กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์ของบีทรูท ไอเดียการกินการใช้บีทรูทเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

ประโยชน์ของบีทรูทมีะไรบ้าง? รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 30 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของบีทรูท ไอเดียการกินการใช้บีทรูทเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • บีทรูทเป็นพืชที่นิยมรับประทานส่วนหัว หรือรากสะสม มีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุมากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี
  • บีทรูทมีสารไนตริกออกไซด์ที่มีคุณสมบัติทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และยังสามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลงได้
  • มีการใช้บีทรูทเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากมีสารไนเตรตทำให้สารไนตริกเข้าไปสู่ร่างกาย ส่งผลทำให้หลอดเลือดขยายตัวจึงมีเลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้มากขึ้น
  • บีทรูทเป็นพืชที่ดีต่อสุขภาพผิวเพราะช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง สามารถบรรเทาอาการของสิวอักเสบ สิวอุดตัน ช่วยฟอกเลือด ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ทำหน้าที่ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและฟื้นฟูเซลล์ผิวใหม่ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงจึงสามารถช่วยแก้ปัญหาริ้วรอยก่อนวัยได้
  • การรับประทานบีทรูทมากเกินไปอาจทำให้ปัสสาวะมีสีแดงได้และอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้ สำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้มีความดันโลหิตต่ำ ควรระมัดระวังการรับประทานบีทรูทมากเป็นพิเศษ (ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ที่นี่

บีทรูท (Beetroot) มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ ลักษณะเป็นทรงกลมป้อมๆ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางราวๆ 3-4 เซนติเมตร เนื้อภายในจะอวบน้ำ ซึ่งเป็นสีแดงเลือดหมู สีม่วงแดง และสีเหลือง หัวพืชเป็นรากจะสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน 

ต้นกำเนิดของพืชชนิดนี้อยู่ทางยุโรป แถบเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยจึงนิยมนำมาปลูกทางภาคเหนือ

คุณค่าทางโภชนาการ

บีทรูท 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

ให้พลังงาน 43 กิโลแคลอรี่ ให้สารอาหาร วิจามิน และแร่ธาตุสำคัญดังนี้ 

ได้แก่ น้ำตาล  ไขมัน  โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เบต้าแคโรทีน เหล็ก แมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม เส้นใย น้ำ วิตามินเอ วิตามินบี 

ประโยชน์ของบีทรูท

1. ทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลง

ในบีทรูทมีสารไนตริกออกไซด์ที่มีคุณสมบัติทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และยังสามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลงได้ 

มีการทดลองให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ให้รับประทานบีทรูทเป็นอาหารเสริมอย่างต่อเนื่องจนครบ 30 วัน พบว่า การรับประทานอาหารเสริมจากบีทรูททำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลงประมาณ 72%

2. ลดความเสี่ยงโรคตับ

บีทรูทมีสรรพคุณบำรุงตับ ส่งเสริมการทำงานของตับให้ดีขึ้น ในบีทรูทยังมีสารบีทานินที่ป้องกันการสะสมไขมันในตับ ปกป้องตับจากสารพิษ จากผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า การรับประทานบีทรูทจะช่วยลดระดับไขมันของผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับได้อีกด้วย

3. ทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ

ในบีทรูทเต็มไปด้วยสารไนเตรตซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ โดยได้มีการศึกษาวิจัยจากกลุ่มผู้ทดลอง โดยให้ดื่มน้ำบีทรูทผสมกับน้ำแอปเปิ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า ระดับความดันโลหิตของกลุ่มผู้ทดลองลดลง 4-5 มิลลิเมตรปรอท

4. ส่งเสริมสุขภาพ

สารไนเตรตที่อยู่ในบีทรูทมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบออกกำลังกาย จากการทดลองพบว่า การดื่มน้ำบีทรูทก่อนออกกำลังกายจะทำให้สมรรถภาพในการวิ่งเพิ่มขึ้น

5. เพิ่มสรรถภาพทางเพศ

มีการใช้บีทรูทเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากบีทรูทเต็มไปด้วยสารไนเตรตทำให้สารไนตริกเข้าไปสู่ร่างกาย ส่งผลทำให้หลอดเลือดขยายตัวจึงมีเลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้มากขึ้น นอกจากนี้บีทรูทยังมีโบรอนที่ใช้สำหรับการผลิตฮอร์โมนเพศชายอีกด้วย

