กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

Citalopram (ซิตาโลแพรม)

เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที

สรรพคุณของยา citalopram

ยา citalopram เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า (depression)  ยาจะช่วยให้รู้สึกมีพลังงานมากขึ้นและช่วยให้รู้สึกดีขึ้น ยา citalopram เป็นยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) ยาจะออกฤทธิ์โดยการปรับสมดุลสารเคมีตามธรรมชาติในสมอง ที่ชื่อ serotonin

วิธีใช้ยา citalopram

อ่านคำแนะนำในการใช้ยาที่ได้รับจากเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ และในทุกครั้งที่มารับยาซ้ำ หากมีคำถามใดๆ ให้สอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

รับประทานยานี้ตามแพทย์สั่ง โดยสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ โดยทั่วไปรับประทานวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า หรือตอนเย็น ขนาดยาที่คุณได้รับจะขึ้นกับสภาวะโรค, การตอบสนองต่อการรักษา, อายุ, ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และยาอื่นๆ ที่กำลังใช้ร่วมกันในขณะนี้ ดังนั้นคุณต้องแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบเกี่ยวกับรายการยา อาหารเสริม สมุนไพร ทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ ขนาดยาสูงสุดของ citalopram คือ 40 มิลลิกรัมต่อวัน

ถ้าคุณได้รับยา citalopram เป็นยาน้ำ คุณต้องตวงตาโดยใช้อุปกรณ์ตวงยา หรือช้อนตวงตาโดยเฉพาะ อย่าใช้ช้อนรับประทานอาหารตวงยา เพราะอาจทำให้ได้รับขนาดยาไม่ถูกต้องได้

เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง แพทย์อาจสั่งให้คุณเริ่มรับประทานยาในขนาดต่ำก่อนและค่อยๆ ปรับเพิ่มขนาดยาขึ้น คุณจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับเพิ่มขนาดยา, ใช้ยาบ่อยครั้งกว่าที่แพทย์สั่ง หรือใช้ยานานกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะไม่ทำให้โรคหายเร็วขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง คุณต้องรับประทานยานี้เป็นประจำทุกวันเพื่อให้ได้ผลจากการรักษาเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ลืมรับประทานยา แนะนำให้รับประทานในเวลาเดียวกันของทุกวัน

สิ่งสำคัญคือ คุณต้องรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ห้ามหยุดยาเองโดยไมได้ปรึกษาแพทย์ อาการบางอาการอาจแย่ลงได้หากหยุดยากะทันหัน นอกจากนี้คุณอาจพบอาการเช่นอารมณ์แปรปรวน, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย, การนอนหลับผิดปกติไป และมีความรู้สึกสั้นๆ คล้ายกับไฟฟ้าช็อต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวขณะที่คุณหยุดใช้ยา แพทย์อาจค่อยๆ ปรับลดขนาดยาลง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันทีหากพบอาการที่เกิดขึ้นใหม่ หรือมีอาการแย่ลง

อาจต้องใช้เวลานาน 1-4 สัปดาห์ ก่อนจะเริ่มรู้สึกถึงประโยชน์ที่ได้จากยา และใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ก่อนจะได้ผลการรักษาเต็มที่

แจ้งให้แพทย์ทราบ ถ้าอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผลข้างเคียงของยา citalopram

อาจเกิดอาการคลื่นไส้ ปากแห้ง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ง่วงนอน เหงื่อออก ตาพร่ามัว และหาว ขณะใช้ยานี้ ถ้าอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที

โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์สั่งยานี้ให้กับคุณ เพราะว่าแพทย์ได้ประเมินแล้วว่าคุณจะได้รับประโยชน์จากยานี้มากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยหลายรายที่ใช้ยานี้ไม่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรงจากยา

แจ้งแพทย์ทันทีถ้าคุณมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง ได้แก่ สั่น, อารมณ์ทางเพศลดลง, ความสามารถทางเพศลดลง, เลือดออกง่าย ฟกช้ำง่าย

ไปพบแพทย์ทันที หากคุณมีอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงมาก ได้แก่ เป็นลม, หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ, อุจจาระมีสีดำ, อาเจียนคล้ายกากกาแฟ, อาการชัก, ปวดตา ตาบวม ตาแดง, ม่านตาขยาย, การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นรุ้งรอบไฟตอนกลางคืน

