สำคัญเช่นกัน เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อตัวคุณเอง รวมทั้งควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักอย่างหักโหมหรือเร็วเกินไปด้วย

การใช้ยากับนิ่วในไต

ยาแก้ปวดสำหรับนิ่วในไต

ก้อนนิ่วที่เคลื่อนไปตามระบบร่างกายอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด คุณสามารถใช้ยาแก้ปวดที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofenพาราเซตามอล (Paracetamol) และนาพรอกเซน (Naproxen) ช่วยบรรเทาอาการปวดอ่อนๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ในกรณีที่ปวดอย่างรุนแรง แพทย์อาจให้ใช้ยาแก้ปวดชนิดโอปิออยด์ (Opioid) หรืออาจจำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล

ยาช่วยขับนิ่วในไต

หากคุณมีปัญหาในการขับนิ่วตามธรรมชาติ แพทย์อาจสั่งยาอัลฟาบล็อกเกอร์ (Alpha-blocker) เช่น แทมซูโลซิน (Tamsulosin) ซึ่งจะช่วยคลายกล้ามเนื้อต่างๆ ในทางเดินปัสสาวะ ทำให้นิ่วผ่านออกไปได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นแพทย์อาจให้ใช้ยาตัวอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยสลายนิ่ว ลดสารก่อนิ่ว หรือป้องกันการสร้างนิ่ว ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและชนิดนิ่วที่คุณมี ได้แก่

ยาสำหรับนิ่วในไตที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ

  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide diuretics) ได้แก่ ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide) และไตรโคลร์มไทอะไซด์ (Trichlormethiazide) ซึ่งควรรับประทานพร้อมกับโพแทสเซียมซิเตรท (Potassium citrate) เพื่อป้องกันการสูญเสียโพแทสเซียมและซิเตรท
  • อะมิโลไรด์ (Amiloride) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะในกลุ่ม Potassium-sparing diuretic
  • ไซเตรท (Citrates) ได้แก่ โพแทสเซียมแมกนีเซียมซิเตรท โพแทสเซียมซิเตรท และแมกนีเซียมซิเตรท
  • สารประกอบฟอสเฟต ได้แก่ โพแทสเซียมฟอสเฟต และเซลลูโลสฟอสเฟต

ยาสำหรับนิ่วในไตที่มีกรดยูริกเป็นส่วนประกอบ

ยาสำหรับนิ่วในไตที่มีสตรูไวท์ (Struvite) เป็นส่วนประกอบ

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เพื่อฆ่าเชื้อ เนื่องจากนิ่วสตรูไวท์เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ
  • กรดอะเซโทไฮดรอกซามิก (Acetohydroxamic acid)
  • กรดอินทรีย์ เช่น กรดไซตริก กลูโคโน เดลต้า แลคโตน (Glucono-delta-lactone) และแมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium carbonate)
  • ยาลดกรดอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminum hydroxide anti-acid gel)

สารเติมความเป็นด่าง เช่น ไบคาร์บอเนต เป็นยาอันดับแรกสำหรับรักษานิ่วในไตที่มีซิสตีนเป็นส่วนประกอบ ส่วนยาตัวอื่นที่ช่วยลดความเข้มข้นของซิสตีนก็อาจใช้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ยานี้ไม่ได้ผล ได้แก่

  • ดี-เพนิซิลลามีน (D-pennicillamine)
  • แคปโตพริล (Captopril)
  • Alpha-mercaptopropionylglycine

24 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Kidney stones. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/kidney-stones/)
Kidney Stones Center. WebMD. (https://www.webmd.com/kidney-stones/default.htm)
Kidney Stones: Types, Diagnosis, and Treatment. Healthline. (https://www.healthline.com/health/kidney-stones)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
เป็นนิ่วในไตแต่ไม่สามารถผ่าตัดมียาที่ทานแล้วนิ่วหายได้ใหมค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
แฟนหนูปวดท้องเรื้อรังค่ะ เวลาปวดจะจุกตื้อที่บริเวณลิ้นปี่และปวดทะลุไปข้างหลัง พอกินยาก็ทุเลาแต่ไม่หายขาดต้องทำอย่างไรคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ก่อนหน้านี้ประมาณ 3 เดือน ได้เข้าโรงพยาบาล เพราะเป็นนิ่วในไต อยากสอบถามว่ามีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงหรือเปล่าคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
การรักษาโรคนิ่วในไตมีกี่วิธี
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
นิ่วในไตขนาดเล็ก 0.5-0.8 cm สามารถหลุดได้เองรึเปล่าครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
อยากทราบผลเสียของการกินชาทุกวัน
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)