การตั้งครรภ์ เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้หญิง และเป็นสิ่งที่สำคัญมากของครอบครัว เพราะนั่นคือการให้กำเนิดทายาทผู้สืบสกุลนั่นเอง ว่าแต่การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ และมีกลไกในการสืบพันธุ์อย่างไร วันนี้เราจะพาคุณไปเรียนรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์กัน ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิไปจนถึงการเตรียมตัวคลอดกันเลย
การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร?
การตั้งครรภ์ เกิดขึ้นจากการปฏิสนธิระหว่างตัวอสุจิของฝ่ายชายกับไข่ของฝ่ายหญิง ซึ่งในเดือนหนึ่งผู้หญิงจะสามารถตกไข่ได้แค่เดือนละครั้งเท่านั้น และตัวอสุจิที่จะเข้าไปผสมพันธุ์ได้ก็ต้องมีความแข็งแรงมากพอ โดยเมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว จะเคลื่อนตัวไปฝังอยู่ในมดลูก ซึ่งก็จะมีฮอร์โมน HCG คอยช่วยฟูมฟักเลี้ยงดู จนไข่เจริญเติบโตกลายเป็นทารกนั่นเอง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ช่วงระยะเวลาของการเจริญเติบโต
เมื่อปฏิสนธิแล้ว ทารกจะเริ่มเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน และค่อยๆ สร้างเซลล์ร่างกายขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้อายุครรภ์ครบ 9 เดือน พร้อมที่จะออกมาลืมตาดูโลกในที่สุด โดยการเจริญเติบโตของทารกนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ดังนี้
ไตรมาสที่ 1 (1-3 เดือน)
ช่วงไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงที่ไข่ได้เข้าไปฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูกแล้ว และกำลังเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน โดยมีรกและสายสะดือช่วยปกป้องทารกจากการกระแทกและนำอาหารส่งไปถึงทารกนั่นเอง ซึ่งเมื่อทารกมีอายุครรภ์ได้ 3 เดือน เขาจะมีอวัยวะครบถ้วน เริ่มขยับร่างกายได้เล็กน้อย หัวใจเต้นประมาณ 120-160 ครั้ง/นาที แต่ช่วงนี้คุณแม่จะยังไม่สามารถสัมผัสถึงการดิ้นของลูกได้
ไตรมาสที่ 2 (4-6 เดือน)
ช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่ทารกเริ่มขยับตัวมากขึ้น และมีการหลับตื่น สามารถลืมตาและกลืนน้ำได้ มีขนขึ้นตามร่างกาย รวมถึงขนตาและคิ้วด้วย สมองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การทำงานของปอดยังไม่ค่อยดีนัก โดยช่วงนี้คุณแม่จะสามารถสัมผัสถึงการดิ้นของเขาได้ แพทย์จะแนะนำให้จดบันทึกการดิ้นของลูกวันละ 3 เวลา เช้า เที่ยง เย็น เป็นประจำทุกวัน และอาจมีการอัลตร้าซาวน์ด้วย
ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน)
ช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงที่ทารกเริ่มเจริญเติบโตเต็มที่ และสามารถหายใจได้เองเมื่ออายุครรภ์ครบ 9 เดือน ระยะนี้เด็กจะเริ่มกลับตัวเอาหัวลงสู่ช่องคลอด เพื่อเตรียมพร้อมคลอดต่อไปซึ่งคุณแม่จะต้องระมัดระวังมากที่สุด เพราะทารกอาจคลอดออกมาได้ตลอดเวลา และยังเสี่ยงต่อการสำลักน้ำคร่ำหรือรกพันคอเด็กได้อีกด้วย
ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงที่คุณแม่อาจตั้งตัวไม่ทันเลยทีเดียว ซึ่งก็มีผลข้างเคียง ดังนี้
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
อึดอัด แน่นท้อง และอาจผายลมบ่อย
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่อาจรู้สึกอึดอัด แน่นท้องบ่อยๆ เนื่องจากมีแรงกดในท้องมากเกินไป และเกิดแก๊สในกระเพาะ ซึ่งอาจทำให้เกิดการผายลมบ่อยๆ ร่วมด้วย โดยคุณแม่สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ด้วยการทานอาหารให้น้อยลงแต่แบ่งเป็นหลายมื้อๆ เพื่อให้กระเพาะย่อยง่ายขึ้น และจะต้องลดอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะ รวมถึงอาหารรสเผ็ดจัดด้วย
สิวมาเยือนอีกครั้ง