ยา citalopram อาจเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท serotonin ซึ่งอาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการที่ร้ายแรงได้ (พบได้น้อย) ซึ่งก็ได้คือกลุ่มอาการซีโรโตนิน หรือ ซีโรโตนินเป็นพิษ (serotonin syndrome/toxicity) โดยความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้จะเพิ่มขึ้นถ้าคุณใช้ยาอื่นที่เพิ่มปริมาณสาร serotonin ในร่างกายร่วมด้วย ดังนั้นคุณต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับรายการยาทุกรายการที่กำลังใช้อยู่ และไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการใดๆ ดังนี้: หัวใจเต้นเร็ว, ประสาทหลอน, สูญเสียการประสานงานกันของร่างกาย, เวียนศีรษะอย่างรุนแรง, คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อย่างรุนแรง, กล้ามเนื้อเกร็ง, มีไข้อย่างไม่ทราบสาเหตุ, กระสับกระส่าย กระวนกระวายผิดปกติ

และที่พบได้น้อย คือ ผู้ชายอาจมีอาการปวดที่อวัยวะเพศ หรืออวัยวะเพศแข็งตัวนานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้ามีอาการนี้เกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยา และไปพบแพทย์ทันที  ซึ่งอาการข้างเคียงนี้อาจเกิดซ้ำได้หากยังใช้ยาต่อไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ปฏิกิริยาการแพ้ยานี้ เป็นเรื่องที่พบได้น้อย อย่างไรก็ตามถ้าเกิดอาการใดๆ ของการแพ้ยาให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ ผื่น, คัน บวม (โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ), เวียนศีรษะรุนแรง, หายใจลำบาก

อาการข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นถ้าคุณมีอาการผิดปกติใดๆ ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อควรระวังในการใช้ยา citalopram

ถ้าคุณแพ้ยา citalopram, escitalopram หรือแพ้สิ่งอื่นๆ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนได้รับยานี้ ผลิตภัณฑ์ยานี้อาจประกอบด้วยสารไม่ออกฤทธิ์อื่นซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการแพ้หรือปัญหาอื่นได้ ให้ปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนการใช้ยา citalopram ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะถ้าคุณ

  • ตนเองหรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไบโพล่าร์ (bipolar disorder)
  • ตนเองหรือครอบครัวมีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย
  • เป็นโรคตับ
  • มีอาการชัก
  • ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ
  • มีแผลในลำไส้/มีเลือดออกในลำไส้ (peptic ulcer disease)
  • ตนเองหรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อหินชนิดมุมปิด (angle-closure type)

ยา citalopram อาจเป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาว (QT prolongation) หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด QT prolongation เป็นสภาวะที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง (อาจทำให้เสียชีวิตได้) ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ และมีอาการอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะรุนแรง หน้ามืด ซึ่งต้องรีบทำการรักษาทันที

ความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด QT prolongation อาจเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีโรคบางโรค หรือกำลังใช้ยาบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุของ QT prolongation อยู่แล้ว ดังนั้นก่อนใช้ยา citalopram คุณต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงหากเป็นโรคดังต่อไปนี้ โรคหัวใจบางชนิด (หัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นช้า, เพิ่งเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด, พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวจากการตรวจ EKG), มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจบางชนิด (พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวจากการตรวจ EKG, คนในครอบครัวเสียชีวิตจากโรคหัวใจ)

การที่ร่างกายมีระดับโพแทสเซียม (potassium) หรือ แมกนีเซียม (magnesium) ในเลือดต่ำ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด QT prolongation โดยความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นถ้าคุณใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขับปัสสาวะ) หรือมีอาการเหงื่อออกรุนแรง ท้องเสียรุนแรง หรืออาเจียนรุนแรง ดังนั้นให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีในการใช้ยา citalopram อย่างปลอดภัย

ยานี้อาจทำให้มีอาการง่วงนอน หรือตาพร่ามัวได้ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ง่วงนอนมากขึ้น ห้ามขับรถ, ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องอาศัยการตื่นตัวหรือการมองเห็นที่ชัดเจน จนกว่าคุณจะทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ให้แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับรายการยา อาหารเสริม และสมุนไพรที่กำลังใช้อยู่

ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาขึ้น โดยเฉพาะอาการเลือดออก, การสูญเสียการประสานการทำงานของร่างกาย และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด QT prolongation นอกจากนี้ยังอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ (ปริมาณโซเดียมต่ำ หรือ hyponatremia) โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังใช้ยาขับปัสสาวะอยู่ด้วย การสูญเสียการประสานการทำงานของร่างกายจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้

เด็กอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากขึ้น โดยเฉพาะ อาการเบื่ออาหาร และน้ำหนักลด จึงให้ติดตามน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กระหว่างที่ใช้ยานี้

ระหว่างการตั้งครรภ์ ยานี้ควรใช้เฉพาะในกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจริงๆ เพราะยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยทารกที่คลอดจากมารดาที่ใช้ยานี้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจเกิดอาการถอนยาเกิดขึ้น เช่น ไม่ยอมดูดนม หายใจลำบาก, มีอาการชัก, กล้ามเนื้อเกร็ง หรือร้องไห้ไม่หยุด ถ้าคุณพบอาการเหล่านี้ให้เด็กแรกเกิด ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที

