โรคตาแดงเกิดจากอะไร มีปัจจัยและวิธีรักษาอย่างไร

รวมข้อมูลสาเหตุของโรคตาแดง วิธีการวินิจฉัย รักษา ป้องกันและดูแลตนเอง
เผยแพร่ครั้งแรก 9 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
โรคตาแดงเกิดจากอะไร มีปัจจัยและวิธีรักษาอย่างไร

โรคตาแดง เป็นโรคที่ผู้คนทั่วไปมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นกันได้ง่าย โดยเฉพาะการติดต่อจากผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดงอยู่แล้ว หลายครั้งเมื่อเราพบเห็นว่าใครเป็นตาแดง เราก็มักต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้เพื่อลดโอกาสในการติดต่อของโรคดังกล่าว วันนี้เรามาไขข้อกระจ่างกันว่าตกลงโรคตาแดงเป็นภาวะร้ายแรงหรือไม่ จะมีวิธีรักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง 

โรคตาแดงคืออะไร

โรคตาแดง (Red eye) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของดวงตา โดยผู้ป่วยโรคนี้จะเกิดภาวะลูกตาเป็นสีแดงซึ่งเกิดจากหลอดเลือดฝอยที่ขยายตัวมากขึ้น ส่วนมากระยะเวลาในการเป็นโรคตาแดงนั้นจะอยู่ที่ 1-2 วัน สาเหตุหลักมักเกิดจากเยื่อบุตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis) แต่ผู้ป่วยบางรายก็สามารถที่จะเป็นโรคตาแดงแบบรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกตอาการของตนเอง หากพบว่าอาการโรคตาแดงเริ่มผิดปกติมากยิ่งขึ้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สาเหตุของโรคตาแดง

โรคตาแดงสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. ติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย

การติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคตาแดงขึ้น โดยส่วนมากมีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดต่อบางชนิดและเชื้อไวรัสอื่นๆ รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่ดูแลรักษาความสะอาดจนทำให้เกิดการติดเชื้อโรคบางอย่างขึ้น เช่น การใส่คอนแทคเลนส์แบบไม่ได้ทำความสะอาด ซึ่งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นโรคตาแดง มีดังต่อไปนี้

  • อะดีโนไวรัส (Adeno viruses) หรือเชื้อที่ทำให้เกิดอาการเยื่อบุตาอักเสบ
  • เชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus) หรือเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเริม
  • เชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster virus) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดและอีสุกอีใส
  • เชื้อไวรัสพิคอร์นา (Picorna viruses) เป็นเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อโรคไวรัสตับอักเสบ
  • หูดข้าวสุก (Molluscum) 
  • วัคซีเนียไวรัส (Vaccinia viruses) ซึ่งเป็นวัคซีนไวรัสรูปแบบหนึ่งแต่เป็นเชื้อที่พบได้ยากกว่าเชื้อไวรัสชนิดอื่น
  • เชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS

2. โรคภูมิแพ้

สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ สามารถทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองกลับได้ โดยการผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibody) ชื่อว่า "อิมมูโนโกลบิน อี (Immunoglobulin E)" ซึ่งทำให้เกิดเซลล์ที่ส่งผลต่อการปล่อยสารฮิสทามีน (Histamine) ในร่างกาย และหากภายในร่างกายของเรามีสารฮิสทามีนมากเกินไป ก็จะส่งผลทำให้เกิดอาการเยื่อบุตาอักเสบและเกิดอาการตาแดงได้

3. ตาแห้ง

อาการตาแห้ง เป็นอาการที่เกิดจากดวงตามีปริมาณน้ำตาที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้น้ำตาที่มีอยู่ไม่สามารถช่วยหล่อลื่นดวงตาได้ ส่งผลทำให้เกิดอาการตาแห้งขึ้น และหากตายังคงแห้งเรื้อรังต่อไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดเป็นอาการคันและระคายเคืองต่อดวงตา จนนำมาซึ่งโอกาสในการติดเชื้อและเป็นโรคตาแดงขึ้นได้

4. คอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์ เป็นตัวช่วยในการมองเห็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาก็จริง แต่หลังการใช้ทุกครั้ง ผู้ใช้จะต้องหมั่นทำความสะอาดและเก็บรักษาคอนแทคเลนส์ให้ถูกวิธี มิเช่นนั้น คอนแทคเลนส์จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย และปัญหาสำคัญที่เกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ก็คือ ก่อให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย

5. แสงจากคอมพิวเตอร์

การใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์นานเกินไปจะทำให้แสงอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (Ultraviolet: UV) จากคอมพิวเตอร์ส่งผลกระทบต่อดวงตาและการมองเห็น ซึ่งจะทำให้เกิดอาการตาแห้ง และทำให้เป็นโรคตาแดงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

6. อาการเจ็บตา

อาการเจ็บตาสามารถเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บตาได้อยู่แล้ว แต่ในกรณีของการผ่าตัดกับการเกิดอาการตาแดงนั้น ถือเป็นเพียงการตอบสนองของร่างกาย ที่จะทำให้การไหลเวียนเลือดเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้นเท่านั้น