ช่วงมีประจำเดือน ก็ว่าสิวมากแล้ว แต่ช่วงตั้งครรภ์ สิวมีมากยิ่งกว่าซะอีก แต่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะหลังคลอดสิวเหล่านั้นก็จะค่อยๆ ยุบลงและหายไปในที่สุด ถ้าหากคุณไม่เผลอบีบสิวจนอักเสบซะก่อน หรือหากสิวขึ้นเต็มใบหน้าจนก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ก็อาจจะลองปรึกษาแพทย์ เพื่อหายามาทาก็ได้
ขนขึ้น
ขนขึ้น เป็นอาการข้างเคียงที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกแย่ที่สุด แต่ก็ไม่ได้เกิดกับทุกคนเสมอไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วขนจะขึ้นบริเวณหน้าอก ใบหน้า แขน ขา และบริเวณอวัยวะเพศ จึงต้องหมั่นกำจัดขนบ่อยๆ เพราะถึงแม้จะคลอดแล้ว ขนที่ขึ้นมาใหม่ก็ไม่หายไปเองเหมือนกันกับสิว
ผิวแตกลาย
ผิวแตกลาย เป็นผลข้างเคียงที่คุณแม่ส่วนใหญ่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเมื่อท้องของคุณขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เซลล์ผิวไม่สามารถยืดหยุ่นได้ทัน จึงทำให้เกิดเส้นดำๆ บนท้อง ที่เรียกว่าแตกลายนั่นเอง แต่ทั้งนี้หากทาครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของมอยเจอไรเซอร์หรือครีมที่มีคุณสมบัติในการป้องกันการแตกลายตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดรอยแตกลายได้ บางคนอาจแทบมองไม่เห็นรอยแตกลายเลยก็มี
คลื่นไส้ อาเจียน
อาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกหรือที่เรียกกันว่าอาการแพ้ท้อง ซึ่งมักจะมาคู่กับอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลียและเหม็นกลิ่นอาหารนั่นเอง แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเมื่ออายุครรภ์เข้าไตรมาสที่ 2 หรืออาจบรรเทาได้ด้วยการทานผลไม้รสเปรี้ยวหรือเปลี่ยนเมนูให้หลากหลายบ่อยๆ
ข้อต้องห้าม! สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ในขณะตั้งครรภ์ นอกจากจะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีกว่าเดิมแล้ว ก็ยังมีข้อห้ามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรทำเป็นอันขาด ซึ่งก็มีข้อห้าม ดังนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หลายคนเข้าใจว่าการดื่มนมในขณะตั้งครรภ์วันละหลายๆ แก้ว จะช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการที่ดีและฉลาด แต่ความจริงแล้ว ในวันหนึ่งคุณแม่ควรดื่มนมแค่วันละ 2 แก้วเท่านั้น เพราะการดื่มากเกินไปอาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดการแพ้โปรตีนจากนมได้นั่นเอง นอกจากนี้ควรเลือกดื่มนมถั่วเหลืองจะดีที่สุด
ห้ามนอนคว่ำ
การนอนคว่ำในช่วงไตรมาสแรกอาจทำได้โดยไม่ส่งผลอะไร แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นและท้องเริ่มใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การนอนคว่ำจะไม่ค่อยเหมาะนัก เพราะจะทำให้คุณแม่รู้สึกแน่นท้อง อึดอัดและไม่ค่อยสบายตัวได้นั่นเอง โดยท่านอนที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์มากที่สุด ก็คือท่านอนตะแคง เพราะจะช่วยพยุงท้องได้ดีและช่วยให้คุณแม่หายใจได้สะดวกมากขึ้นอีกด้วย
ห้ามทานยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
การทานยาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ ยกเว้นยาพาราเซตามอล แต่ก็ไม่ควรทานมากเกินไปเช่นกัน
อาหารบำรุงครรภ์
เพื่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์และตัวคุณแม่เอง อาหารบำรุงครรภ์ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งได้แก่
- อาหารที่มีส่วนช่วยในการบำรุงเลือด เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์จะเสี่ยงภาวะโลหิตจางสูง อีกทั้งยังเป็นการเสริมธาตุเหล็กให้กับคุณแม่ เพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอดอีกด้วย