เนื่องจากปัญหาทางจิตใจ/อารมณ์ที่ไม่ได้รับการรักษา (เช่น โรคซึมเศร้า, โรคย้ำคิดย้ำทำ, โรคตื่นตระหนก) อาจเป็นอาการที่ร้ายแรง อย่าหยุดใช้ยานี้เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หากคุณวางแผนที่จะตั้งครรภ์, กำลังตั้งครรภ์ หรือคิดว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ให้รีบขอคำปรึกษาจากแพทย์ของคุณเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์

ยานี้ผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ และอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อทารกที่ดูดนม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

คำเตือนในการใช้ยา citalopram

ยาต้านเศร้า (antidepressant medications) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคได้หลายโรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า และโรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต/ความผิดปกติทางอารมณ์ (mental/mood disorders) โดยยาเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีความคิดฆ่าตัวตาย และยังมีประโยชน์ที่สำคัญอื่นๆ กับตัวผู้ป่วยที่ใช้ยา อย่างไรก็ตามมีข้อมูลจากการศึกษาพบผู้ป่วยจำนวนน้อย (โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี) ซึ่งใช้ยาต้านเศร้าสำหรับโรคใดๆ ก็ตาม อาจมีอาการซึมเศร้าแย่ลง, มีอาการของสภาวะทางจิตใจ/อารมณ์แย่ลง, หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย ดังนั้นสิ่งสำคัญมากๆ คือต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากยาต้านเศร้า (โดยเฉพาะในผู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี) แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ยานี้สำหรับโรคทางจิต หรืออารมณ์ก็ตาม

แจ้งแพทย์ทันที หากคุณมีอาการซึมเศร้าแย่ลง หรือมีอาการทางจิตที่แย่ลง, มีพฤติกรรมผิดปกติไป (รวมถึงความคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย) หรือมีความเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ อารมณ์ (มีอาการวิตกกังวล หรือวิตกกังวลมากกว่าเดิม, ตื่นตระหนก, มีปัญหาในการนอนหลับ, หงุดหงิด ฉุนเฉียว, รู้สึกเกลียด รู้สึกโกรธ, มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น, กระวนกระวายใจอย่างรุนแรง, พูดเร็วมาก โดยให้สังเกตอาการเหล่านี้เป็นพิเศษในช่วงเริ่มใช้ยาต้านเศร้า หรือเมื่อมีการปรับขนาดยา

ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ยา citalopram

สภาวะต่อไปนี้ถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยา celecoxib ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์ทราบหากคุณมีสภาวะดังต่อไปนี้

  • กลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (Syndrome of Inappropriate Antidiuretic Hormone Secretion)
  • แมกนีเซียมในเลือดต่ำ 
  • โซเดียมในเลือดต่ำ 
  • โพแทสเซียมในเลือดต่ำ 
  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกเพิ่มสูงขึ้น
  • มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
  • เป็นกลุ่มอาการ Neuroleptic Malignant Syndrome
  • เป็นกลุ่มอาการซีโรโตนิน (serotonin syndrome) 
  • เป็นต้อหินชนิดมุมปิด
  • เพิ่งมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
  • หัวใจเต้นเร็วมาก ชนิด Torsades de Pointes
  • หัวใจเต้นชา
  • พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาว จากการตรวจ EKG
  • หัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
  • หัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่กำเริบและควบคุมไม่ได้ด้วยยา
  • โรคหัวใจ
  • มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ QT ตั้งแต่กำเนิด
  • โรคตับ
  • มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร, หลอดอาหาร หรือลำไส้ส่วนต้น (Duodenum)
  • ไตบกพร่องอย่างรุนแรง (severe renal impairment)
  • มีอาการชัก
  • เป็นผู้ที่มีการทำงานของเอนไซม์ CYP2C19 ต่ำ
  • มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหินมุมปิด
  • แพ้ยาในกลุ่ม SSRIs
  • แพ้ยา citalopram 

การใช้ยา citalopram ร่วมกับยาอื่น

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interactions) อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ข้อมูลที่ระบุนี้ไม่ได้ครอบคลุมการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้นคุณต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าคุณกำลังรับประทานยา อาหารเสริม สมุนไพร ใดอยู่ในขณะนี้ อย่าเริ่มยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงขนาดยาต่างๆ เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

ยาบางรายการที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยา citalopram:

การใช้ยา aspirin จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้ถ้าใช้ร่วมกับยา citalopram อย่างไรก็ตาม ถ้าแพทย์สั่งให้คุณรับประทานยา aspirin ขนาดต่ำ เพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด หรือป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง คุณควรรับประทานยา aspirin ต่อเนื่อง ยกเว้นแพทย์สั่งเป็นอย่างอื่น (โดยทั่วไป aspirin ขนาดต่ำจะอยู่ระหว่าง 81-325 มิลลิกรัมต่อวัน) ให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับข้อมูลเพิ่มเติม

การใช้ยาในกลุ่ม MAO inhibitors ร่วมกับยา citalopram อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ร้ายแรงได้ (อาจทำให้เสียชีวิตได้) จึงต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่ม MAO inhibitors (isocarboxazid, linezolid, methylene blue, moclobemide, phenelzine, procarbazine, rasagiline, safinamide, selegiline, tranylcypromine) ระหว่างใช้ยา citalopram โดยยาในกลุ่ม MAO inhibitors ส่วนใหญ่ ควรเว้นระยะห่างไม่ใช้ร่วมกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ทั้งก่อนและหลังการใช้ยา citalopram โดยให้ปรึกษาแพทย์ว่าเมื่อใดควรเริ่มยาหรือหยุดยาต่างๆ เหล่านี้

ความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการซีโรโตนิน หรือซีโรโตนินเป็นพิษ (serotonin syndrome/toxicity) จะเพิ่มขึ้นถ้าคุณกำลังใช้ยาอื่นที่เพิ่มระดับซีโรโตนินด้วย เช่น สมุนไพร St. John's wort, ยาต้านเศร้าบางชนิด (รวมถึงยาในกลุ่ม SSRIs ตัวอื่น เช่น fluoxetine/paroxetine, ยาในกลุ่ม SNRIs เช่น duloxetine/venlafaxine), tryptophan และความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นถ้าคุณเริ่มใช้ยา หรือเพิ่มขนาดยาเหล่านี้

แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณกำลังใช้ยาผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำให้ง่วงนอน เช่น แอลกอฮอล์, ยาต้านฮีสตามีน (เช่น cetirizine, diphenhydramine), ยาช่วยให้นอนหลับ หรือคลายกังวล (เช่น alprazolam, diazepam, zolpidem), ยาคลายกล้ามเนื้อ, และยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด (เช่น codeine)

แนะนำให้อ่านฉลากยาทุกชนิดอย่างละเอียดก่อนใช้ยา เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ แก้หวัด เพราะยาเหล่านี้อาจประกอบด้วยยาที่ทำให้ง่วงนอนได้ ให้ปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

ยาหลายๆ ชนิด นอกเหนือจากยา citalopram อาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ (QT prolongation) เช่น amiodarone, pimozide, procainamide, quinidine, sotalol

ยา citalopram เป็นยาที่คล้ายกับยา escitalopram มากๆ ดังนั้นห้ามใช้ยา 2 ชนิดนี้ร่วมกัน

ยา citalopram อาจรบกวนผลการตรวจทางการแพทย์/ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการบางชนิด เช่น การตรวจสแกนสมองสำหรับโรคพาร์กินสัน, อาจทำให้ผลการตรวจออกมาผิดพลาด ดังนั้นต้องแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทราบว่าคุณกำลังใช้ยา citalopram อยู่

การได้รับยา citalopram เกินขนาด

หากมีใครก็ตามที่ได้รับยา citalopram เกินขนาด จนทำให้เกิดอาการที่ร้ายแรง เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที โทร 1669

หมายเหตุ

ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้

ควรมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ/หรือตรวจทางการแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG เป็นระยะๆ เพื่อติดตามอาการของโรคและผลข้างเคียงจากยา ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

คุณต้องไปพบแพทย์เป็นประจำตามนัดหมาย

หากลืมรับประทานยา citalopram

ถ้าคุณลืมรับประทานยานี้ ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ หากนึกได้เมื่อใกล้กับเวลาของมื้อถัดไป ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรับประทานมื้อถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

การเก็บรักษายา citalopram

เก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากแสงแดดและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องอาบน้ำ เก็บยาทุกชนิดให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่เทยานี้ทิ้งในห้องน้ำหรือในท่อระบายน้ำ ให้ทิ้งผลิตภัณฑ์ยานี้อย่างเหมาะสมเมื่อยาหมดอายุหรือเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้อีก


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
gov, Citalopram and escitalopram: QT interval prolongation (https://www.gov.uk/drug-safety-update/citalopram-and-escitalopram-qt-interval-prolongation), 11 December 2014.
Nancy Schimelpfening, Celexa (Citalopram) and Weight Gain (https://www.verywellmind.com/citalopram-and-weight-gain-1066818), 26 November 2019.
webmd, Citalopram HBR Side Effects by Likelihood and Severity (https://www.webmd.com/drugs/2/drug-1701/citalopram-oral/details/list-sideeffects)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)