6. กระตุ้นสมอง

น้ำบีทรูทมีปริมาณไนเตรตสูง นอกจากจะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกายได้แล้วยังทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมออกซิเจนได้มากขึ้น ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง ป้องกันสมองเสื่อม และเมื่อสารไนเตรตเปลี่ยนเป็นไนไตร์จะกระตุ้นประสาท ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น

7. แก้อาการเมื่อยล้า

สารไนเตรตในบีทรูททำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ออกซิเจนไหลไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดี  ทำให้พลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็ก ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้

8. ดูแลสุขภาพผิว

บีทรูทเป็นพืชที่ดีต่อสุขภาพผิวเพราะช่วยลดการอักเสบของผิวหนัง สามารถบรรเทาอาการของสิวอักเสบ สิวอุดตัน ช่วยฟอกเลือด ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ทำหน้าที่ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและฟื้นฟูเซลล์ผิวใหม่ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงสามารถช่วยแก้ปัญหาริ้วรอยก่อนวัยได้

9. ป้องกันโรคโลหิตจาง

บีทรูทเต็มไปด้วยธาตุเหล็กจึงดีต่อระบบเลือด ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ดี ซึ่งธาตุเหล็กจะทำหน้าที่ฟื้นฟูเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น ในบีทรูทยังมีทองแดงซึ่งจะทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้มากยิ่งขึ้น

10. เพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก

เนื่องจากในบีทรูทมีซิลิกาจึงทำให้ร่างกายใช้แคลเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีสารอาหารที่ดีต่างๆ ได้แก่ วิตามินซี โฟเลต และทองแดง โดยสารอาหารเหล่านี้ ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงทั้งสิ้น

ไอเดียการใช้บีทรูทเพื่อสุขภาพและความงาม

1. ล้างสารพิษ

น้ำบีทรูทช่วยล้างสารพิษในตับได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะบีทรูทมีสารเบทาอีน นอกจากนี้ยังมีเม็ดสีที่กระตุ้นการทำงานของตับ อีกทั้งน้ำบีทรูทยังมีคุณสมบัติที่ช่วยปกป้องตับจากการขาดโปรตีนที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอีกด้วย 

วิธีทำ: นำบีทรูทมาคั้นเอาแต่น้ำสดๆ จากนั้นนำน้ำบีทรูทที่ได้มาดื่ม อาจเพิ่มรสชาติด้วยการเติมน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวผสมลงไปด้วยก็ได้ ซึ่งจะได้ทั้งความอร่อยและดีต่อสุขภาพ

2. รักษาสิวอักเสบ สิวหัวหนอง

บีทรูทสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาสิวอักเสบและสิวหัวหนองได้ 

วิธีทำ: นำหัวบีทรูท 1 หัว มาต้มกับน้ำจนเดือน แล้วนำมาดื่มตอนอุ่นๆ จะช่วยรักษาสิวอักเสบ สิวหัวหนองให้หมดไป และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำเหลืองเสียได้อีกด้วย แนะนำให้ดื่มบ่อยๆ เป็นประจำ 

ไอเดียการรับประทานบีทรูทเพื่อสุขภาพ

1. ซุปบีทรูท

  • หั่นกะหล่ำปลี แครอท บีทรูท และหอมใหญ่เป็นชิ้นเล็กๆ 
  • นำหม้อขึ้นตั้งไฟร้อนจัด ใส่น้ำมันมะกอกลงไป 
  • ผัดหอมหัวใหญ่จนเริ่มนิ่ม นำกระหล่ำปลี แครอท และบีทรูทใส่ลงไป ผัดทุกอย่างให้เข้ากัน 
  • ใส่น้ำสต๊อกลงไปจนท่วม ตั้งไฟให้แรงจนเดือด แล้วหรี่ไฟลง ผัดด้วยไฟอ่อน 
  • จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำตาล เกลือ และพริกไทยตามชอบ ใส่เนยลงไป 
  • ตักขึ้นพร้อมเสิร์ฟกับครีมเปรี้ยว จะได้รสชาติที่กลมกล่อมลงตัว

