ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย เนื่องจากธาตุเหล็กมีหน้าที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้อย่างราบรื่น
ทำความรู้จักกับธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก คือสารอาหารที่มีส่วนสำคัญในการผลิตเฮโมโกลบิน ไมโอโกลบิน และเอนไซม์บางชนิด รวมทั้งยังเป็นสารที่จำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญวิตามินบี วิตามินซี โคบอลต์ แมงกานีส และทองแดง ซึ่งเป็นสารที่สำคัญต่อการดูดซึมของธาตุเหล็ก
ผลิตภัณฑ์สำหรับเข่าและกระดูก สูตรเฉพาะ รวมสารสกัดที่ผ่านงานวิจัย คอลลาเจน UC-II ขมิ้นชัน งาดำ และวิตามิน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ทั้งนี้ หากมีวิตามินอี และสังกะสีอยู่ในร่างกายมากเกินไป จะขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กเสียเอง ส่วนธาตุเหล็กที่รับประทานเข้าไปก็มักดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงประมาณ 8% เท่านั้น
แหล่งอาหารของธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น
แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ปลา เป็ด ไก่ ตับ ม้าม อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ไข่แดง อาหารเช้าซีเรียล ผักใบเขียวเข้มทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ใบตำลึง ผักโขม รวมทั้งถั่วดำ ข้าวโอ๊ต และถั่วแดง
กลไกการดูดซึมธาตุเหล็ก
ร่างกายจะมีกระบวนการดูดซึมสารอาหารธาตุเหล็กอยู่ในส่วนของลำไส้เล็ก โดยสารอาหารธาตุเหล็กที่มาจากสัตว์จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าสารอาหารธาตุเหล็กที่มาจากพืช โดยจะดูดซึมได้ดีในภาวะที่น้ำย่อยอาหารมีความเป็นกรดอยู่
ควรรับประทานวิตามินซีให้เพียงพอต่อวัน เนื่องจากวิตามินซีมีส่วนช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้
สารที่มีส่วนในการลดการดูดซึมธาตุเหล็กได้แก่ ยาเคลือบกระเพาะ ยาลดกรด อาหารที่มีใยอาหารสูง อาหารที่มีแคลเซียมสูง และสารแทนนิน (Tannin) ที่มีอยู่ในชา และกาแฟ
ผลิตภัณฑ์สำหรับเข่าและกระดูก สูตรเฉพาะ รวมสารสกัดที่ผ่านงานวิจัย คอลลาเจน UC-II ขมิ้นชัน งาดำ และวิตามิน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ประโยชน์ของธาตุเหล็ก
- มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายเติบโตและแข็งแรงเป็นปกติ
- มีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
- ป้องกันอาการโรคโลหิตจาง
- ช่วยกำจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย
- ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้
- เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย ตลอดจนทำให้ร่างกายห่างไกลจากอาการเจ็บป่วย
- ช่วยให้เซลล์สมองของคนเราเจริญเติบโตได้ดี
- ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียของร่างกาย
- มีส่วนช่วยในการเพิ่มความงามให้แก่ผิว เพราะธาตุเหล็กจะช่วยทำให้ผิวพรรณของคนเราแลดูเรียบเนียน
- มีส่วนสำคัญต่อไขกระดูกในร่างกาย
โทษของการมีธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป
- ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ โดยเฉพาะเยื่อบุทางเดินอาหาร ตลอดจนทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ ไม่ว่าจะออกทางกระเพาะหรือลำไส้ก็ตาม
- มีผลต่อการกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆ หรือทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย จนอาจทำให้เกิดโรคออโตอิมมูน และโรคมะเร็ง
- ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไขกระดูก ไต ตับ ปอด หัวใจ และสมอง
- อาจทำให้เกิดภาวะซีด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ส่งผลทำให้ร่างกายมีตัวเขียวคล้ำ รวมทั้งทำให้เกิดอาการตับวาย ไตวาย ชัก โคม่า และเสียชีวิตได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก
การที่ร่างกายได้รับสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพขึ้นได้ เช่นเดียวกันกับการที่ร่างกายขาดสารอาหารชนิดหนึ่งชนิดใด และสำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็กนั้นก็สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้
- ร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ อาจเกิดจากการกินอาหารมังสวิรัติ หรือโรคเรื้อรังที่ส่งผลทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อย เช่น โรคอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหาร ลำไส้ ภาวะกระเพาะอาหารขาดกรด
หรือผลข้างเคียงของยา เช่น การกินแคลเซียมเสริมอาหารหลังจากรับประทานอาหารทันที และเกิดจากการกิน หรือดื่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารต้านการดูดซึมธาตุเหล็กในปริมาณที่สูง - กรณีที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น ช่วงที่อยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโต ช่วงให้นมบุตร ช่วงของการเสียเลือดเรื้อรัง ในช่วงของการมีประจำเดือนและมีประจำเดือนออกมากในแต่ละเดือน รวมทั้งในหญิงที่ใกล้หมดประจำเดือนที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดด้วย
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก
- หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งคุณแม่ลูกอ่อนที่ต้องให้นมแก่บุตร
- ทารกที่อยู่ในครรภ์ และเด็กเล็ก
- หญิงที่มีประจำเดือนมากในทุกๆ เดือน
- ผู้ที่มีเลือดออกเรื้อรัง ไม่ว่าจะเกิดจากการเป็นโรคริดสีดวง รวมทั้งโรคชนิดอื่นๆ
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังของทางเดินอาหาร เช่น เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก
- มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ
- มีอาการสับสน และมึนงงกับเหตุการณ์ในบางช่วง