7. แผลที่กระจกตา

การเป็นแผลที่กระจกตามีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นสามารถผลต่อการมองเห็น และอาจมีอาการเจ็บปวดในดวงตาร่วมด้วยได้

8. โรคเริมที่ตา

โรคเริมซึ่งเกิดขึ้นที่ตา มักทำให้เกิดอาการข้างเคียงในรูปของโรคตาแดงได้ และยังทำให้ตาไวต่อแสงง่ายขึ้นอีกด้วย ซึ่งหากผู้ป่วยไม่รีบรักษา เชื้อไวรัสจะสามารถลุกลามเข้าไปได้ถึงด้านในชั้นเนื้อของกระจกตา ทำให้กระจกตาขุ่น มีเส้นเลือดงอกเข้ามาในกระจกตา หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นกระจกตาบางลงจนทะลุได้

9. ภาวะม่านตาอักเสบ

เป็นภาวะการอักเสบที่เกิดขึ้นกับดวงตาชั้นกลาง โดยส่งผลทำให้ดวงตามีสีแดง มีความไวต่อแสงได้ง่าย และยังส่งผลต่อการมองเห็นได้อีกด้วย ซึ่งภาวะม่านตาอักเสบนอกจากจะส่งผลต่อการเป็นโรคตาแดงได้แล้ว ยังสามารถที่จะส่งผลต่อการเป็นโรคต้อกระจกได้เช่นกัน

10. โรคต้อหิน

โอกาสที่จะเกิดโรคตาแดงจากโรคต้อหินได้มีโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยมาก แต่หากเป็นแล้วก็อาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้น เช่น ตาแดง ตามัว น้ำตาไหลเฉียบพลัน มีอาการปวดหัวแบบเป็นๆ หายๆ  และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

อาการของโรคตาแดง

อาการของโรคตาแดง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับดวงตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยก็มักจะมีอาการต่อไปนี้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • คันตา
  • แสบตา
  • น้ำตาไหล
  • เปลือกตาบวมและลอก
  • ขนตาร่วง
  • ปวดแสบปวดร้อน

อาการตาแดงแบบผิดปกติที่ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์

หากผู้ป่วยพบว่าโรคตาแดงมีอาการผิดปกติมากขึ้นดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที 

  • ไม่สามารถลืมตาหรือหลับตาได้
  • ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • คลื่นไส้
  • เปลือกตาและหนังตามีอาการบวม
  • ตาไวต่อแสงมากขึ้น
  • ปวดตารุนแรง
  • การมองเห็นผิดปกติไปจากเดิม 
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา

โรคตาแดงติดต่อกันได้หรือไม่

โรคตาแดงที่เกิดจากการติดเชื้อ เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก ซึ่งการติดต่อของโรคนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

  1. มีการใกล้ชิดหรือสัมผัสระหว่างกันกับผู้ป่วยโรคตาแดง เพราะนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดต่อกันของโรคตาแดง หรืออาจเกิดจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยก็ได้ ซึ่งเมื่อเชื้อติดที่มือของผู้สัมผัสแล้ว ก็จะสามารถแพร่จากมือไปติดที่ตาได้โดยตรง
  2. ใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์แต่งหน้า
  3. ได้รับฝุ่นละอองหรือมีน้ำสกปรกเข้าสู่ดวงตา
  4. แมงหวี่หรือแมลงวันบินเข้ามาตอมบริเวณดวงตา
  5. ไม่ดูแลรักษาทำความสะอาดร่างกายให้ดี โดยเฉพาะใบหน้าและมือ

อย่างไรก็ตาม โรคตาแดงจะไม่เกิดการติดต่อกันจากการสบตา หรือจากทางอากาศ และการทานอาหารร่วมกัน ซึ่งระยะเวลาในการติดต่อของโรคไปยังผู้อื่นจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 14 วัน และอาการของโรคจะเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อแล้วภายใน 1-2 วัน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตาแดง

การเป็นโรคตาแดงล้วนมีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาแดงแล้วไม่รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งอาการแทรกซ้อนที่พบได้ จะมีดังต่อไปนี้

  • เกิดแผลในดวงตา
  • เกิดการติดเชื้อลุกลามไปที่อวัยวะส่วนอื่น
  • ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อันเนื่องจากการมองเห็นที่ผิดปกติ
  • สูญเสียการมองเห็น
  • สูญเสียดวงตา

การวินิจฉัยโรคตาแดง

การวินิจฉัยโรคตาแดงจะมีความคล้ายคลึงกับการวินิจฉัยโรคทั่วไป แต่อาจมีบางกระบวนการวินิจฉัยที่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยการวินิจฉัยโรคตาแดงจะเริ่มจาก

  • การสอบถามประวัติของผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจดวงตา
  • การตรวจตาผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบพิเศษ ซึ่งทำให้ผลตรวจออกมามีความละเอียดมากขึ้น (Slit-lamp)
  • การตรวจขี้ตา
  • การเสมียร์เชื้อ (Smear) หรือการย้อมสีแบคทีเรีย 