- อาหารเพื่อแก้อาการแพ้ท้อง เช่น น้ำขิง ซึ่งนอกจากจะบรรเทาอาการแพ้ท้องได้แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายและช่วยเร่งการผลิตน้ำนมได้เป็นอย่างดี
- ผักผลไม้ โดยเฉพาะผักสีเขียว ผักสีส้ม อย่างมะละกอ และส้ม เพราะผักผลไม้เหล่านี้จะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุที่มีประโยชน์มากมาย ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างสมวัย และสุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่
- อาหารเร่งน้ำนม เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี และผัดขิง เป็นต้น แน่นอนว่าคุณแม่คงไม่อยากเกิดปัญหาน้ำนมไม่พอหรอกจริงไหม เพราะฉะนั้นการทานอาหารเหล่านี้จะช่วยได้เยอะเลยทีเดียว
การดูแลครรภ์อย่างถูกต้อง
สำหรับการดูแลครรภ์ คุณแม่สามารถทำได้ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ ทั้งการเดินนั่งอย่างระมัดระวัง รวมถึงนอนอย่างถูกท่าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วย ที่สำคัญควรใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน เพราะอย่าลืมว่าอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปจะส่งไปถึงลูกน้อยเสมอ ซึ่งก็มีคุณแม่หลายคนที่ประสบกับปัญหาครรภ์เป็นพิษ จนต้องเสียลูกไปในที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรควรระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกน้อยของคุณคลอดออกมาอย่างปลอดภัยนั่นเอง
ก่อนคลอด เตรียมตัวอย่างไรดี?
หลังจากตั้งท้องมานานตลอดระยะเวลา 9 เดือน ก็มาถึงวันที่คุณแม่รอคอยกันเสียที แต่ก่อนอื่นคุณแม่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอด ซึ่งสิ่งของที่คุณแม่จะต้องเตรียมได้แก่
- เสื้อผ้าที่จะสวมใส่วันออกจากโรงพยาบาล
- ผ้าอ้อมและของใช้สำหรับทารก
- ผ้าอนามัย สำหรับใช้หลังคลอด
- ของใช้ส่วนตัว
- กระเป๋าน้ำร้อน
- ทะเบียนบ้านและเอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งเกิด
- สิ่งของอื่นๆ ที่จำเป็น
ทำอย่างไร? เมื่อตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์
ในขณะที่คุณแม่ส่วนใหญ่ตั้งใจที่จะตั้งครรภ์ เพื่อกำเนิดทายาทตัวน้อยๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดพลาด หรือจากการโดนข่มขืนก็ตาม แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วควรจะทำอย่างไรดี สำหรับทางเลือกที่เราหยิบมาแนะนำก็มีด้วยกัน 2 ทางเลือกดังนี้
- ทางเลือกที่ 1 : ยอมรับและให้กำเนิดทารกพร้อมเลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ อย่าลืมว่าอย่างไรเขาก็เป็นลูกของคุณ ถึงจะเกิดมาด้วยความไม่ตั้งใจก็ตาม นอกจากกว่าการตั้งครรภ์เกิดจากการถูกข่มขืน คุณอาจจะเลือกทางเลือกที่ 2 ก็ได้
- ทางเลือกที่ 2 : ทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย และผู้ที่จะทำแท้งได้นั้นควรจะเป็นกรณีการตั้งครรภ์โดยถูกข่มขืนมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากคุณเลือกทางเลือกนี้ คุณจะต้องคิดให้ดี เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณกำลังจะทำลายชีวิตหนึ่งที่มีเลือดเนื้อเชื้อสายของคุณเลยทีเดียว
การตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากสำหรับผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงจะต้องรับภาระในการอุ้มท้องทารกตัวน้อยไปตลอดระยะเวลา 9 เดือนเลยทีเดียว ดังนั้นช่วงนี้คุณพ่อควรจะดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดเมนูอาหารที่มีประโยชน์ให้คุณแม่ทานอยู่เสมอ ที่สำคัญคุณพ่อจะต้องให้เวลากับคุณแม่มากขึ้น พร้อมทั้งดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เพราะช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์อาจอ่อนไหวได้ง่าย กำลังใจจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนรอบข้างควรมีให้คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ตลอดเวลา