- ร่างกายเกิดภาวะติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย
- ลิ้นจะมีอาการอักเสบโดยที่ไม่มีการติดเชื้อใดๆ
- เส้นผมร่วงบ่อยๆ และร่วงในปริมาณที่มากขึ้น
- มักมีอาการอยากรับประทานอาหารที่มีรสชาติแปลกๆ
- สติปัญญาเริ่มด้อยลงไปจากเดิมจนสังเกตได้ชัด
- ประจำเดือนมาไม่ปกติจนทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ได้
- ร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะซีดจนบางครั้งอาจทำให้มีตัวเหลือง
การดูแลรักษาสุขภาพหากร่างกายขาดธาตุเหล็ก
สำหรับแนวทางการรักษาสุขภาพร่างกายเมื่ออยู่ในภาวะที่ขาดธาตุเหล็ก นั่นก็คือ การให้ธาตุเหล็กเสริมอาหารด้วยการรับประทานหรือการฉีดเข้าสู่ร่างกาย แต่ก็ควรศึกษาให้ละเอียดในเรื่องของความรุนแรงของอาการและสาเหตุของโรค รวมทั้งการให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
นอกจากนั้นยังมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยาถ่าย กรณีที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กเพราะเกิดจากพยาธิ และให้เลือดในภาวะที่ร่างกายเสียเลือดมากจนทำให้ร่างกายเริ่มซีดซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
วิธีการป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก
- หากรู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ขาดธาตุเหล็กควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาและการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง
- กรณีที่มีลูก ควรนำลูกเข้าพบแพทย์ตั้งแต่แรกเกิด และควรเข้าพบแพทย์ตามนัดเสมอ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายของเด็ก อีกทั้งยังเป็นการคัดกรองภาวะซีดได้อีกด้วย
- ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อป้องกันโรคพยาธิต่างๆ ที่มีส่วนทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดธาตุเหล็ก
ความสำคัญของธาตุเหล็กกับช่วงวัยต่างๆ
ในแต่ละช่วงวัย ร่างกายล้วนต้องการได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอทั้งสิ้น เรามาดูกันว่าสารอาหารดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการดูแลส่งเสริมสุขภาพในแต่ละช่วงวัยอย่างไรบ้าง
- วัยเด็กแรกเกิด และเด็กเล็ก การขาดธาตุเหล็กจะส่งผลต่อพัฒนาการ และทำให้สูญเสียความสามารถทางการเรียนรู้อย่างถาวร แต่หากเสริมธาตุเหล็กก็จะช่วยบรรเทาอาการเลือดจางได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขในส่วนของพัฒนาการของเด็ก
- เด็กก่อนเข้าวัยเรียน ในช่วงนี้จะส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็ก และส่งผลเสียต่อความสามารถในเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก
- เด็กที่อยู่ในวัยเรียนและวัยรุ่น การขาดธาตุเหล็กอาจส่งผลเสียต่อความสามารถทางกายภาพ และการเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นวัยที่เตรียมตัวเข้าสู่ระยะวัยเจริญพันธุ์อีกด้วย
ในส่วนของเด็กผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยมีประจำเดือนก็จะทำให้เกิดภาวะเสียเลือดทุกเดือน แน่นอนว่าร่างกางต้องการธาตุเหล็กในแต่ละวันในปริมาณที่มาก - หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดจางตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย หรือบางครั้งจะทำให้เกิดภาวะเลือดจางขั้นรุนแรง
ในรายที่ไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำในเรื่องของการเสริมธาตุเหล็ก เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นตามที่แพทย์ได้แนะนำไว้
ข้อแนะนำสำหรับการรับประทานธาตุเหล็ก
- การรับประทานธาตุเหล็กมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดการกระตุ้นการก่อตัวของอนุมูลอิสระ รวมทั้งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ ในกรณีนี้มักเกิดกับผู้ชาย
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคฮีโมโครมาโตวิสโดยไม่ทราบถึงสาเหตุ แต่มีกรรมพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการมีธาตุเหล็กสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณที่มากจนเกินไป ควรเข้ารับการรักษาหรือเข้าปรึกษาแพทย์
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากทุกเดือนสมควรที่ร่างกายจะได้รับธาตุเหล็กเสริม
- ในกรณีของผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อนั้น ไม่ควรที่จะรับประทานธาตุเหล็กเสริม เนื่องจากจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียในร่างกายได้
- การดื่มกาแฟหรือชาเป็นประจำทุกวันจะมีส่วนในการไปขัดขางการดูดซึมของธาตุเหล็กในร่างกายได้
- หญิงตั้งครรภ์ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะตัดสินใจรับประทานธาตุเหล็กเสริม เนื่องจากเคยมีรายงานถึงกรณีของเด็กมีอาการเป็นพิษจากธาตุเหล็กเสริมดังกล่าว เพราะเกิดจากการที่มารดารับประทานเข้าไปในขณะที่ตั้งครรภ์อยู่
- ร่างกายของหญิงที่หมดประจำเดือน โดยส่วนมากจะอยู่ในภาวะที่ร่างกายไม่ต้องการธาตุเหล็กเสริม
- ผู้ที่ต้องรับประทานยาประเภทแอสไพริน ยาแก้อักเสบหรือยาอินโดซินทุกวัน ควรได้รับธาตุเหล็กเสริมอย่างเพียงพอ
เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของสารอาหารที่มีชื่อว่าธาตุเหล็กกันไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้ทุกคนก็ควรใส่ใจในเรื่องของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้สารอาหารที่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ
โดยเฉพาะ "ธาตุเหล็ก" ถือเป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่ควรขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้อย่างมาก
แต่ก็ควรรู้จักความพอดีในการเสริมธาตุเหล็กให้แก่ร่างกาย เพราะการที่ร่างกายได้รับธาตุเหล็กที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android