2. ยำวุ้นเส้นบีทรูท

  • ลวกหมูสับ หมูยอ พริกไทย และวุ้นเส้น เก็บน้ำที่ลวกเอาไว้เล็กน้อย ใส่ซุปก้อนหมูลงไปละลาย 
  • ปอกเปลือกบีทรูทเตรียมไว้ ขูดเป็นชิ้นบางๆ 
  • หั่นหอมหัวใหญ่และมะเขือเทศเตรียมไว้ 
  • ตำพริกขี้หนูกับกระเทียม ผสมน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำกระเทียมดอง และน้ำตาลทรายให้เข้ากัน ปรุงรสตามชอบ 
  • ใส่วุ้นเส้น หมูยอ หมูสับ ผสมคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน เทน้ำซุปใส่ลงไปเล็กน้อย ใส่หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ 
  • ในส่วนของบีทรูท ให้นำบีทรูทที่เตรียมไว้ มาแช่น้ำปูนใส ผึ่งให้แห้ง นำไปแช่ในตู้เย็น เมื่อเริ่มกลายเป็นน้ำแข็ง ให้นำมาทอดกรอบ โรยเกลือลงไป แล้วยกขึ้นเสิร์ฟ รับประทานคู่กับยำวุ้นเส้นจะอร่อยไปอีกแบบ

3. บีทรูทดอง

  • นำบีทรูทไปต้มทั้งเปลือกจนนิ่ม ปอกเปลือก แล้วหั่นตามลายขวาง 
  • นำน้ำส้มสายชู น้ำตาล และเกลือ ใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ ปรุงรสตามชอบ 
  • เมื่อได้รสชาติที่ต้องการแล้ว ใส่เครื่องเทศลงไปต้มสักครู่ 
  • เมื่อเริ่มมีกลิ่นหอม ให้นำบีทรูทมาใส่ขวดโหลไว้ ใส่น้ำส้มสายชูที่ปรุงรสแล้วลงไปในขวดโหล ปิดฝาขวดโหลทันทีในขณะที่ยังร้อน ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์แล้วนำออกมารับประทานได้เลย แถมเมนูนี้ยังสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 เดือนด้วย

4. น้ำบีทรูท

น้ำบีทรูทอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบครัน แถมดื่มง่ายและมีรสชาติอร่อย 

  • นำบีทรูทมาปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด 
  • หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่บีทรูทลงไปในเครื่องปั่น เมื่อปั่นเสร็จแล้วนำมากรองด้วยผ้าขาวเพื่อแยกกากออก 
  • นำน้ำใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ ใส่น้ำตาลและเกลือลงไปเล็กน้อย ใส่น้ำแข็งพร้อมยกขึ้นเสิร์ฟ

ข้อควรระวัง

การรับประทานบีทรูทมากเกินไป อาจทำให้ปัสสาวะมีสีแดงได้ นอกจากนี้บีทรูทยังมีแคลเซียมออกซาเลตสูง หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข้อควรระวังอื่นๆ ในการรับประทานบีทรูทอีกดังนี้

  • เกิดผื่น การรับประทานบีทรูทสามารถทำให้เป็นผื่นได้แต่จะเป็นเพียงแค่ไม่กี่รายเท่านั้น โดยอาจเป็นผื่นลมพิษที่มีผลพร้อมกับการเกิดปัญหาปัสสาวะเปลี่ยนสี แต่ถ้าหากปัสสาวะไม่เปลี่ยนสี แต่มีผื่นก็อาจเป็นอาการแพ้
  • ความดันโลหิตต่ำ ภายในบีทรูทมีส่วนผสมของไนเตรท ดังนั้นหากรับประทานปริมาณมากก็อาจทำให้ระดับความดันโลหิตภายในร่างกายต่ำลงอย่างรวดเร็ว
  • ท้องอืด บีทรูทมีเส้นใยมาก หากรับประทานมากก็จะส่งผลทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะและทำให้เกิดการปวดท้อง รวมถึงการเป็นตะคริวที่ท้อง
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานบีทรูท เพราะมีไนไตรท์ที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ และเกิดความครียดระหว่างตั้งครรภ์ได้

บีทรูทมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยฟอกเลือด ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของอวัยวะภายใน ทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น จึงช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายได้หลายด้าน ทั้งยังนำมาประกอบเมนูอาหารทานก็ได้หลากหลายเมนู 

ใครที่ยังไม่รู้จักบีทรูท หรือไม่เคยรับประทาน แนะนำให้ลองหามารับประทานเพื่อสุขภาพกันได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรรับประทานอย่างระมัดระวังและเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
8 Health Benefits of Beets (https://www.health.com/nutrition/beets-health-benefits), 20 July 2019.
Beetroot: Benefits and nutrition (https://www.medicalnewstoday.com/articles/277432), 20 July 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)