เมื่อพูดชื่อ “โซเดียม” หลายคนอาจจะงงว่าคืออะไร แต่ถ้าพูดว่า “เกลือ” ล่ะก็ ทุกคนคงร้องอ๋อ...เพราะแท้จริงแล้วโซเดียมที่เราทานเข้าไปมักอยู่ในรูปของเกลือแกงนั่นเอง นอกจากนี้ โซเดียมอาจปะปนอยู่ในเครื่องปรุงรสและผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารอื่นๆ ด้วย เช่น น้ำปลา ซอส ผงชูรส ผงฟู และเครื่องดื่มชูกำลัง โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมาก แต่ขณะเดียวกัน การรับโซเดียมมากเกินไปก็อาจเป็นโทษต่อสุขภาพอย่างรุนแรงได้
ความสำคัญของโซเดียมต่อร่างกาย
โซเดียมมีบทบาทสำคัญในระบบต่างๆ มากมาย ได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ช่วยปรับแรงดันภายในและภายนอกเซลล์ อีกทั้งช่วยควบคุมการกระจายตัวของน้ำ จึงช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์บวมน้ำ และไม่ให้ร่างกายเสียน้ำมาก
- ช่วยควบคุมสมดุลกรด-เบสภายในร่างกาย
- มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ และประสาทกระตุ้นกล้ามเนื้อ
- เกี่ยวข้องกับการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสและกรดอะมิโนในทางเดินอาหาร รวมถึงการดูดกลับแร่ธาตุสำคัญต่างๆ ที่หลอดไต
- ช่วยควบคุมระดับโพแทสเซียมและแร่ธาตุชนิดอื่นๆ ระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ให้สมดุล
- เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างกระดูกและฟัน
- เป็นส่วนประกอบของน้ำย่อยในทางเดินอาหาร
จะเห็นว่าโซเดียมมีความสำคัญมาก หากร่างกายมีโซเดียมต่ำก็จะส่งผลร้ายแรงได้ เช่น สมดุลกรด-เบสผิดปกติ ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ทำให้ช็อกและอันตรายถึงชีวิตได้
โทษของโซเดียมต่อสุขภาพ
แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่หากเรารับโซเดียมมากเกินไป ก็อาจเกิดโทษต่อสุขภาพตามมาได้ เช่น
- เมื่อโซเดียมในร่างกายสูง จะทำให้เลือดข้น ส่งผลให้มีการดึงน้ำจากในเซลล์ออกมาในกระแสเลือด และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา
- ไตต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง และเกิดภาวะไตวายในอนาคตได้
- หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- ทำให้ร่างกายบวม โดยเฉพาะใบหน้า มือ เท้า ขา เนื่องจากโซเดียมดึงน้ำออกมารอบๆ เซลล์
- ทำให้ผิวเหี่ยวและแห้งกร้าน เพราะมีการดึงน้ำออกจากเซลล์ผิว ทำให้ผิวหนังเสียความชุ่มชื้น
ทานโซเดียมอย่างไรให้พอดี?
ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ปริมาณโซเดียมที่สามารถรับได้โดยไม่เป็นอันตราย สำหรับคนปกติคือไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน (หรือการทานเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน) แต่สำหรับคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมให้น้อยกว่านั้น
ข้อแนะนำในการรับโซเดียมอย่างเหมาะสม
- ควรงดอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งได้แก่ อาหารหมักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงรสจัด ขนมขบเคี้ยว และอาหารฟาสต์ฟู้ด โดยเฉพาะคนที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหัวใจ ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
- อ่านฉลากอาหารก่อนรับประทาน โดยอาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ จะระบุปริมาณโซเดียมไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เราทราบว่าเรารับโซเดียมเข้าไปมากน้อยแค่ไหน และคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์จากความต้องการของร่างกาย
- หากต้องการลดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารบางอย่าง เช่น ผักดอง เนื้อเค็ม ให้นำอาหารเหล่านั้นมาล้างน้ำเพื่อให้เกลือเจือจางก่อน จึงนำไปปรุงอาหารตามปกติ
- ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อเจือจางปริมาณโซเดียมในร่างกายไม่ให้มากเกินไป และยังป้องกันไม่ให้มีการดึงน้ำออกจากเซลล์มากเกินจำเป็นด้วย
- หากเราป่วยและมีอาการท้องเสีย อาเจียน ร่างกายจะสูญเสียน้ำพร้อมกับโซเดียมปริมาณมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดื่มน้ำผสมเกลือแร่ให้เพียงพอ เพื่อรักษาปริมาณน้ำและโซเดียมในร่างกายให้ปกติ