วิธีรักษาโรคตาแดง

การรักษาโรคตาแดงสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโรคตาแดงก็สามารถรักษาโรคที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง หรืออาจช่วยให้ระยะเวลาของการเป็นโรคตาแดงไม่ยาวนานจนเกินไป ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น

  • ไม่สัมผัสตาที่ติดเชื้อ
  • ล้างมือทุกครั้ง หากนำมือไปสัมผัสบริเวณดวงตา
  • ทำความสะอาดปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า
  • ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ทั้งของตนเองและผู้อื่น
  • สวมแว่นตาแทนการใส่คอนแทคเลนส์

การรักษาตาแดงด้วยยาหยอดตา

ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโรคตาแดงผ่านการหยอดตา ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเป็นอย่างดีเสียก่อนเกี่ยวกับการใช้ยา โดยในเบื้องต้น เราควรรู้เสียก่อนว่าว่ายาหยอดตามีกี่ประเภท และมีสรรพคุณอย่างไรบ้าง

ประเภทของยาหยอดตา

ยาหยอดตามีด้วยกัน 3 ประเภท แต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติดังนี้

  1. ยาหยอดตานาฟาโซลีน (Naphazoline) เป็นยาหยอดตาที่จะช่วยรักษาโรคตาแดงโดยตรง โดยจะช่วยบรรเทาอาการคัน และบวม
  2. ยาหยอดตาเตตราไฮโดรโซลีน (Tetrahydrozoline) เป็นยาหยอดตาที่มีสรรพคุณคล้ายยาแก้แพ้ และช่วยในเรื่องการหดตัวของหลอดเลือด จึงสามารถช่วยรักษาโรคตาแดงได้เป็นอย่างดี
  3. น้ำตาเทียม (Eye lubricant dropsมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาและช่วยลดการระคายเคือง

วิธีป้องกันโรคตาแดง

เพราะสาเหตุหลักของโรคตาแดงเกิดมาจากความสะอาดและการสัมผัสสิ่งสกปรก ดังนั้นวิธีป้องกันโรคตาแดงที่ดีที่สุดก็คือ การพฤติกรรมรักษาความสะอาดที่ดีพอ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสตาในขณะที่ไม่ได้ล้างมือ
  • หมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรขยี้ตา
  • ทำความสะอาดปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ข้าวของเครื่องใช้ที่เสี่ยงจะทำให้เกิดฝุ่นละออง หรือเกิดเป็นสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนใส่ดวงตาได้
  • ห้ามใช้คอนแทคเลนส์ เครื่องสำอาง และอุปกรณ์แต่งหน้าร่วมกับผู้อื่น 
  • ไม่ว่ายน้ำหรือแช่น้ำในแหล่งน้ำที่สกปรก หรือสระน้ำที่ความสะอาดไม่ได้มาตรฐาน
  • หากฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกเข้าตา อย่าขยี้ตา แต่ให้รีบล้างหน้าและล้างตาด้วยน้ำสะอาด รวมทั้งล้างมือให้สะอาดด้วย
  • พกเจลล้างมือแบบพกพา หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้ติดตัว
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดง และมีการแยกใช้ข้าวของส่วนตัวที่เสี่ยงจะทำให้ติดเชื้อ 
  • พกแว่นกันแดดติดตัวเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกเข้าตา

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตาแดง

หากโรคตาแดงที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อการมองเห็น หรือการดำเนินชีวิต ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตนเองได้ และยังทำให้อาการของโรคทุเลาลงได้ด้วยตนเอง ผ่านคำแนะนำในการดูแลตนเองต่อไปนี้

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเป็นวิธีการหยุดพักดวงตาที่ดีที่สุด
  • ไม่ควรใช้ผ้าปิดตา เพราะจะทำให้เชื้อโรคเติบโตได้เร็ว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส คลุกคลี หรือใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังสัมผัสดวงตาและใบหน้า เพราะมือเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่เร็วและปนเปื้อนมากที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดขี้ตา เพราะผ้าเช็ดหน้าจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อเอาไว้และทำให้เชื้อแพร่ไปติดต่อกับผู้อื่นได้
  • ควรใส่แว่นตากันแดดเพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองของดวงตาที่เกิดกับแสงแดด
  • หยุดพักการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการตาแดงจะหายดี
  • หากเช็ดขี้ตาด้วยกระดาษหรือสำลี ควรทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดอย่างมิดชิดเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ

จะเห็นได้ว่า โรคตาแดง ไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงมากมายนัก หากผู้ป่วยรู้จักดูแลสุขภาพตาและรักษาความสะอาดในระหว่างที่เป็นโรคได้ดี ที่สำคัญผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่น ตลอดจนการใช้สิ่งของร่วมกัน เพื่อลดการแพร่เชื้อโรคออกไปเป็นวงกว้างกว่าเดิม


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cronau H C. et al. Diagnosis and Management of Red Eye in Primary Care. Am Fam Physician.2010 Jan 15;81(2): 137-144
NHS, Red eye (https://www.nhs.uk/conditions/red-eye/), 14 March 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ตาแดง โรคระบาดที่มากับหน้าฝน
ตาแดง โรคระบาดที่มากับหน้าฝน

การป้องกันและรักษาโรคตาแดง

อ่านเพิ่ม